CATL: ผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับ 1 ที่ EV ทั้งโลกต้องการ กับเบื้องหลังจุดเริ่มต้นที่เคยบอกว่า "เป็นไปไม่ได้" | Techsauce

CATL: ผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับ 1 ที่ EV ทั้งโลกต้องการ กับเบื้องหลังจุดเริ่มต้นที่เคยบอกว่า "เป็นไปไม่ได้"

โลกกำลังหมุนไปสู่ยุคแห่งพลังงานไฟฟ้า รถเครื่องยนต์สันดาปกำลังถูกแทนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่เงียบสงบ และหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ ‘แบตเตอรี่’ 

หนึ่งในบริษัทที่กำลังกำหนดทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก คือ ‘CATL’ บริษัทจีนที่อาจไม่คุ้นหูใครหลายคน แต่หากกล่าวถึงชื่อลูกค้าของพวกเขา ทุกคนย่อมรู้จัก Tesla, BMW, Kia, Volkswagen และ Ford ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ต่างต้องพึ่งพาแบตเตอรี่จาก CATL ทั้งนั้น

และนี่คือเส้นทางสู่ความยิ่งใหญ่ของ CATL จากจุดเริ่มต้นอันไม่คาดฝัน สู่การเป็นราชาแห่งแบตเตอรี่ พร้อมเจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จ และอนาคตของบริษัท ที่อาจกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าไปอีกยาวนาน

จุดเริ่มต้นของ CATL: จากผู้ตาม สู่ผู้นำ

Zeng Yuqun ผู้ก่อตั้ง CATL

CATL (Contemporary Amperex Technology Co., Limited) ก่อตั้งขึ้นในเมืองหนิงเต๋อ ประเทศจีน เมื่อปี 2011 บริษัทเริ่มต้นจากการแยกตัวออกมาจาก Amperex Technology Limited หรือ ATL ซึ่ง ‘Zeng Yuqun’ หรืออีกชื่อคือ ‘Robin Zeng’ ผู้บริหาร CATL คนปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง 

ATL มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมโพลิเมอร์สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับพกพา เช่น เครื่องเล่น MP3, กล้องวิดีโอ ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ โดยมีลูกค้าเจ้าใหญ่ๆ อย่าง Apple, Huawei และ Samsung ไว้วางใจ แม้จะประสบความสำเร็จในตลาดแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ในตอนนั้น Zeng ยังไม่ได้มองเห็นโอกาสในตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV)  

Herbert Diess ผู้พา CATL สู่ตลาดแบตเตอรี่ EV

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2010 เมื่อ Herbert Diess ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของ BMW (ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่ม Volkswagen Group) เดินทางไปทั่วโลกเพื่อขอร้องให้บริษัทผลิตแบตเตอรี่มือถือหันมาทำแบตเตอรี่สำหรับรถ EV เขาได้คุยกับบริษัทชั้นนำหลายแห่ง รวมถึง Bosch จากเยอรมนี  และโชคชะตาก็นำพาให้ Diess มีโอกาสได้พบกับ Zeng ที่กำลังบริหารบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นอย่าง TDK  

เมื่อ Diess นำเสนอแนวคิดการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV กลับถูก Zeng ปฏิเสธทันควันในตอนแรก โดยบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างแบตเตอรี่ใหญ่ขนาดนั้นได้ แต่ Diess  ก็ไม่ละความพยายาม  จนในที่สุด Zeng ก็เปลี่ยนใจ และตัดสินใจนำกลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจด้านแบตเตอรี่  EV ของ TDK กว่า 85% และก่อตั้งบริษัท CATL โดยมี BMW เป็นลูกค้ารายใหญ่รายแรก

บทสนทนาระหว่าง Zeng และ Diess ในวันนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ CATL ในฐานะผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV รายใหญ่ที่สุดของโลกในวันนี้ และเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงวิสัยทัศน์ของ Diess ที่มองเห็นศักยภาพของ Zeng ตั้งแต่เริ่มแรก

Diess พาบริษัทของเราเข้าสู่ธุรกิจแบตเตอรี่รถยนต์ ผมรู้สึกขอบคุณเขาสำหรับเรื่องนั้น - Zeng  กล่าวในภายหลัง  

กลยุทธ์สู่ความยิ่งใหญ่ ต้องไม่ใช่แค่นวัตกรรม

อะไรที่ทำให้ CATL ยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ ? หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ‘ความมุ่งมั่น' ของ Zeng ในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่

ตัวอย่างที่แสดงเห็นได้ชัดเกิดขึ้นช่วงปี 2000 เมื่อ Zeng ซื้อสิทธิบัตรสำหรับแบตเตอรี่มือถือจากสหรัฐฯ หลายฉบับ แต่แทนที่จะใช้สิทธิบัตรเหล่านั้นเพื่อผลิตแบตเตอรี่ เขากลับเลือกที่จะศึกษา ปรับปรุง และออกแบบแบตเตอรี่ด้วยตัวเอง 

แม้กระทั่งการทำงานร่วมกับลูกค้ารายแรกอย่าง BMW เขาก็อ่านรายละเอียดข้อกำหนดกว่า  800  หน้าด้วยตัวเอง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ Zeng ที่ต้องการเข้าใจและพัฒนาเทคโนโลยี  

ตอนที่ CATL เริ่มพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ BYD เป็นผู้นำในตลาดนี้ด้วยการผลิตแบตเตอรี่แบบ LFP แต่ CATL กลับมองเห็นศักยภาพของแบตเตอรี่แบบ ‘NMC’ (นิกเกิล แมงกานีส และโคบอลต์) ซึ่งมีข้อดีในเรื่องของระยะทางที่วิ่งได้ไกลกว่า 

10 อุตสาหกรรมไฮเทคที่ Made in China 2025 ให้การสนับสนุน

Credit : Asia Briefing / China Briefing

นอกจากความมุ่งมั่นของ Zeng แล้ว CATL ยังได้รับแรงหนุนสำคัญจากนโยบาย ‘Made in China 2025’ ของรัฐบาลจีน ที่มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค และส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศ  

รถยนต์ไฟฟ้า และยานพาหนะพลังงานใหม่ เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่ Made in China 2025 มุ่งเน้น รัฐบาลจีนจัดสรรเงินทุนมหาศาลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้  ทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา และสนับสนุนให้แบรนด์ EV จีนใช้แบตเตอรี่ภายในประเทศ เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุน ทำให้ต่างชาติเข้ามาทำตลาด EV ในจีนได้ยาก  

‘โคบอลต์’  ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับแบตเตอรี่ NMC ก็เป็นหนึ่งในทรัพยากรที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ CATL จึงลงทุนในเหมืองแร่ ทั้งในจีน และอินโดนีเซีย และเข้าซื้อเหมืองโคบอลต์ในคองโก ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตแร่โคบอลต์ที่ใหญ่สุดในโลก  

นอกจากนี้ CATL ยังลงทุนในกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อใช้ทุกทรัพยากรที่หาได้อย่างคุ้มค่า CATL มีบริษัทในเครือที่ชื่อว่า Brunp Recycling ซึ่งมีเทคโนโลยีที่สามารถกู้คืนแร่นิกเกิล  โคบอลต์ แมงกานีส จากแบตเตอรี่ของเสีย รวมถึงแบตเตอรี่ยานยนต์ที่เลิกใช้แล้ว ได้มากถึง  99.6% 

กลยุทธ์เหล่านี้ รวมถึงการขยายฐานการผลิตอย่างรวดเร็ว ทำให้ CATL สามารถควบคุม Supply Chain และผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูงในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญที่จะทำให้บริษัทแข็งแกร่งพอที่แข่งขันในระดับโลก

บุกตลาดโลก: จากจีน สู่ Gigafactory ในยุโรป

หมุดหมายแรกที่ CATL เลือกตั้งโรงงานนอกประเทศบ้านเกิดคือ ‘เยอรมนี’ เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดยุโรปที่กำลังเติบโต

เมื่อปี 2019 บริษัทเดินเครื่องโปรเจกต์ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงาน Gigafactory  ที่บริเวณชานเมือง Arnstadt ถือเป็น Gigafactory ผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่แห่งแรกของเยอรมนี  มีกำลังการผลิตมหาศาล เพียงพอต่อความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าหลายแสนคันต่อปี

CATL ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ในปี 2022 ได้ประกาศสร้างโรงงานแบตเตอรี่ระดับ Gigafactory ในประเทศฮังการี ด้วยเงินทุนมูลค่ามหาศาลกว่า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โรงงานแห่งนี้จะรับหน้าที่จัดหาเซลล์ และโมดูลแบตเตอรี่ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป รวมถึงลูกค้าอย่าง BMW, Mercedes-Benz และ Volkswagen 

นอกจากยุโรปแล้ว CATL ยังบุกอาเซียน รวมถึงประเทศไทย โดยในไทยมีพาร์ทเนอร์เป็น Arun Plus บริษัทที่มี ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% เพื่อร่วมตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า  

CATL ในปัจจุบัน: ผู้นำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ EV ระดับโลก

ส่วนแบ่งตลาดโลกผู้ผลิตแบตเตอรี่ช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2024

การลงทุนทั้งหมดของ CATL ได้ผลตามคาด  ปัจจุบันบริษัทได้กลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาดโลกกว่า 37.7% แซงหน้าคู่แข่งคนสำคัญอย่าง BYD หนึ่งเท่าตัว โดยมีลูกค้าหลัก คือ Tesla, BMW, Mercedes-Benz  และ  Volkswagen 

นอกจากความสำเร็จในการผลิตแบตเตอรี่ NMC แล้ว CATL ยังพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง เช่น


  • เทคโนโลยี LFP Shenxing Plus ชาร์จเร็วระดับ 4C ชาร์จเต็ม 90 kWh ใน 15 นาที ด้วยกำลังการชาร์จ 360 kW ชาร์จระยะทาง 600 กม. ภายใน 10 นาที และ 1,000 กม. ภายใน 16.6 นาที มี AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการชาร์จ
  • แบตเตอรี่ EV ที่มีอายุการใช้งานมากถึง 1.5 ล้านกิโลเมตร โดยรับประกันว่าการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่จะไม่เกิน 10% ภายในระยะทาง 1.5 ล้านกิโลเมตร หรือ 15 ปี
  • Qilin แบตเตอรี่ที่วิ่งได้ไกล 1,000 กิโลเมตร ซึ่งมีการส่งมอบให้รถยนต์รุ่น Zeekr 001 ได้ใช้งาน
  • TENER ระบบกักเก็บพลังงานที่จะช่วยให้แบตเตอรี่ไม่เสื่อมสภาพใน 5 ปีแรก
  • Condensed Battery เทคโนโลยีช่วยเพิ่มความจุแบตเตอรี่ โดยมีความจุพลังงานอยู่ที่ 500 Wh/kg ใช้ได้ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า และเครื่องบินไฟฟ้า
  • แบตเตอรี่สำหรับเรือเดินทะเล และเรือสำราญ ในตอนนี้มีเรือพลังงานใหม่ที่ใช้แบตเตอรี่ของ CATL กว่า 500 ลำทั่วโลก
  • เส้นทางสลับแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกหนักที่หนิงเต๋อ-เซี่ยเหมิน มีสถานีสลับแบตเตอรี่ 4 แห่ง ตลอดเส้นทาง 420 กิโลเมตร นับเป็ต้นแบบของการพัฒนาการขนส่งบนเส้นทางสายหลัก ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


CATL สะท้อนให้เห็นถึงการผงาดขึ้นของจีนในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี รวมถึงบทบาทสำคัญของจีนในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม การครองบัลลังก์ของ CATL ยังคงต้องจับตามองท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากบริษัทแบตเตอรี่รายอื่นๆ 

อนาคตของ CATL จะเป็นอย่างไร ? บริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ได้หรือไม่ ? คงต้องติดตามกันต่อไป


อ้างอิง : CATL, TIME, The Guardian, WIRED, Council on foreign relations, The New York Times

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Gartner เผย! AI เป็นตัวการสำคัญ ทำค่าความปลอดภัยด้านข้อมูลทั่วโลกพุ่ง 15% ภายในปี 2025

Gartner เผยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าองค์กรทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความปลอดภัยข้อมูล (Information Security) ที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์...

Responsive image

"UOB Sustainability Compass" เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยธุรกิจ SMEs เริ่มต้นเส้นทางความยั่งยืน

"UOB Sustainability Compass" เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยธุรกิจ SMEs เริ่มต้นเส้นทางความยั่งยืนได้...

Responsive image

ซูชิสายพาน หนึ่งใน Game Changer ที่สำคัญของวงการอาหารญี่ปุ่น

บทความนี้ เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจต้นกำเนิดของซูชิสายพานที่ไม่เพียงแค่เปลี่ยนวิถีการกินซูชิของคนญี่ปุ่น แต่ยังกลายเป็นธุรกิจร้านอาหารที่ถูกใจคนไทยในยุคปัจจุบันอย่างมาก...