สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับหอการค้าไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจัดกิจกรรมเปิดตัว 'โครงการนวัตกรรมแบบเปิด และกิจกรรม Open Innovation 101' โดยมุ่งส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมทั้งส่วนกลางและภูมิภาค และวิสาหกิจเริ่มต้น โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดผลทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “รัฐบาลมีนโยบายที่พัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมจากการรับถ่ายทอดองค์ความรู้จากหน่วยงานวิจัยและสถาบันวิจัยในประเทศ และวิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจเกิดใหม่ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งมีนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจที่สามารถทำซ้ำ และขยายตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยทั้งสองกลุ่มถือได้ว่าเป็นรูปแบบธุรกิจของผู้ประกอบการที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาไปที่ "การสร้างความแตกต่าง" จากผลิตภัณฑ์เดิม ด้วยการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ ธุรกิจใหม่ รวมทั้งเกิดการสร้างนวัตกรรมบริการจากการนำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันก่อให้เกิดการบริการแบบใหม่และการแก้ปัญหาใหม่ที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น”
“โครงการนวัตกรรมแบบเปิด หรือ Open Innovation เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซมูลค่าอย่างยั่งยืน ซี่งจะช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทานเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) และนำไปสู่การสร้างห่วงโซ่มูลค่าใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมในอนาคต (New S-curve) ของประเทศ ทั้งในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม (Smart SMEs) และ วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสาขาเศรษฐกิจ คือ 1) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) 2) การผลิตและการหมุนเวียน (Manufacturing and circular economy) และ 3) บริการและแบ่งปัน (Sharing and service economy) สำหรับผู้ที่สนใจขอรับการสนับสนุนทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถยื่นข้อเสนอโครงการเบื้องต้นผ่านเว็บไซต์ http://open.nia.or.th จากนั้นจึงนัดหมายเข้ามานำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองในเบื้องต้น หากผ่านจะได้รับการอบรมเทคนิควิธีการเขียนข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนมากขึ้นพร้อมส่งกลับเข้าระบบอีกครั้งเพื่อนัดหมายนำเสนอต่อณะกรรมการอีกครั้ง โดยโครงการที่ผ่านการพิจารณาในรอบนี้ จะได้รับเงินทุนสนับสนุนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 75 ของโครงการ ภายใต้วงเงิน 1.5 ล้านบาท ซึ่ง สนช. ตั้งเป้าว่าในปี 2560 จะมีเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งส่วนกลางและภูมิภาค” ดร. พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม
นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมและวิจัย หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทย มุ่งขับเคลื่อน Trade & Services 4.0 ด้วยการใช้นวัตกรรม (Innovation) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง (Execution) ด้วยการพัฒนา และยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้แก่สมาชิก 100,000 รายทั่วประเทศ โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มหลัก คือ เกษตรอาหาร การค้า ท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งหอการค้าไทย มีจุดแข็งที่สำคัญคือเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายรอบด้านจึงทำให้มีความเข้าใจ ในความต้องการและปัญหาของสมาชิกอย่างแท้จริง และเป็นศูนย์กลางของคลังข้อมูลด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและผู้เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ หอการค้าไทย ตระหนักดีว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นทางรอดให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และ Start up จึงดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ ริเริ่มจัดงาน Thailand Food Innovation Forum 2017 ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปี 2561 กำหนดจัดในเดือนพฤษภาคม , ส่งเสริมให้มีการพัฒนาสินค้าภายใต้มาตรฐาน Thai GAP ที่เทียบเท่ามาตรฐาน Global GAP และผลักดันแนวคิดเรื่อง IDE (Innovation Driven Entrepreneur) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งร่วมกับ MIT ในการสร้าง ECOSYSTEM เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เติบโตทางธุรกิจ ด้วยการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง การจัดกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นความตั้งใจของแต่ละหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ Thailand 4.0 อย่างแท้จริง
ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้ประชาสัมพันธ์ให้ SME ทั่วประเทศรับทราบการสนับสนุนคูปองนวัตกรรม ซึ่งมีสมาชิกสมาพันธ์ให้ความสนใจกว่า 100 ราย โดยสมาพันธ์ฯ เองก็มีที่ปรึกษาที่จะลงไปช่วยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาในการเขียนโครงการ และเป็นพี่เลี้ยงให้กับ SMEs ที่สมัครเข้ามา เรามีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน ทั้งด้านการการผลิต การบริหารจัดการ ด้านเทคโนโลยี และการบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งคาดว่า สมาชิกสมาพันธ์ SME ไทยจะได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจเป็นอย่างดี โดยใช้นวัตกรรมช่วยให้สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ SME ให้มีจุดเด่น ที่แตกต่าง สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยขอขอบคุณสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่เข้ามาให้การส่งเสริม SME จัดทำโครงการดีๆ ช่วยยกระดับและสร้างประโยชน์ให้กับ SME
การดำเนิน “โครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation)” ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในครั้งนี้ ถือได้ว่าตอบโจทย์ทุกสินค้าและบริการที่กำลังมองหาจุดต่างและโอกาสทางธุรกิจ ตอกย้ำให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงการก้าวข้ามการผลิตและบริการแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถขยายตลาดได้ และเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคหลากหลายกลุ่มที่มองหา สิ่งใหม่ๆ ภายใต้ยุคโลกาภิวัฒน์ที่คู่แข่งใกล้ประชิดตัวมากขึ้นจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย การที่หน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและแหล่งเงินทุน จึงถือเป็นโอกาสดีที่ภาคธุรกิจควรนำไปตัดสินใจเริ่มต้นพัฒนาธุรกิจ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด