Lego ไม่เอาแล้ว ทิ้งแผนใช้ขวดรีไซเคิลทำของเล่น เพราะปล่อยคาร์บอนมากกว่าเดิม แถมเสียลายเซ็นธุรกิจ | Techsauce

Lego ไม่เอาแล้ว ทิ้งแผนใช้ขวดรีไซเคิลทำของเล่น เพราะปล่อยคาร์บอนมากกว่าเดิม แถมเสียลายเซ็นธุรกิจ

ทุกวันนี้ธุรกิจเล็กใหญ่ต่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะทำสำเร็จ  ล่าสุด Lego Group บริษัทผู้ผลิตเลโก้ ประกาศทิ้งแผนนำขวดพลาสติกรีไซเคิลมาทำของเล่น ขอยอมแพ้เพียงแค่สองปีหลังประกาศเป้าหมายนี้สู่สาธารณะ 

Lego ไม่เอาแล้ว ทิ้งแผนใช้ขวดรีไซเคิลทำของเล่น 

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว Lego Group ประกาศเปิดแผนผลิตตัวต่อเลโก้แบบใหม่ ทำจากขวดพลาสติก PET เป็นความพยายามจะรักษ์โลกให้มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เลโก้ใช้พลาสติกที่มีฐานที่มาจากน้ำมัน (Oil-based plastic) ซึ่งใช้ผลิตเลโก้กว่า 80% จากนับพันล้านชิ้นต่อปี 

ตอนนั้นบริษัทพูดไว้แล้วว่ากระบวนการนี้อาจใช้เวลาเป็นปี ในการทดสอบและพัฒนา ก่อนจะผลิตออกมาวางขายจริง และความพยายามนั้นล้มเหลว 

โฆษกของ Lego Group ให้สัมภาษณ์กับ CNN ถึงสาเหตุที่บริษัทไม่ไปต่อกับแผนเอาขวดรีไซเคิลมาทำของเล่น เพราะจากการทดสอบพบว่าถ้าจะเปลี่ยนไปใช้วัสดุรีไซเคิล บริษัทต้องมีขั้นตอนการผลิตและการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะปล่อยมลพิษมากกว่าเก่า 

มากกว่าโลกสีเขียว คือเสน่ห์ของธุรกิจที่ทิ้งไม่ได้ 

อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญกว่า ที่ฉุดรั้งไม่ให้ Lego Group ไปต่อคือ เสน่ห์ของเลโก้อาจหายไป เพราะการเปลี่ยนไปใช้วัสดุรักษ์โลก มันทำให้พลังคลัตช์ (clutch power) หรือการที่ชิ้นส่วนสองชิ้นสามารถประกบกันได้อย่างลงตัวและมั่นคงไม่ดีเหมือนเดิม 

ซึ่งมันก็อาจดีกว่าที่บริษัทจะใช้วัสดุ ABS (Acrylonitrile Butadiene Styrene) แบบเดิม ที่แข็งแรงทนทาน นทานต่อรอยขีดข่วน และคงเสน่ห์พลังคลัตช์เอาไว้ได้ ที่สำคัญคือความทนทานนี้อาจทำให้เราสามารถส่งต่อของเล่นชิ้นนี้จากรุ่นสู่รุ่นได้ ไม่ต้องซื้อใหม่ และนั่นก็อาจช่วยลดปริมาณการถูกทิ้งได้ระดับหนึ่ง

Niels Christiansen CEO ของ Lego Group ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times เผยว่าบริษัทพยายามอย่างหนักแล้ว แต่มันไม่สามารถหาวัสดุทดแทนได้เลย “เราทดสอบวัสดุหลายร้อยชนิด มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาวัสดุแบบนั้น”

เส้นทางสู่ธุรกิจยั่งยืน ที่ไม่ง่ายเลย 

แต่ Lego Group ก็ยังไม่ยอมแพ้ บริษัทยังคงมองหาทางที่จะช่วยโลกให้มากขึ้น มองหาวัสดุทางเลือกประเภทอื่นๆ เช่น  e-methanol หรือ เมทานอลสีเขียว ที่ทำมาจาก Green Hydrogen และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้มาจากการดักจับ (Carbon Capture)  

นอกจากนั้นบริษัทยังคงใช้วัสดุพลาสติกชีวภาพ bio-polypropylene ซึ่งทำจากอ้อยในการผลิตชิ้นส่วนบางชนิด เช่น ต้นไม้และใบไม้ ธงและแขนขา และยังคงพยายามใช้ถุงกระดาษหรือพลาสติกที่ไม่ใช่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกับบรรจุภัณฑ์ 

Lego Group ลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท) แต่เส้นทางนี้ดูยังอีกยาวไกลนัก นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเส้นทางยาวไกลที่เต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ทุกธุรกิจจะต้องทำให้ได้ เพราะถูกโลกจับตาดูอยู่ 

อ้างอิง: popsci, ft

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

One Bangkok จับมือ 5 สถาบันการเงินชั้นนำ รับดีล Green Loan สูงสุดในประวัติการณ์เพื่อพัฒนาโครงการ

One Bangkok ประกาศลงนามสัญญาสินเชื่อสีเขียวระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงการมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทร่วมกับ 5 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศ...

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...

Responsive image

David Capodilupo จาก MIT Sloan เปิดเหตุผลตั้งสำนักงานในไทย ต้นแบบสู้ Climate Change อาเซียน

David Capodilupo ผู้ช่วยคณบดีด้านโครงการระดับโลกของ MIT Sloan เผยเหตุผลที่สถาบันเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย เพื่อให้ไทยเป็นฮับอาเซียน ในการส่งเสริมการเรียนการสอน การวิจัยพัฒนา การแก้ปั...