Bill Gates กับโรค Alzheimer การรักษาโรคที่ไม่มีวันหายและความต้องการของผู้ป่วยระยะสุดท้าย | Techsauce

Bill Gates กับโรค Alzheimer การรักษาโรคที่ไม่มีวันหายและความต้องการของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

มีสองสิ่งที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือการหลงลืมและความตาย 

คุณลาร์รี่ เชียร์ไปหาหมอแล้วพบว่าเขาป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ เมื่อรู้ผลเขาไม่ได้บอกกับคนในครอบครัวทันที แต่หลังจากนั้น 2 ปีเขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับโรคนี้แล้วจึงบอกกับภรรยาว่าเขามีเวลาเหลืออีก 6 ปี

ช่วงเวลา 6 ปีนั้นคือความทรมานของครอบครัวเชียร์

การหลงลืมของที่วางไว้อาจเป็นเรื่องน่ารำคาญ แต่การลืมวิธีติดกระดุมเสื้อ ลืมวิธีคาดเข็มขัดนิรภัย ลืมไปแล้วว่าช้อนมีไว้ทำอะไร ลืมทุกอย่างที่เป็นพื้นฐานการดูแลชีวิตถือเป็นเรื่องที่สร้างความเครียดและความหงุดหงิดในแต่ละวันอย่างมาก

ต่อให้คุณสอนสิ่งเหล่านั้นให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทุกวันๆ คุณก็จะไม่ได้ผลลัพธ์เหมือนกับที่สอนเด็ก เพราะเด็กกำลังเรียนรู้ แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ “กำลังลืม” ทุกอย่าง

ชีวิตในช่วงปีท้ายๆของคุณลาร์รี่ถือว่าโหดร้าย เขาเริ่มเดินหายไปจากบ้านโดยเฉพาะตอนกลางคืน จนเกิดอุบัติเหตุพลัดตกบันได เมื่อเข้ามาอยู่โรงพยาบาลอาการก็ทรุดลง เริ่มมีอาการเพ้อและพูดจาไม่รู้เรื่อง เขาต้องถูกมัดแขนกับเตียงเพราะเขาดึงเฝือกออกถึง 3 ครั้ง

เขาต้องย้ายเข้าย้ายออกจากสถานพยาบาลผู้สูงอายุหลายครั้งก่อนมาลงเอยที่บ้านพักคนชราที่ชื่อว่า สเตียร์เฮ้าส์ 

ตั้งแต่เข้ามาอยู่ในสเตียร์เฮ้าส์เขาค่อยๆลืมวิธีดูแลตัวเองไปทีละอย่าง จนสุดท้ายเดินไม่ได้ พูดไม่ได้ และจำไม่ได้แม้แต่คนในครอบครัว ในที่สุดเขาก็เสียชีวิตด้วยอาการปอดบวม

=====

โรคอัลไซเมอร์ถูกค้นพบเมื่อปี 1906 แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่หายขาด

ยารักษาอัลไซเมอร์ล่าสุดที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) คือ ปี 2003 หรือประมาณ 17 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีการพยายามค้นคว้าทดลองยาตัวใหม่ๆ แต่ยังไม่สำเร็จ บริษัทยายักษ์ใหญ่อย่าง Pfizer เองก็ตัดสินใจยุติการวิจัยค้นคว้ายาเพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์ทุกชนิด

โรคอัลไซเมอร์ถือเป็นสาเหตุการตายอันดับ 6 ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีตัวเลขเผยออกมาว่าผู้สูงอายุชาวอเมริกันป่วยเป็นโรคนี้ถึง 5.8 ล้านคน และปี 2019 พบว่ามีค่าใช้จ่ายสำหรับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆถึง 290,000 ล้านเหรียญ

แล้วในไทยล่ะ

มีรายงานปี 2014 จาก Alzheimer’s Disease International Report เผยออกมาว่าไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 600,000 คน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 53,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 88,750 บาทต่อคนต่อปี และมีการประเมินว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,117,000 คนในปี 2030 และ 2,077,000 คนในปี 2050

สิ่งที่ทำให้โรคอัลไซเมอร์รักษายากเป็นเพราะมันแสดงอาการช้า มีรายงานเผยว่าโรคนี้จะสร้างความเสียหายแก่สมองเป็นเวลากว่า 10 ปีก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการ ดังนั้นถ้าสามารถพบความผิดปกติได้เร็วขึ้น โอกาสที่จะหายก็มากขึ้น

บิลล์ เกตส์เชื่อมั่นว่ามนุษย์เรามีความสามารถมากพอที่จะรักษาโรคอัลไซเมอร์นี้ได้ เขาจึงค้นคว้าข้อมูลและให้เงินสนับสนุนแก่กลุ่มคนที่พยายามหาทางออกสำหรับโรคนี้ โดยเขาลงทุนใน Dementia Discovery Fund จำนวน 50 ล้านเหรียญและลงทุนกับหุ้นส่วนคนอื่นๆใน Diagnostics Accelerator รวมเป็นเงิน 30 ล้านเหรียญ

(บิลล์ เกตส์และบิลล์ เกตส์ ซีเนียร์ที่มีอาการอัลไซเมอร์)

คุณเกตส์มุ่งความสนใจไปที่การวินิจฉัยโรค จากที่ไปค้นหาข้อมูลมาพบว่าการวินิจฉัยโรคนี้เริ่มต้นด้วยการทำแบบทดสอบประเมินการสมองเสื่อม (cognitive assessment) 

แพทย์อาจจะเริ่มด้วยการถามชื่อร้านอาหารที่ชอบ ให้วาดวงกลมสมมติว่าเป็นนาฬิกาแล้วเขียนตัวเลขลงไป และจากนั้นอาจจะให้ลองวาดเข็มนาฬิกาบอกเวลาบ่าย 2 โมง 40 นาที

ซึ่งถ้าคนไข้ทำไม่ได้ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอัลไซเมอร์ แต่คุณเกตส์ก็คิดว่าวิธีนี้ยังมีความแปรผันสูง เพราะถ้าสมมติว่าเมื่อคืนคุณนอนน้อย คุณก็อาจจะทำแบบทดสอบได้ไม่ดี และหมออาจจะส่งคุณเข้าเครื่อง PET Scan หรือการเจาะน้ำไขสันหลัง (spinal tap) เพื่อยืนยันว่าคุณเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่

ซึ่งการใช้ PET Scan หรือเจาะน้ำไขสันหลังมีความแม่นยำมากกว่า แต่ค่าใช้จ่ายสูงแถมทำให้เจ็บตัว บริษัทประกันส่วนใหญ่ในอเมริกาไม่จ่ายชดเชยให้ในกรณีการตรวจโรคอัลไซเมอร์

สิ่งที่คุณเกตส์ต้องการเห็นคือการวินิจฉัยที่รวดเร็ว แม่นยำ และราคาถูก และการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดคือหนึ่งในนั้น

แต่เดิมวิธีนี้ยังขาดความแม่นยำ แต่ศาสตราจารย์แรนดี้ เบทแมนและทีมนักวิจัยก็ทำการค้นคว้าจนได้ผลการทดลองที่แม่นยำขึ้น ถ้าสำเร็จการตรวจพบอัลไซเมอร์ก็จะเร็วขึ้น นักวิทยาศาสตร์จะใช้เวลาน้อยกว่าเดิมในการรู้ว่าตัวยาได้ผลหรือไม่

มันหมายความว่าถ้าคุณไปตรวจสุขภาพ คุณก็จะรู้ทันทีว่าคุณมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์หรือไม่ 

แต่คุณเกตส์ก็พบว่ามีอีกวิธีที่น่าทึ่งกว่า นั่นคือการฟังเสียง

Dr. Rhoda Au เป็นเจ้าของแนวคิดนี้ เธอศึกษาข้อมูลผู้ป่วยในเมืองๆหนึ่งที่บันทึกมากว่า 70 ปี และเข้าไปค้นหาไฟล์เสียงของผู้ป่วยเหล่านั้นก็พบว่าเสียงที่เราพูดอาจบอกอะไรเราได้

แนวทางคร่าวๆคือถ้าเราใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์วิธีการที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์พูดเป็นเวลาหลายปี เราอาจจะพบการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง และจากนั้นก็ค้นหาแบบแผนแบบเดียวกันกับผู้ป่วยอายุน้อยกว่าที่ยังไม่เจอสัญญาณของอาการ

ยิ่งถ้าเราเจอได้เร็วมากพอ เราก็มีโอกาสจัดการอาการป่วยในขั้นแรกได้

อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ 

จะเห็นว่าแนวคิดหลักของคุณเกตส์คือ ต้องการพบอาการให้เร็วพอที่จะรักษาในช่วงที่ร่างกายยังไม่เสียหายมาก แต่ก็มีอีกแนวคิดหนึ่งคือ ยืดระยะเวลาในการรักษาออกไปด้วยการ “ชะลอความแก่”

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2020 MIT Technology Review ได้ออกบทความชื่อ “10 Breakthrough Technologies 2020” ซึ่งหนึ่งในนั้นมียาชะลอความแก่ (Anti-aging drugs) อยู่ด้วย

ยาตัวนี้คือยาประเภท Senolytics มันอาจจะยังไม่สามารถยืดอายุขัยได้ แต่จะสามารถปรับสภาพของกลไกการแก่ตัวของมนุษย์ให้ช้าลง 

โดยปกติร่างกายคนเราเมื่อแก่ตัวลงจะมีเซลล์บางตัวกลายเป็น “เซลล์ชรา” (senescent cell) มันคือเซลล์ที่ชำรุดจนหมดสภาพและไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มได้อีก แต่มันยังสะสมอยู่ในร่างกายเพื่อช่วยเยียวยาบาดแผลและยับยั้งการเกิดเนื้องอก 

อย่างไรก็ตามเซลล์ชรานี้จะค่อยๆปล่อยสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบออกมาด้วย มันจึงเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ ดังนั้นถ้าจัดการเซลล์ชราออกไป ร่างกายก็จะยังคงแข็งแรงพอที่จะรักษาอาการต่างๆได้ทัน 

ตอนนี้ยาตัวนี้ได้ทำการทดลองกับมนุษย์แล้ว มีหลายองค์กรที่ทำการทดลองในเรื่องนี้เช่น Unity Biotechnology, Alkahest, Mayo Clinic, Oisín Biotechnologies, Siwa Therapeutics แต่ละที่ทดลองต่างกันออกไป

Unity Biotechnology ได้เงินทุนสนับสนุนจากเจฟฟ์ เบซอสและปีเตอร์ ธีล บริษัทนี้ทำการทดลองกับผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ตอนนี้อยู่ในช่วง Phase 2 ที่ทดลองกับผู้ป่วย 180 คน คาดว่าผลการทดลองจะออกมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 นอกจากนี้ยังมีการพัฒนายารักษาโรคที่เกี่ยวกับดวงตาและปอด 

บริษัท Alkahest ทดลองด้วยการฉีดส่วนประกอบที่พบในเลือดของคนหนุ่มสาวให้กับผู้ป่วย แล้วหวังว่ามันจะหยุดอาการเสื่อมที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ระดับที่ไม่รุนแรงได้ และยังพัฒนายาที่รักษาโรคพาร์กินสันและสมองเสื่อมอื่นๆด้วย 

ส่วนนักวิจัยจาก Drexel University College of Medicine ได้ทดลองโดยใช้ครีมทาเพื่อสังเกตความเหี่ยวย่นของผิว

แล้วคาดว่าเทคโนโลยีการรักษานี้จะมีให้เราใช้ได้กันตอนไหน………………. ภายใน 5 ปี 

ไม่นานเกินรอนัก

=====

แล้วปัจจุบันเราทำอะไรได้บ้าง 

การวินิจฉัยที่รวดเร็วและราคาถูกเป็นเรื่องอนาคต มันสามารถบอกได้ว่าใครในครอบครัวของเราป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่มันบอกไม่ได้ว่าพอเป็นแล้วต้องทำอะไรต่อ

มีหมอคนหนึ่งเคยพูดไว้ว่าจุดที่ผู้ป่วยสนใจไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นความไม่สบายหรือความพิการ พวกเขาอยากรู้ว่าโรคนั้นจะทำให้การดำเนินชีวิตของเขาเปลี่ยนไปไหม ฉันจะตายไหม ฉันยังช่วยตัวเองได้ไหม

พวกเขาอยากรู้มากกว่าว่าต้องอยู่ร่วมกับมันแบบไหน 

ยังไม่มีหมอคนไหนที่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำให้ผู้ป่วยได้คือ อยู่เคียงข้างพวกเขา 

เหมือนกับแมวตัวหนึ่งที่สเตียร์เฮ้าส์ทำ

บ้านพักคนชราสเตียร์เฮ้าส์มีแมวอาศัยร่วมกับผู้ป่วย ที่นี่มีแมวชื่อดังที่ชื่อว่า “ออสการ์” มันทำงานหนักที่สุดในบรรดาแมว มันจะคอยอยู่กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายจนเขาหรือเธอคนนั้นจากไป ตามคำบอกเล่ามันไม่เคยพลาดหน้าที่นี้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย เช่นผู้ป่วยย้ายไปห้องผ่าตัดและเสียชีวิตลง ถ้าเป็นแบบนั้นมันจะคอยอยู่ที่เตียงแทน

ออสการ์จะคอยมาหาผู้ป่วยเป็นประจำ ปกติแล้วมันไม่ยอมให้ใครจับ แต่เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการทรุดลงมันจะมาหาและนอนข้างผู้ป่วย และยอมให้ญาติอุ้ม (แต่แปปเดียว)

ตอนที่คุณลาร์รี่กำลังจากไปมันก็เกือบพลาดเหมือนกัน เพราะตอนนั้นมันต้องเฝ้าผู้ป่วยอีกคนที่กำลังเสียชีวิต ตอนนั้นมันกระวนกระวายมากและเมื่อมันเห็นแล้วว่าผู้ป่วยคนนั้นได้จากไปแล้ว มันก็วิ่งพรวดเข้าไปในห้องเพื่อเข้าไปนอนซุกอยู่ข้างๆ คุณลาร์รี่

นั่นคือสิ่งที่คุณต้องทำเมื่อคนในครอบครัวของคุณต้องป่วยเป็นอัลไซเมอร์ คุณต้องพยายามวางมือจากงานในชีวิตประจำวันหรือภาระรับผิดชอบอื่นๆเพื่อจัดเวลามาอยู่กับผู้ป่วยที่มาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

คุณต้องทำแบบออสการ์คือ มุ่งมั่นตั้งใจ อดทนในการอยู่เป็นเพื่อนกับผู้ป่วย มันไม่จำเป็นต้องไปไหน มันไม่สนเลยว่าตอนนั้นเป็นเวลากี่โมงหรือยังมีที่อื่นที่มันอยากไปมากกว่า เพราะมันเลือกที่จะอยู่กับปัจจุบัน

และคุณจะทำสิ่งนี้ได้ดีขึ้นถ้าคุณไม่ได้ทำมันอยู่คนเดียว

หมอเดวิด โดสะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคชราที่ประจำอยู่ที่สเตียร์เฮ้าส์บอกว่าเขาเคยเห็นคนดูแลผู้ป่วยบางคนต้องล้มทั้งยืนก่อนผู้ป่วยเสียอีก งานดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นงานที่ต้องทำวันละ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน ปีละ 365 วัน ไม่มีเวลาให้คุณลาพักแม้ว่าคุณจะทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยได้ดีมากๆ

คุณจะพบว่ามันเป็นเรื่องยากลำบากที่คุณจะอาบน้ำให้คนอายุ 90 ปีที่ไม่ให้ความร่วมมือตัวคนเดียว การพาผู้ป่วยเข้าส้วมจำเป็นจะต้องใช้คนสองคนในการออกแรงพยุง ดังนั้นคุณต้องหาคนมาแบ่งเบาภาระ

“จำไว้เลยว่า ไม่มีใครทำสำเร็จได้นาน ถ้าเขาหรือเธอทำอยู่คนเดียว”

คุณหมอโดสะกล่าว

คุณต้องดูแลตัวเองให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะระหว่างที่เฝ้าคุณจะต้องเจอเหตุการณ์ที่ทำให้อารมณ์ขึ้นๆลงๆ

คุณอาจจะดีใจเพราะผู้ป่วยกลับมาเจริญอาหารหรือจำชื่อคุณได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องไม่ลืมว่าอาการมีแต่ทรงกับทรุด

ดังนั้นเพื่อที่จะอยู่กับผู้ป่วยได้จนถึงวาระสุดท้าย คุณต้องฉลองชัยชนะเล็กๆเมื่อผู้ป่วยมีอาการบางอย่างดีขึ้น และยอมรับความจริงว่าผู้ป่วยไม่มีวันหายขาด

ในเรื่องนี้คุณไม่จำเป็นต้องใช้ความฉลาด

สิ่งที่คุณต้องใช้คือความเอาใจใส่และความอดทน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เราทุกคนมีกัน

=====

ข้อมูลอ้างอิง :

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...