ศุภชัย เจียรวนนท์ แนะเร่งสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยี พัฒนา ‘คน’ ดึง ‘ทุน’ เข้าประเทศช่วยกระดับ Startup ไทย | Techsauce

ศุภชัย เจียรวนนท์ แนะเร่งสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยี พัฒนา ‘คน’ ดึง ‘ทุน’ เข้าประเทศช่วยกระดับ Startup ไทย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2021 (SITE 2021) ในรูปแบบ Virtual Forum และการจัดแสดงกิจกรรมอีเวนต์ออกบูธเสมือนจริงผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมมอบรางวัล Prime Minister Award ให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพไทยให้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ โดยในงานได้จัดเวทีเสวนาที่รวบรวมสุดยอดสตาร์ทอัพ นวัตกรชั้นนำของเมืองไทย และวิทยากรชื่อดังทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ กว่า 60 คน มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตลอดการจัดงานระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2564 ผ่านเว็บไซต์  https://site.nia.or.th 

ในโอกาสนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ DeepTech Ecosystem: Opportunities, Challenges and its value to Thailand Economy ระบบนิเวศเทคโนโลยีเชิงลึก : โอกาส ความท้าทายและการสร้างคุณค่าเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย ว่า เทคโนโลยีขั้นสูงหรือ Deep Tech จะก้าวเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงโลกระดับมหภาคได้ ซึ่งตามสถิติประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศล้วนมีปัจจัยหลักมาจากการมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีด้านใดด้านหนึ่งเป็นเสาหลักสำคัญ สำหรับประเทศไทยการเข้าสู่เทคโนโลยีเชิงลึกได้จะต้องเร่งสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการลงทุน วิจัยและพัฒนา โดยจะต้องเริ่มตั้งแต่เรื่อง "คน" ผ่านการจัดการศึกษาพื้นฐานจนถึงระดับมหาวิทยาลัยปรับการเรียนการสอนใหม่ให้ครูเป็นผู้แนะนำ ส่งเสริม และให้เด็กเป็นผู้ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน และอภิปรายด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาสำคัญคือ สร้างให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และมีจินตนาการ (Imagination) ในการมองถึงอนาคตเพื่อสร้างสรรค์ประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ทำให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆผ่าน Food tech, Bio Tech, Genomic tech และ Space Tech ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ที่ต้องมีการใช้จินตนาการและนวัตกรรมขั้นสูงมาขับเคลื่อน

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า การสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยี คือการสร้างพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมชุมชนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่นในบอสตันและซิลิคอนวัลลีย์ขึ้นมาเพื่อทำให้ผู้คนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกมารวมตัวกัน นอกจากนี้สิ่งสำคัญจะต้องมี "ทุน" เข้ามาในระบบ ซึ่งการมีนโยบายและมาตรการทางภาษีต่างๆที่เอื้อให้กองทุนในระดับนานาชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพของประเทศไทย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ และฮ่องกง จะช่วยพัฒนาและยกระดับ Tech Startup ไทยให้ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆที่อาจจะเป็น Game Changing ทางด้านเทคโนโลยีได้ ซึ่งเมื่อทุนเข้ามาจะช่วยให้เกิดชุมชนเทคโนโลยีเป็นฮับ หรือคลัสเตอร์สร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีในประเทศไทยที่มีคนเก่งมีศักยภาพมาเริ่มสร้างนวัตกรรมที่ต่อยอดไปถึงเทคโนโลยีเชิงลึกต่อไป ซึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดคือ โมเดลพัฒนานวัตกรรมของจีนที่ภาครัฐส่งเสริมให้รวมเมืองใหญ่ใกล้เคียงมาพัฒนาเป็นคลัสเตอร์ด้าน Innovation Hub ตามภูมิภาคต่างๆ 

นายศุภชัย กล่าวว่า การสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีด้วยการดึงคนและทุนเข้ามาช่วยสตาร์ทอัพได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และจะมีส่วนช่วยให้เกิด Deep Tech ขึ้นมา หากเราไม่มีระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ดี ไม่มี Innovation Center ไม่มีมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็ง อาจทำให้บริษัทเทคโนโลยีเลือกไปลงทุนที่ประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์หรือเวียดนามแทน เพราะโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนด้านเทคโนโลยีของเราไม่สูงพอ 

“โจทย์สำคัญคือทำให้ไทยเป็น Innovation Hub ให้ได้ ทำให้มหาวิทยาลัยของเราเข้มแข็งในด้าน Science & Technology ระดับโลก โดยต้องตระหนักถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า วันนี้ได้เปิดให้เขาได้มีจินตนาการ ได้ให้ทุนและให้โอกาสเขา ได้สร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยี และนำประเทศของเราไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองสู่จินตนาการได้หรือไม่”นายศุภชัยกล่าว

ประธานสภาดิจิทัลฯกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ประเทศไทยควรสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน Space Tech ผลักดันให้เกิดการคิดนอกกรอบจะทำให้พื้นที่นวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างมหาศาล โดยใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่มีศักยภาพด้านอาหารและ Healthcare ซึ่งอาจเป็นการศึกษาวิจัยในเรื่องการสร้างสุขภาวะที่ดีทั้งอาหารและสุขภาพให้กับมนุษย์อวกาศ โดยปัจจุบันปริมาณการลงทุนในเทคโนโลยี Space Tech ทั่วโลก ประเทศที่ลงทุนมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือจีน และฝรั่งเศส ที่ลงทุนด้านนี้ราว 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งประเมินแล้วประเทศไทยเองมีศักยภาพในการจัดสรรงบประมาณส่งเสริมด้าน Space Tech ได้ ซึ่งจะเป็นการลงทุนสู่อนาคตที่แท้จริง โดยสามารถจัดสรรงบประมาณปีละ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6 หมื่นล้านบาท ในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ก็จะทำให้ประเทศไทยอยู่ใน Top 10 ประเทศที่ลงทุนด้าน Space Tech ในระดับโลกได้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...