คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม. ศิลปากร มุ่งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมสื่อเสมือนจริง Immersive Media Lab (IML SU) ภายใต้แผนงานโครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย กระทรวง อว. เดินหน้าพัฒนางานวิจัยและเสริมสร้างศักยภาพการศึกษา-นักศึกษา และภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยแข่งขันตลาดโลก พร้อมการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยยั่งยืน
ความตั้งใจในการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมสื่อเสมือนจริง Immersive Media Lab (IML SU) ภายใต้แผนงานโครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย (Reinventing University System) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้สื่อเสมือนจริง (Immersive Media) ของประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง ในการพัฒนาและวิจัยร่วมกันเพื่อสร้างผลงานวิจัยและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีศักยภาพในการพัฒนาในเชิงธุรกิจ และเป็นการสร้างและพัฒนาบุคลากรในประเทศให้ตอบโจทย์ตลาดและมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาและสนับสนุนบุคลากรในภาคการศึกษา นักศึกษา และภาคอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลคอนเทนต์
ทั้งนี้ คาดว่าผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดกับกลุ่มเป้าหมายในกิจกรรมพัฒนาโครงงานด้านสื่อเสมือนจริง (Immersive Media) ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ โดยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างทรัพย์สินทางปัญญาที่มีศักยภาพในการพัฒนาในเชิงธุรกิจ โดยทำการวิจัยสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มและเสริมสร้างความสามารถ (Capacity building) ทักษะหรือขีดความสามารถ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตผลงานต่อไป อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาระบบนิเวศการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยขั้นแนวหน้าที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการทำวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการมีระบบบริหารจัดการการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยขั้นแนวหน้าที่มีประสิทธิภาพ สามารถผลิตผลงานวิจัยที่นำไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้เพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาระบบ อววน. ให้เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและสร้างความเป็นเลิศของระบบอุดมศึกษาไทยในระดับนานาชาติโดยการออกแบบโครงสร้างที่เน้นการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติตั้งอยู่บนข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ มีระบบจัดสรรงบประมาณที่เชื่อมโยงกับนโยบายยุทธศาสตร์ มีระบบติดตามประเมินผลที่วัดได้ทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความคุ้มค่าในการลงทุน โดยทุกมหาวิทยาลัยมีคุณภาพและสามารถพัฒนาความเป็นเลิศในทางของตนเอง
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ผศ. ดร. ณัฐพร กาญจนภูมิ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยเพิ่มเติม “ได้มีการจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( อว. ) และมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันจัดสัมมนาออนไลน์อัพเดทเทรนด์เทคโนโลยี AR/VR โดยทางคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รวบรวมกูรูแถวหน้าในอุตสาหกรรมฯ ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ในแง่มุมเทคนิคการนำไปใช้งานต่างๆ ทั้งด้านศิลปะ เกม และสื่อบันเทิง รวมถึงงานวิจัย เพื่อการต่อยอด การแพทย์ และ Metaverse กว่า 9 หัวข้อ เพื่อสร้างองค์ความรู้และการเผยแพร่นวัตกรรม เทคโนโลยีทางด้านสื่อเสมือนจริง เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อกระแสความนิยมเงินดิจิทัลที่เรียกว่า NFT (Non Fungible Token) เริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ เห็นจากมูลค่าการซื้อขายผลงานอาร์ต ต้นฉบับหลายๆ ชิ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ในการพัฒนาอาจารย์และนักศึกษา กับภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาถ่ายทอดต่อในประเทศ และการดำเนินงานโครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน อาทิ ศูนย์นวัตกรรมการออกแบบดิจิทัลและเทคโนโลยี (DIDTC) ได้ร่วมมือกันทำการวิจัยในโครงการ Head Up Display Augmented Reality หรือ HDAR โปรแกรมที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์สำหรับภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงปัญหาด้านความปลอดภัยจากการใช้รถยนต์ในภาคการขนส่งของประเทศไทยรวมถึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สร้างสรรค์ผลงานสื่อเสมือนจริงที่เกี่ยวโยงส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย
ทั้งนี้ ม.ศิลปากร มุ่งหวังในการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาและวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และสร้างบุคลากรให้รองรับการแข่งขัน รวมทั้งการสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมฯ” ผศ.ดร. ณัฐพร กล่าวทิ้งท้าย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด