สำหรับธุรกิจธนาคารและการเงินระดับโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) นับเป็นภูมิภาคที่สำคัญในแง่ของการสร้างสรรค์นวัตกรรม และโอกาสการเติบโตบริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้เนื่องจากระบบเศรษฐกิจออนไลน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มที่จะเติบโต 3 เท่าภายในปี 2568 และจะมีมูลค่าถึง 300,000 ล้านดอลลาร์
SEA จึงนับเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตเร็วที่สุดในโลก และหากพิจารณาว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นระบบเศรษฐกิจหนึ่งเดียว ก็จะถือเป็นหนึ่งในห้าเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก แต่แน่นอนว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้มีการบูรณาการระหว่างประเทศต่างๆ อย่างลึกซึ้ง จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งแตกต่างจากอินเดียและจีน ยิ่งไปกว่านั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้รับประโยชน์จากเงินสกุลเดี่ยวอย่างยูโรโซน (Eurozone) ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง
นั่นหมายความว่าการบูรณาการบริการด้านการเงินในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้น นับเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งการเติบโตและการค้าภายในภูมิภาค มีแนวโน้มว่าจะถูกผลักดันด้วยแรงขับเคลื่อนของตลาด รายงานฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า ‘Envisioning a pan-regional, real-time payments ecosystem in Southeast Asia’ (การสร้างระบบนิเวศน์บริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งจัดทำโดย ACI Worldwide และบริษัทวิจัยตลาดและให้คำปรึกษา Kapronasia แสดงให้เห็นว่ารากฐานของเครือข่ายการชำระเงินข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพแบบเรียลไทม์ได้ถูกวางในแต่ละประเทศเรียบร้อยแล้ว
เพื่อความพร้อมในการชำระเงินที่ทันสมัย และเครือข่ายเรียลไทม์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มพลิกฟื้นเศรษฐกิจ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายงานดังกล่าวระบุว่าบริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ คือเครื่องมือสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตในอนาคต เนื่องจากมาตรฐาน ISO 20022 และคิวอาร์โค้ด (QR Code) เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ
ถึงแม้ว่าภูมิภาคนี้ไม่มีกฎระเบียบที่สอดคล้องกัน อีกทั้งแต่ละประเทศก็มีการจัดลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แต่เห็นได้ชัดว่าความต้องการขององค์กรธุรกิจและผู้บริโภคคือปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาไปสู่การสร้างระบบเครือข่ายแบบเรียลไทม์ ที่ครอบคลุมหลายประเทศ ระบบชำระเงินที่ดำเนินการแบบทันที ไร้รอยต่อ และสอดคล้องตามมาตรฐานจะช่วยรองรับกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจภายในภูมิภาค โดยมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า และจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว โดยหลายๆ ภาคส่วนเริ่มเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีต่อระบบชำระเงินดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสนใจเพิ่มมากขึ้นต่อการชำระเงินแบบ “touchless (ไร้สัมผัส)” ที่ช่วยรองรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
นอกจากนี้ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำงานจากที่บ้านและการเว้นระยะห่างทางสังคมที่มีผลบังคับใช้ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาไปสู่ระบบชำระเงินดิจิทัล การชำระเงินแบบเรียลไทม์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในระบบนิเวศน์ด้านการเงินดิจิทัลที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่เทคโนโลยีไร้สัมผัสอย่างเช่น คิวอาร์โค้ด กำลังถูกใช้งานบนโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางแบบเรียลไทม์ การใช้งานที่ง่ายดายและความสะดวกในการเข้าถึงของระบบชำระเงินที่ใช้คิวอาร์โค้ดจะมีความสำคัญอย่างมากต่อบุคคลทั่วไปและธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและประโยชน์ใช้สอยในทางเศรษฐกิจ และคิวอาร์โค้ดยังนับเป็น “จุดเชื่อมต่อ” ที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้งานและการมีส่วนร่วมในเครือข่ายการชำระเงินแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ จากกรณีของประเทศจีน สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือการเปิดประเทศอีกครั้งภายหลังการแพร่ระบาดจำเป็นต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินดิจิทัลจำนวนมากที่สามารถ “วางซ้อน” ไว้บนช่องทางการชำระเงินแบบเรียลไทม์ เช่น บริการด้านคะแนนเครดิต (Credit Scoring) การกู้ยืมเงิน (Lending) และการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)
ผู้เล่นหลายรายในธุรกิจบริการชำระเงินเริ่มหันมาให้ความสนใจบริการเสริมที่ถูกเพิ่มเติมไว้ใน โมบายล์แอพ (mobile apps) เว็บพอร์ทัล (web portals) โซเชียลมีเดีย (social media) และช่องทางอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง บริการใหม่ๆ เหล่านี้ช่วยให้ธนาคาร คนกลาง (intermediaries) และผู้ประกอบการสามารถเพิ่มเติมฟังก์ชั่นที่หลากหลาย เพื่อรองรับระบบนิเวศน์การชำระเงินดิจิทัลที่มีปริมาณธุรกรรมสูงและใช้ข้อมูลจำนวนมาก
บริการเสริมในระบบดิจิทัลสามารถตอบสนองการใช้งานหลากหลายรูปแบบ เช่น การนำเสนอโซลูชั่นแบบครบวงจรที่ไร้รอยต่อสำหรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดที่ปลอดภัย (secure QR code) และไร้การสัมผัส (contactless) ซึ่งนับเป็นการต่อยอดจากระบบชำระเงินของผู้ค้าโดยใช้คิวอาร์โค้ดแบบไดนามิก นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับบริการชำระเงินระหว่างบุคคลที่ยืดหยุ่น โดยใช้ตัวแทน/นามแฝง (เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรืออีเมล) เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ทั้งนี้ หนึ่งในบริการเสริมดิจิทัลแบบเรียลไทม์ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกก็คือ บริการเรียกเก็บเงิน (Request to Pay)
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และภาษา แต่ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายดังกล่าว ก็ยังมีบางประเทศที่เป็น “ผู้นำ” ในด้านการใช้บริการเสริมดิจิทัล เช่น PayNow ในสิงคโปร์, พร้อมเพย์ (PromptPay) ในไทย และ DuitNow ในมาเลเซีย ประเทศเหล่านี้มีพัฒนาการที่ดีในเรื่องของการปรับปรุงระบบชำระเงินให้ทันสมัย นอกจากนั้น การปรับใช้มาตรฐาน ISO 20022 เพิ่มมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะช่วยรองรับการสื่อสารระหว่างเครือข่ายในประเทศ และจะเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบชำระเงินในระดับภูมิภาคให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
แพลตฟอร์มการชำระเงินแบบเรียลไทม์สำหรับธุรกิจค้าปลีก (Real-time Retail Payment Platform - RPP) ในมาเลเซีย เป็นโครงการระยะเวลาหลายปีสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศให้ทันสมัย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศน์แบบครบวงจรเพื่อผลักดันการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างกว้างขวาง DuitNow คือบริการโอนเงินโดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือหรือหมายเลขบัตรประชาชนซึ่งจดจำได้ง่ายกว่า โดยเป็นบริการชำระเงินแรกสุดที่ได้รับการเปิดตัวบนแพลตฟอร์ม RPP และเริ่มใช้งานตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา
การปรับใช้มาตรฐาน ISO 20022 ตั้งแต่แรกเริ่มถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม RPP เช่น บริการโอนเงิน (Credit Transfer) บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของ DuitNow (QR code payments) และบริการเสริมในรูปแบบดิจิทัลอีกมากมาย แพลตฟอร์ม RPP ซึ่งได้รับการจัดการดูแลโดย PayNet ยังได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อมาตรฐานระหว่างองค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการและศูนย์ควบคุมส่วนกลาง จึงช่วยให้สามารถบูรณาการและเชื่อมต่อระบบได้อย่างไร้รอยต่อ และรองรับการปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
รายงานอีกฉบับหนึ่งจาก ACI Worldwide ที่มีชื่อว่า Prime Time for Real Time (ช่วงเวลาสำคัญสำหรับระบบเรียลไทม์) ระบุว่า เป็นที่คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในแง่ของปริมาณธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ โดยคาดว่าจะเติบโตจาก 2.6 พันล้านในปี 2562 เป็น 12.5 พันล้านในปี 2567 ทั้งนี้เป็นผลมาจากโครงการขยายการเข้าถึงบริการด้านการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงบริการพร้อมเพย์ที่เปิดตัวเมื่อปี 2559 โดยบริษัท National ITMX โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ e-Payment อี-เพย์เมนต์แห่งชาติ บริการดังกล่าวสามารถใช้งานผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น เอทีเอ็ม เคาน์เตอร์ธนาคาร โมบายล์แบงค์กิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง และแอพชำระเงินอื่นๆ
มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระดับทวิภาคีระหว่างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือให้เพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันเราเริ่มมองเห็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อรองรับการใช้งานร่วมกันของระบบต่างๆ PayNet ของมาเลเซีย และ NETS ของสิงคโปร์ได้เปิดตัวบริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ระหว่างประเทศโดยใช้บัตรเดบิตเมื่อปลายปี 2562
และตอนนี้ประเทศทั้งสองกำลังพัฒนาต่อยอดจากบริการดังกล่าว โดยนำเสนอบริการโอนเงินและชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดระหว่างประเทศ ในทำนองเดียวกัน ระบบพร้อมเพย์ของไทย (Thailand’s PromptPay) ตั้งเป้าที่จะพัฒนาระบบชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดที่สามารถใช้งานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ระบบชำระเงินในธุรกิจค้าปลีกมีการพัฒนาที่ก้าวหน้ากว่าระบบชำระเงินสำหรับองค์กรธุรกิจหรือค้าส่ง แต่ไม่แน่ว่าอาจมีการผนวกรวมระบบเพิ่มเติม และทำให้การชำระเงินมูลค่าสูงและมูลค่าน้อยใช้ระบบเรียลไทม์เดียวกันได้ในท้ายที่สุด
ผู้บริโภคในเอเชียเปลี่ยนมาใช้บริการชำระเงินแบบเรียลไทม์อย่างรวดเร็ว เพราะความสะดวกในการใช้งานและประโยชน์ใช้สอย โดยมีการนำเสนอผ่านบริการเสริมที่หลากหลาย นอกจากนี้ เนื่องจากไม่มีระบบชำระเงินรุ่นเก่าที่อาจขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรมดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีความพร้อมที่จะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินส่วนกลางที่แข็งแกร่งภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการเชื่อมโยงระบบข้ามพรมแดนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด การปรับปรุงระบบชำระเงินให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับใช้มาตรฐาน ISO 20022 จะช่วยผลักดันการเชื่อมโยงระบบข้ามพรมแดนในระดับทวิภาคี และในท้ายที่สุดแล้ว จะสอดประสานรวมกันกลายเป็นเครือข่ายระบบชำระเงินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
แน่นอนว่า ผู้ให้บริการธุรกรรมการชำระเงินจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาฐานการให้บริการที่นอกเหนือจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อที่จะคาดการณ์โอกาสการให้บริการข้ามพรมแดน ตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่มีการให้ระบบบริการชำระเงินแบบเรียลไทม์มานานแล้ว โดยเปิดให้บริการระบบชำระเงิน Zengin เมื่อปี พ.ศ. 2516 บริการโอนเงินข้ามธนาคารภายในประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Zengin ได้ทำการอัพเกรดระบบหลายครั้ง และตอนนี้ก็เป็นรุ่นที่ 7 แล้ว ในปัจจุบันร้านค้าและฟินเทคต่างๆ ยังไม่สามารถต่อตรงกับ Zengin ได้ มันน่าสนใจที่จะติดตามดูว่า ประเทศญี่ปุ่นจะทำการอัพเดทระบบอินฟาสตรัคเจอร์ส่วนกลางให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการให้บริการได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงการใช้ mobile IDs และ QR codes รวมถึงมาตรฐาน ISO20022
ด้วยผลงานความสำเร็จในปัจจุบันและการผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง PayNet ของมาเลเซียจึงพร้อมที่จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายระดับภูมิภาค ถ้าหากมีการพัฒนาต่อยอดจากการเชื่อมต่อระบบที่ทำไว้กับสิงคโปร์ โดยรวมไทยเข้าไปด้วย เพื่อสร้างเครือข่ายเรียลไทม์แบบไตรภาคี ก็จะกลายเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคทำเป็นแบบอย่าง รวมไปถึงอินโดนีเซียซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าประเทศเหล่านี้มีธุรกิจบริการด้านการเงินที่พัฒนาก้าวล้ำที่สุดในภูมิภาค แต่การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็วและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการชำระเงินในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่าอย่างเช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ จะเป็นกลจักรสำคัญสำหรับการสร้างระบบนิเวศน์แบบเรียลไทม์ที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอย่างแท้จริง
บทความโดย เลสลี ชู กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียและญี่ปุ่น/เกาหลีของ ACI Worldwide
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด