Green Paris: ส่องเบื้องหลังการเนรมิตกรุงปารีสให้รองรับมหกรรมกีฬาระดับโลกบนความยั่งยืน

“โอลิมปิก” มหกรรมการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่ผู้คนต่างเฝ้ารอ ในปี 2024 นี้ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคมถึง 11 สิงหาคมและพาราลิมปิกเกมส์ ในวันที่ 28 สิงหาคมถึง 8 กันยายนนี้ คาดว่าจะมีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 10,000 คน จาก 32 ชนิดกีฬา และนักกีฬาจาก 206 ประเทศทั่วโลก

ความพิเศษของมหกรรมโอลิมปิกครั้งนี้คือ ครบรอบ 100 ปี ของ Paris Olympics ที่ฝรั่งเศสรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการจัดงานล่าสุด และการจัดงานครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ของการเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิก หลังจากเคยจัดมาแล้วในปี ค.ศ 1900 และค.ศ 1924 

การเตรียมงานที่ใหญ่ขนาดนี้เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของการออกแบบ รวมถึงการปรับพื้นที่เมืองเพื่อรองรับการใช้งานของผู้คนทั่วโลก Techsauce ชวนดูเบื้องหลังการออกแบบ และแผนพัฒนาเมือง

การออกแบบที่เข้ากับวิถีชีวิตผู้คน

ความท้าทายสำคัญของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ไม่ได้อยู่แค่การออกแบบสถานที่รองรับผู้คนจำนวนมหาศาล แต่ท้าทายยิ่งกว่าคือ การออกแบบพื้นที่ที่สามารถ "กลับมาใช้ชีวิต" ได้อย่างยั่งยืนหลังการแข่งขันยุติลง โดยไม่ทิ้งภาระเป็นขยะหรือพื้นที่รกร้างไว้

ทางเจ้าภาพได้เตรียมแผนพัฒนาเมืองเพื่อรองรับผู้คนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเน้นหลักการสร้างความยั่งยืน และลดการปล่อยพลังงานตามแนวทางปารีสสีเขียว (Green Paris) ตลอดจนการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งาน และการเปิดพื้นที่สาธารณะและแหล่งประวัติศาสตร์ของเมืองให้กลายเป็นสนามกีฬากลางแจ้ง

ทำให้โอลิมปิกครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทุกพื้นที่ในกรุงปารีส ได้รับการออกแบบให้เข้ากับเมือง และวิถีชีวิตผู้อยู่อาศัย

เปลี่ยนเมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ให้กลายเป็นสนามกีฬา

สำหรับปารีส 2024 ผู้จัดงานตั้งใจเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ภายใต้แนวคิด Circular Economy เน้นความยั่งยืนและพลังงานสะอาด ลดการก่อสร้างที่ไม่จำเป็น เน้นพัฒนาพื้นที่เดิมให้ใช้งานได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าต้องการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลง 50% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของการจัดโอลิมปิกครั้งก่อนๆ

และในระหว่างการแข่งขันจะมีการคำนวนการใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา โดยผู้จัดงานจะทำแผนการใช้ทรัพยากรในแต่ละสถานที่ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่การจัดตั้งเต๊นท์ การผลิตเตียง เก้าอี้ โต๊ะ คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ลูกเทนนิสที่ต้องมีการคำนวณการใช้ทรัพยากรอย่างละเอียด ตลอดการจัดงานใช้อุปกรณ์เพียง 600,000 ชิ้น จากเดิมที่คาดไว้ 800,000 ชิ้น ในส่วนของอุปกรณ์กีฬากว่า 2 ล้านชิ้น 3 ใน 4 จะใช้วิธีการเช่า ทางคณะผู้จัดงานยืนยันว่าทรัพย์สินกว่า 90% จากการจัดการแข่งขันจะนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

จากแนวคิด Circular Economy ทำให้ผู้จัดงานบูรณาการการใช้ทรัพยากรทุกพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสถานที่จัดการแข่งขันกว่า 95% เป็นการปรับปรุงสถานที่เดิมที่มีอยู่ หรือใช้วิธีการเช่าสถานที่เพื่อให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุด

ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว

เพื่อประหยัดทรัพยากรและลดการก่อสร้างที่ไม่จำเป็น ผู้จัดงานได้ใช้สนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่แล้วหลายแห่งในการจัดการแข่งขัน ยกสนามกีฬาบางประเภทมาไว้ใจกลางกรุงปารีส เลือกแลนด์มาร์กสำคัญๆ เช่น การปรับพื้นที่หน้าหอไอเฟลเป็นสนามวอลเลย์บอล และฟุตซอล หรือการแข่งสเกตบอร์ด เบรกแดนซ์ที่ลาน Place de la concorde สนามแข่งขันยิงธนูที่ลานหน้า Les Invalides หรือการนำสถานที่จัด Expo ในปี 1990 มาใช้เป็นสนามแข่งเทควันโดและฟันดาบ รวมถึงการแข่งว่ายน้ำกลางแม่น้ำแซน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของเมือง

อย่างไรก็ตาม The New York Times ได้รายงานว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำแซนยังไม่สะอาดมากพอสำหรับการลงไปว่ายน้ำ หรือแข่งโอลิมปิกในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากระดับเชื้ออีโคไลในแม่น้ำยังตรวจพบในปริมาณสูงกว่าข้อกำหนด จึงไม่ปลอดภัยสำหรับการแข่งขันที่จะมาถึง

อีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือน จัตุรัสคองคอร์ด (Place de la Concorde) สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของปารีส ที่มีเสาหินโอเบลิสก์สีชมพูทรงแหลมตั้งอยู่กลางจัตุรัส ได้ถูกเนรมิตให้เป็นสนามแข่งบาสเกตบอล สเก็ตบอร์ด จักรยาน BMX และเบรคแดนซ์

สร้างใหม่เพื่อใช้งานต่อ

ส่วนศูนย์กีฬาทางน้ำที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับชุมชนท้องถิ่นของเมืองแซน-แซ็งต์-เดอนี โดยเน้นความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ด้วยการใช้พลังงานจากแสงโซล่าเซลล์ขนาด 4,680 ตารางเมตร และที่นั่งทั้งหมดในศูนย์ฯ ทำจากพลาสติกรีไซเคิลในท้องถิ่น

หมู่บ้านนักกีฬาสู่เมืองใหม่

ในส่วนของการออกแบบหมู่บ้านนักกีฬา ทีมออกแบบมุ่งเน้นไปที่ 3 ส่วนสำคัญคือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่เป้าหมายโอลิปปิกสีเขียว ผ่านการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน และแนวทางการก่อสร้างที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ

การออกแบบเพื่อการใช้งานต่อ เปลี่ยนพื้นที่ชั่วคราวให้กลายเป็นชุมชนที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการผสมผสานฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย รองรับทั้งที่อยู่อาศัย พื้นที่พาณิชย์ สถานศึกษา และพื้นที่สีเขียว

การออกแบบเพื่อทุกคน คำนึงถึงความต้องการของผู้พิการและผู้สูงอายุ มุ่งสร้างพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเท่าเทียม

ก่อนการลงมือก่อสร้างจริง ทีมออกแบบได้ทำการสำรวจข้อมูลเชิงลึกของนักกีฬาจากทุกทวีป เพื่อออกแบบห้องพักให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ควรมี ระยะเวลาเดินทางจากหมู่บ้านไปสนามกีฬาต้องไม่ไกลและใช้เวลาไม่นาน มีร้านค้าร้านอาหารอยู่รอบๆ การคมนาคมสะดวก มีศูนย์บริการข้อมูล ศูนย์แพทย์สำหรับนักกีฬา เป็นต้น 

นอกจากนี้ สถานที่จัดการแข่งขันหรือสนามกีฬามากกว่า 80% ตั้งอยู่ในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากหมู่บ้านนักกีฬา ช่วยให้นักกีฬาเดินทางได้ง่ายขึ้น และสถานที่ทั้งหมดมีบริการระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถบัสและรถไฟใต้ดินพร้อมให้บริการ 

Dominique Perrault สถาปนิกชาวฝรั่งเศสและผู้ออกแบบหมู่บ้านนักกีฬาสำหรับการแข่งขันครั้งนี้ เล่าถึงแนวคิดการออกแบบว่าต้องการใช้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำ พัฒนาให้กลายเป็นเมืองที่เหมาะกับการอยู่อาศัยในระยะยาว และเป็นต้นแบบการสร้างที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีเป้าหมายว่าต้องการใช้พื้นที่กว่า 300 ไร่ให้คุ้มค่าที่สุด 

ด้วยแนวคิด Circular Economy วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดจึงเน้นวัสดุที่รีไซเคิลได้ เช่น เตียงที่ทำจากกระดาษแข็ง ฟูกที่ทำจากอวนสำหรับจับปลา ทำให้หลังสิ้นสุดงานนำมารีไซเคิลได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแข่งขันจะสิ้นสุดลง หมู่บ้านนักกีฬาแห่งนี้จะถูกพัฒนาเป็นเขตที่อยู่อาศัยและธุรกิจแห่งใหม่ สามารถรองรับคนทำงานได้ 6,000 คน และอพาร์ทเม้นท์สำหรับผู้อาศัยอีก 6,000 คน โดยจะเปิดให้ผู้เช่าเข้าอยู่ได้เร็วที่สุดในปี 2025 คาดว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ มีร้านค้า ร้านอาหาร สวนสาธารณะ เพื่อให้เอื้อแก่การอยู่อาศัยในระยะยาวมากขึ้น

เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะให้ทั่วถึง

ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยและสนามแข่งขัน ระบบขนส่งสาธารณะก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ ในช่วงการจัดงานโอลิมปิกได้มีการเพิ่มจุดจอดของรถประจำทาง และเพิ่มเส้นทางเดินรถเพื่อมาสู่สนามแข่งขัน โดยได้มีการเพิ่มสถานี Saint-Denis Pleyel และการเส้นทางเดินรถเข้ามาในแผนการออกแบบ รวมถึงมีการก่อสร้างถนนและทางด่วนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตัวเมือง 

ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องดีๆ มีรายงานจาก BBC ระบุว่า สำหรับการเป็นเจ้าภาพการจัดงานโอลิมปิก 2024 ชาวกรุงปารีส 44% มองว่า เป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก เพราะจะทำให้ค่าโดยสารรถสาธารณะและรถไฟใต้ดินอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าระหว่างการจัดงาน และผู้คนบางส่วนยังรู้สึกเบื่อหน่ายกับมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่จะเข้มงวดมากขึ้น เพราะอาจทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป และมีองก์กรด้านการกุศลออกมาร้องเรียน การปรับพื้นที่ของหมู่บ้านนักกีฬาว่าส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยเดิม เนื่องจากถูกยึดครองพื้นที่ และไม่มีที่อยู่อาศัยชั่วคราว

โอลิมปิก 2024 ไม่ได้เป็นเพียงมหกรรมกีฬา แต่เปรียบเสมือนการเปิดตัวกรุงปารีสสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง ด้วยการเนรมิตสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ให้กลายเป็นสนามแข่งขันกีฬากลางแจ้ง ภายใต้แนวคิด เมืองสีเขียว และการวางผังเมืองที่ยั่งยืน

อ้างอิง: Olympics, The Olympic Design, Olympics, BBC, Olympics, Press Paris 2024, City Cracker, NY Times

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

พลิกโฉมการเกษตรแอฟริกา! เมื่อ AI กลายเป็น "เพื่อนคู่คิด" เกษตรกรรายย่อย

AI กำลังกลายเป็นตัวแปรสำคัญในพื้นที่ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง นั่นคือ "ไร่นา" ของเกษตรกรรายย่อยในทวีปแอฟริกา ที่ซึ่งเทคโนโลยีกำลังถูกนำมาใช้แก้ปัญหาปากท้อง ความมั่นคงทางอาหาร (Food Sec...

Responsive image

รายงาน Circularity Gap Report 2025 ชี้ยอดรีไซเคิลเพิ่ม แต่เศรษฐกิจหมุนเวียนยังไม่เกิด

แม้การรีไซเคิลเพิ่มขึ้น แต่เกือบ 90% ของวัสดุยังกลายเป็นขยะถาวร รายงานปี 2025 ชี้เศรษฐกิจหมุนเวียนจำเป็นต่ออนาคตที่ยั่งยืน...

Responsive image

นักวิทย์พบ ‘อึจากเพนกวิน Adelie’ ช่วยลดโลกร้อนได้

ใครจะคิดว่าอึเพนกวินช่วยโลกได้? นักวิทย์พบว่ากวาโนจากเพนกวินในแอนตาร์กติกาสร้างเมฆ ช่วยสะท้อนแสงแดด ลดอุณหภูมิโลกได้จริง...