PTT ลงทุนพลังงานแห่งอนาคต สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ-เฟ้นหา Startup ผุดนวัตกรรมลดคาร์บอน | Techsauce

PTT ลงทุนพลังงานแห่งอนาคต สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ-เฟ้นหา Startup ผุดนวัตกรรมลดคาร์บอน

PTT ประกาศเดินหน้าสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รุกปรับเป้าหมายและทบทวนแผนลงทุนใหม่ ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2573 มุ่งลงทุนพลังงานแห่งอนาคต พร้อมสยายปีกสร้างธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนและขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน 

ชูหน่วยงาน PTT ExpresSo สร้างนวัตกรรมเสริมสร้างธุรกิจใหม่ พร้อมร่วมโครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” สนับสนุนสตาร์ทอัพเร่งหาโซลูชั่นช่วยลดการปล่อยคาร์บอน พลิกโฉมนวัตกรรมพลังงานของไทย ขับเคลื่อนสู่ Net-Zero

คุณนิชฌาน ภิรมย์สวัสดิ์ Venture Capitalist and Head of Partnerships ของ PTT ExpresSo หน่วยธุรกิจที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้คนและสังคม ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศไทย ตระหนักถึงความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก บริษัทจึงได้ปรับเป้าหมายและทบทวนพอร์ตการลงทุนใหม่ ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2573 มุ่งสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการเร่งลงทุนในกลุ่มพลังงานแห่งอนาคต เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และการลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 

พร้อมทั้งลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตตามทิศทางของโลก อาทิ การต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และขยายภาคค้าปลีกในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค รวมถึงลงทุนในธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและอาหารสำหรับอนาคต 

โดยวางเป้าหมายสร้างกำไรจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่มากกว่า 30% ในปี 2573 ซึ่งทั้งหมดจะมุ่งไปสู่การสร้างธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15%  ในปี 2573 เมื่อเทียบปริมาณการปล่อยในปี 2563 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593

“จากนี้ไป ปตท. จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากพลังงาน และวิสัยทัศน์ของเราคือ Decarbonization ซึ่งมั่นใจว่าเป็นอนาคตที่ใหญ่มาก โดยกลยุทธ์ที่จะทำให้ไปถึงได้มีสองเรื่องสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง เทคโนโลยี แม้ปัจจุบันทำไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังไม่สำเร็จในเชิงเทคนิคและต้นทุน ดังนั้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะช่วยให้เกิดความสำเร็จและขยายใหญ่ขึ้น เกิดการลดคาร์บอนอย่างกว้างขวางอย่างยั่งยืน สอง ความร่วมมือกับพันธมิตร"

คุณนิชฌาน กล่าวต่อว่า เพราะการ Decarbonization หากทำคนละทิศคนละทาง เชื่อมต่อกันในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ไม่ได้ก็อาจจะไม่สำเร็จ แต่การมาแชร์กัน เอาความเก่งและทรัพยากรของแต่ละองค์กรมาทุ่มเทร่วมกันจะทำได้เร็วขึ้น ที่สำคัญการร่วมได้อย่างมีพลังจะส่งผลดีต่อธุรกิจ เป็นประโยชน์ระดับประเทศด้วย หากไทยสามารถทำห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่สามารถทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า ก็จะเป็นโอกาสที่ทำให้เราส่งออกเทคโนโลยีและธุรกิจใหม่ไปประเทศอื่น เป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ทำให้เป็นเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศด้วย รวมถึงได้ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมในระดับโลก สร้างผลประโยชน์ให้กับองค์กร และทุก ๆ ผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกัน

ดังนั้น ปตท. จึงจัดตั้งหน่วยงาน PTT ExpresSo ขึ้นมา มุ่งค้นหานวัตกรรมด้านพลังงานร่วมกับสตาร์ทอัพ เพื่อนำเอาเทคโนโลยีทั้งในและนอกประเทศมาสร้างธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจด้าน Decarbonization ที่ต้องการขยายผลให้กว้างขึ้น โดยสร้าง Ecosystem ของ Decarbonize สตาร์ทอัพ กระตุ้นให้มีการเติบโตขึ้น ทั้งจากทีมของ ปตท. และทำโครงการร่วมกับสตาร์ทอัพภายนอก จึงสนใจเข้าร่วมโครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” หรือ DTS สนับสนุนสตาร์ทอัพร่วมค้นหาโซลูชั่นลดคาร์บอน และผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero)  ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งวิธีที่มีประโยชน์สร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืนให้แก่ ปตท. และอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย

คุณนิชฌาน กล่าวเสริมว่า วิธีลดการปล่อยคาร์บอนต้องลงทุนอย่างมหาศาล ยากที่จะสร้างกำไรได้ในระยะสั้น ดังนั้น การจะลดคาร์บอนในระดับใหญ่อย่างยั่งยืน ควรใช้กลไกลทางธุรกิจขับเคลื่อน มีเทคโนโลยีที่ดีและมีความคุ้มค่าในการดำเนินการ บริษัทจึงสนใจเข้าร่วมโครงการ DTS ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญเพื่อการลดคาร์บอนอย่างยั่งยืนต่อไป 

ซึ่ง ปตท. มีความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่สะสมมายาวนาน เพื่อเร่งสร้าง Decarbonize Thailand ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจพลังงานในอนาคต คือมุ่งไปสู่การสร้างพลังงานคาร์บอนต่ำ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้คือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องร่วมกันผลักดันไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KBank เปิดผลงานปี 67 กำไร 48,598 ล้านบาท ท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) แม้ในภาพรวมสามารถประคองการขยายตัวไว...

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...