เชื่อว่าหลายคนคงเป็นแฟนหนังสือ AI Superpowers ของ Kai-Fu Lee ที่ได้เขียนถึงแนวโน้มของการพัฒนา AI และการนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นเทคโนโลยีที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน แข่งขันกันเพื่อนขึ้นเป็นผู้นำ
เมื่อไม่นานมานี้ Kai-Fu Lee ได้ออกหนังสือเล่มใหม่ คือ 2041 อนาคตของ AI ในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับทั้งภาคธุรกิจ และความเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตของมนุษย์กับ AI ในอนาคตด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่า AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่การเข้ามานั้นจะเป็นไปในทิศทางใด และอุตสาหกรรมใดที่จะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง Kai-Fu Lee ได้เล่าถึงความน่าสนใจที่จะเกิดขึ้นใน Podcast รายการ The Economist Ask ไว้ได้อย่างน่าสนใจ
สำหรับ 20 ปี จะเป็นระยะเวลาที่ AI สามารถสร้างประโยชน์แก่สังคมได้อย่างครบถ้วน ซึ่ง Kai-Fu Lee มองว่า ระยะเวลาเท่านี้ จะเป็นระยะเวลาที่พอ ๆ กับการพัฒนาไฟฟ้า พัฒนาคอมพิวเตอร์ หรือแม่กระทั่งอินเทอร์เน็ตให้มนุษย์สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในระยะเวลา 20 ปีนี้ AI จะเข้ามาช่วยเหลือ และ Disrupt งานบางอย่างของมนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ รวมทั้งสังคม
การพัฒนาของ AI นั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและระยะเวลาที่มนุษย์ใช้ในการปรับปรุงเทคโนโลยี หากลองคาดการณ์ ในระยะเวลา 10-16 ปีนี้ มนุษย์จะสามารถพัฒนา AI ได้อย่างดีเยี่ยม และใช้เวลาเพิ่มเติมอีก 5-10 ปีที่เหลือ เพื่อสร้างการยอมรับ ทั้งการออกกฎหมายรองรับ AI ใส่ความเข้าใจด้านศีลธรรม และจริยธรรมลงไป และในระยะเวลา 20 ปีนี้มันจะช่วยสร้างคำอธิบายของ AI ว่า เป็นสิ่งที่ทำให้อนาคตของเราแตกต่างออกไป และเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 20 ปีนี้ก็ยังเป็นการคาดการณ์ในเทคโนโลยีของ Kai-Fu Lee ซึ่งหากลองมองย้อนไป 20 ปีก่อน และมีการตั้งคำถามเกิดขึ้นว่า จะเกิดอะไรขึ้นใน 20 ปีข้างหน้า Kai-Fu Lee ก็คงจะคาดการณ์ได้ถูกต้องหลาย ๆ อย่าง ทั้งอุตสาหกรรมเกมที่โตขึ้น e-Commerce ที่เป็นที่นิยม และโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทุกคนในยุคนี้เข้าถึงได้ แต่ก็อาจจะมีบางอย่างที่เหนือความคาดหมาย เช่น Payment รวมทั้งงานบริการอย่าง Uber ที่อาจจะไม่มีใครคาดคิดว่าเติบโตและเปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อ
อย่างที่เคยได้ยินกันตลอดว่า AI รวมทั้งเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มงานที่ทำซ้ำ หรืองาน Routine ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนจะมองว่า กลุ่ม Blue Collar หรืองานที่ใช้แรง จะต้องถูก AI และเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่อย่างแน่นอน
ในขณะเดียวกัน Kai-Fu Lee อธิบายว่า สำหรับกลุ่ม White Collar หรือกลุ่มพนักงานออฟฟิศ หรือกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีงานบางอย่างของกลุ่มนี้ที่จะมี AI เข้ามาแทนที่ได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ทำซ้ำ ๆ ทำเหมือนเดิม ตัวอย่างเช่น งานกรอกเอกสาร งานคำนวณรายรับ-รายจ่าย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นงานที่กดคีย์บอร์ดซ้ำ ๆ เลื่อนเม้าส์ไปมาในรูปแบบเดิม ๆ ซึ่งเป็นงานที่ AI สามารถเข้ามาเรียนรู้ และสั่งการทำงานผ่านหุ่นยนต์อัตโนมัติก็จะสามารถเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ออฟฟิศได้
และยิ่งมีการระบาดของโควิด-19 การทำงานของกลุ่ม White Collar ก็ถูกโยกย้ายไปในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากต้องทำงานแบบ Work from home ทำให้การเข้ามาแทนที่ของ AI ก็เป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีงานอีกหลายอย่างในกลุ่มของ White Collar ที่ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ด้วย AI ตัวอย่างเช่น นักข่าว (Journalist) ที่ยังคงเขียนข่าวกันอยู่ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่างานในส่วนนี้จะดูว่า AI สามารถเข้ามาทำงานแทนได้ แต่งานอย่าง การสัมภาษณ์ ยังไม่สามารถนำ AI ยังไม่สามารถนำ AI เข้ามาแทนที่ได้ เพราะต้องอาศัยความเข้าใจที่มากกว่า คำพูด หรือตัวอักษร แต่ต้องเข้าใจถึงภาพรวมและคอนเซ็ปต์ของการพูดคุยมากกว่า
ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกกลุ่มอาชีพ เช่น นักวิทยาศาสตร์ CEO นักพัฒนา หรือกลุ่มอาชีพที่อาศัยความสามารถเฉพาะด้าน มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาชีพเหล่านี้จะถือว่ามีชัยชนะมากกว่าอาชีพสายอื่น ๆ เพราะจะเป็นกลุ่มที่เข้าไปพัฒนา AI และเทคโนโลยีแทนที่จะถูก AI เข้าไปแทนที่การทำงาน
และในกลุ่มอาชีพที่ต้องอาศัย การสร้างทีม การสร้างความเห็นอกเห็นใจ การสร้างความเข้าใจกับผู้อื่น อย่างเช่น อาชีพไกด์ทัวร์ ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ อาชีพเหล่านี้ในอนาคต 20 ปีข้างหน้าจะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นอาชีพที่จะต้องปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ทำให้เป็นอาชีพที่จำเป็น เพราะ AI และเทคโนโลยีเข้ามาแทรกแซงในหลาย ๆ สายอาชีพไปแล้ว
สำหรับอาชีพด้านการศึกษา Kai-Fu Lee มองว่าจะเป็นอาชีพที่ถูกปฏิวัติจาก AI และเทคโนโลยีแตกต่างจากอาชีพอื่น ๆ เนื่องจากการเข้ามาของ AI จะเข้ามาส่งเสริมให้การทำงานของครู อาจารย์ ดีขึ้น จะช่วยให้อาชีพในกลุ่มนี้พัฒนาก้าวหน้าไปได้ไกลขึ้น อย่างเช่น การใช้ AI ออกแบบหลักสูตรการเรียนให้เหมาะสมกับคุณครูและนักเรียนในแต่ละกลุ่ม รวมทั้งใช้เพื่อตรวจสอบความสามารถในการเรียนของเด็กแต่ละคนว่า มีระยะเวลาในการเรียนรู้ช้า-เร็วแค่ไหน เพื่อให้ครูสามารถจัดการบทเรียนและงานให้ถูกต้อง ตรงกับแต่ละคน และยิ่งไปกว่านั้น เด็กบางคนมีความชอบในตัวการ์ตูนต่าง ๆ ก็สามารถตั้งค่า AI ให้แสดงภาพการ์ตูน หรือตัว Avatar ต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้สอนเด็ก ๆ แทน เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กก้าวไปอีกขั้น
แต่อย่างไรก็ตาม การจะนำเอา AI ไปใช้ในด้านการศึกษา ในแต่ละประเทศจะมีความสามารถในการ Adopt เอามาใช้ได้แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม และการขับเคลื่อนนโยบายด้านนี้ของแต่ละแห่ง รวมทั้งขนาดของประเทศและจำนวนประชากรก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ เพราะประเทศที่ขนาดไม่ใหญ่มาก อย่างสิงคโปร์และอิสราเอล สามารถรับเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้งานได้รวดเร็วกว่า
จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ข้อมูล (Data) ต่าง ๆ เริ่มหลั่งไหลเข้าไปในธุรกิจสาย Healthcare มากขึ้น ซึ่งจุดที่ Kai-Fu Lee มองว่าน่าสนใจมากที่สุดคือ การนำข้อมูลป้อนให้ AI และ ML เรียนรู้เพื่อที่จะให้คาดการณ์ หรือทำนายถึงโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างแม่นยำ เพื่อให้มนุษย์สามารถเตรียมการ หรือหาทางแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง และทันท่วงที
และอีกหนึ่งความน่าสนใจในสาย Healthcare นี้คือ การใช้ AI ในการสร้างยา เพราะจากที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีหลายบริษัทที่หันมาสนับสนุนให้มนุษย์กับ AI ทำการศึกษาเพื่อคิดค้นยาตัวใหม่ขึ้นมาเพื่อรักษาโรคที่เกิดในมนุษย์ ซึ่งที่มี AI เข้ามาจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการศึกษาวิจัยลงได้ รวมทั้งจะช่วยให้การใช้ยาในการรักษามีความเฉพาะ ตรงกับลักษณะอาการของผู้ป่วยแต่ละคนมากขึ้น โดยในอนาคตความก้าวหน้าของ AI จะสามารถเข้ามาช่วยวินิจฉัยโรคได้ตรงจุดมากขึ้น โดยอิงจากข้อมูล ลำดับพันธุกรรมของแต่ละคน เพื่อให้มีความแม่นยำมากขึ้นในการรักษาและให้ยา ถึงกระนั้นก็ตาม ในปัจจุบันนี้ AI ยังไม่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้อย่างจริงจังเนื่องมาจากยังมีข้อมูล (Data) ที่น้อยเกินไป แต่เชื่อว่าในอนาคตการพัฒนาตรงจุดนี้จะก้าวหน้ามากกว่านี้แน่นอน
สำหรับ Kai-Fu Lee เองก็ได้ก่อตั้งกองทุนสำหรับลงทุนในธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ โดยใช้ชื่อว่า Sinovation Ventures และส่วนใหญ่แล้วกองทุนนี้จะเน้นลงทุนไปใน 3 ประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ คือ
Transportation ธุรกิจด้านยานพาหนะ ที่กำลังเป็นที่จับจ้องของกลุ่มนักลงทุนคือ ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) ซึ่งตอนนี้มีหลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้หันมาผลิตรถ EV กันมากขึ้น
Smart Manufacturing การพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ และการผลิตอัจฉริยะ ตัวอย่างเช่น รถ forklift แบบอัตโนมัติที่สามารถขับเคลื่อน รวมทั้งทำงานเองได้อัตโนมัติในโกดัง และหุ่นยนต์อัตโนมัติในโรงงานที่สามารถทำงานได้ตลอดเวลา
Healthcare อย่างที่ทราบว่าธุรกิจ Healthcare จะเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าไปอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อพูดถึง AI เรื่องของความปลอดภัย หรือ Privacy ก็เป็นประเด็นหลัก ๆ ที่คนกังวลกันเป็นอย่างมาก เพราะ AI และ ML เป็นเทคโนโลยีที่ต้องเรียนรู้ผ่านการเข้าถึง Data ดังนั้นคนย่อมจะมีความกังวลกันเป็นเรื่องปกติ จึงทำให้หลาย ๆ ประเทศหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
อย่างในประเทศจีนที่กังวลกับเรื่องการเข้าถึง Data ของประชาชนเป็นอย่างมาก จึงมีการออกกฎต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่มองเห็น และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลของประชาชนในประเทศจีนมากขึ้น และอีกหนึ่งเหตุผลที่ทางรัฐบาลจันออกมาเล่นงานยักษ์ใหญ่ด้านเทคฯ นี้เพื่อให้บริษัทเล็ก ๆ สามารถเติบโตไปได้ด้วย ไม่ให้เกิดการเติบโตที่แตกต่างกันเกินไป
เทคโนโลยีเป็นเหมือนดาบสองคม มีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี สำหรับ AI เองด้านที่ไม่ดีของมันคือ เรื่องความเป็นส่วนตัว ความอคติ รวมทั้งมันอาจจะล้างสมองพวกเรา แต่อย่าลืมไปว่ามันก็มีส่วนดีเหมือนกัน ที่จะมาเป็นโซลูชันแก้ปัญหาให้กับมนุษย์เอง โดยเราสามารถสร้าง AI ที่เข้ามาตรวจสอบความอคติ (Bias) ความไม่เท่าเทียม และมาแจ้งเตือนกับเรา
ซึ่งจริง ๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา ซึ่งหากมองกลับไปในอดีต เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาล้วนมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ทั้งไฟฟ้า ทั้งอินเทอร์เน็ตล้วนเกิดมาพร้อมข้อบกพร่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีการพัฒนา เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะกลับมามีความเท่าเทียมมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเหล่านี้จะมีส่วนดีกับสังคมมากกว่าที่จะเป็นส่วนเสีย ขึ้นกับมนุษย์ที่จะนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปพัฒนา ไปใช้ ไปต่อยอดอย่างไรมากกว่า” Kai-Fu Lee กล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด