Cozy Bag ที่สั่งจากจีนส่งมาที่แคนาดานั้น ตกราคาราว 752 บาท
ด้วยเงินทุนตั้งต้น 5,000 เหรียญ แจ็คและพาร์ทเนอร์ของเขาเปิดบริษัท และสั่งเก้าอี้มา 250 ตัว จดโดเมนเนม และเครื่องรับบัตรเครดิตการ์ด ภายในไม่กี่สัปดาห์ ทีมของเขาขายเก้าอี้นี้ภายในงานคอนเสิร์ตและงานแฟร์ต่างๆ บวกกับการตลาดออนไลน์เพิ่มเติม ยอดขายเพิ่มขึ้น และสุดท้ายพวกเขาก็มีรายรับกันอยู่ที่ 100,000 เหรียญ
แจ็คยังคงมองหาช่องทางที่เขาจะต่อยอดสิ่งที่เขาเรียนรู้จากการทดลองครั้งนี้ไปอีก เขามองที่สิ่งที่น่าจะไวรัลได้มากขึ้น
Stress Cube โปรดักส์เลียนแบบ Fidget Cube
ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Google Alert แจ้งแจ็คว่า มีแคมเปญใหม่บน Crowdfunding platform ชื่อดัง Kickstarter ที่เพิ่งระดมทุนได้สูงสุดติดอันดับหนึ่งในสิบ ตั้งแต่แพลตฟอร์มนี้เปิดมา ชื่อของแคมเปญนั้นคือ Fidget Cube
เจ้าของเล่นเล็กๆ ที่คลิกได้ เล่นได้นี้ เหมาะสำหรับคนยุกยิกที่อยากหาอะไรเล่นในมือ เจ้าแคมเปญตัวนี้สามารถระดมทุนได้ถึง 15,000 เหรียญภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งวัน และระดมทุนรวมได้ 6.5 ล้านเหรียญ (ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งใน backer ผู้ให้ทุนสนับสนุนนั้นค่ะ)
ทว่าโปรเจกต์ที่เหมือนจะไปได้ดีนี้ ก็พบปัญหาการผลิต ทำให้จัดส่งล่าช้ากว่าที่ระบุไว้แต่แรก backers หลายๆ คนกังวลว่าพวกเขาจะได้ของไม่ทันคริสมาสต์ (อันที่จริงจนบัดนี้หลายๆ คนก็ยังไม่ได้รับ รวมถึงผู้เขียนด้วย)
เช่นเดียวกับ Cozy bag ไม่นานผู้ผลิตในจีนก็สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน แจ็คและพาร์ทเนอร์ของเขาก็เริ่มปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว สร้างหน้าเว็บด้วย Wordpress ติดปลั๊กอิน Woocommerce (ปลั๊กอินทำ E-commerce) และปล่อย Stress Cube ออกขายได้ในเดือนพฤศจิกายน
พวกเขาใช้เงินทุนตั้งต้นไม่ถึง 5,000 เหรียญ สั่งเจ้าลูกเต๋าพลาสติกนี้ได้พันชิ้นในราคาชิ้นละ 3.65 เหรียญ และขายมันต่อในราคาที่ 19.99 เหรียญ
ด้านซ้าย Stress Cube และด้านขวา Fidget Cube
ครั้งนี้พวกเขาใช้ FollowLiker ซอฟแวร์อัตโนมัติที่ช่วยปั๊มฐานแฟน และสร้าง Awareness
เขาได้เรียนรู้ว่า Instragram Ad หนึ่งตัว ก็สามารถทำยอดขายให้เขาได้ถึง 30,000 เหรียญต่อวัน
ดำเนินการมาได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ พวกเขาก็สามารถขาย Stress Cube ได้ 100 ชิ้นต่อวัน หรือบางวันมากถึง 800 ชิ้น
สุดท้ายพวกเขาสามารถสร้างรายได้ถึง 350,000 เหรียญในเวลาเพียงสองเดือน
แล้วประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ล่ะ?
อันที่จริง เจ้า KAISR เองก็ถูกสั่งเลิกดำเนินการต่อเพราะเรื่องลิขสิทธิ์ จริงๆ แล้วแม้แต่ Stress Cube ก็คงไม่ต่างกัน
Mark McLachlan, co-founder ของบริษัทแม่ของ Fidget Cube ที่ชื่อ Antsy Labs ระบุว่าเรื่องลิขสิทธิ์ของพวกเขายังไม่เรียบน้อยนัก แต่เขาก็บอกกับ CNBC ว่า เขาไม่กังวลนักกับการแข่งขันที่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องธรรมชาติ และเขาก็คิดว่าเจ้าลูกเต๋าที่เป็นของแท้ดั้งเดิมของพวกเขานั้นยังไงก็ดีกว่า
"สุดท้ายแล้ว มันก็คือการทำโปรดักส์ให้ดีกว่า" McLachlan กล่าวเช่นนั้น
ซึ่งต่างกันกับแจ็คซึ่งบอกว่า
"โลกนี้เต็มไปด้วยโปรดักส์มากมาย และผมก็ไม่จำเป็นต้องขาย Stress Cube ก็ได้"
แจ็คห่วงเรื่องที่จะถูกฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์อยู่บ้าง แต่เขาไม่ห่วงเรื่องจะต้อง pivot หรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น "โลกนี้เต็มไปด้วยโปรดักส์มากมาย และผมก็ไม่จำเป็นต้องขาย Stress Cube ก็ได้ ผมแค่ขายของที่คนชอบก็พอ
หลายๆ คนบอกให้คุณเปิดธุรกิจ และตั้งเป้าจะทำกำไรจากมันภายใน 18 เดือน แต่สำหรับผมแล้ว 4 วันก็เพียงพอแล้วที่จะทำกำไร"
ความคิดเห็นจากผู้เขียน
ในฐานะคนชอบสตาร์ทอัพ จริงๆ แล้วผู้เขียนไม่อินกับวิธีการของแจ็คเท่าไรนัก เพราะไม่ใช่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่จากเรื่องราวนี้ก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่า
สตาร์ทอัพต้องโฟกัสเรื่องการ "Go to Market" และการจัดการที่ดี สำคัญไม่แพ้การสร้างโปรดักส์
ผู้เขียนยังไม่ได้ทดลองเล่น Stress Cube จึงยังไม่แน่ใจว่ามันต่างจาก Fidget Cube ของแท้มากไหม แต่ถ้าหากมันไม่ต่างกันมาก ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย การได้แต่มองคนรีวิวสินค้าที่เกิดขึ้นมาทีหลังแบบตาปลิบๆ เหล่า backers ต่างก็ผิดหวังที่ของที่พวกเขาตั้งใจสนับสนุน กลับยังไม่ส่งมาถึงมือเสียที
ในขณะที่แนวทางของแจ็ค สามารถได้ดิบได้ดี แม้จะไม่ใช่ Original creator เองก็ตาม
สำหรับข้อมูลในบทความนี้ ขอขอบคุณข้อมูลจาก cnbc.com