อัพเดท! การรวมกิจการของธนาคารธนชาต และ TMB | Techsauce

อัพเดท! การรวมกิจการของธนาคารธนชาต และ TMB

หลังได้รับมติเห็นชอบเกี่ยวกับการรวมกิจการระหว่างธนาคาร TMB และธนาคารธนชาตจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น TMB เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ธนาคาร TMB และธนาคารธนชาตต่างเดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ 

โดยธนาคารธนชาตได้เข้าทำสัญญาขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนธนชาต ให้กับพรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ (สิงคโปร์) ตอกย้ำจุดยืนของธนาคารใหม่ในการให้บริการด้านกองทุนรวมแบบ Open Architecture ด้าน TMB เตรียมบันทึกรายการขายดังกล่าวภายในสิ้นปี 2562 เมื่อเข้าถือหุ้นในธนาคารธนชาต 

ในการดำเนินการดังกล่าวนั้น ทางธนาคารธนชาต และธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบลจ.ธนชาต ในสัดส่วน 75% และ 25% ตามลำดับ ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัท พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น โฮลดิ้งส์ (Prudential) ซึ่งถือหุ้นโดยอ้อม 100% ในอีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ (สิงคโปร์) (Eastspring) โดยมูลค่าธุรกรรมรวมคาดว่าไม่ต่ำกว่า 8.4 พันล้านบาท 

คุณปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า “การขายหุ้น TFUND ของธนาคารธนชาตนั้น จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ TMB เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคารธนชาต ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผนการรวมกิจการ โดยการขายในส่วนแรก ธนาคารธนชาตจะขายหุ้นในสัดส่วน 25.1% (จากที่ถืออยู่ทั้งหมด 75%) 

ขณะที่ธนาคารออมสินจะขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ 25% ให้กับพรูเด็นเชียล คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายรวมในครั้งแรกนี้เท่ากับ 4.2 พันล้านบาท ซึ่งภายหลังการซื้อขายเสร็จสิ้น พรูเด็นเชียลจะถือหุ้นในบลจ.ธนชาตในสัดส่วน 50.1% และธนาคารธนชาตจะถือหุ้น 49.9%”

สำหรับ TMB นั้น ปัจจุบันมีสัดส่วนการถือหุ้นใน บลจ.ทหารไทย (TMBAM Eastspring) 35% ซึ่งหลังจากเข้าซื้อหุ้นธนาคารธนชาต TMB ก็จะถือหุ้นบลจ.ธนชาต 49.9% โดยอ้อม โดยทั้ง TMB และอีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ (สิงคโปร์) ได้มีการวางแผนที่จะรวมกิจการของ 2 บลจ. 

ระหว่างบลจ.ทหารไทย (TMBAM Eastspring) และบลจ. ธนชาตเข้าด้วยกันปี 2564 ซึ่งเมื่อทั้ง 2 บลจ. รวมกันแล้ว จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ประมาณ 650 พันล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2562) 

ภายใน 5 ปี TMB จะดำเนินการขายหุ้นที่ถืออยู่ใน บลจ.ใหม่ทั้งหมด ให้กับพรูเด็นเชียล เน้นย้ำจุดยืนและกลยุทธ์การให้บริการด้านกองทุนรวมแบบ Open Architecture

“นอกจากนั้นแล้ว การขายหุ้น TFUND ออกไปนั้นจะช่วยสะท้อนค่าพรีเมียม (Premium) ที่แท้จริงที่ TMB ต้องจ่ายในการเข้าซื้อหุ้นธนาคารธนชาต กล่าวคือ ในการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของธนาคารธนชาต TMB ต้องระดมทุน โดยใช้เงินทุนราว 130,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากมูลค่าทางบัญชีของธนาคารธนชาตภายหลังการปรับโครงสร้าง (ซึ่งมีบริษัทลูกคือ TBROKE และ TFUND) 121,000 ล้านบาท บวกกับค่าพรีเมียม (ซึ่งรวมพรีเมียมจากบริษัทลูกทั้ง 2 แห่ง) อีกประมาณ 9 พันล้านบาท 

ดังนั้นการขายหุ้น TFUND 75% ออกไปด้วยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6.3 พันล้านบาท ก็จะเข้ามาชดเชยค่าพรีเมียมที่เคยจ่ายไป ทำให้สุทธิแล้ว ค่าพรีเมียม (Premium) แท้จริงที่ TMB ต้องจ่ายจะมีมูลค่าต่ำกว่า 9 พันล้านบาทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในจุดนี้ ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของของธนาคารที่ต้องการใช้เงินทุนในการเข้าซื้อหุ้นธนาคารธนชาตในจำนวนที่เหมาะสม”

ทั้งนี้ สำหรับการขายในส่วนแรก 25.1% จำนวน 2.1 พันล้านบาท TMB จะมีการบันทึกรายการขายดังกล่าวจากธนาคารธนชาตซึ่งเป็นบริษัทย่อย ในงบการเงินรวมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2562

คุณปิติ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า “การรวม 2 บลจ. ครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาแล้วเสร็จภายในปี 2564 ในระหว่างนี้ลูกค้าของทั้ง 2 บลจ. ยังสามารถถือครองผลิตภัณฑ์กองทุนรวม และทำธุรกรรมได้ตามปกติ โดยการรวมกันในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นให้กับลูกค้า และในส่วนของการรวมกิจการระหว่างธนาคาร TMB และธนาคารธนชาตจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 เช่นกัน ซึ่งลูกค้าของธนาคาร TMB และธนาคารธนชาตก็ยังสามารถใช้บริการด้านการลงทุน บริการต่างๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของทั้งสองธนาคารในทุกๆ ช่องทางได้ตามปกติ” 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เสริมสร้างความร่วมมือไทย-ฟินแลนด์ ศึกษาดูงานและขยายโอกาสนวัตกรรม

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ นำคณะผู้แทนไทยศึกษาดูงานที่ฟินแลนด์ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรม พลังงานหมุนเวียน และเศรษฐกิจหมุนเวียน...

Responsive image

ไทยพบเอสโตเนีย แลกเปลี่ยนมุมมองรัฐบาลดิจิทัล ศึกษาต้นแบบ e-Government

ไทยเปิดใจเรียนรู้จากเอสโตเนีย ระบบ e-Government ที่ประชาชนไว้วางใจ...

Responsive image

ม.มหิดล ชูความสำเร็จผลงานนวัตกรรมวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี ชนิดเข็มเดียว เตรียมผลักดันออกสู่ตลาดโลก

โรคไข้เลือด เป็นหนึ่งในโรคประจำถิ่นในทุกประเทศเขตร้อนของโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายหรือยุงรำคาญเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน และในปัจจุบันมีประชากรประม...