ปัจจุบันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ตื่นตัวอย่างมากกับคำว่า ‘Sustainable’ หากสังเกตดูในช่วงสองปีที่ผ่านมาผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำหลายรายประกาศถึงแผนที่จะลดใช้พลาสติกกับบรรจุภัณฑ์ และเลือกใช้ Sustainable Packaging ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของตนมากขึ้น พร้อมเป้าหมายมุ่งมั่นชัดเจนที่จะสร้างความยั่งยืนในสำหรับตลาดอิเล็กทรอนิกส์
โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เครื่องเล่นเกม ที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน มีวงจรการใช้งานที่เอื้อให้ผู้ผลิตสามารถออกรุ่นใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นแนวหน้าของการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีในสังคม แต่อีกด้านหนึ่งกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์พลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากในปัจจุบันมีการพิสูจน์แล้วว่าส่งผลเสียระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม
เทรนด์ผู้บริโภค คือ หนึ่งแรงกระตุ้นสำคัญให้หลายแบรนด์แสดงจุดยืนในการทรานส์ฟอร์มสินค้าและบริการของตน ดังที่เราจะเห็นว่าหลายแบรนด์ในตอนนี้มุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์ของผู้บริโภคมากขึ้น ตั้งแต่การแกะกล่องที่เพรียวบาง เปิดง่าย เรียบง่ายและยังคงปกป้องผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากไปกว่านั้นที่กล่องเหล่านี้ยังเคลมว่าเป็นแพ็กเกจที่รักษ์โลก
งานวิจัยโดย Trivium Packaging ระบุว่า ผู้บริโภคถึง 74% ไม่เพียงแต่มองหา Sustainable Packaging เท่านั้น แต่ยังเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นด้วย เกือบครึ่งกล่าวว่าพวกเขาจะหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ถือว่าเป็นอันตราย เช่น พลาสติกที่อาจก่อให้เกิดมลพิษในมหาสมุทร ซึ่งเป็นเรื่องที่ผลักดันกันมาอย่างยาวนาน
โดยเฉพาะในหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น พร้อมลงทุนในแบรนด์ที่สะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความยั่งยืน Nielsen เคยสำรวจว่ากลุ่ม Millennials และ Gen Z เต็มใจที่จะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ต่างๆ ตามความมุ่งมั่นของบริษัทที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
การกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกเป็นอีกแรงผลักสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวสอดรับกฎเกณฑ์ เช่น โครงการริเริ่มของอุตสาหกรรมระดับโลก เช่น Green Electronics Council ที่ได้รวมมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนเข้าเป็นเกณฑ์สำหรับคุณสมบัติ EPEAT (Electronic Product Environmental Assessment Tool)
ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกเข้มงวดมากขึ้น ถามหาความโปร่งใสสำหรับทุกแนวทางปฏิบัติในห่วงโซ่อุปทาน สำหรับอุตสาหกรรม Consumer Electronics เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ถูกกดดันจากกฎหมาย ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศเริ่มดำเนินการตามข้อจำกัดเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เพื่อก้าวไปสู่บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค ซึ่งจะต้องครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน
กล่าวคือ ไม่เพียงแต่ต้นทางหรือการทำให้รีไซเคิลได้เท่านั้น แต่ยังต้องประเมินทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับวัสดุและการออกแบบเพื่อการรีไซเคิลหรือการนำกลับมาใช้ใหม่อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ที่มีข้อกำหนดของสหภาพยุโรปว่าด้วยบรรจุภัณฑ์และของเสียจากบรรจุภัณฑ์ (1994/62/EC) และในสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายด้านบรรจุภัณฑ์ของสหรัฐฯ ด้านสารพิษ
กล่าวง่ายๆ Sustainable Packaging ก็คือ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุทดแทนที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เกิดมลพิษน้อยที่สุดในด้านการผลิต การผลิต การขนส่ง และการกำจัดหรือการรีไซเคิล ตลอดวงจรอายุของวัสดุนั้นๆ
สำหรับวัสดุทดแทนที่นิยมนำมาใช้แทนพลาสติกในอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ เส้นใยขึ้นรูปที่ทำจากไม้ไผ่ อ้อย หรือเส้นใยอื่นๆที่ได้รับการรองรับว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวัสดุรีไซเคิลที่ได้การรับรองว่ามาจากแหล่งที่มีความรับผิดชอบ
ความพิเศษ คือ เส้นใยเหล่านี้สามารถขึ้นรูปลักษณะต่างๆ มีระดับความปลอดภัยและการป้องกันที่เทียบเท่ากับพลาสติก มีคุณสมบัติกันกระแทก ทนต่อแรงกดและยังทนต่อความชื้น ปัจจุบันสามารถทำให้เส้นใยขึ้นรูปมีสีสันและสวยงามมากขึ้น ปรับแต่งรูปทรงและพื้นผิวได้หลากหลาย และที่สำคัญ คือ มีราคาต้นทุนที่ถูกกว่า
Sustainable Packaging ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากห่วงโซ่อุปทานการผลิตในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงการทำป่าไม้และกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ด้วย
สำหรับแบรนด์การปรับเปลี่ยนสู่ Sustainable Packaging ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถสะท้อนถึงนวัตกรรมและแนวคิดความรับผิดชอบมากพอๆ กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายใน แบรนด์สามารถเชื่อมโยงกับฐานลูกค้าที่ชอบนวัตกรรมและให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากแหล่งและมีการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งส่วนนี้แบรนด์ก็จะได้ประโยชน์ในขณะเดียวกัน
Microsoft เริ่มให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2025 และประกาศแผนว่าจะใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุทดแทนอื่นๆมาเป็นบรรจุภัณฑ์ให้ได้ 100% ภายในปี 2030
บริษัทกล่าวว่าตนและซัพพลายเออร์ทั่วโลกยังออกแบบบรรจุภัณฑ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อยู่ภายใต้กฎระเบียบและเป็นไปตามข้อจำกัดด้านโลหะหนัก และข้อกำหนดที่จำเป็นเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพบรรจุภัณฑ์ การผลิตและการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยแผนการทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งในแผนดำเนินการธุรกิจอย่างยั่งยืนและมุ่งมั่นในการลดคาร์บอน โดยล่าสุดใน Microsoft Devices Sustainability Report มีการดำเนินการไปแล้วถึง 58%
Samsung เริ่มประกาศแผน 'Going Green' ในปี 2019 ว่าจะเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กตั้งแต่ปี 2018 และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแผน ‘Eco-Conscious Packaging’ ไปสู่สายผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ได้แก่ อุปกรณ์พกพา อุปกรณ์สวมใส่ ทีวี ตู้เย็น และเครื่องใช้ในบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Samsung Electronic’s Circular Economy โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงวิธีที่บริษัทจัดการทรัพยากรของบริษัทให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100%
Apple เริ่มต้นเปลี่ยนวัสดุบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดมาใช้วัสดุที่ทำจากเส้นใยไม้ทั้งหมด 100% ในปี 2019 และเตรียมใช้งานวัสดุอีก 14 ประเภทเพื่อหมุนเวียน เป็นแผนชัดเจนที่บริษัทประกาศว่าจะเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืนอื่นๆทดแทน นอกเหนือจากในส่วนของบรรจุภัณฑ์ แต่รวมไปถึงตัวผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนประกอบ iphone ,Macbook ที่เราใช้กัน ทั้งหมดอยู่แผนการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ผลิตผลิตภัณฑ์มีผลกระทบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ด้วยไม่ต่างบริษัทอื่น
Sony รายใหญ่ฝั่งญี่ปุ่นเองก็มีเป้าหมายสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเป้าลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรจากการผลิตภายในปี 2040 เช่นเดียวกัน โดยประกาศจะเลิกใช้พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ในปี 2023 ถือเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกรายแรกของญี่ปุ่นที่จะเลิกใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อ่านเพิ่มเติมที่ Sony ตั้งเป้า Road to Zero เตรียมเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก
อ้างอิงข้อมูลจาก
Here’s Why the Electronics Industry Is Transitioning to Sustainable Packaging
Sustainable Packaging Trends in the Consumer Electronics Industry
Definition of Sustainable Packaging
Sustainability in packaging: Five key levers for significant impact
Gen Z generates demand for sustainable supply chain practice
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด