หลังจากการรัฐประหารโดยกองทัพทหารภายใต้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ในปี 2021 เมียนมาร์เกิดความขัดแย้งภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่มีใครคาดเดาว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อค่าเงินจ๊าดที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง สกุลเงินท้องถิ่นของเมียนมาร์ เกิดความกังวลว่าเมียนมาร์จะเข้าสู่วิกฤตเป็นรายต่อไปหรือไม่ ?
เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางของเมียนมาร์ (CBM:Central Bank of Myanmar) ได้ออกคำสั่งให้ประชาชนและภาคเอกชนซึ่งครอบคลุมทุกประเภทธุรกิจระงับการชำระหนี้คืนต่างประเทศทุกรูปแบบ ทั้งเงินสดหรือเงินกู้ประเภทเงินต้นและดอกเบี้ย อีกทั้งออกคำสั่งให้ธนาคารปรับระยะเวลาในการชำระคืนสำหรับเอกชนที่มีเจ้าหนี้อยู่ในต่างประเทศ และบริษัทเอกชนในประเทศที่มีต่างชาติถือหุ้นมากกว่า 35% ต้องแลกเงินสกุลอื่นมาเป็นสกุลจ๊าด รวมถึงประชาชนที่มีรายได้จากอัตราการแลกเปลี่ยนเงินจากต่างประเทศที่จะต้องแลกสกุลเงินต่าง ๆ มาเป็นเงินจ๊าดเช่นเดียวกัน
นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่กองทัพภายใต้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน พลิกสังคมเมียนมาร์จากหน้ามือเป็นหลังมือ เกิดความขัดแย้งทางเมืองที่รุนแรงภายในประเทศมายังต่อเนื่อง ประชาชนบางส่วนต้องจับอาวุธออกมาสู้รบกับกองทัพ บ้างถูกจับกุมและถูกสังหาร ถึงขั้นจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนาน หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาร์(NUG:National Unity Government) ซึ่งจัดตั้งโดยสมาชิกรัฐสภาที่เหลือ ประกาศจุดยืนทำสงครามต่อต้านกองทัพพม่าและทำการเจรจาและขอความช่วยเหลือกับนานาประเทศ ทำให้กองทัพทำการควบคุมข้อมูลข่าวสารภายในประเทศที่เข้มข้นกว่าเดิม นอกจากนี้กองทัพยังใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการรัฐบาลเก่าด้วยข้อหากระทำผิดจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดปัญหาวงกว้างในประเทศ
ภายหลังการบริหารประเทศในยุคนางอองซานซูจีที่ได้รับเลือกจากประชาชนได้กลายเป็นความหวังใหม่ โดยในช่วงที่พรรค NLD เป็นรัฐบาลพม่าดำเนินนโยบายแบบค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูงถึง 7% ต่อปี ประชาชนเริ่มกลับใช้ชีวิตแบบปกติสุขอยู่พักหนึ่งและหยุดชะงักอีกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพที่ทำให้ภาพรวมประเทศย่ำแย่ พร้อมด้วยการต่อต้านภายในประเทศ ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่เคยหยุดชะงักมาเป็นเวลานานหลังจากการตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการกว่า 50 ปีตั้งแต่ปี 1987 ไม่มีทีท่าจะฟื้นคืนได้ ทำให้ประเทศเข้าสู่จุดวิกฤตในทุกด้าน
ในเดือนเมษายน 2021 ที่ประชุม UNSC มีมติพิจาณามาตรการคว่ำบาตรทางธุรกิจและแทรกแซงการเมืองภายในประเทศเมียนมาร์ ผสมกับการกต่อต้านจากภายในโดย NUG ได้ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อปัจจัยหลายประการในการลงทุนของต่างประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจเอกชนต่างประเทศเรียงแถวระงับและถอนตัวออกจากพม่า เช่น Chevron บริษัทน้ำมันจากสหรัฐฯ Woodside บริษัทน้ำมันจากออสเตรเลีย Total Energies บริษัทปิโตรเลียมขนาดใหญ่จากฝรั่ง Voltalia บริษัทพลังงานของฝรั่งเศส Telenor บริษัทเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ เป็นต้น ประชาชนพม่ากลับสู่สภาวะว่างงานอีกครั้ง
นอกจากนี้ NUG รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาร์ร่วมกับประชาชนผู้ต่อต้าน ก็คว่ำบาตรกิจการที่ถือหุ้นโดยกองทัพ เช่น ธนาคาร สลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อตัดแหล่งรายได้หลักของทหาร ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระเป๋าเงินของกองทัพ ซ้ำเติมความย่ำแย่ของภาคเศรษฐกิจ อีกทั้งธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถอนกิจการออกไปถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญและเป็นแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศเช่นเดียวกัน ประชาชนและบริษัทเอกชนพากันแห่ถอนเงินที่ฝากไว้ ธนาคารหลายแห่งต้องจำกัดการถอนเงินเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบธนาคารล่มสลาย
การแพร่ระบาดโรคได้ซ้ำเติมวิกฤตให้แย่ลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องชะงักงันเหมือนหลายประเทศทั่วโลก ธุรกิจหยุดดำเนินการและขาดกระแสเงินสด จน UNDP United Nations ได้ออกโรงเตือนว่าเมียนมาร์จะเข้าสู่ภาวะยากจนภายในปี 2022 ทางด้านธนาคารโลกได้ระบุว่า 2021 เศรษฐกิจเมียนมาร์จะลดตัวถึง 10% โดยมีอัตราการการเติบโตของ GDP ปรับตัวลดลงกว่า 8.5% โดยตัวเลขหนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นถึง 55.2% ของอัตราการ GDP การผลิตและการบริโภคในภาพรวมจะทรุดตัวลง
นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2021 เมียนมาร์มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่ที่ 245,000 ล้านบาท เพราะบางส่วนถูกอายัดไว้ในสหรัฐฯ ประมาณ 36,000 ล้านบาท ในขณะเดียวก็มีหนี้ต่างประเทศจำนวนมากถึง 488,000 ล้านบาท โดย พล.ต.ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า พม่าต้องใช้เงินราว 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายหนี้เงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อปี ทำให้ประเทศประสบปัญหาเงินทุนสำรองร่อยหรอ
ก่อนหน้านี้รัฐบาลกองทัพได้ออกคำสั่งห้ามการนำเข้าเชื้อเพลิง น้ำมันพืช รถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย เพื่อแก้ปัญหาเงินไหลออกต่างประเทศ และประกาศยกเลิกความช่วยเหลือสำหรับประเทศด้อยพัฒนาจากตะวันตก แต่กลับยิ่งส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในส่วนค่าเงินจ๊าดสูญเสียมูลค่ากว่า 60% ในช่วง 7 เดือนแรกหลังรัฐประหาร ทำให้ประชาชนบางส่วนหันมาเก็บเงินในสกุลดอลลาร์หรือซื้อทองคำแทน ทำให้ดอลลาร์และราคาทองในเมียนมาร์พุ่งสูงสร้างสถิติใหม่ทุกเดือนนับแต่ปี 2021 จนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์ได้สร้างแรงกดดันให้กับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินจ๊าดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยล่าสุดในเดือนเมษายน ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงถึง 39%อยู่ที่ 1,850 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐจากการกำหนดโดยธนาคารกลางของเมียนมาร์ แต่ก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่ำกว่านี้ ทำให้รัฐบาลต้องออกคำสั่งหักดิบเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพของสกุลเงิน
ซึ่งตามหลักการเมื่อค่าเงินของประเทศเข้าสู่จุดวิกฤต ธนาคารกลางจะทำการแทรกแซงค่าเงิน โดยการซื้อสกุลเงินประเทศตัวเองในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะเงินทุนสำรองไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลเมียนมาร์ต้องพยายามควบคุมค่าเงินจ๊าดด้วยวิธีอื่นดังที่ได้ประกาศมาตราการต่าง ๆ ในการจำกัดเงินไม่ให้ไหลออกจากประเทศ ชักดาบหนี้ต่างประเทศทั้งหมดในช่วงเวลานี้
มาตรการครั้งนี้ส่งผลกระทบหลักๆ ในด้านความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่มีอยู่ให้ลดน้อยลงไปอีก ธุรกิจต่างชาติยังคงระงับและถอนการดำเนินการออกจากเมียนมาร์ต่อเนื่อง ล่าสุด Ooredoo บริษัทโทรคมนาคมจากกาตาร์ก็ได้ประกาศขายหน่วยธุรกิจในเมียนมาร์เป็นที่เรียบร้อย ในส่วนภาคเอกชนหลายแห่งในประเทศที่ไม่สามารถชำระค่านำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และยังคงต้องชำระหนี้กับต่างประเทศจำเป็นต้องต่อรองหาวิธีในการชำระหนี้กับผู้ให้กู้ในต่างประเทศ
นอกจากนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้ยังทำให้เงินดอลลาร์และทองคำพุ่งขึ้นอย่างกะทันหัน ประชาชนและบริษัทในประเทศบางส่วนไม่สามารถถือสกุลเงินสหรัฐฯ ได้ทั่วถึง เพราะรัฐบาลสงวนเงินดอลลาร์ไว้เองเพื่อรายจ่ายที่จำเป็นของประเทศ อย่างพลังงาน ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน โดยการหักดิบครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้มีวิธีที่จะดึงดูดเม็ดเงินเพิ่ม ทำให้น่าสนใจว่า ถ้ารัฐบาลไม่สามารถสำรองทุนเพื่อสินค้าจำเป็นเหล่านี้ได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราก็อาจจะได้เห็นประชาชนลุกฮือขึ้นมาประท้วงแบบที่เราเห็นในศรีลังกานั่นเอง
สำหรับประเทศไทยนั้น ประชาชนโดยทั่วไปอาจจะได้รับผลกระทบจากพม่าไม่มากนัก เพราะไทยมีสัดส่วนเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ประมาณ 1% ของมูลค่าการส่งออก เบื้องต้นจึงจํากัดผลกระทบไว้ที่กลุ่มนายทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์เท่านั้นที่ต้องเฝ้าระวังการเกิดหนี้เสีย (NPL) โดยภาคธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนจะเป็นด้านพลังงาน อาหารเครื่องดื่ม ธนาคาร และด้านสุขภาพ โดยรวมแล้วคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.7 แสนล้านบาท
ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ได้มีนโยบายเตรียมรับกับสภาพที่ไม่แน่นอนของสถานการณ์ในเมียนมาร์ บางกิจการได้จัดการกับหนี้สินคงค้างในเมียนมาร์จนเกือบหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี ไทยอาจได้รับผลด้านบวกอยู่บ้าง จากการค้าชายแดน หรือการที่แรงงานชาวเมียนมาร์ต้องการข้ามแดนมาขายแรงงานในไทยมากขึ้น หรือมีชาวเมียนมาร์ที่ยังคงมีกำลังซื้อ มาใช้จ่ายและใช้บริการสถานพยาบาลในไทย
เมียนมาร์จะสามารถบรรเทาวิกฤตครั้งนี้ให้เบาบางลง ด้วยความพยายามที่จะหันมาพึ่งพาตัวเองผลักดันเศรษฐกิจในประเทศ หรืออาจจะไปสู่ทิศทางที่ทำให้รัฐล้มละลายอย่างสมบูรณ์แบบเหมือนดังประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ยังคงประเด็นที่ไทยในฐานะชาติเพื่อนบ้านซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียคงต้องจับตาต่อไปอย่างใกล้ชิด
ที่มาประกอบข้อมูล
Myanmar: Coup, COVID-19, and the ongoing economic crisis
Myanmar is sinking like Sri Lanka, violence up economy down
After the gold rush: How the junta created, and then crushed, a surge in smuggling
Gold and dollar prices soar in Myanmar
Myanmar Suspends Foreign Loan Repayments Amid Dollar Crunch
Myanmar revokes foreign company exemption from currency rules
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด