Startup/Innovation Ecosystem กับอนาคตที่ชัดเจนขึ้น | Techsauce

Startup/Innovation Ecosystem กับอนาคตที่ชัดเจนขึ้น

ในเวลาที่ใครสักคนเริ่มสงสัยว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จึงเริ่มค้นหาจนพบ Startup ซึ่งคิดว่าคือคำตอบ แล้วกล้าพอที่จะละทิ้งวิถีแบบเดิมดังเช่นอดีตผู้บริหารจาก Coca-Cola อย่างอาร์ชวัส เจริญศิลป์ ที่เลือกต่อยอดใหม่กับ HUBBA ในฐานะ CSO เพื่อเพิ่มแต้ม Corporate Innovation ให้เติบโตอย่างแท้จริง

แม้ธุรกิจ Startup ยังเป็นสิ่งใหม่ที่ผู้บริหารองค์กรหลายๆ คนยังไม่เข้าใจหรือจะเริ่มเรียนรู้ให้เข้าใจ แต่ไม่ใช่ อาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแผนงานและยุทธศาสตร์ หรือ CSO บริษัท ฮับบา จำกัด (HUBBA) ที่ตัวเขาเลือกที่จะหันหลังให้กับ Multi National Corporation อย่าง Coca-Cola แล้วฉีกสู่วิถีใหม่กับ HUBBA ที่ก่อกำเนิดจากการเป็น Co-working spaces และกำลังขยายขอบเขตไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแจ้งเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ ทั้งด้าน Tech Media Conference Corporte Innovation และ Venture Building

Startup

บทบาทหน้าที่ในฐานะ CSO ของ HUBBA เป็นอย่างไร

ถึง HUBBA จะเป็นที่รู้จักบ้างแล้วในฐานะผู้ให้บริการ Coworking Space วันนี้เราเติบโตขึ้น เป็น Startup/Innovation Ecosystem Builder ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งใน SEA ดังนั้นสิ่งที่ผมและทีม HUBBA พยายามทำคือวางกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจหลักทั้ง 3 ด้านของบริษัท เพื่อให้เป็น Startup/Innovation Ecosystem Builder ที่สมบูรณ์แบบขึ้น ก่อนที่จะนำไปสู่การสนับสนุนให้ Startup อื่นๆ เติบโตขึ้นด้วยในที่สุด ทั้งในแง่การฝึกอบรม การสร้างโอกาสให้ได้พบกับ VC ตลอดจนการโปรโมทผู้ประกอบการเหล่านั้นผ่านทาง Techsauce

เช่นเดียวกับที่เราสามารถสนับสนุนให้องค์กรขนาดใหญ่เริ่มต้นพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในด้านบริการและผลิตภัณฑ์ในอนาคต ควบคู่กับการเล็งเห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่จะสร้างความยั่งยืนต่อไป หรือนับว่าเป็นเข้าสู่กระบวนการ Kick Start Innovation Journey ให้ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณสูง เป็นไปอย่างรวดเร็ว และไม่กระทบกับกระบวนการทำงานปกติขององค์กรนั้น ๆ

เริ่มตั้งแต่การสร้างไอเดียในการแก้ไขปัญหาหรือการเข้าหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ไปจนถึงการนำไอเดียเหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นได้จริง ทว่าไม่ใช่ทุกไอเดียที่ดีจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง แต่ถ้าไม่มีกระบวนการริเริ่มในการทำไอเดียเหล่านั้นไปพัฒนา นวัตกรรมใหม่ ๆ ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะภายในองค์กร ชุมชน หรือประเทศ ก็ตาม

ผมมี passion ที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คน เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีทำให้คนที่ขาดความพร้อมหรือขาดโอกาสสามารถตั้งหลักและสร้างอนาคตของเขาเองได้ ไม่ว่าจะในแง่ธุรกิจหรือทางสังคม

อะไรคือเหตุผลที่เลือกมาวงการ Startup

วันหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นผมยังนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร ภูมิภาคอาเซียนของ Coca-Cola โดยรับผิดชอบดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนั้น ธารา (ลูกสาว) เอ่ยปากถามผมว่า “คุณพ่อคะโลกในอนาคตจะน่ากลัวไหม? “ คำตอบที่ผมให้กับลูกในตอนนั้นคือ “พ่อไม่รู้” ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่กวนใจผมอย่างมาก

ก็เพราะว่า จากงานที่ทำอยู่ทำให้ผมได้เดินทางไปทั่วโลก พบปะพูดคุยและกระทบไหล่คนสำคัญมากหน้าหลายตาซึ่งบางครั้งก็รวมถึงผู้นำประเทศ ทั้งยังรับผิดชอบโครงการมูลค่าหลายพันล้าน แต่ผมกลับไม่สามารถตอบคำถามซื่อๆ ที่ออกมาจากปากลูกสาววัย 10 ขวบของผมได้ว่าโลกอนาคตเน่ากลัวไหม?

แล้วสิ่งที่ตามมานับจากวันนั้นคือ? 

ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ของปีที่ผ่านมาในการพยายามทำความเข้าใจและตามให้ทันโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพราะผมเชื่อว่าคนเรามักกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้ ถ้าผมสามารถเข้าใจได้ว่าทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไรและใครจะเป็นคนกำหนดก็อาจทำให้ผมมั่นใจได้มากขึ้น รวมถึงมองอนาคตอย่างตื่นเต้นและมีความหวังมากขึ้น

ดังนั้น ผมจึงเริ่มอ่านบทความมากมายบน Internet แล้วก็กินเวลาไปมาก ผมจึงหันไปเรียนรู้ผ่าน YouTube แทน ซึ่งปรากฏว่าการดูคลิปวิดีโอนั้นเพลินกว่าและเมื่อไม่นานมานี้ผมเริ่มฟัง podcast ระหว่างเดินทางบนท้องถนน กระทั่งเมื่อ 3 เดือนก่อนผมลาออกจากงานที่บริษัทเก่า และหันมาทุ่มเทเวลา 100% กับการ Startup/Innovation Ecosystem Builder ที่ HUBBA เพราะผมเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการคาดการณ์อนาคตคือลงมือสร้างมันขึ้นมาเอง

ผมเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการคาดการณ์อนาคตคือลงมือสร้างมันขึ้นมาเอง

ภารกิจสำคัญเมื่อมาร่วมงานกับ HUBBA คืออะไร

หน้าที่ของผมคือผลักดันแผนงานและยุทธศาสตร์ของ HUBBA ให้เป็นตามเป้าหมาย ดังนั้นภารกิจที่สำคัญคือการสร้างวิสัยทัศน์แห่งอนาคต เพราะผมไม่มีสิทธิ์ที่จะเลี่ยงการตอบคำถาม เมื่อพนักงานต้องการที่จะรู้ว่าคุณมองอนาคตอย่างไรและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอนาคตขององค์กร ในฐานะผู้นำเรื่องที่ว่าอนาคตนั้นน่ากลัวหรือน่าตื่นเต้นไม่ใช่เพียงการตอบคำถาม แต่มันมีความสำคัญต่อวิสัยทัศน์ และเป็นหัวใจสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายความเป็นอยู่ขององค์กร

ยกตัวอย่างเช่น การล่มสลายของ Tower Records, Kodak และ Barns & Noble เป็นผลมาจาก Digital Disruption หรือไม่ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าไม่ใช่ ซึ่งมองว่าเป็นเพียงข้ออ้างของความประมาท รวมถึงความล้มเหลงในการทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและตลาด เพราะบริษัทเหล่านี้รับรู้ถึง Digital Technology อยู่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น Kodak เองยังเป็นผู้คิดค้นกล้องดิจิทัลได้รายแรกของโลก แต่บริษัทกลับประมาท คาดการณ์อนาคตผิดพลาด โดยเฉพาะการคาดการณ์กลุ่มลูกค้าในอนาคต และที่สำคัญคือพวกเขาปรับวิสัยทัศน์ตามโลกไม่ทัน

แล้วคุณเห็นภาพชัดเจนหรือยังว่า มีเทคโนโลยีสำคัญใหม่อะไรเกิดขึ้นบ้าง และลูกค้าของคุณมีพฤติกรรมและความชื่นชอบเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

ในมุมมองของผม มีหลากหลายมิติ เช่น ถ้าอยู่ในธุรกิจการเงินการธนาคารย่อมต้องมีความเข้าใจถึงเทคโนโลยี Blockchain ให้มากพอ เช่นเดียวกับเรื่องรถยนต์ไร้คนขับและเทคโนโลยีหาลำดับเบสดีเอ็นเอสำหรับธุรกิจประกันชีวิต แม้แต่กระแสด้าน Sharing-economy, Co-working and Co-Living สำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อีกเรื่องที่ควรตระหนักคือ หมดยุคน้ำมันไปแล้ว แต่พลังงานทางเลือกจากแหล่งไหนจะมาแรง จะเป็นแสงอาทิตย์ ลม น้ำหรือความร้อนใต้พิภพ โอกาสไหนจะเป็นของจริง

 

Startupแนวคิดเกี่ยวกับการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมรับอนาคตของคุณเป็นอย่างไร

ความรับผิดชอบของผมยังรวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมสำหรับอนาคต ในบริษัททั่วไป หัวหน้าสายงานไล่ขึ้นไปยังผู้บริหารระดับสูงจะประกอบไปด้วยคนหลากหลายรุ่น ทั้ง Baby Boomer และ Gen X (อายุ 30 กว่าปีขึ้นไป) ส่วนคนที่เหลือคือคนยุค Internet รุ่นใหม่อย่างกลุ่ม Xennials และ Millennials

อย่างไรก็ตาม คนแต่ละรุ่นจะมีความแตกต่างกันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเรื่องทัศนคติหรือมุมมอง ที่คนรุ่นใหม่กว่าจะให้ความสำคัญกับจุดมุ่งหมาย สังคมและสภาพแวดล้อมมากกว่า ขณะที่จะไม่ไว้วางใจบริษัทขนาดใหญ่และรัฐบาล รวมไปถึงการลำดับความสำคัญในการเรียนรู้ การทดลองและการจัดการ ตลอดจนวิธีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ ที่ค่อนข้างเปิดกว้าง เชื่อมต่อโลกเทคโนโลยีตลอดเวลา และมีความต้องการฟีดแบ็คหรือข้อเสนอแนะตลอดเวลา ซึ่งยังขัดอยู่บ้างกับวัฒนธรรมของไทย

อะไรคือความท้าทายสำหรับองค์กรแบบ Statup

ในองค์กรที่ประกอบไปด้วยคนทำงานหลายรุ่นหลายวัย การสร้างวัฒนธรรมองค์กรซึ่งมีประสิทธิภาพ สามารถผสานทุกอย่างได้ลงตัวคือหนึ่งในความท้าท้ายสำคัญที่ผู้นำต้องจัดการ ด้วย 4 แนวทางปฏิบัติต่อไปนี้จะช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง

  • สร้างการมีส่วนร่วม – ปลูกฝังการทำงานแบบประสานพลังความคิด ตามสุภาษิตที่ว่าหลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว ไอเดียใหม่ๆ ดีๆ มักผุดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ซึ่งการที่เราคาดไม่ถึงไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่ อย่าละเลยเสียงและความคิดจากลูกค้าเพราะพวกเขาคือคนสำคัญที่สุดที่สามารถบอกได้ว่าบริการหรือสินค้าอะไรที่กำลังอยู่ในความต้องการและมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ
  • ให้อิสระ – นโยบายและขั้นตอนดำเนินงานที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนมานานอาจนำไปสู่วัฒนธรรมการทำงานที่ต้องคอยรอขอคำอนุมัติ ซึ่งมักจะปิดกั้นไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์แนวคิดและนวัตกรรม เพราะการขอโทษนั้นง่ายกว่าการขออนุมัติเมื่อเป็นเรื่องการลองคิดและทำสิ่งใหม่ๆ
  • เน้นสร้างความคืบหน้าการเรียนรู้มากกว่าความสมบูรณ์แบบ – หากต้องการก้าวให้ทันตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่หยุดนิ่ง ผู้นำองค์กรจะต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับความไม่ชัดเจนและสามารถลงมือได้อย่างทันท่วงที นั่นหมายถึงการผลักดันให้เกิดความรุดหน้าโดยไม่มัวแต่พะวงกับความเสี่ยงและความสมบูรณ์แบบ ต้องหาเครื่องมือที่จะมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงและรายได้ในสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงเร็วและต้องการนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการตลอดเวลา
  • ขี้สงสัย – บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคนพูดถึงการเบนความสนใจไปยังสิ่งแปลกใหม่ที่ผ่านแวบเข้ามาราวกับว่ามันเป็นพฤติกรรมที่แย่เป็นพวกสมาธิสั้น ลองจินตนาการว่าสิ่งนั้นคือรถบรรทุกที่วิ่งตรงมาด้วยความเร็วสูง เราต้องเลือกว่าจะให้ความสนใจมีปฏิกิริยาตอบสนองให้เร็วกว่าหรือโดนทับแบน ในโลกที่หมุนเร็วกว่าเดิม ผู้นำและองค์กรต้องเปิดมุมมองให้กว้างอยู่เสมอพร้อมทั้งมองหาโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ให้เจอว่าอยู่ที่ไหน

รูปแบบองค์กรที่พร้อมปลุกปั้นอนาคตต้องเป็นเช่นไร

เมื่อมีวิสัยทัศน์กว้างไกลแล้ว ด้วยเป้าหมายอันชัดเจนและทีมงานที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ก็หมายความว่าองค์กรมีส่วนผสมพร้อมสำหรับการปลดปล่อยพลังแห่งการสร้างสรรค์และปลุกปั้นอนาคต

เราสามารถหยิบยืมเคล็ดลับและเครื่องมือจาก Startup มาลองปรับใช้ได้ นั่นคือ ขั้นแรก ลองมาดูคร่าวๆ ว่าระบบนิเวศของธุรกิจ Startup และนวัตกรรมคืออะไร โดยทั่วไปหน่วยย่อยในระบบนิเวศนี้จะประกอบไปด้วย

  • Startup หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและแนวคิดธุรกิจที่น่าจับตา
  • Hub หรือศูนย์รวมที่ผู้ประกอบการสามารถทำงาน สร้างทีม หาพันธมิตรและเร่งการเติบโต
  • VCs และบริษัทผู้สนับสนุนเงินทุน ทรัพยากร บุคลากรและความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเพื่อช่วยเหล่าผู้ประกอบการหน้าใหม่ในการบ่มเพาะธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศที่ว่านี้มีขนาดใหญ่ เชื่อมโยงกันสูงและเต็มไปด้วยผู้ก่อตั้งที่มีความมุ่งมั่น เมื่อปี 2559 บริษัทสตาร์ทอัพทั่วโลกมีการระดมเงินทุนมูลค่ารวมกันกว่า 1.84 แสนล้านเหรียญ ส่วนในไทยได้ระดมทุนไปราว 300 ล้านเหรียญในช่วงเวลาเดียวกัน

มีหลายวิธีที่องค์กรขนาดใหญ่จะเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมใน ecosystem ได้ เริ่มตั้งแต่มา Coworking Event ไปจนถึง Techsauce Global Summit เมื่อมีความเข้าใจและพร้อมที่จะ Experiment กับ Innovation ซึ่งมี tools มากมายที่จะช่วยได้ เช่น Hackathon Accelerate Incubator และอีกมากมาย

ผู้ให้ความช่วยเหลือในการเร่งพัฒนา บ่มเพาะธุรกิจ และสนับสนุนเงินทุนคือองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการในการทดลองและทดสอบนวัตกรรมในขั้นต้น ใช่ว่าทุกโครงการที่ร่วมมือกับกิจการที่ก่อตั้งขึ้นใหม่จะประสบผลสำเร็จ แต่โครงการเหล่านั้นจะทำให้คุณได้สร้างเสริมประสบการณ์ ได้ลองผิดลองถูกและเรียนรู้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลักและผลประกอบการมากนัก แต่ในกรณีที่มันเกิดประสบความสำเร็จขึ้นมารางวัลที่ได้รับจะมีค่ามหาศาล

หลังเข้าสู่วงการ Startup มาระยะหนึ่งได้ค้นพบและเรียนรู้อะไรที่ต่างจากเดิมบ้าง

ทุกวันนี้เราอยู่ในอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ธรรมดา เป็นช่วงเวลาที่เรามีอาวุธครบมือในการรังสรรค์อนาคตสำหรับมวลมนุษย์ ด้วย Technology จะช่วยให้เราเปลี่ยนน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำจืดและทำให้น้ำดื่มน้ำใช้มีปริมาณเพียงพอสำหรับทุกคน ที่ใดมีน้ำก็จะมีอาหาร นั่นหมายความว่าโลกของเราก็จะมีอาหารเพียงพอต่อทุกคนเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้คนจะเข้าถึงพลังงานได้ทั่วถึงและง่ายดายมากขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทนมีแนวโน้มถูกลง ภายในหนึ่งทศวรรษ การเชื่อมต่อทาง Internet จะเชื่อมโยงคนจากทุกมุมโลกเข้าด้วยกันและทำให้การร่วมมือร่วมใจเค้นพลังสมองเพื่อแก้ปัญหาที่ใหญ่ระดับโลกก็เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

สิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้น เราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และสามารถพาองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน ผู้ที่จะสามารถนำทัพและจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในการสร้างและกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง สามารถลดช่องว่างระหว่างคนมั่งมีและคนยากจน พร้อมทั้งฟื้นฟูบูรณะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และช่วยให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง

“ผมเชื่อมั่นในความสามารถของคนและของพวกเราทุกคน ผมเชื่อมั่นในเทคโนโลยีและผมเชื่อมั่นว่าอนาคตที่เรากำลังวาดขึ้นจะเป็นอนาคตที่ดีที่สุดที่คนสามารถสร้างได้”

จากการพูดคุยครั้งนี้ทำให้รับรู้ว่าด้วยประสบการณ์ในการทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่ระดับโลกที่อาร์ชวัสเก็บเกี่ยวมากว่า 20 ปี นั้นช่วยให้ตัวเขาสามารถผสานความเชี่ยวชาญและทักษะในการสร้างสร้าง Innovation ให้เกิดขึ้นได้ในองค์กรทุกขนาดโดยอาศัย เครื่องมีอ และ กระบวนการที่ถูกใช้โดยเหล่า Startup และนำมาประยุกต์ให้สามรถเข้ากับโครงสร้างที่ซับซ้อนของในองค์กรขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การสนับสนุนให้องค์กรขนาดใหญ่ริเริ่ม Kick Start Innovation Journey ได้อย่างเป็นขั้นตอน ตลอดจนได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่จับต้องได้และตอบโจทย์ธุรกิจอย่างแท้จริง

 

 

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...