นักอนาคตวิทยา เผย AI จะไม่มาแทนที่มนุษย์ แต่จะทำให้เราเป็น Superhuman

นักอนาคตวิทยา เผย AI จะไม่มาแทนที่มนุษย์ แต่จะทำให้เราเป็น Superhuman

นักอนาคต-นักการตลาดฟังธง AI กำลังเปลี่ยนโลก แนะวิธีนำมาใช้สร้าง Superhuman ในองค์กร บนเวที Thailand Management Day 2019

การสร้างการเติบโตทางธุรกิจ เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญ แต่การสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าสำหรับโลกอนาคต ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางธุรกิจ รวมถึงพัฒนาบุคลากร เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จึงได้จัดงาน TMA Thailand Management Day 2019 ภายใต้แนวคิด GROWTH: Building for the Future เพื่อมุ่งเน้นให้ทุกองค์กรเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาทางการตลาด และนำไปสู่หนทางการเติบโตที่ยั่งยืนในทุกมิติ โดยเชิญบรรดากูรูต่างๆ ทั้งนักอนาคต และนักการตลาดมาเผยมุมมองเทรนด์แห่งโลกอนาคต ซึ่งจะเป็นโอกาสให้องค์กรต่างๆ ได้ปรับตัว และใช้เป็นแนวทางการทำงานต่อไป

มร. มาร์ติน วีซอฟสกี้ ประธานกรรมการบริหาร ด้านการออกแบบและนักอนาคตศาสตร์ ศูนย์นวัตกรรมของ SAP ผู้ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 100 คนที่มีความคิดด้านนวัตกรรมในประเทศเยอรมัน กล่าวว่า เทคโนโลยี AI จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอนาคต เพราะ AI มีขีดความสามารถที่แผ่ขยายไปได้กว้างมาก และเป็นอะไรได้มากกว่าที่เราคิดในปัจจุบัน

“เพราะปัจจุบันเริ่มมีการบรรจบกันของเทคโนโลยีที่ทำให้จินตนาการที่เราคิดเป็นจริงได้ และจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่คาดฝัน ยกตัวอย่างตุ๊กตาเพียงหนึ่งตัวสามารถพูดโต้ตอบกับมนุษย์ได้ ทั้งยังบันทึกเหตุการณ์ผ่านกล้องและเซ็นเซอร์ที่ติดไว้ที่ตาของตุ๊กตา เชื่อม WIFI สามารถโทรไปสั่งอาหารแล้วส่งทางโดรนให้กับเด็กที่เล่นตุ๊กตาแล้วหิว หรือแม้กระทั่งส่งข้อมูลไปยังผู้ปกครองหรือตำรวจในกรณีเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง จะเห็นได้ว่า Ecosystem ที่เกิดขึ้นกับสินค้าอย่างตุ๊กตาดังกล่าวมีหลายธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง และสามารถต่อยอดทางธุรกิจไปได้อีกหลายรูปแบบ”

กับกระแสการท่องเที่ยวอวกาศที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ปัจจุบันมีหลายธุรกิจกำลังเกิดขึ้นมารองรับตลาดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ดังกล่าว เช่น startup รายหนึ่งในยุโรปที่ใช้จรวดในการเก็บสะเก็ดดวงดาวนำมาวิเคราะห์หาเชื้อเพลิงไว้ใช้ในยามท่องอวกาศ หรือแม้แต่การทำเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมบนดาวต่างๆ ด้วย

นี่เป็นแค่ตัวอย่างที่ มร.มาร์ติน หยิบยกขึ้นมาเพื่อสร้างให้ทุกคนฉุกคิด แต่จุดเริ่มต้นเพื่อที่จะไปให้ถึงอนาคตตามจินตนาการให้ได้นั้นจำเป็นต้องมาจากการการออกแบบอนาคตเสียก่อน

“การออกแบบอนาคตมาจากการจินตนาการ ซึ่งผมคิดว่าจินตนาการควรเป็นกิจกรรมทางธุรกิจ เพราะจะทำให้เราสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ อย่างเช่นปัญญาของเครื่องกลในวันนี้ที่เราเห็นกันล้วนมาจากสิ่งที่มนุษย์จินตนาการเมื่อหลายสิบปีก่อน ดังนั้นหน้าที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ทุกคนคือ การตั้งคำถามในทุกๆ วันที่ตื่นขึ้นมาตอนเช้าว่า อะไรคืออนาคต หรืออนาคตควรมีหน้าตาแบบไหน”

มร.มาร์ติน ชี้ว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจในอนาคต คือ AI เหมือนที่เวลานี้วงการแพทย์ได้นำ AI เข้ามาสนับสนุนการทำงานของแพทย์ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ทำงานได้ดีกว่าแพทย์ในบางสาขา เพราะ AI มีความสามารถในการจดจำเคสการเจ็บป่วย ประวัติการรักษาคนไข้ได้ดีกว่า และสามารถนำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ข้อมูลความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นี่จึงเป็นช่องทางที่ชี้ให้เห็นว่า องค์กรต่างๆ สามารถนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ในการองค์กรให้เป็นตัวช่วยหรือส่งเสริมการทำงาน Manual Work ของพนักงาน ซึ่งจะทำให้พนักงาน Work Force กลายเป็น Superhuman ที่มีเวลาหรือใช้สมองไว้สำหรับการเสาะหา หรือ Explore อะไรใหม่ๆ หรือแก้ปัญหาใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้มากขึ้น แน่นอนว่า Super Human เหล่านี้ก็จะต้องคาดการณ์อนาคตว่า ลูกค้าคือใครและมีความต้องการอย่างไรในอนาคต รวมถึงตั้งคำถามของพันธมิตรในอนาคตว่าจะเป็นใครด้วย เพื่อที่จะได้ร่วมมือกันกำหนดอนาคตให้ได้ผลลัพธ์ที่เร็วขึ้นกว่าเดิม

ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้องค์กรต่างๆ ต้องหาวิธีที่จะนำเทคโนโลยี AI มาทำงานร่วมทำงานกับมนุษย์ผ่านแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี ให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันทั้งในแง่ความคิดและตัดสินใจ เพื่อที่พนักงานจะได้เอาทักษะของมนุษย์ไปผลิตอะไรอย่างอื่นเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี มร.มาร์ติน กล่าวว่า ความสามารถในการกำหนดหรือออกแบบอนาคตขององค์กรต่างๆ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานอันแข็งแกร่งที่องค์กรมี ไม่ว่าจะเป็นองค์กรความรู้ ทรัพยากร และคุณภาพของพนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรจำเป็นต้องเตรียมตัวในเรื่องนี้ให้พร้อมที่จะวางแผน สำรวจ และเสาะหา ซึ่งโมเดลการทำงานลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูงเสมอไป หากใช้วิธีพลาดให้เร็วที่สุดแล้วลุกขึ้นให้เร็วที่สุด (Fast Fail, Fast Forward) เพื่อไปถึงเป้าหมายในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น

สำหรับในประเทศไทย ที่ผ่านมาพบว่าอุตสาหกรรมการเงิน และการสื่อสารโทรคมนาคม เป็น 2 อุตสาหกรรมที่ถูก Digital Disruption อย่างรุนแรง “เอสซีบี อบาคัส” และ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ในฐานะตัวแทนที่มาจากอุตสาหกรรมดังกล่าว ก็ได้เข้ามาร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการทำงานเพื่อไม่ให้องค์กรถูก Disrupt

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด กล่าวถึงเทรนด์การแข่งขันในอีก 2-3 ปีข้างหน้าว่าจะมาจากทุกทิศทุกทาง โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่มองเห็นโอกาสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ายังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาดดิจิทัลแพลตฟอร์ม และด้วยความที่บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งของจีน และสหรัฐมีศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลลูกค้าก็จะกลายเป็น Player ที่เข้ามากินตลาดในธุรกิจต่างๆ ของไทย เหมือนอย่างที่ Amazon มี Market Power มากพอที่จะไปกินตลาดอื่นๆ

“คู่แข่งที่น่ากลัวคือ คู่แข่งที่เราไม่รู้จักก่อน ดังนั้นองค์กรต่างๆ ควรสร้าง Digital Capability เริ่มจากหาจุดแข็งขององค์กรให้เจอเพื่อตั้งโจทย์ทางธุรกิจถึงสิ่งที่จะเดลิเวอร์ให้กับผู้บริโภค และสร้างคนให้มีจิตวิญญาณของการทดลอง ที่สำคัญต้องหาพันธมิตรผนึกกำลังช่วยกันวางแผนเพื่อที่จะเกิดการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีให้เร็วยิ่งกว่าเดิม และทันกับการแข่งขันที่เปลี่ยนไป”

ทางด้านคุณพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านคอนเทนต์และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวแนะนำเทคโนโลยีที่สำคัญในอนาคตว่า องค์กรต้องมีการสะสม Big Data อย่างเป็นระบบ และเพิ่ม Data Asset ด้วยการจับมือกับพันธมิตร ทางหนึ่งเพื่อสู้กับ Big Data ของ Player ข้ามชาติที่มีมากกว่า และยังเป็นการใช้ข้อมูลส่งต่อไปให้กับ AI ในการวิเคราะห์ อีกเทรนด์หนึ่ง คือ 5G ที่ทุกบริษัทต้องเข้าใจเพื่อนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมตัวเอง ซึ่งการให้ความสำคัญใน 3 เทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นหนทางไปสู่ Customer Experience ทั้งในแง่ Functional Benefit และ Emotional Benefit

“องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องปรับโครงการการทำงานให้เป็น Micro Organization โดยอาจใช้ AI เข้ามาช่วยทุ่นแรง และแบ่งธุรกิจออกเป็นเสี้ยวๆ ปลุกองค์กรให้ตื่นจาก Legacy ในอดีต แล้วทำงานแบบ startup และมี Agility ที่สำคัญต้องสร้าง Mindset ในการทำลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างมีจุดหมาย ถ้าไม่ถึงจุดหมายจะทำยังไง จะหยุดหรือหาพาร์ทเนอร์ที่ทำเป็น ซึ่งการหาพาร์ทเนอร์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะสำคัญมากขึ้นในอนาคต นอกจากจะช่วยเสริมในสิ่งที่เราไม่ถนัดแล้ว ยังสามารถร่วมกันสร้างธุรกิจใหม่ได้ด้วย เหมือนอย่างที่เราเห็นการจับมือกันข้ามธุรกิจระหว่างค้าปลีก และเกมมิ่ง หรืออีคอมเมิร์ซกับแฟชั่น กลายเป็นธุรกิจใหม่แห่งโลกอนาคต” ดร. สุทธาภา กล่าวทิ้งท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...