สรุป 4 เทรนด์ E-Commerce เด่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 จากงาน Priceza E-Commerce Trends | Techsauce

สรุป 4 เทรนด์ E-Commerce เด่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 จากงาน Priceza E-Commerce Trends

Priceza เปิดงาน “Priceza E-Commerce Trends : The Infinity of E-Commerce Wars 2019” เผย 4 เทรนด์เด่นของธุรกิจ E-Commerce ในปี 2019 พร้อมประกาศจับมือ partner เปิดตัวธุรกิจใหม่ต้นปีหน้า

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน "Priceza" เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) กล่าวว่า การจัดงาน Priceza E-Commerce Trends ในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยติดอาวุธ เพิ่มองค์ความรู้ทั้งร้านค้าและ marketplace ทุกระดับให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน เสมือนสื่อกลางที่ช่วยขับเคลื่อน E-Commerce Ecosystem ทุกภาคส่วน โดยการจัดงานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The Infinity of E-Commerce Wars 2019” เพื่อช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องพร้อมรับมือการแข่งขันที่ไม่มีที่สิ้นสุดในปี 2019

“จำนวนสินค้าที่รวบรวมไว้บนเว็บไซต์ของเราในปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 51 ล้านรายการ จาก 28 ล้านรายการในปีที่ผ่านมา ซึ่งหากใช้เวลาดูสินค้าบนเว็บเราทุกชิ้น ชิ้นละ 5 วินาที จะต้องใช้เวลาดูถึง 8 ปี เรายังมีเครือข่ายพันธมิตรทั้งร้านค้า marketplace แบรนด์สินค้า ช่องทาง E-payment ต่างๆ จำนวนมาก ในฐานะแพลตฟอร์มกลางที่มีข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ เราจึงต้องการที่จะช่วยย่อยและแบ่งปันข้อมูล เพื่อให้ทุกคนเติบโตไปพร้อมกัน ด้วยการนำความรู้และข้อมูลที่ได้จากงานไปใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจในปีหน้า” นายธนาวัฒน์ กล่าว

ภาพรวม E-commerce ในปีที่ผ่านมา ถือว่าเติบโตอย่างมาก เนื่องจากมี marketplace รายใหม่จากต่างประเทศหลายรายเข้ามาดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการ และมีสินค้ากลุ่มข้ามพรมแดน (Cross Border) เข้ามาในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าว ก็ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจ E-Commerce ปีนี้ดุเดือดมากขึ้นด้วย

ภายในงานมีการพูดถึงเทรนด์หลักๆ 4 ด้าน ที่จะมาขับเคลื่อนวงการ E-Commerce ของประเทศไทยในปี 2019 เอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1. All the roads to E-Commerce

ถนนทุกสายจะมุ่งสู่การค้าออนไลน์ ด้วยพฤติกรรมการใช้ mobile internet ของผู้บริโภคในเมืองไทย ที่ภายในปี 2020 จะสามารถเข้าถึงคนไทยกว่า 84% ทำให้ทุกแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ต่างเข้ามา support ธุรกิจออนไลน์ โดยสามารถแบ่งออกเป็นแพลตฟอร์มต่างๆ 5 รูปแบบ ได้แก่ Search, Social Media, Chat, Payment และ E-Commerce ที่ผู้เล่นต่างๆ ได้ขยับตัวเข้ามาสู่ธุรกิจออนไลน์ทั้งสิ้น

2. โอกาสและความท้าทายบน E-Marketplace

E-Marketplace เป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศไทยเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม E-marketplace ต่างๆ ถึง 35% นั่นรวมถึงผู้เล่น อย่าง Lazada, Shopee และ JD Central ที่มีสินค้าบนแพลตฟอร์มรวมกันกว่า 75 ล้านรายการ แต่เป็นที่น่าสนใจว่า สินค้ากว่า 80% เป็นสินค้า Cross-boarder จากผู้ขายที่อยู่ในต่างประเทศ จึงทำให้ผู้ขายในเมืองไทยต้องเจอกับความท้าทายและการแข่งขันกับร้านค้าในต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ยังเป็นจุดแข็งของคนไทย ก็คือ สินค้าจำพวก Groceries และ Health & Beauty ขณะที่ สินค้า Sports & Outdoors และ Pet Supplies จะมาจากผู้ขายต่างประเทศเป็นส่วนมาก

โดยคุณธนาวัฒน์ ได้แนะนำทางรอดของร้านค้าไทยบนแพลตฟอร์มต่างๆ ให้นำเสนอสินค้าที่มีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น ไม่ควรนำสินค้าที่เหมือนกับประเทศจีนมาขาย เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ขายในจีนไม่ต้องพึ่งพิงคนกลางแล้ว แต่สามารถขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้โดยตรง

3. E-Payment เติบโตอย่างก้าวกระโดด

พฤติกรรมของผู้บริโภคในเมืองไทยกำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากผู้ให้บริการต่างๆ พยายามผลักดันให้เกิดการใช้ E-Payment อย่างแพร่หลาย จากการศึกษาพบว่า ต้นทุนการชำระเงินเฉลี่ยต่อรายการสำหรับ E-Payment ถูกกว่า การชำระด้วยเงินสดหรือ COD (Cash On Delivery) ถึง 4 เท่า

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าแพลตฟอร์ม E-Commerce ต่างออกบริการ E-Wallet ของตนเอง เพื่อสนับสนุน E-Payment เช่น Lazada ที่พาร์ทเนอร์กับ Truemoney, Shopee ที่ support Airplay, LINE กับ rabbit LINE Pay หรือแม้แต่แอปของธนาคารอย่าง K Plus และ SCB Easy

เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงเคยชินกับการชำระเงินด้วยเงินสดด้วยวิธี COD (Cash On Delivery) จึงทำให้ผู้เล่น E-Commerce ต่าง พยายามผลักดันด้วยกลยุทธ์หลากวิธี เช่น การให้ Point/Reward, ให้ส่วนลด, คืน refund ได้เร็วขึ้น เมื่อชำระค่าสินค้าด้วย E-payment

นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์ ที่เรียกว่า EOD หรือ E-Wallet On Delivery ให้ลูกค้าที่ยังคงต้องการความอุ่นใจ ได้รับสินค้าก่อนแล้วค่อยจ่ายด้วย E-Wallet ซึ่งกลยุทธ์นี้มีการใช้จริงแล้วโดย GrabPay ที่ประเทศมาเลเซีย โดยคาดว่าจะมีการใช้จริงในเมืองไทยในช่วงปี 2019 ที่จะถึง

4. Omni Channel is the key

การค้าขายหลากหลายช่องทางจะมีบทบาทมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ร้านค้าส่วนใหญ่ต้องพาตัวไปอยู่ในหลายๆ ช่องทางที่ลูกค้าอยู่ โดยไม่ยึดติดว่าจะต้องเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์

Priceza เผยว่า ร้านค้าที่ใช้กลยุทธ์ Omni-channel มี Net Sales สูงกว่าร้านค้าที่ขายบนออนไลน์อย่างเดียว เนื่องจาก การสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ และรับสินค้า หรือคืนสินค้าที่หน้าร้าน ช่วยสร้างโอกาสให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าอย่างอื่นติดมือกลับบ้านเพิ่มเติมได้อีก บวกกับประสบการณ์ที่สะดวกสบาย จึงทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ

ข้อสรุปและคำแนะนำต่อร้านค้าบน E-Commerce

  1. ขายสินค้าในหลากหลายช่องทาง ไม่ยึดติดกับช่องทางใดช่องทางหนึ่ง
  2. เก็บข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลลูกค้า รวมถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าและรสนิยมต่างๆ
  3. นำข้อมูลมาต่อยอดให้เกิดการซื้อซ้ำ

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2019 ของ Priceza จะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นของไพรซ์ซ่า 2. Priceza Money ช่องทางการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต 3.กลุ่มธุรกิจ PSPN เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยบริษัทจะจับมือกับพันธมิตรร่วมกันดำเนินธุรกิจ โดยเสริมจุดแกร่งของกันและกัน คาดว่าจะเปิดตัวพันธมิตรรายแรกได้ในช่วงไตรมาส 1/2019

“ในปีนี้เราเห็นสัญญาณเติบโตที่ชัดเจนในกลุ่ม Priceza Money โดยมีรายได้เติบโตขึ้นจากปี 2018 ถึง 3 เท่า ในปี 2019 กลุ่มธุรกิจนี้จะครอบคลุมสถาบันการเงินมากขึ้น และครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายประเภทขึ้น เช่น มีบริการเปรียบเทียบประกันการเดินทาง คาดว่ากลุ่มธุรกิจนี้จะเติบโตขึ้นได้อีกประมาณ 2 เท่าตัว” นายธนาวัฒน์ กล่าว

นายธนาวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลเชิงลึก (Insights) ของ Priceza ในปีนี้ ยังพบว่า สถานการณ์ยอดซื้อต่อตะกร้า (Average Basket Size) บนช่องทาง E-Commerce ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 12 พ.ย. 2018 อยู่ที่ 1,469 บาทต่อตะกร้า โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า รถและยานพาหนะ ตามลำดับ

การจัดงาน Priceza E-Commerce Trends ในครั้งแรกนี้ แบ่งหัวข้อสัมมนาออกเป็น 3 หัวข้อสุดเข้มข้นที่กำลังมีอิทธิพลกับธุรกิจ E-Commerce ได้แก่ 1.Social Media and E-commerce 2.การปรับตัวของร้านค้าใน Marketplace 3.ครองใจนักช้อปออนไลน์ในแต่ละแพลตฟอร์ม โดยมีวิทยากรจากองค์กรยักษ์ใหญ่ในแวดวง อาทิ คุณศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ช้อปปี้ ประเทศไทย คุณบูม หมู่สิริเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เจดี เซ็นทรัล คุณนิธิมนต์ สุธาวิวัฒน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายธุรกิจออนไลน์ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด คุณศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย คุณสุพัชเชษฐ์ เภาวะนิต Vice President, Seller Operations ลาซาด้า ประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมฟังในงานมากกว่า 200 คน ณ Hard Rock Café สยามสแควร์ ซอย 11

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...