ไทยก้าวขึ้นอันดับที่ 43 ของโลก ใน Global Innovation Index พร้อมครองอันดับ 1 ด้านการลงทุน R&D ขององค์กรธุรกิจไทย | Techsauce

ไทยก้าวขึ้นอันดับที่ 43 ของโลก ใน Global Innovation Index พร้อมครองอันดับ 1 ด้านการลงทุน R&D ขององค์กรธุรกิจไทย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA เผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2564 (Global Innovation Index 2021; GII 2021) ภายใต้แนวคิด “ติดตามการปรับตัวระบบนวัตกรรมในภาวะวิกฤตโควิด-19” หรือTracking Innovation through the COVID-19 Crisis ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศกว่า 132 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ประเทศไทยขยับมาอยู่อันดับที่ 43 ดีขึ้นจากปี 2020 ที่อยู่อันดับ 44 และถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 8 มาเลเซียอันดับ 36 และแซงเวียดนามที่ตามมาในอันดับ 44  นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจัยค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจยังคงสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “การจัดอันดับ GII 2021 ภายใต้ธีม Tracking Innovation through the COVID-19 Crisis มุ่งเน้นการวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อการพัฒนาระบบนวัตกรรม สำหรับผลการจัดอันดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมในปีนี้ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 ปรับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ จากปี 2020 โดยในปีนี้ปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมอันดับที่ 48 เป็นอันดับที่ 47 ขณะที่ปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 44 ลดลงเป็นอันดับที่ 46 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle-income economies) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 จากจำนวน 34 ประเทศ โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปัจจัย แต่หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จากจำนวน 17 ประเทศ”

สำหรับปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่โดดเด่นมากที่สุด เป็นกลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด และกลุ่มปัจจัยด้านระบบธุรกิจ ที่แม้จะมีการปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ (อันดับ 1) ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศไทยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดสำหรับปีนี้เป็นกลุ่มปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ปรับอันดับขึ้นจากอันดับที่ 79 เป็นอันดับที่ 60 โดยตัวชี้วัดภายใต้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเข้าถึงและการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการบริการออนไลน์ของภาครัฐ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมข้อมูล (Data–driven Innovation)

แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านข้อมูลในการติดตามและวัดผลนวัตกรรม คือการขาดข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งจากตัวชี้วัดทั้งสิ้น 81 ตัวชี้วัด มีถึง 16 ตัวชี้วัดที่ต้องนำข้อมูลในอดีตมาประมาณการ และมี 1 ตัวชี้วัดที่ไม่ได้มีการจัดเก็บหรือรายงานผล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับในภาพรวมและการติดตามเพื่อวางแผนการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ เช่น ตัวชี้วัดด้านการร่วมลงทุน ทั้งในส่วนของนักลงทุนและบริษัทที่ได้รับการลงทุน โดยช่วงที่ผ่านมาถือได้ว่าประเทศไทยมีความตื่นตัวและการเติบโตด้านนี้เป็นอย่างมาก แต่ไม่ได้มีการติดตามหรือจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม จึงทำให้ข้อมูลในส่วนนี้มีความคลาดเคลื่อนและส่งผลต่อการจัดอันดับในกลุ่มปัจจัยด้านการลงทุน

แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ แต่เป็นการมุ่งเน้นการจัดโครงสร้างฝั่งอุปทาน (วิจัยและพัฒนา) และยังไม่ได้แก้ปัญหาฝั่งอุปสงค์ (นวัตกรรม) อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การใช้ประโยชน์องค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่นวัตกรรมยังมีอยู่จำกัด ไม่สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้ การขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมจึงต้องเร่งดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่ 1) การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีศักยภาพ 2) การพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ 3) การปรับปรุงกฎ ระเบียบ และมาตรการที่เป็นอุปสรรค 4) การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้และการลงทุน 5) การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม 6) การกระจายโอกาสด้านนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค และ 7) การเตรียมความพร้อมต่อระบบนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนไป 

การพัฒนาที่สอดรับและสนับสนุนให้ตรงกับปัจจัยและตัวชี้วัดที่เป็นข้อจำกัดเชิงระบบ จะเป็นเหมือนสปริงบอร์ดสำหรับประเทศไทยในการที่จะก้าวกระโดดด้านนวัตกรรม เพื่อก้าวเป็นประเทศชั้นนำที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยประสานและขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของประเทศ จึงให้ความสำคัญกับการติดตามและนำข้อมูลดัชนีนวัตกรรมโลกมาใช้ประโยชน์ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการออกแบบนโยบายที่เหมาะสมและสอดคล้อง ที่สามารถขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนระบบนวัตกรรมไทยได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นโยบายของศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรม” โดยเชื่อมั่นว่าการที่นวัตกรรมจะเดินหน้าอย่างก้าวกระโดดนั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคเอกชนโดยมีภาครัฐเป็นกองหนุนที่สำคัญ เพื่อทำให้ประเทศไทยดีดตัวเองออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยเรานั้นก็สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยรับมือวิกฤตโควิดได้สำเร็จมากมาย เช่น ชุดพีพีอี หน้ากากพีเอพีอาร์ ห้องไอซียูความดันลบ ระบบโฮมไอโซเลชั่น ฯลฯ ซึ่งมีต้นทุนราคาถูกกว่าต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาวัคซีนจากฝีมือคนไทยกว่า 4 ชนิดที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองขั้นสุดท้ายในคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทยให้ก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทรู ไอดีซี ดาต้าเซ็นเตอร์ คว้ารางวัลนานาชาติ ด้านออกแบบและพลังงาน พร้อมรองรับเทคโนโลยี AI

ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศความสำเร็จของโครงการ ทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส ที่สร้างปรา...

Responsive image

ซีพี แอ็กซ์ตร้า จับมือพันธมิตร พัฒนาโซลูชัน "Smart Restaurant" พลิกโฉมร้านอาหารยุคใหม่ สู่ความสำเร็จยุคดิจิทัล

ซีพี แอ็กซ์ตร้า ร่วมกับพันธมิตรในเครือ ได้แก่ บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัดจัดงานสัมมนา ‘Smart Restaurant ถอดรหัสความสำเร็...

Responsive image

noBitter ผนึกกำลัง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ พัฒนา “ฟาร์มนวัตกรรม” ยกระดับเกษตรไทยสู่เวทีโลก

noBitter ผนึกกำลัง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ จุฬาฯ ลาดกระบัง และปัญญาภิวัฒน์ ผนึกความร่วมมือ เดินหน้าพัฒนางานวิจัยเกษตรนวัตกรรมเพื่อยกระดับเกษตรไทยสู่เวทีโลกโดยมุ่งเน้นผลผลิตจากเทคโนโลย...