สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มมีการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเปิดประเทศที่กำลังเดินหน้าอยู่ขณะนี้ แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ที่ยังคงมีอยู่ จึงต้องมีการหาแนวทางเพื่อทำให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ แต่ยังคงมีความปลอดภัยสูงสุด “เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว” หรือ “ทราเวลเทค” จึงเป็นสิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
โดยเข้ามาอำนวยความสะดวก รวมถึงการเสริมกำลังด้วยศักยภาพของ “ทราเวลเทคสตาร์ทอัพ” ซึ่งในประเทศไทยก็ถือว่ามีจำนวนอยู่ไม่น้อย และในช่วงเปิดประเทศนี้ “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” หรือ NIA ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่อยู่คู่กับการสนับสนุนการทำนวัตกรรมของคนไทยจะพาไปเรียนรู้แนวทางฟื้นฟูการท่องเที่ยวกับ 2 ทราเวลเทคสตาร์ทอัพ ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และระบบการจองตั๋วที่จะช่วยวางแผนการท่องเที่ยวให้เซฟตี้ในทุกกระบวนการและเที่ยวได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
นวัตกรรมการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ จะเยียวยาทุกสิ่ง
คุณ จักรพงษ์ ชินกระโทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด สตาร์ทอัพการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่ยาวนานทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มโหยหากลิ่นอายธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะแก่การออกมาเที่ยวแบบธรรมชาติ เพราะธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล น้ำตก อุทยานแห่งชาติ ฯลฯ ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคนออกมาเที่ยวตามแนวคิดดังกล่าวคือ “นวัตกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่แสดงให้ทุกคนได้เห็นถึงการรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด หรือระหว่างการท่องเที่ยวได้นำสิ่งดี ๆ ส่งกลับคืนให้ธรรมชาติและชุมชน
ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เกิดจากการนำเที่ยว-สินค้าชุมชน การไม่สร้างขยะซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญและเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกับทรัพยากธรรมชาติแบบ Unseen และเห็นเรื่องราวที่จะต้องรักษาไว้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คาดว่าจะได้เห็นมากขึ้นในช่วงที่โลกยังต้องเว้นระยะห่าง และคาดว่าจะมีเทคโนโลยีเพื่อสอดรับกับประเด็นดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ในส่วนของฟายด์ โฟล์ค ได้ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม โดยนำวัฒนธรรมท้องถิ่นดังเดิม มานำเสนอต่อสังคมสมัยใหม่ เพื่อสร้างคุณค่าแก่ชุมชนด้วยทรัพยากรท้องถิ่น ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และประเพณี ผ่านรูปแบบกิจกรรมสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว นอกจากจะเป็นการกระจายรายได้และเป็นการพัฒนาอย่างมีทิศทางแล้ว ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนของคนในท้องถิ่นเอง บริษัทเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการรวบรวมและนำเสนอข้อมูลธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ การบริหารจัดการการท่องเที่ยว และการประเมินรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) จากการท่องเที่ยวนั้นๆ เพื่อนำเสนอการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบของไทยให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อสร้างคุณค่า โอกาสให้ชุมชนและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย นอกจากนี้ ด้วยเป้าหมายของบริษัทที่ไม่อยากเห็นธรรมชาติกลับไปพังเช่นเดิมอีก จึงพยายามให้นักท่องเที่ยวช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งกิจกรรมในหลายเส้นทางการท่องเที่ยวจะมีเน้นการลดปล่อยสารที่ทำลายธรรมชาติ โดยที่ทุกคนยังสนุกสนานกับการท่องเที่ยวเช่นเดิม”
ท่องเที่ยวชุมชนจะเติบโตขึ้นได้ 'ทราเวลเทค' คือจิ๊กซอว์สำคัญ
ในแต่ละชุมชนจะมีต้นทุนในทรัพยากรธรรมชาติ ความโดดเด่นทางประชากร และวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน ส่วนสตาร์ทอัพก็มีความรู้เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีพร้อมแนวคิดที่สร้างสรรค์ หากทั้งสองร่วมมือกันโดยการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวเชื่อมระหว่างชุมชนกับนักท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน นักท่องเที่ยวจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของชุมชนและเกิดความสนใจที่จะมาท่องเที่ยวหรือบอกต่อไปยังภาคส่วนทางสาธารณะ ส่วนชาวบ้านก็จะสามารถจำหน่ายสินค้าในระบบออนไลน์ได้ หรือรู้จักที่จะนำเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจากสตาร์ทอัพมาปรับปรุงการเที่ยวให้มีความทันสมัยหรือน่าตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมามีหลายเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทั้ง นวัตกรรม VR และ AR ที่เป็นการนำเสนอภาพเสมือนจริง และทำให้คนได้เพลิดเพลินไปกับการท่องเที่ยวออนไลน์ นวัตกรรมหรือกระบวนการจัดทริปท่องเที่ยวแบบธรรมชาติด้วยแนวทางที่ไม่ซับซ้อน หรือแม้แต่กระทั่งการใช้โซเชียลมีเดียซึ่งถือเป็นอีกตัวแปรที่สามารถทำได้ทั้งการสร้างคอนเทนท์ การช่วยขายของ เป็นต้น
'เดอะทราโก้' ลดความซับซ้อน-ความเสี่ยง เทคโนโลยีที่ห้ามมองข้าม
ด้าน คุณอาคม สุริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทรเดนท์ มาสเตอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาแพลตฟอร์มการจองตั๋วโดยสาร สำหรับการเดินทางภายในประเทศ ผ่านหน้าเพจ www.thailandferrybooking.com เดอะทราโก้ (The Trago) ระบบบริการท่องเที่ยวออนไลน์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ซึ่งจะเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถทราบข้อมูลการเดินเรือที่เป็นปัจจุบัน ช่วยคำนวณค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถจองเรือได้อย่างแม่นยำ ไม่ต้องเดินทางมาซื้อตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋วบริเวณท่าเรือ เป็นการลดความเสี่ยงการของแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 เพราะบางที่การเดินเรือจะจำกัดว่าในหนึ่งรอบสามารถเดินทางได้เพียง 10 - 15 ท่านเท่านั้น และไม่เปิดจำหน่ายตั๋วโดยสารหน้าท่าเรือ
ซึ่งอาจจะทำให้แผนการเดินทางของนักท่องเที่ยวเกิดความเสียหาย ไม่สามารถเดินทางเพื่อเข้าพักในโรงแรมตามกำหนดเวลาหรือเป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้ เช่น เกาะสมุย ที่ต้องนำรถลงเรือ ซึ่งอาจต้องไปรอที่ท่าเรือประมาณ 3 ชั่วโมง (กรณีที่เป็นเป็นวันหยุดยาว) แต่ถ้าจองผ่านระบบออนไลน์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมารอ เพียงแค่ยื่นตั๋วที่ท่าเรือก็สามารถที่จะขึ้นเรือได้ตามเวลาได้ทันที นอกจากนั้นทางหน้าเพจยังมีการรายงานถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะข้ามไปยังเกาะอัพเดทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในตอนนี้สถานการณ์ที่กำลังเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวก็เริ่มมีการจองตั๋วเข้ามาในระบบบ้างแล้ว นักท่องเที่ยวที่จองเข้ามาส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและเป็นชาวต่างชาติที่ยังคงอาศัยอยู่ในเมืองไทย
นักท่องเที่ยวชาวไทยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีพฤติกรรมการจองการเดินทางที่ต่างกัน คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะมีแผนชัดเจน จะไม่ยอมให้เกิดข้อผิดพลาดแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ต้องมีการวางแผนจองตั๋วล่วงหน้าให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ต่างจากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มักไปที่หน้าเคาท์เตอร์เลย แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 มาพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยก็เปลี่ยนไป คนไทยมากกว่า 50 เปอร์เซนต์เริ่มมีการจองตั่วการเดินทางล่วงหน้า เป็นการลดความเสี่ยงและความแออัดในการเดินทาง ทำให้การจองออนไลน์มีมากขึ้น
คุณ อาคม กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เราต่างเผชิญกับความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้ออยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวที่จำเป็นต้องมีการเดินทางและพบปะผู้คน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญในการแพร่ระบาดของเชื้อที่ยังคงมีขึ้นมีลงอย่างที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าสตาร์ทอัพนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เน้นดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดก็จะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวได้ตามแพลนที่วางไว้ หรือทำทุกอย่างให้เป็นระบบ เป็นขั้นตอน มีแผนในการสร้างความมั่นใจที่แน่ชัด ทำให้การท่องเที่ยวมีความสนุกสนาน และทำให้ใคร ๆ ก็อยากมาเที่ยวเมืองไทยแน่นอ
วิถีการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงทำให้ทุกคนทั่วโลกจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ยังดำเนินโดยที่ไม่รู้วันสิ้นสุด แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะช่วยกู้วิกฤตในหลายภาคส่วนให้กลับเข้าสู่ความปกติ หรือสร้างความปกติใหม่ที่เป็นไลฟ์สไตล์ที่ทุกคนต้องคุ้นชินอย่างแน่นอน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด