ในรายงาน Net-zero commitments: Where’s the plan? เคพีเอ็มจี (KPMG) ได้เสนอแผน 8 ขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพและใช้ได้จริงเพื่อช่วยให้ธุรกิจมุ่งสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่ (Net zero) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน พนักงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น และสามารถรับมือกับผลกระทบในเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
กว่า 70% ของGDP ครอบคลุมเป้าหมายNet zero
เนื่องจากกว่าร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในขณะนี้ครอบคลุมเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค เน็ตซีโร่จึงเป็นเป้าหมายที่บริษัทจำนวนมากต้องการไปให้ถึง แต่การเปลี่ยนเป้าหมายให้กลายเป็นการปฏิบัติได้จริงนั้นต้องมีการวางแผนที่ครอบคลุมและตระหนักถึงผลกระทบเชิงบวกของการลดคาร์บอนในธุรกิจ ดังนั้นการตั้งเป้าหมายที่สามารถบรรลุได้จริงและมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อตอบรับกับแนวคิด เทคโนโลยี และกฎข้อบังคับต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ
ธเนศ เกษมศานติ์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลเคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินการอย่างโปร่งใสในด้านการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งการเปิดเผยตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่มีความน่าเชื่อถือและทันท่วงทีแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถึงความท้าทายและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น สามารถเพิ่มความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือของธุรกิจได้อย่างแท้จริง จากความจำเป็นเร่งด่วนที่โลกต้องต่อกรกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทจำนวนมากจึงเริ่มหันมาใช้นโยบายเน็ตซีโร่และนั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทต่างๆ จะต้องแสดงความมุ่งมั่นและความโปร่งใสต่อสาธารณะผ่านแผนการลดคาร์บอนที่มีรายละเอียดที่สามารถบรรลุผล โดยมีแผนงานและเป้าหมายที่ชัดเจน
ความสำคัญของแผนการลดคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ
บริษัทส่วนใหญ่ขาดแผนการที่ครอบคลุมในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากกฎข้อบังคับ นวัตกรรม และทิศทางของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การขาดความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่จะนำมาช่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และความไม่แน่นอนในเรื่องผลประโยชน์และ/หรือข้อบังคับจากภาครัฐในอนาคต ส่งผลให้บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีรอเพื่อประเมินสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อกังวลเหล่านี้ การลดคาร์บอนควรมีความสำคัญเช่นเดียวกับกลยุทธ์ด้านอื่นๆ ขององค์กร ด้วยแผนและการคาดการณ์ โดยได้มีการระบุองค์ประกอบหลัก 8 ประการที่บริษัทต่างๆ ควรพิจารณาเมื่อจัดทำแผนการลดการปล่อยคาร์บอนซึ่งสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้
8 ขั้นตอนสำหรับแผนการเปิดเผยข้อมูลการลดการปล่อยคาร์บอน
1. เปิดเผยการกำกับดูแลการลดการปล่อยคาร์บอนขององค์กร: เน็ตซีโร่เป็นประเด็นสำคัญและคณะกรรมการบริษัทควรมีบทบาทหลักในแผนการลดการปล่อยคาร์บอนขององค์กร การกำกับดูแลจากบนลงล่างโดยให้ทิศทางที่จำเป็น ในขณะที่แนวทางจากล่างขึ้นบนช่วยให้มั่นใจว่าผู้มีหน้าที่ในการดำเนินการสามารถตรวจสอบทิศทางและความเป็นไปได้ของแผน นอกจากนี้ แรงจูงใจก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยบริษัท อาจเชื่อมโยงความคืบหน้าของแผนงานเข้ากับค่าตอบแทนของผู้บริหารและคณะกรรมการ และตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานหลัก (KPI) ของพนักงานในวงกว้าง ท้ายที่สุด การอนุมัติแผนโดยรวมและความคืบหน้าประจำปีในการดำเนินการตามกลยุทธ์อาจขึ้นอยู่กับการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้น
2. ความโปร่งใสด้านการลดการปล่อยคาร์บอนในปณิธานขององค์กร: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มหรือ 'ขอบเขต' ซึ่งกำหนดตามมาตรฐานการจัดทำบัญชีระหว่างประเทศในการรายงานก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด โดยขอบเขตที่ 1 คือการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรโดยตรง ขอบเขตที่ 2 คือการจัดหาพลังงานที่สะอาดมาทดแทน
และขอบเขตที่ 3 คือการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกิจกรรมทางอ้อมอื่นๆ ทั้งหมดในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท เช่น การเดินทางและการกำจัดของเสีย ทั้งนี้สำหรับขอบเขตที่ 3 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากครอบคลุมถึงการปล่อยคาร์บอนส่วนใหญ่ขององค์กร การแจกแจงเป้าหมายโดยละเอียดนั้น สามารถแสดงให้ทุกคนเห็นว่าองค์กรของท่านมีแผนการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และจากการอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมจึงไม่รวมการปล่อยคาร์บอนบางประเภทนั้น จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กร์ของท่านได้ องค์กรจึงควรมีความชัดเจนเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนที่ระบุไว้ในปณิธานเน็ตซีโร่ขององค์กร ซึ่งครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดและรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 3 ในสาระสำคัญ
3. เปิดเผยเป้าหมายเน็ตซีโร่ทั้งในระยะยาวและระยะกลาง: การตั้งเป้าหมายสำหรับการมุ่งสู่เน็ตซีโร่นั้นควรมีเป้าหมายภายในปี 2593 เพื่อให้มั่นใจว่าแผนดังกล่าวจะนำเอาประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีอยู่หรือเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่รวมเข้าด้วยกันเพื่อเข้ากับสถานการณ์ที่สามารถคาดการณ์ได้ และหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน ซึ่งเป้าหมายระยะกลาง (เช่น ปี 2573 หรือ 2578) นั้นอยู่ในความคาดหวังของนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นส่วนสร้างแรงกดดันให้บริษัทต่างๆ เร่งดำเนินการอย่างรวดเร็ว
4. นำเสนอแผนเน็ตซีโร่ที่มีรายละเอียดและน่าเชื่อถือ: บริษัทต่างๆ ควรนำเสนอกลยุทธ์การลดคาร์บอนที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดและชี้แจงว่าครอบคลุมถึงการปล่อยคาร์บอนประเภทใดบ้าง ซึ่งรวมถึงการเปิดแผนการดำเนินงานหลัก ระดับความพร้อมของเทคโนโลยีที่ใช้ในแผนงาน รายละเอียดการลงทุน และเทคนิคต่างๆ ในแผนงานนั้น
5. อธิบายการบูรณาการแผนเน็ตซีโร่กับกลยุทธ์องค์กร: แผนเน็ตซีโร่ควรเป็นกลยุทธ์หลัก ไม่ใช่แค่ส่วนเสริม ซึ่งหมายถึงการสรุปการดำเนินการตามแผนลดการปล่อยคาร์บอนภายในองค์กร รวมอยู่ในการวางแผนธุรกิจ และสอดคล้องกับกลยุทธ์โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทต่างๆ ควรคาดการณ์ผลกระทบในอนาคตของการกำหนดราคาคาร์บอน(Carbon pricing) ด้วยการเริ่มกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal carbon price) ตลอดจนการใช้กลไกอื่นๆ ในการตัดสินใจลงทุน
6. ให้ความสำคัญกับความเสี่ยง ความท้าทาย และความไม่แน่นอน: บริษัทต่างๆ ควรอธิบายถึงความเสี่ยง ความท้าทาย และความไม่แน่นอนในการบรรลุแผนเน็ตซีโร่ ซึ่งความเสี่ยง ความท้าทาย และความไม่แน่นอนเหล่านี้รวมไปถึงต้นทุนการลดคาร์บอนที่ผันผวน ปัจจัยทางการเมือง การผสมผสานพลังงานในอนาคตของประเทศต่างๆ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความพร้อมของเทคนิคการกำจัดคาร์บอน ราคาการชดเชยคาร์บอน (Carbon offsets) ราคาคาร์บอน และความไม่แน่นอนในเรื่องเทคโนโลยี
7. ให้รายละเอียดผลกระทบของแผนเน็ตซีโร่ขององค์กร: บริษัทต่างๆ ควรแสดงให้เห็นว่าแผนดังกล่าวส่งผลต่อกลยุทธ์ขององค์กรอย่างไรในแง่ของโมเดลธุรกิจ การลงทุน และห่วงโซ่คุณค่าจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ สายงานธุรกิจ การวิจัยและพัฒนา และการดำเนินการ
ซึ่งบริษัทอาจต้องลงทุนในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงาน คณะกรรมการ และผู้บริหาร องค์กรควรพิจารณายกเลิกการใช้กระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยมลพิษในปริมาณที่สูง และเร่งกระตุ้นผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยมลพิษต่ำโดยใช้โครงสร้างการกำหนดราคาที่แตกต่างกัน บริษัทต่างๆ ควรคิดแผนโลจิสติกส์ใหม่ เพื่อช่วยลดระยะทางในการขนส่งและใช้แหล่งที่มาในท้องถิ่นหากเป็นไปได้
8. ทบทวนและรายงานความก้าวหน้าประจำปี: บริษัทต่างๆ สามารถเปิดเผยแผนและความคืบหน้าในรายงานประจำปี รายงานด้านการเงิน และบนเว็บไซต์ของบริษัท เนื่องจากแผนการลดคาร์บอนถูกคาดหวังให้สอดรับกับแง่มุมต่างๆ เช่น กลยุทธ์ โมเดลธุรกิจ การลงทุน ความพร้อมของค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา บุคลากร และห่วงโซ่อุปทาน การเปิดเผยแผนในบริบทความยั่งยืนเพียงอย่างเดียวนั้น (เช่น รายงานความยั่งยืน) ยังไม่เพียงพอ ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนในการทำความเข้าใจผลกระทบทางการเงินของแผนงาน ตลอดจนความเสี่ยงหากแผนไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ KPMG
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด