บทสรุป Accelerate Impact with PRUKSA Season 2 สานต่อความสำเร็จ ส่งต่อความยั่งยืนเพื่อสังคม | Techsauce

บทสรุป Accelerate Impact with PRUKSA Season 2 สานต่อความสำเร็จ ส่งต่อความยั่งยืนเพื่อสังคม

“พฤกษา” ผู้นำวงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นแนวหน้าของไทยได้จัดโครงการ “Accelerate Impact with PRUKSA Season2" เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจเพื่อสังคมของไทย (Social Enterprise) ที่ต้องการเงินทุนสนับสนุน รับโอกาสต่อยอดขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมจัดโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์อัพ ยกระดับศักยภาพบุคลากร โดยมีวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอดโครงการ ซึ่งในปีนี้มาพร้อมประเด็นความท้าทายครั้งใหม่ และมีนักธุรกิจเพื่อสังคมสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 70 ราย ทั่วประเทศไทย โดยมีองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่มีรูปแบบและเป้าหมายธุรกิจ สอดคล้องตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการครั้งนี้มากที่สุด ผ่านการรับสมัครตั้งแต่ปี 2566

กว่า 70 ทีมที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ได้ผ่านรอบคัดเลือก 10 ทีม จนมาถึง 4 ทีมสุดท้าย ซึ่งทุกทีมได้พบกับกิจกรรม Boothcamp ที่อัดแน่นด้วยความรู้เพื่อต่อยอดธุรกิจในหลากหลายมิติตลอดหลักสูตร ก่อนเดินหน้าเข้าสู่ช่วงการขยายธุรกิจสู่ความแข็งแกร่งและเติบโต พร้อมนำเสนอแผนธุรกิจและแผนงาน (Pitching)  ในวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

4 ทีมสุดท้ายในวัน Demo Day กับธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวก

Accelerate Impact with PRUKSA Season 2 ได้ต่อยอดความสำเร็จจากปีที่แล้ว ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายและปณิธาน สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมให้เป็นรูปธรรมได้อย่างยั่งยืน โดยในปีนี้ มีองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ 

1. Agnos Health ผู้พัฒนา AI ด้านการแพทย์ โดยใช้ AI วิเคราะห์อาการป่วยด้วยตนเอง และแนะนำผู้ป่วยไปยังบริการที่เหมาะสม สามารถช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาเป็น Smart OPD Platform 

ตัวแทนจาก Agnos Health กล่าวว่า “นับเป็นความประทับใจอย่างมากที่ได้รับเลือกเข้าโครงการนี้ อยากจะขอขอบคุณตัวเองและโครงการ รวมไปถึง Alumni จากปีก่อน ที่คอยช่วยให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมอบ Insight ใหม่ๆ ที่ช่วยต่อยอดและขยายผลทางธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคมได้ในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่กับผู้ป่วย แต่รวมไปถึงโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย”


2. Labmove บริการเจาะเลือดถึงที่พักอาศัย โดยนักเทคนิคการเเพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ ที่สามารถนำตัวอย่างมาส่งที่โรงพยาบาลต้นสังกัด ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และเข้าถึงบริการได้แม้อยู่ที่บ้าน

ตัวแทนจาก Labmove กล่าวว่า  “การเข้าร่วมโครงการ Accelerate Impact with Pruksa ถือเป็นการ Upscale ให้กับการทำธุรกิจ และมีตัวชี้วัดที่สร้างผลกระทบเชิงบวกได้จริง รวมถึงทำให้ธุรกิจสร้างมารถโฟกัสกับจุดแข็งของ Labmove ได้ว่า การมีนักเทคนิคการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุอย่างที่ตั้งใจไว้ รวมถึงการมีเครือข่ายการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐได้มากขึ้น”


3. Pharmcare คือ แฟลตฟอร์ม Telepharmacy สำหรับช่วยให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงร้านยาที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย จากคำแนะนำของเภสัชกรร้านยาในชุมชน และยังช่วยส่งเสริมให้ร้านยาชุมชนเติบโตสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ตัวแทนจาก Pharmcare กล่าวว่า  “ตลอดระยะเวลาของโครงการ Pharmcare ได้พัฒนาบริการให้กับลูกบ้านของพฤกษาถึง 4 โครงการ ที่สามารถเข้าถึงร้านยาและเภสัชกรในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว เชื่อมต่อผู้ป่วยเข้ากับเภสัชกรโดยตรง ซึ่งตลอดระยะสามเดือนที่ผ่านมา มีบริการมากกว่า 800 บริการ คิดเป็น 70% ของการบริการที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้อยากที่จะขยายบริการเพื่อลูกบ้านกลับมาใช้บริการมากขึ้นในอนาคต ตลอดจนร้านยาและเภสัชกรในชุมชนมีรายได้มั่นคงและอยู่ได้อย่างยั่งยืน”


4. Wongphai ผู้ผลิต “KN Biochar” ไบโอชาร์ จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรของชุมชนปลูกไผ่ ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน ในขณะเดียวกันยังมีส่วนช่วยด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถต่อยอดในการสร้าง Carbon Credit ได้เช่นกัน

ตัวแทนจาก Wongphai กล่าวว่า  “การเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้เราสามารถต่อยอดธุรกิจและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนได้มากขึ้น ด้วยการทำ KN Biochar จากการเผาที่ถูกต้องจำนวนวันละ 6 ตัน จะเปลี่ยนเป็น Biochar 1 ตันที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนได้ 1.8 ตัน รวมถึงพัฒนา สร้างคุณค่า สร้างรายได้ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีในภาคการเกษตรให้มากขึ้นในอนาคตอีกด้วย”

โดยทั้ง 4 ทีมได้สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนำผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนเชิงสังคม (SROI) มาเปิดเผยและสร้างแรงบัลดาลใจในการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ดังนี้

1. Agnos Health มีผลวิเคราะห์คะแนนผลตอบแทนเชิงสังคม (SROI) อยู่ที่ 1.19 โดยมีกิจกรรม ที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นเคสผู้ป่วยเขียวหรือผู้ป่วยที่สามารถรักษาตัวเองได้ที่บ้านประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและประหยัดเวลาจากการเดินทางไปพบแพทย์ได้อย่างมาก อีกทั้งในเคสสีแดงหรือผู้ป่วยหนักก็จะสามารถช่วยให้นำส่งตัวไปรักษาได้อย่างทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงยังสามารถช่วยร้านยาที่อยู่ใกล้กับที่พักอาศัยมีรายได้มากขึ้นอีกด้วย 

จากการคาดการณ์ในระยะเวลา 1 ปี จะสามารถช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเคสสีเขียวที่มีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 3.8 ล้านบาท ช่วยลดการสูญเสียสำหรับผู้ป่วยเคสสีแดงที่มีอาการรุนแรง คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียกว่า 2.8 แสนบาท อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับร้านยาที่อยู่ใกล้กับที่พักอาศัยมากกว่า 1.6 ล้านบาท

2. Labmove มีผลวิเคราะห์คะแนนผลตอบแทนเชิงสังคม (SROI) อยู่ที่ 1.5 โดยมีกิจกรรมบริการเจาะเลือดให้ถึงบ้านโดยนักเทคนิคการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกันกับทางพฤกษา ในด้านของมูลค่าของผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น จากการคาดการณ์ในระยะเวลา 1 ปี จะทำให้เกิดความเท่าเทียมของการเข้าถึงบริการมากขึ้น รวมไปถึงงานบริการที่รวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน อาทิ

  • ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงได้มากถึง 5,000 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท
  • ช่วยให้ญาติผู้ป่วยไม่ต้องลางาน ไม่ขาดรายได้จากการทำงานปีละ 5.5 ล้านบาท
  • ลดการเดินทางมาที่โรงพยาบาล ได้ปีละกว่า 1.5 แสน กิโลเมตร
  • ช่วยลดความแออัดของการรับบริการเจาะเลือดในโรงพยาบาลได้วันละ 40 ราย
  • ลดชั่วโมงการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมแล้วปีละ 3,750 ชั่วโมง 
  • เพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้ป่วยและญาติได้มากถึง 90%

3. Pharmcare มีผลวิเคราะห์คะแนนผลตอบแทนเชิงสังคม (SROI) อยู่ที่ 1.63 โดยมีกิจกรรมขยายบริการร้านยาใกล้กับชุมชนและลูกบ้านของพฤกษา รวมถึงมีเภสัชกรที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเภสัชกร ประหยัดเวลาการไปโรงพยาบาล ลดความแออัดในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลวิมุตเพื่อเชื่อมต่อบริการ Telemedicine 

ในด้านของมูลค่าของผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น รวมไปถึงยังช่วยให้ร้านยาที่อยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนมีรายได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยสามารถนำมาคิดประเมินเป็นมูลค่าที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • ผู้ป่วยสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางไปยังสถานพยาบาลได้มากกว่า 5.6 แสนบาท
  • ทำให้ร้านขายยาที่อยู่ใกล้กับแหล่งชุมชมมีรายได้สูงขึ้นมากกว่า 2.6 แสนบาท

4. Wongphai มีผลวิเคราะห์คะแนนผลตอบแทนเชิงสังคม (SROI) อยู่ที่ 1.29 โดยมีกิจกรรม ที่เข้าร่วมโครงการกับพฤกษาอย่าง Live well Stay well ที่ทำให้เจอชุมชน รวมถึงความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยในการใช้ Biochar ปรับปรุงหน้าดิน จาการคาดการณ์ระยะเวลา 1 ปีในด้านของมูลค่าของผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์รวมไปถึงช่วยลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางการเกษตรได้อีกด้วย

ทางด้าน นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมของโครงการ “Accelerate Impact with PRUKSA Season2" ว่า “ทีมที่ได้รับคัดเลือกในปีนี้ต่างก็มีพันธกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของพฤกษาที่ต้องการขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างคุณค่าด้านเศรษฐกิจ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้คนในสังคม เราเชื่อว่าทั้ง 4 ทีมที่ผ่านเข้ามาได้ทำการแก้แผนธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้นในการขยายธุรกิจ มีโซลูชันเชิงนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมที่สอดคล้องกับโจทย์ที่กำหนด มีกรอบในการวัดผล มีความเป็นทีม มีประสบการณ์ และมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนเพื่อผลักดันผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ซึ่งการที่พฤกษาเข้าไปช่วยสนับสนุนผ่านโครงการนี้ได้ช่วยเร่งให้แต่ละทีมไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ในโอกาสนี้ เราขอแสดงความยินดีกับทุกทีมที่ได้รับเงินลงทุนเพิ่มจากทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ อีกทั้งทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับโอกาสร่วมเป็นพันธมิตรกับพฤกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม อยู่ดี มีสุข ตามเจตนารมณ์ของพฤกษา”


บทสรุปสุดท้าย สานต่อความยั่งยืนเพื่อสังคมแห่งอนาคต

ทุกทีมที่ได้รับคัดเลือกในปีนี้ ต่างก็มีพันธกิจองค์กรที่สอดคล้องกับนโยบายของ พฤกษา โฮลดิ้ง ที่ต้องการขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ช่วยสร้างคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ ลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม 

และขอแสดงความยินดีกับทีม ทีมแล็บมูฟ ทีมแอ็กนอส และทีมฟาร์มแคร์ ที่ได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมทีมละ 5 แสนบาท พร้อมคว้าโอกาสในต่อยอดธุรกิจร่วมกับกลุ่มวิมุต บริการด้านสุขภาพในเครือพฤกษา โฮลดิ้ง  และทีมวงศ์ไผ่ ได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมสูงสุดถึง 1.5 ล้านบาท เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจในชุมชน สร้างคาร์บอนเครดิต และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวต่อไป 

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทาง https://www.pruksaimpact.com/

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ใครคือ SIAM AI CLOUD ? บริษัทเทคไทยที่ NVIDIA เลือก ด้วยอายุจดทะเบียนเพียง 10 เดือนกับ 19 วัน

บทความนี้จะพาไปสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของ SIAM AI CLOUD ทำไมไทยที่ก่อตั้งมาไม่ถึงปีถึงสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการเทคโนโลยีจนดึงตัวแม่ทัพใหญ่ของ NVIDIA มาไทยได้ !...

Responsive image

10 ไฮไลท์นวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพไต้หวัน ก้าวล้ำนำอนาคตในงาน Taiwan Expo 2024

10 นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ไฮไลท์จาก Taiwan Healthcare Pavilion ที่จะมาปฏิวัติวงการแพทย์ในทุกมิติ จากงาน Taiwan Expo 2024...

Responsive image

ส่องเส้นทางเทคฯ KBTG จากยุคปรับตัว สู่ผู้นำ Agentic AI กับยุทธศาสตร์ Human-First x AI-First พลิกโฉมธุรกิจ

เจาะลึกกลยุทธ์ KBTG กับการนำไทยเข้าสู่ยุค Agentic AI 2025 ผ่าน Human-AI Integration เพื่ออนาคตที่ล้ำลึกและยั่งยืน...