คุณอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านดิจิทัลวิจัยและพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า “ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาทุกอย่างต้องหยุดนิ่ง แต่ ททท. ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะใช้ช่วงเวลานี้พัฒนายกระดับพัฒนาทักษะดิจิทัล ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน โดยเปิดคอร์สสัมมนาเวิร์กชอปออนไลน์ ฝึกให้ทำคอนเทนต์การตลาด ถ่ายภาพโปรโมทสินค้า ใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ผลปรากฎว่า ชุมชนทำผลงานได้ดีเกินคาดเพราะนี่คือครั้งแรกของชุมชนที่ต้องเรียนและเวิร์กชอปออนไลน์แบบ 100% ต้องทำการบ้านส่งทุกวันเป็นเวลาเกือบสัปดาห์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลังเรียนจบชุมชนได้โชว์ฝีมือทำตลาดออนไลน์ขายคอนเทนต์ท่องเที่ยวและขายสินค้าชุมชน เห็นผลงานจากยอดติดตาม Facebook ของชุมชน เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 100 - 200 % บางชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 1000% อาทิ ชุมชนบ้านเขายายเที่ยง จังหวัดนครราชสีมา น่าชื่นชมมากครับ”
บุษราภรณ์ กลางพรหม กลุ่มโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทาง ททท. จัดให้ว่า“ได้ความรู้การตลาดออนไลน์เยอะมาก ๆ ค่ะ เทคนิคการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ทำในมือถือได้ ทุกอย่างมันดูง่ายขึ้น กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนทำตามได้ง่าย ได้โปรโมทสินค้า เด็กในชุมชนตัดต่อวีดีโอโดยใช้มือถือได้ เพราะก้อยนำตำราเรียนของโครงการ ฯ แชร์ต่อแจกให้น้อง ๆ ไปอ่านและฝึกทำค่ะ หลังเรียนจบ งานเราขายได้จริง สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน โปรแกรมท่องเที่ยว มีคนติดต่อเข้ามามากขึ้นเยอะ”
ทางด้าน โกบัน บ้านมุงเหนือ จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า“เป็นการอบรมออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด หนีไม่ได้และไม่อยากหนีเลย ทั้งรายวิชา วิทยากร โค้ชที่เข้มงวด รวมถึงทางเจ้าหน้าที่โครงการที่ติดตาม ให้ความใส่ใจทุกรายละเอียด เราได้รับความรู้การตลาดออนไลน์ ซึ่งมีความสำคัญมากในปัจจุบัน ช่วยยกระดับการตลาดออนไลน์ของชุมชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มออนไลน์ให้ความสนใจ ติดต่อมาตลอด หลังจากโควิด-19 หายไป ทางชุมชนคงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างหนาแน่นแน่นอน”
สำหรับ กัญญาภัทร วราอภิวุฒิ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตรอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมามองว่า “ในสถานการณ์แบบนี้ที่ชุมชนดูเหมือนจะไม่มีทางออกเพราะคนไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ ชุมชนก็ขาดรายได้จากการท่องเที่ยว แต่โครงการ ฯ นี้ให้ความรู้ด้านการขายออนไลน์ทั้งหมด ที่ชุมชนสามารถนำมาใช้ได้จริงและมาต่อยอดในการหารายได้เข้าชุมชน มองเห็นช่องทางการขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น มีไอเดีย มีกำลังใจ และแรงบันดาลใจจากโครงการ ฯ”
นอกจากนี้ ททท. ยังได้จัดกิจกรรม Online Business Matching โดยได้รับความสนใจจากองค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา กลุ่มแพลตฟอร์มท่องเที่ยวและกลุ่มอีมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ จำนวนกว่า 100 ราย เข้าร่วมการประชุมเจรจาธุรกิจกับชุมชนในรูปแบบออนไลน์ เปิดโอกาสให้นักการตลาดดิจิทัลชุมชนได้โชว์สกิลนำเสนอสินค้าและโปรแกรมท่องเที่ยวสร้างความประทับใจให้กับกลุ่มพันธมิตรผู้ประกอบการต่าง ๆ โดยหลังการประชุมมีแพลตฟอร์มท่องเที่ยวและกลุ่มอีมาร์เก็ตเพลส 30 รายเลือกสินค้าชุมชนไปจำหน่ายและเลือกโปรแกรมท่องเที่ยวไปทำตลาดต่อยอดให้
“เป้าหมายของโครงการนี้ ต้องการให้ชุมชนทำสื่อดิจิทัลด้วยตัวเองเป็น รู้จักและเข้าใจที่จะ ใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำตลาดออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง เมื่อได้เห็นผลงานของนักการตลาดดิจิทัลชุมชนทั้ง 41 ชุมชนแล้ว ททท. มั่นใจว่า ทุกชุมชนจะพลิกโฉมการทำตลาดออนไลน์ใหม่ ๆ และเป็นต้นแบบด้านการตลาดดิจิทัลให้กับชุมชนท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี” นายอภิชัย กล่าวสรุป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด