CPTPP : อนาคตไทยที่ใหญ่กว่าแค่ข้อตกลงทางการค้า โดย KKP Research | Techsauce

CPTPP : อนาคตไทยที่ใหญ่กว่าแค่ข้อตกลงทางการค้า โดย KKP Research

ในระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อตกลงทางการค้าที่ชื่อว่า Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทั้งประเด็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนและผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป เช่น ผลกระทบต่อเกษตรกรที่จะถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์จากต่างชาติจากการเข้าร่วม UPOV1991 หรือประเด็นด้านราคายาที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าร่วม TRIPS Plus 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อตกลงทางการค้าทุกฉบับจะมีคนได้ประโยชน์และคนเสียประโยชน์ การต่อต้านจากผู้เสียประโยชน์จึงเป็นเรื่องปกติ หัวใจสำคัญ คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการถกเถียง เจรจา และตัดสินใจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีมาตรการเตรียมความพร้อม ชดเชย และเยียวยาให้กับกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไทย KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า CPTPP เป็นมากกว่าข้อตกลงทางการค้า แต่จะเป็นปัจจัยกำหนดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐ ฯ กลับเข้าร่วมข้อตกลงการค้านี้อีกครั้ง

โอกาสจากจากภาษีและกฎเกณฑ์

ญี่ปุ่น แคนาดา หรือสิงคโปร์ ตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลงนี้ จากสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก รวมไปถึงการปฏิรูปและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่สากลโดยเฉพาะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน การสนับสนุนการแข่งขัน และการต่อต้านการคอร์รัปชั่น หากไทยจะเจรจาข้อตกลงการค้าอื่น ๆ ก็จะต้องยอมรับกฎเกณฑ์ลักษณะที่คล้ายคลึงกับ CPTPP อยู่ดี การปฏิเสธข้อตกลงทางการค้าใหม่ ๆ หรือการทำได้อย่างล่าช้าจะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยตั้งแต่หลังปี 2007 มาไทยมีการทำข้อตกลงการค้า (FTA) เพิ่มเพียง 1 ฉบับเท่านั้น ในขณะที่เวียดนามมีการทำเพิ่มไปแล้วถึง 6 ฉบับ ดังนั้นหากประเทศไทยยังหวังจะพึ่งพาการส่งออก แทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าใหม่ ๆ ที่มีกฎเกณฑ์ที่ถูกคัดค้านในปัจจุบัน 

โอกาสที่เกิดขึ้นเกิดจากหลักการของกฎระเบียบใหม่ ๆ ยังจะทำให้ไทยได้รับการยอมรับจากประเทศพัฒนาแล้วและจะเป็นกลไกที่เพิ่มประสิทธิภาพของตลาดให้ดีขึ้น เช่น ข้อตกลง UPOV1991 ที่ให้ความคุ้มครองในการพัฒนาพันธุ์พืช ข้อตกลง TRIPS Plus ที่ให้ความคุ้มครองยา ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดสินค้าใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเป็นที่มาของการเติบโตระยะยาว 

เยียวยาและพัฒนา

แน่นอนว่าการเข้าร่วมข้อตกลงจะนำมาซึ่งความเสี่ยงหลายอย่าง เพราะคนไทยอาจไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติได้ ซึ่งหลายส่วนอาจเป็นผลมาจากนโยบายที่ผิดพลาดในอดีตด้วย กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ไม่ควรถูกทอดทิ้ง ทางออกระยะสั้นคือการเจรจายืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎเกณฑ์ใน CPTPP เพื่อชะลอผลกระทบและเตรียมความพร้อม แต่ท้ายที่สุดการแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องมาจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหมาะสมจากภาครัฐโดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภาพ หรือพัฒนาความสามารถของเกษตรกร 

งานวิจัยโดย HFFA Research บริษัทที่ปรึกษาอิสระด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่ที่เยอรมนี ชี้ว่าประเทศเวียดนามที่ตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลง UPOV1991 ในปี 2006 (มีประเทศเข้าร่วมข้อตกลงนี้แล้วกว่า 77 ประเทศ) ทำให้เกิดการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรที่สำคัญ คือ การปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร การฝึกอบรมและส่งเสริมทักษะให้กับเกตรกร และการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในภาคเกษตรมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ภาคเกษตรของเวียดนามมีผลิตภาพที่สูงขึ้นและเกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้นได้หลังเข้าร่วมข้อตกลง

ต้นทุนซ่อนก้อนใหญ่

การไม่เข้าร่วม CPTPP อาจจะก่อให้เกิดต้นทุนมหาศาลคือ ผลกระทบต่อการแข่งขันด้านการส่งออก โดยเฉพาะหากสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ซื้อคนสำคัญของโลกกลับเข้าร่วมข้อตกลงนี้อีกครั้ง ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพราะ ข้อตกลง CPTPP จะถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือกีดกันการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคในสงครามการค้าระหว่างจีน - สหรัฐ ฯ  และเมื่อถึงวันนั้นหากไทยต้องการเข้าร่วมข้อตกลงอาจไม่มีโอกาสในการกลับไปเจรจา รวมทั้งกฎเกณฑ์หลายอย่างจะเข้มงวดกว่าเดิมมากตามแนวนโยบายของสหรัฐฯ KKP Research ประเมินว่าในอีกประมาณ 2 ปีหลังจากนี้เป็นเวลาที่ โจ ไบเดน อาจตัดสินใจกลับเข้าร่วม CPTPP อีกครั้ง

ความเสี่ยงอีกประการที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ การย้ายฐานการผลิตของประเทศที่อยู่ในข้อตกลง CPTPP อย่างญี่ปุ่นที่อาจมีการย้ายออกจากไทยและไปตั้งฐานการผลิตที่เวียดนามซึ่งมีข้อได้เปรียบทั้งค่าแรงที่ถูกกว่า เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีกว่า และสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการเข้าถึงตลาดใหญ่ๆจากการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงสำคัญ และสร้างผลกระทบมหาศาล เพราะญี่ปุ่นมีการลงทุนทางตรงในไทยกว่า 33% ของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทั้งหมด และ 40% ของจำนวนการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดเป็นภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีความสำคัญมากในฐานะสินค้าส่งออกของไทยไม่แพ้ภาคเกษตร นอกจากนี้ภาคการผลิตอื่น ๆ ก็จะเจอความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งจำนวนแรงงานภาคการผลิตของไทยมีจำนวนแรงงานสูงถึง 6 ล้านคน (คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของภาคเกษตร) คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญกับความเสี่ยงในแง่ผลกระทบต่อรายได้และการจ้างงานมหาศาลเช่นกัน 

ทางออกคืออะไร

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่ากระแสต่อต้าน CPTPP ส่วนหนึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาครัฐที่อยู่ในระดับต่ำและการสื่อสารนโยบายที่ไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบ สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และมีนโยบายลดผลกระทบ เตรียมความพร้อม และชดเชยเยียวยากับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม และที่สำคัญที่สุดคือการพยายามเพิ่มความสามารถของภาคเศรษฐกิจไทยเองให้แข่งขันทัดเทียมกับนานาชาติในระยะยาว  

ปัจจุบันการเจรจา CPTPP ของไทยยังอยู่ในเพียงขั้นการขอเข้าร่วมเจรจาเท่านั้น ไม่ควรรีบปฏิเสธข้อตกลง CPTPP ในวันนี้แต่ควรศึกษาประโยชน์และผลเสียให้ครบถ้วนรอบด้าน ศึกษาหาทางเลือกในการปรับตัวและเตรียมความพร้อมที่จะทำให้เราได้รับผลกระทบน้อยที่สุด  หรือเปลี่ยนข้อจำกัดเหล่านั้นให้กลายเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาวเช่นเดียวกับที่หลายประเทศได้ทำสำเร็จมาแล้ว

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่: รายงานฉบับเต็ม "CPTPP: อนาคตไทยที่ใหญ่กว่าแค่ข้อตกลงทางการค้า” โดย KKP Research"


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...