อายุ 35 หางานยากไหม…35 ก็หมดสิทธิ์ทำงานแล้วหรอ… เสียงคร่ำครวญของชาวเน็ตในกลุ่มหางานที่กำลังเจออุปสรรคในการเริ่มต้นชีวิตการทำงานครั้งใหม่ แต่เหมือนถูกปิดประตูใส่หน้าเพราะไม่มีบริษัทไหนรับ ด้วยเหตุผลทางอายุ แล้วทำไมต้อง 35 หละ เรามาหาคำตอบกัน
‘แก่เกินแกงหรือเด็กเกินไป’ การเหยียดอายุ (Ageism) ใช้อายุเป็นเกณฑ์ตัดสินคน มักมาในรูปแบบของการเหมารวม อคติ และการเลือกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อเด็กและผู้ใหญ่ ยิ่งในสังคมการทำงาน เราอาจเจอการเหยียดอายุตั้งแต่ประตูบานแรก นั่นก็คือการรับสมัครงาน
การสำรวจที่ทำกับพนักงานในสหรัฐ พบว่า 60% ของพนักงานเจอการเหยียดอายุเล่นงานตั้งแต่ตอนหางาน ตั้งแต่ประกาศรับสมัคร ที่มักจะใช้ภาษาชวนให้คิดว่าบริษัทต้องการคนรุ่นใหม่เท่านั้น เช่น “บริษัทเราเป็นบริษัทรุ่นใหม่ เราเคลื่อนที่(ทำงาน)เร็ว เราใช้เทคโนโลยีเยอะมาก”
อีกทั้งการตั้งค่าตอบแทนมักอยู่ในระดับเงินเดือนของเด็กจบใหม่ (แม้ตำแหน่งที่เปิดรับจะมีชื่อตำแหน่งและหน้าที่แบบซีเนียร์) ทำให้พวกเขารู้สึกว่าบริษัทไม่ต้องการจ่ายค่าตัวแพงๆ ให้พนักงานอาวุโสอีกต่อไป แม้จะมีความสามารถก็ตาม
การสัมภาษณ์งานก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ผู้ตอบแบบสอบถามเผยว่าพวกเขาโดนเหยียดอายุ บริษัทมักมองว่าพวกเขาไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร และไม่ให้ค่ากับประสบการณ์ที่พวกเขาสั่งสมมา แต่กลับมองว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีเกินเกณฑ์ อาจจะเบื่องานได้ง่ายๆ
เป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะหลายคนต้องทำตัวให้ดูเด็กลงในวันสัมภาษณ์ ทั้งการแต่งตัว ย้อมผมขาว ทำหน้าตาให้ดูอ่อนกว่าวัย พยายามไม่โชว์ประสบการณ์ทำงานเก่าๆ ในเรซูเม่ หรือไม่ใส่วันจบการศึกษา เพราะกลัวจะถูกตัดสิทธิ์
บริษัทมองว่าแคนดิเดตที่อายุ 35 ปีขึ้นไปนั้น ค่าตัวแพงและอาจสร้างปัญหา ความกระหายในการทำงานน้อยลง อยู่ในวัยเริ่มสร้างครอบครัว เริ่มมีอายุและอาจมีปัญหาสุขภาพ ปัจจัยทั้งหมดนี้อาจทำให้บริษัทพิจารณาไม่รับคนอายุเกิน 35 เข้าทำงาน
ปรากฎการณ์ล่าสุดที่พึ่งจะเกิดขึ้นในจีน และกำลังเป็นไวรัล เรียกว่า ‘Curse of 35’ หรือคำสาปวัย 35 ออนไลน์ ต้นเรื่องคือนายจ้างในปัจจุบันมีแนวโน้มจะไม่รับคนอายุ 35 ปี เข้าทำงาน
“ชีวิตมันลำบาก ฉันโสดและไม่มีเงินซื้อบ้าน แก่ตัวไปฉันจะอยู่ที่ไหน เจ้าของก็ไม่ค่อยปล่อยให้คนแก่เช่า การหาเงินตอนแก่แล้วมันก็ลำบาก” หนึ่งความเห็นใน Weibo กล่าว บางคนก็บอกว่าอายุ 35 คือความพ่ายแพ้ทางอาชีพ
"เราได้เข้าสู่วงจรอุบาทว์แล้ว" อีกหนึ่งความเห็น “คุณแก่เกินไปที่จะทำงานตอนอายุ 35 แต่ก็ยังเด็กเกินไปที่จะเกษียณ”
ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ PIIE มองว่า เพราะรัฐบาลจีนไม่ได้มีกฎหมายในการป้องกันการเหยีดอายุ และการจ้างงานภาครัฐก็ปิดกั้นคนอายุ 35 ปีขึ้นไป ตำแหน่งทางข้าราชการเปิดรับเฉพาะผู้สมัครอายุ 18-35 ปีเท่านั้น แต่ก็อะลุ่มอะล่วยให้คนอายุ 40 ที่มีดีกรีปริญญาโทหรือเอก นั่นทำให้ภาคเอกชนมองว่าพวกเขาก็สามารถทำได้
อีกทั้งวัฒนธรรมการทำงานที่บ้าคลั่งในบริษัทในจีน ที่รู้จักกันในชื่อ 996 คือทำงานตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 21.00 น. หกวันต่อสัปดาห์ นายจ้างจึงชอบคนที่อายุน้อย สุขภาพดี และเต็มใจที่จะใช้ชีวิตแบบนี้
Tania Lennon กรรมการบริหารของ IMD (International Institute for Management Development) ให้สัมภาษณ์กับ Insider ว่า "อายุ 35 ปีเป็นช่วงที่คุณเข้าสู่จุดสูงสุดของความสามารถในการสร้างรายได้" และนั่นจะก่อความเสี่ยงให้กับความสามารถในการออมของคนทั่วประเทศ
บริษัทในจีนมีวัฒนธรรมการทำงานแบบบ้าคลั่ง ที่รู้จักกันในชื่อ 996 ทำงานตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 21.00 น. หกวันต่อสัปดาห์ นายจ้างจึงชอบคนที่อายุน้อย สุขภาพดี และเต็มใจที่จะใช้ชีวิตแบบนี้
“คนงานอายุน้อยมีสุขภาพที่ดีกว่าคนที่มีอายุมาก และพวกเขามักจะมีภาระหน้าที่ทางครอบครัวน้อยกว่าคนที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถทำงานหลายชั่วโมงได้นานขึ้น” ความเห็นจาก Huang สถาบัน Peterson Institute for International Economics
ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนธุรกิจ INSEAD ที่เชี่ยวชาญในจีน ยังให้ข้อมูลว่าบริษัทในจีนมองว่าคนอายุเยอะมีความยืดหยุ่นในการทำงานน้อย ไม่เข้าใจเทคโนโลยี และจะเรียนรู้ช้าเกี่ยวกับวิธีทำงานใหม่
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันก็มีผลเช่นเดียวกัน วัยรุ่นจีน 1 ใน 5 กำลังว่างงานสนิท และบริษัทก็มองว่าพวกเขายอมรับค่าจ้างถูกๆ เพื่อจะได้งาน ยิ่งไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปจ้างคนมีอายุ
อายุ 35 ถือเป็นวัยที่เพียบพร้อมไปด้วยทักษะและประสบการณ์ทำงาน แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดงานในปัจจุบัน และแน่นอนในอนาคต จะเรียกร้องทักษะใหม่ๆ จากเรา ไม่ว่าจะทักษะทางเทคโนโลยี หรือ soft skills ต่างๆ เพราะฉะนั้นตัวเราเองก็ต้องเพิ่มทักษะที่ตลาดต้องการด้วย
ปัจจุบันมีคอร์สเรียนเสริมทักษะดิจิทัลทั้งแบบเสียเงินและฟรีมากมาย การเพิ่มทักษะพร้อมกับมีใบรับรองก็เป็นหนึ่งวิธีในการเสริมคมให้เรซูเม่ของตัวเอง
การเลือกบริษัทก็สำคัญเช่นกัน หากเจอบริษัทที่ปิดประตูตั้งแง่กับอายุเราตั้งแต่ใบประกาศรับสมัคร หรือการสัมภาษณ์ การไม่เลือกบริษัทนี้ก็เป็นสิทธิ์ที่เราสามารถทำได้ เพื่อหาที่ทำงานที่พร้อมเปิดรับความหลากหลายและให้โอกาสคนทำงานมากกว่านี้
ในการสัมภาษณ์งาน คุณควรแสดงให้นายจ้างเห็นว่าคุณพร้อมจะทำงานกับผู้คนจากหลากหลายช่วงวัย พร้อมจะเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี เพราะการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีเป็นอีกหนึ่งทักษะที่บริษัททุกวันนี้มองหา
อ้างอิง: work.themomproject, linkedin, businessinsider, indeed, forbes, agediscrimination
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด