SCG นำเทคโนโลยี 5G ยกระดับภาคการผลิตสู่ Smart Factory ตอบรับอุตสาหกรรม 4.0 | Techsauce

SCG นำเทคโนโลยี 5G ยกระดับภาคการผลิตสู่ Smart Factory ตอบรับอุตสาหกรรม 4.0

 “Transformation” หรือการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานต่าง ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ทำให้องค์กรสามารถฝ่าวงล้อม “Disruption” หรือสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก และ “อยู่รอด” ได้ในยุคที่เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“SCG” จึงเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้เร่งพลิกโฉมตนเอง ซึ่งนอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนไปเป็นผู้ส่งมอบโซลูชันและนวัตกรรมสินค้า-บริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีอย่างหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าแล้ว “SCG” ยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เข้ามาใช้ยกระดับกระบวนการผลิตที่มีมายาวนานและยังมีความสำคัญ ให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า ตลอดจนช่วยพัฒนาทักษะของบุคลากรตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างดี 

ปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

“อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม” ผู้อำนวยการโครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 SCG กล่าวว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา SCG ได้ปรับกระบวนการทำงานและกระบวนการผลิต ภายใต้แนวทาง “ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน (Digital Transformation)” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีเครื่องจักร (Mechanization) ระบบอัตโนมัติ (Automation) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจในทุกขั้นตอน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ และนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในที่สุด

“ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ คือ Smart Laboratory ที่เป็นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวัด เพื่อช่วยวิเคราะห์คุณภาพของวัตถุดิบและสินค้าในกระบวนการ ทำให้การควบคุมคุณภาพเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้คนเพียงอย่างเดียว”

“ต่อมา คือ Smart Maintenance ที่เป็นระบบแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงเครื่องจักรแบบอัจฉริยะ ซึ่งนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยตรวจสอบประสิทธิภาพและสมรรถนะของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงงาน โดยสามารถรู้ถึงสภาพเครื่องจักรได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ทีมช่างซ่อมบำรุงวางแผนการดูแลเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้ SCG สามารถขยายผลในเชิงธุรกิจไปสู่การให้บริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรแก่ลูกค้าภายนอกได้อีกด้วย”

“สุดท้าย คือ Smart Dispatching ที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า โดยการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรด้านระบบขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ (Automatic Loading) มาช่วยจ่ายสินค้าปูนซีเมนต์ให้ลูกค้าแบบอัตโนมัติ ทำให้ลูกค้าได้รับสินค้ารวดเร็วและแม่นยำขึ้น ซึ่ง SCG ได้นำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้กับโรงงานปูนซีเมนต์ทุกแห่ง และยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนเห็นข้อมูลที่ถูกต้องแบบเดียวกัน จึงเกิดการบริหารจัดการข้อมูลในทุก ๆ ขั้นตอน และสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นอีกด้วย”

สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

“อรรถพงศ์” กล่าวต่อว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ยกระดับกระบวนการทำงานและการผลิต รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ผ่านมานั้น SCG ไม่ได้ทำเพียงลำพังเฉพาะในองค์กร แต่ยังร่วมกับองค์กรชั้นนำภายนอก เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวให้สำเร็จได้ดีและรวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับสถาบันการศึกษา อย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับเอสซีจี 

ขณะที่ภาคเอกชน SCG ยังได้ร่วมกับสมาคมฟรอนโฮเฟอร์ (Fraunhofer) ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม 4.0 รวมทั้งร่วมกับไมโครซอฟท์  (Microsoft) ในการนำเทคโนโลยีด้านการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning: ML) เข้ามาใช้ในเอสซีจีด้วย 

และล่าสุด SCG ได้ร่วมกับ “AIS” และ “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)” เพื่อพัฒนารถยก (Forklift) ต้นแบบที่สามารถควบคุมผ่านระยะไกลบนเครือข่าย 5G ได้โดยที่ผู้ควบคุมไม่ต้องอยู่ที่เดียวกับรถ แต่สามารถควบคุมรถให้เคลื่อนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ซึ่งหากการพัฒนาดำเนินต่อไป ก็จะช่วยเพิ่มผลิตผล (Productivity) ให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และช่วยลดความเสี่ยงในการทำงานของพนักงานได้ดียิ่งขึ้น

“ความร่วมมือในการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมนี้ เกิดจากแนวคิดและวิสัยทัศน์ที่ตรงกันของทุกองค์กร ในการมุ่งพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ด้วยจุดแข็งของเอสซีจีที่มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้พัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ AIS ก็ถือเป็นผู้นำด้านการให้บริการเครือข่ายและนวัตกรรมด้านดิจิทัล ส่วนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็มีบุคลากรและหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องอุตสาหกรรม 4.0”

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงร่วมกันค้นหาโครงการต้นแบบที่สามารถนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว นั่นคือการพัฒนารถยก (Forklift) ต้นแบบ ที่สามารถควบคุมและขับเคลื่อนด้วยเครือข่าย 5G จากระยะไกล ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเป็นแห่งแรกที่โรงงานของเอสซีจีใน จ.สระบุรี เนื่องจากรถ Forklift ถูกนำมาใช้เป็นจำนวนมากในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เพื่อขนย้ายวัสดุและสินค้าต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ”

“สิ่งที่ทำได้ดีในโครงการนี้ คือ ความรวดเร็วในการพัฒนา โดยทีมงานของ SCG  AIS และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น จนผลลัพธ์ที่ออกมาประสบความสำเร็จดีมาก และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในอุตสาหกรรม”

เทคโนโลยี 5G กับการนำมาใช้เพื่อพัฒนาคนและธุรกิจในอนาคต

ส่วนการนำไปต่อยอดกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ในภาคอุตสาหกรรมนั้น “อรรถพงศ์” บอกว่า เครือข่าย 5G มีความรวดเร็ว ตอบสนองได้แบบเรียลไทม์ ทั้งยังมีความแม่นยำในการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติขั้นสูง จึงสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับโจทย์ของธุรกิจหรือผู้ประกอบการ

“SCG เชื่อว่าศักยภาพและจุดเด่นของเครือข่าย 5G ทั้งในเรื่องความเร็วและความเสถียรนี้ จะสามารถนำมาใช้กับงานอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงหรือความยากในการเข้าถึงพื้นที่ได้ดี อย่างการทำเหมืองที่มีบางพื้นที่เข้าถึงยาก ก็สามารถนำเทคโนโลยี 5G ที่ใช้ในการควบคุมรถยกต้นแบบมาประยุกต์ใช้กับการบังคับเครื่องจักรกลหนักที่ทำงานอยู่บนเหมืองได้ โดยที่พนักงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ หรือการซ่อมเตาเผาปูนซีเมนต์ที่มีพื้นที่คับแคบและอับอากาศ เทคโนโลยี 5G ก็สามารถควบคุมรถที่ใช้ในการสกัดและรื้อวัสดุทนไฟในเตาเผาจากระยะไกลได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี IoT เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในกระบวนการผลิตที่มีจำนวนมาก สำหรับใช้ในการวางแผนเครื่องจักรและการบริหารการใช้ทรัพยากร ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในโรงงาน”

“สุดท้ายสิ่งที่จะมีประโยชน์ในอนาคตสำหรับหลาย ๆ อุตสาหกรรม คือ การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการพัฒนาทักษะของพนักงาน โดยเฉพาะการนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) ที่ทำให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกทดลองใช้งานอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางหรือไปอยู่ในพื้นที่หน้างานจริง ทำให้การฝึกอบรมเกิดความรวดเร็ว พนักงานสามารถทำงานใหม่ ๆและเข้าใจได้ในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่รองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง” 

ทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการทรานสฟอร์มองค์กรของเอสซีจี เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับบุคลากร ผ่านความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0  ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงทีต่อไป

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...