สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยร่วมมือกับ depa เปิดตัวหนังสือ คู่มือเมืองอัจฉริยะ | Techsauce

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยร่วมมือกับ depa เปิดตัวหนังสือ คู่มือเมืองอัจฉริยะ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ งานสัปดาห์สมาร์ทซิตี้ 2020 สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเปิดตัวหนังสือ‘คู่มือเมืองอัจฉริยะ’ หนังสือคู่มือดังกล่าว คือ ส่วนหนึ่งของแผนความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยในการร่วมส่งเสริมแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เนื้อหาครอบคลุมภาพรวมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในไทย รวมถึงกรณีศึกษาและความเชี่ยวชาญของสหราชอาณาจักรที่อาจเป็นประโยชน์กับไทย

ทั้งนี้ ‘คู่มือเมืองอัจฉริยะ’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความร่วมมือหลากหลายระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ซึ่งมีอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ ได้แก่

  • โครงการ Global Future Cities Programme ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรและกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตลาดพร้าว วางแผนสร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อส่งเสริมการวางนโยบายในกรุงเทพมหานครที่ใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐาน และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบคลองบางหลวงและสถานีบางหว้า
  • การจัดอบรบเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะที่จังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี และ ขอนแก่น
  • นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายของโครงการใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวอย่าง UK Tech Export Academy ของสหราชอาณาจักรในเอเชียแปซิฟิก โดยไทยจะเป็นจุดหมายในการสำรวจตลาดของบริษัทด้านสมาร์ทซิตี้จากสหราชอาณาจักรกว่า 30 รายในปีพ.ศ. 2564
  • เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 สหราชอาณาจักรได้เปิดตัวเครือข่ายการค้าดิจิทัลซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมาย โครงการนำร่องนี้มีระยะเวลาสามปี มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมขีดความสามารถในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของสหราชอาณาจักรในเอเชียแปซิฟิก และส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนในประเทศไทย

สหราชอาณาจักรเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วิถีชีวิตแบบเมือง (urbanisation) คือ ความท้าทายใหม่ของศตวรรษ ปัจจุบันประชากรกว่าครึ่งของไทยอาศัยอยู่ในเขตเมือง ขณะที่สถิติทำนายว่าประชากรกว่าร้อยละ 65 ของโลกจะอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เมืองภายใน พ.ศ. 2583 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตในเขตเมืองยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่ง มลพิษ สุขภาพ รวมถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

สหราชอาณาจักรมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเมืองแห่งอนาคตผ่านการวางผังเมืองและการบูรณาการเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะเข้ากับข้อมูลเปิดและการออกแบบโดยยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง งานวิจัยยืนยันว่าเกือบหนึ่งในสามของเมืองในสหราชอาณาจักรที่มีประชากรมากกว่า 1 แสนคนมีการดำเนินโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเมือง “อัจฉริยะ”

นอกจากนี้ เมืองหลวงของสหราชอาณาจักรอย่างกรุงลอนดอนยังได้รับการประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะชั้นนำของโลกในการจัดอันดับ IESE Cities in Motion Index ในปีพ.ศ. 2562 หรือเพียง 1 ปีหลังจากที่ลอนดอนประกาศตั้งเป้าหมายและกำหนดโร้ดแมปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอันดับหนึ่งของโลกเมื่อปีพ.ศ. 2561 ทั้งนี้ การทำงานร่วมกับไทยและอาเซียนในด้านสมาร์ทซิตี้ คือ ส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรในการพัฒนาความร่วมมือกับภูมิภาค

ไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผมหวังว่าการเปิดตัวคู่มือเมืองอัจฉริยะ และการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญในพื้นที่อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายการค้าดิจิทัลนี้ จะเป็นรากฐานให้เกิดความร่วมมือ รวมทั้งการแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญต่อไปในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีหน้าจะได้ต้อนรับบริษัทอังกฤษที่เดินทางมาสำรวจตลาดไทยกับโครงการ Tech Export Academy

คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะถือเป็นหัวข้อหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนเจ้าของพื้นที่รัฐ และเอกชน เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ การเป็นเมืองน่าอยู่ ทันสมัย ตลอดจนส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ผ่านมา depa ได้ดำเนินนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะเดียวกัน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็นแนวทางสู่ประเทศไทย 4.0 ดังนั้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จึงถือเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายความเจริญสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ดาวน์โหลดคู่มือดังกล่าวได้ ที่นี่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ดีอี ผนึก ‘อว.- ศธ.’ ร่วมมือ UNESCO นำเวที UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025

ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ย้ำบทบาทผู้นำจริยธรรม AI ระดั...

Responsive image

เสริมสร้างความร่วมมือไทย-ฟินแลนด์ ศึกษาดูงานและขยายโอกาสนวัตกรรม

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ นำคณะผู้แทนไทยศึกษาดูงานที่ฟินแลนด์ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรม พลังงานหมุนเวียน และเศรษฐกิจหมุนเวียน...

Responsive image

ไทยพบเอสโตเนีย แลกเปลี่ยนมุมมองรัฐบาลดิจิทัล ศึกษาต้นแบบ e-Government

ไทยเปิดใจเรียนรู้จากเอสโตเนีย ระบบ e-Government ที่ประชาชนไว้วางใจ...