
กลับมาอีกครั้งกับ Global Risks Report 2025 หรือรายงานความเสี่ยงระดับโลกปี 2025 ที่จัดทำโดย World Economic Forum ที่เปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจ Global Risks Perception Survey (GRPS) ประจำปี 2024–2025 ซึ่งดึงความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 900 คนทั่วโลก มาวิเคราะห์กันแบบเจาะลึกถึงความเสี่ยงสำคัญที่โลกอาจต้องเผชิญในอนาคต โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา เพื่อให้เรารู้ทันและเตรียมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ระยะสั้น (ปี 2025)
- ระยะกลาง (ปี 2027)
- ระยะยาว (ปี 2035)
ซึ่งคำว่า ‘ความเสี่ยงระดับโลก’ หมายถึง ความเป็นไปได้ของการเกิดเหตุการณ์หรือสภาวการณ์ต่าง ๆ ซึ่งถ้าความเสี่ยงนั้น ๆ เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสัดส่วน GDP โลก ประชากร หรือทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้นโดยความเสี่ยงจะถูกแบ่งออกเป็น 5 หมวด ดังนี้
- ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (Economic) - สีฟ้า
- ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) - สีเขียว
- ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) - สีส้ม
- ความเสี่ยงด้านสังคม (Societal) - สีแดง
- ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Technological) - สีม่วง
หากคุณคือผู้ประกอบการ นักลงทุน หรือผู้บริหาร ความเข้าใจใน "ความเสี่ยง" เหล่านี้สามารถช่วยให้คุณเตรียมแผนรับมือ และเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสได้ บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึก 35 ความเสี่ยงสำคัญที่ธุรกิจต้องรู้ !
10 ความเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระดับโลกในปี 2025

จากการสำรวจความเห็นในเรื่องภาพรวมความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระดับโลกในปี 2025 มีการจัดลำดับความเสี่ยงสำคัญ 33 รายการ โดยผลสำรวจระบุว่า 10 อันดับแรกแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลมากที่สุดอันดับที่ 1 คือ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ในด้านความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างรัฐ (State-based armed conflict) ที่เกิดจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางและซูดาน ยังคงเป็นความกังวลหลักในระยะหลังปี 2025 ได้รับการโหวตสูงถึง 23% ตามมาด้วย
- อันดับที่ 2 ความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม (14%) ในด้านเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง (Extreme weather events)
- อันดับที่ 3 ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (8%) ในด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geoeconomic confrontation)
- อันดับที่ 4 ความเสี่ยงทางสังคม (7%) ในด้านข้อมูลที่ผิดและการบิดเบือน (Misinformation and disinformation)
- อันดับที่ 5 ความเสี่ยงทางสังคม (6%) ในด้านความแตกแยกทางสังคม (Societal polarization)
- อันดับที่ 6 ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (5%) ในด้านภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Downturn)
- อันดับที่ 7 ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (4%) ในด้านการเปลี่ยนแปลงของระบบโลก (Critical Change to Earth Systems)
- อันดับที่ 8 ความเสี่ยงด้านสังคม (3%) ในด้านการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจหรือการว่างงาน (Lack of Economic Opportunity or Unemployment)
- อันดับที่ 9 ความเสี่ยงด้านสังคม (2%) ในด้านการเสื่อมถอยของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพลเมือง (Erosion of Human Rights and/or Civic Freedoms)
- อันดับที่ 10 ความเสี่ยงด้านสังคม (2%) ในด้านความไม่เท่าเทียมกัน (Inequality)
เห็นได้ชัดว่าความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ภูมิรัฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ครองอันดับต้น ๆ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน เช่น สงครามและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงทาง เทคโนโลยี เช่น ผลกระทบจาก AI หรือการโจมตีทางไซเบอร์ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง แม้จะมีผู้กังวลในสัดส่วนที่ต่ำกว่า
10 ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระดับโลกในปี 2027

สำหรับความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระดับโลกในอีก 2 ปีข้างหน้า พบว่ามี 10 อันดับที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลมากที่สุด ได้แก่
- อันดับที่ 1 การบิดเบือนข้อมูลและการให้ข้อมูลผิด (Misinformation and Disinformation) ข้อมูลที่ผิดพลาดหรือบิดเบือนส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อถือในสถาบันและระบบการเมือง รวมถึงเพิ่มความขัดแย้งในสังคม
- อันดับที่ 2 เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง (Extreme Weather Events) เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง อย่างพายุ ไฟป่า และน้ำท่วม มีผลกระทบต่อชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมโดยตรง
- อันดับที่ 3 ความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างรัฐ (State-Based Armed Conflict) การต่อสู้ทางการเมืองและการทหารระหว่างประเทศ เช่น สงคราม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโลก
- อันดับที่ 4 การแบ่งแยกทางสังคม (Societal Polarization) ความขัดแย้งในมุมมองและค่านิยมของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยก
- อันดับที่ 5 การโจรกรรมข้อมูลและสงครามทางไซเบอร์ (Cyber Espionage and Warfare) การโจมตีระบบดิจิทัล เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้
- อันดับที่ 6 มลพิษ (Pollution) การปล่อยของเสียที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ
- อันดับที่ 7 ความไม่เท่าเทียมกัน (Inequality) ความแตกต่างในด้านรายได้และโอกาสสร้างความขัดแย้งและลดเสถียรภาพทางสังคม
- อันดับที่ 8 การย้ายถิ่นฐานหรือการพลัดถิ่นที่ไม่สมัครใจ (Involuntary Migration or Displacement) การพลัดถิ่นของผู้คนเนื่องจากความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติ
- อันดับที่ 9 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geoeconomic Confrontation) การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อการพัฒนาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- อันดับ 10 การเสื่อมถอยของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพลเมือง (Erosion of Human Rights and Civic Freedoms) อย่างการลดลงของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น การจำกัดเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็น
10 ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระดับโลกในปี 2035

สำหรับความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระดับโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่ามี 10 อันดับที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลมากที่สุด ได้แก่
- อันดับที่ 1เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง (Extreme Weather Events) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เลวร้ายยิ่งขึ้น
- อันดับที่ 2 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ (Biodiversity Loss and Ecosystem Collapse) การสูญเสียสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศที่สำคัญต่อมนุษย์
- อันดับที่ 3 การเปลี่ยนแปลงระบบของโลก (Critical Change to Earth Systems) การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลกที่ไม่สามารถกลับคืนได้
- อันดับที่ 4 การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource Shortages) ทรัพยากรสำคัญ เช่น น้ำและพลังงานลดลง
- อันดับที่ 5 การบิดเบือนข้อมูลและการให้ข้อมูลผิด (Misinformation and Disinformation) การกระจายข้อมูลผิดที่ยังคงเป็นปัญหาระยะยาว
- อันดับที่ 6 ผลกระทบด้านลบจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Adverse Outcomes of AI Technologies) ความกังวลจากการใช้งานเทคโนโลยี AI อย่างไม่มีการควบคุม
- อันดับที่ 7 ความไม่เท่าเทียมกัน (Inequality) ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
- อันดับที่ 8 การแบ่งแยกทางสังคม (Societal Polarization) ความแตกแยกที่ยังคงส่งผลระยะยาว
- อันดับที่ 9 การโจรกรรมและสงครามทางไซเบอร์ (Cyber Espionage and Warfare) การโจมตีทางไซเบอร์ที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ
- อันดับที่ 10 มลพิษ (Pollution) ผลกระทบจากมลพิษที่สะสมอย่างต่อเนื่อง
5 ความเสี่ยงระดับประเทศที่สำคัญสำหรับประเทศไทย

ในปี 2024 การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร (Executive Opinion Survey - EOS) ได้เปิดเผย 5 ความเสี่ยงสำคัญที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายในระดับประเทศและความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงระดับโลก รายละเอียดดังนี้
- อันดับที่ 1 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Downturn) ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยคือภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น การหดตัวของเศรษฐกิจ (Recession) และการหยุดนิ่ง (Stagnation) ภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน การลงทุน และการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศ
- อันดับที่ 2 หนี้ภาคเอกชน (Private Debt) ปัญหาหนี้สินขององค์กรเอกชนและครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย อาจกลายเป็นภาระทางการเงินและลดโอกาสทางเศรษฐกิจ
- อันดับที่ 3 มลพิษ (Pollution) มลพิษในรูปแบบต่าง ๆ เช่น มลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ถูกจัดเป็นความเสี่ยงอันดับ 3 โดยประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหานี้ในระดับที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
- อันดับที่ 4 ความยากจนและความไม่เท่าเทียม (Poverty and Inequality) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่งในประเทศยังคงเป็นความเสี่ยงอันดับ 4 ปัญหานี้มีผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางสังคม
- อันดับที่ 5 หนี้สาธารณะ (Public Debt) หนี้สาธารณะถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 5 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การบริหารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่อการลงทุนในอนาคต
จากผลสำรวจจะเห็นว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปัญหาหนี้สินที่เป็นปัจจัยสำคัญ การจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ต้องการความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในระยะยาว
อ้างอิง: www.weforum.org