ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ยกระดับการให้บริการในกลุ่มโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยต่อเนื่อง จับมือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พลิกโฉมโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ให้ก้าวสู่การเป็น โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) เปิดตัวแอปพลิเคชัน “ม.อ. แคร์ พลัส” นำเทคโนโลยีผสานนวัตกรรมทางการเงินมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้มารับบริการด้านสุขภาพ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถติดต่อกับโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบสิทธิการรักษา แจ้งเตือนการนัดหมายล่วงหน้า มีการบันทึกข้อมูลสุขภาพ มีปฏิทินตารางการนัด และชำระเงินค่ารักษาได้บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ยกระดับคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลเทียบเท่าสากล โดยมี นายสีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Product Solution and Management ธนาคารไทยพาณิชย์ รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ รศ.นพ. เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ร่วมพิธีเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ม.อ. แคร์ พลัส” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ในภาคใต้ รองรับการให้บริการสำหรับประชากรใน 14 จังหวัดของภาคใต้ โดยเรามุ่งมั่นการพัฒนาบริการทางการแพทย์ให้มีมาตรฐานสูงสุดในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาช่องทางดิจิทัล นำเอาเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการให้บริการที่ดียิ่งขึ้นสู่เป้าหมายการเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ พัฒนาแอปพลิเคชัน “ม.อ. แคร์ พลัส” เสริมประสบการณ์การเข้ารับบริการให้แก่ประชาชนให้สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลผ่านช่องทางดิจิทัล ภายใต้สโลแกนที่ว่า “บันทึกประวัติ ไม่ลืมนัดหมอรู้ลำดับรอคิว ชิวๆเรื่องจ่ายเงิน” โดยมีฟังก์ชั่นเพื่อการติดต่อขั้นพื้นฐาน อาทิ การแจ้งเตือนการนัดหมาย คิวตรวจออนไลน์ การตรวจสอบสิทธิการรักษา รวมถึงการชำระเงิน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อมอบประสบการณ์การเข้ารับบริการที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะการให้บริการของบุคลากรของโรงพยาบาลอีกด้วย”
คุณสีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Product Solution and Management ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธนาคารรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกครั้งหนึ่ง โดยเรานำความเชี่ยวชาญทางด้านดิจิทัลและบริการทางการเงิน มาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง แอปพลิเคชัน “ม.อ. แคร์พลัส” จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพผ่านโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ เรายังได้เชื่อมโยงบริการทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการชำระเงินผ่าน QR Code และติดตั้งเครื่องรับชำระค่ารักษาพยาบาลอัตโนมัติ ( Self-Payment Kiosk) รวมถึงการจัดให้มี SCB Easy Pay “แม่มณี” สำหรับร้านค้าหรือศูนย์อาหารภายในโรงพยาบาลอีกด้วย”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด