กูรูแนะเทคโนโลยีเตือนภัยพิบัติ ต้องแม่นยำ-น่าเชื่อถือ-ทันเวลา | Techsauce

กูรูแนะเทคโนโลยีเตือนภัยพิบัติ ต้องแม่นยำ-น่าเชื่อถือ-ทันเวลา

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตโฟมของบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องของการดับเพลิง การแจ้งเตือนอบพยผู้คนรอบ ๆ โรงงาน สะท้อนภาพให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการช่วยเหลือภัยพิบัติเสียที 

งาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021 ได้หยิบยกกรณีไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้เห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีอัจฉริยะสามารถเข้ามาช่วยจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร โดย 3 กูรูมาเสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยีอัจฉริยะกับการจัดการปัญหาของเมือง ถอดบทเรียนกรณีไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว”

ในมุมมองนักวิชาการ อย่าง รองศาสตราจารย์ ดร. พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเกิดภัยพิบัติเกิดได้ 2 กรณี คือ เป็นภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า ฯลฯ และภัยจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น มลภาวะโรงงาน หรือไฟไหม้โรงงาน ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยจัดการภัยพิบัติมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้หุ่นยนต์สุนัข เพื่อเข้าไปสำรวจพื้นที่ประสบภัยพิบัติที่เข้าถึงยาก หรือการใช้ซอฟต์แวร์ที่สามารถมองเห็นโครงสร้างภายในอาคารเพื่อทราบทิศทางในการเข้าไปดับเพลิงได้  

อย่างไรก็ดี ปัญหาของการจัดการภัยพิบัติไทยไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการจัดการข้อมูล อย่าง กรณีไฟไหม้ที่โรงงานกิ่งแก้ว ไม่มีข้อมูลเลยว่าโรงงานมีสารเคมีอะไร หรือภายในอาคารเป็นอย่างไร ฯลฯ อันนี้เป็นปัญหาเรื่องการจัดการมากกว่า นอกจากนี้ โรงงานในไทยไม่มีการเตรียมการระวังภัยพิบัติตั้งแต่เริ่มสร้างโรงงาน 

สำหรับการเตรียมพร้อมในการจัดการภัยพิบัตินั้นมีด้วยกัน 3 ประเด็น คือ 

  1. ต้องทำให้เกิดความปลอดภัย อย่าง โครงสร้างอาคาร-โรงงานจะต้องร่วมกลุ่มกันไว้กับส่วนราชการ เมื่อต้องการใช้งานสามารถติดตามหรือจัดการข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น 
  2. ผู้ปฎิบัติหน้าที่ดับเพลิงต้องมีความเป็นมืออาชีพ ผ่านการฝึกฝน  
  3. โรงงานต้องยอมรับต้นทุนในการสร้างระบบป้องกัน 

ด้านคนรุ่นใหม่อย่าง นิธิกร บุญยกุลเจริญ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการดิจิทัลวิถีใหม่ ผู้สร้างเว็บไซต์ Emergency Alert เพื่อแจ้งเตือนอันตรายจากเหตุการณ์สะเทือนไฟไหม้กิ่งแก้ว กล่าวว่า ประเทศไทยมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องภัยพิบัติ เช่น แอปพลิเคชั่นพ้นภัยของสภากาชาดไทย ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการแจ้งภัยพิบัติ และร้องขอความช่วยเหลือ 

สำหรับเหตุการณ์ไฟไหม้ที่โรงงานกิ่งแก้วทำให้พบว่า ไทยไม่มีเรื่องของ SMS เตือนภัย จึงนำปัญหานี้มาสร้างเว็บไซต์ Emergency Alert เพื่อแจ้งเตือนอันตรายจากเหตุการณ์ไฟไหม้กิ่งแก้ว โดยแนวคิดของการทำ คือ ทำยังไงให้ง่าย และคนที่ไม่ชำนาญเทคโนโลยีเข้าถึงได้ จึงเขียนระบบนี้ขึ้นผ่าน Longdo Map API เพื่อให้คนเข้าไปตรวจสอบพิกัดของตัวเองซึ่งช่วงเวลานั้นมีคนเข้าใช้งานถึง 3 ล้านคน สิ่งสำคัญของการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการภัยพิบัตินั้น คือ ต้องแจ้งเตือนได้หลากหลายทิศทาง น่าเชื่อถือ และทันต่อเวลา 

อีกมุมมองของนักวิชาการ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีฝ่ายวิชาการและอาจารย์ประจาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไทยมีระบบเตือนภัย อย่าง สึนามิ สามารถเตือนได้ทุกช่องทาง แต่ยังติดปัญหาที่ข้อมูลส่งไปยังหน่วยงานราชการเท่านั้น สำหรับการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีกับการเตือนภัยพิบัตินั้น อยากให้รัฐบาลหยุดถามว่าลงทุนไปแล้วได้ผลแค่ไหน ช่วยคนได้เท่านั้น แต่ควรมองว่าความปลอดภัยเป็นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อโลกแปรปรวนจากฝีมือของมนุษย์ ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรง การแก้เกมของมนุษย์ คือ การสร้างเทคโนโลยีที่คอยเตือน หรือเข้ามาช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากภัยพิบัติ จากกรณีไฟไหม้ที่โรงงานกิ่งแก้วทำให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้มนุษย์รอพ้นจากอันตรายได้จริง หลักสำคัญ คือ ต้องเข้าถึงคนให้มากที่สุด และใช้งานให้ง่ายสุด 

ติดตามชมเสวนาออนไลน์ย้อนหลังจากหลากหลายผู้เชี่ยวชาญ ในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021” ภายใต้แนวคิด “DEEP TECH RISING …The Next Frontier of Innovation” การยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก...นวัตกรรมด่านหน้าแห่งอนาคตที่จะมาขับเคลื่อนประเทศ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-18 กันยายนนี้ ผ่านเว็บไซต์ https://site.nia.or.th/sessions


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

“พร้อมเพย์” 8 ปีแห่งการพลิกโฉมระบบการเงินไทย ระบบที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทย

พร้อมเพย์ครบรอบ 8 ปี กับการเปลี่ยนโฉมระบบการเงินไทย สู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ จากโอนเงินง่ายๆ ด้วยเบอร์โทรศัพท์ สู่การเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามประเทศ พร้อมก้าวสู่อนาคตการเงิน...

Responsive image

ttb spark REAL change: จุดประกายไอเดียสร้างสรรค์เพื่อชีวิตทางการเงินที่ยั่งยืน

เตรียมพบกับงาน “ttb spark REAL change” งานแสดงนวัตกรรมดิจิทัลครั้งใหญ่ของ ทีทีบี ที่ชวนมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ไอเดียที่สร้างสรรค์ ตอบโจทย์ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายให้...

Responsive image

Tech Provider ห้ามพลาด! ร่วมปั้น SMEs บุกตลาดใหม่กับ ETDA พร้อมทุนสนับสนุน 4.5 แสนบาท

ETDA เดินหน้าสานต่อ “SMEs GROWTH” ภายใต้ โครงการยกระดับนวัตกรรมด้านดิจิทัลเชิงพื้นที่ ประจำปี 2568 โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถปรับตัวและเติบโตอย่าง...