DRX: startup ไทย กับ การแก้ปัญหาสุนัขจรจัดด้วยเทคโนโลยี ไม่ต้องเสีย 450 บาท! | Techsauce

DRX: startup ไทย กับ การแก้ปัญหาสุนัขจรจัดด้วยเทคโนโลยี ไม่ต้องเสีย 450 บาท!

ข่าวที่กำลังเป็นกระแสและได้รับความสนใจจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงในตอนนี้ คือนโยบายใหม่ของรัฐบาล ที่ต้องการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว ในพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยมีค่าธรรมเนียม 450 บาท แบ่งเป็น ค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ 100 บาท ค่าเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ 300 บาท ทำให้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง เนื่องจากหลายคนมองว่า 450 บาท ถือเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง หากต้องแลกกับการนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง ทำให้ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงว่า ในรอบแรก หน่วยงานจะงดเก็บค่าธรรมเนียม 450 บาท

Techsauce มีโอกาสพูดคุยกับ ดร. เอกลักษณ์ ชัยกิตติภรณ์ CEO ของ DRX startup แพลตฟอร์มบริหารธุรกิจสัตว์เลี้ยง สัญชาติไทย ที่เพิ่งได้รับการลงทุนจาก True Incube ถึงประเด็นนี้ และความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาสุนัขจรจัด โดยที่ไม่จำเป็นต้องผลักภาระไปที่ประชาชน

DRX คืออะไร?

DRX เป็นระบบแพลตฟอร์มการบริหารธุรกิจสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร โดยมีทั้งหมด 3 phase ที่เราทำ คือ

ระบบจัดการสำหรับโรงพยาบาล/คลินิกรักษาสัตว์ เป็นระบบครบวงจรตั้งแต่ การกรอกประวัติโรค การรักษา การจ่ายยา การตัดสต้อก และทำการสั่งซื้อยาผ่านระบบออนไลน์กับ supplier

ระบบจัดซื้อของสำหรับคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์กับ vendor ระบบยาทั้งหมดที่จากเดิมต้องใช้เวลาถึง 5 วัน เพื่อเช็คสต้อกจำนวนกว่า 500-1000 รายการ ต้องสั่งซื้อไปยัง supplier 500 เจ้า ระบบ DRX จะทำทุกอย่างจบได้ภายในนาทีเดียว เป็นการประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และโดยเฉพาะค่าขนส่ง จากที่ต้องส่งทีละออเดอร์จาก 500 เจ้า ก็รวมส่งทีเดียว ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลสัตว์ประหยัดต้นทุนลง

ระบบลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง ในปัจจุบัน เรามีฐานข้อมูลของผู้เลี้ยงสัตว์อยู่ในมือแล้วกว่า 400 โรงพยาบาล (จากทั้งหมด 2500 โรงพยาบาลในประเทศไทย) ซึ่งเท่ากับเรามีลูกค้าอยู่ที่ 20% ของตลาด แต่หากคิดเป็น market share ของเราจะอยู่ที่ 80% ของตลาด ทำให้ปัจจุบันเรามีตัวเลขและข้อมูลของสัตว์เลี้ยงอยู่ในมือกว่า 2-3 ล้านกว่าตัว จากโรงพยาบาล 400 แห่งบนแพลตฟอร์มของเรา

Pain point ของโรงพยาบาลสัตว์คืออะไร ?

เริ่มแรก DRX ถูกพัฒนาโดย คุณเขมชาติ ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ มีภรรยาเป็นสัตวแพทย์และเจ้าของโรงพยาบาลสัตว์ เรามองเห็นปัญหาที่เจอกับตัวเองก่อน คือ เวลาที่หมอจ่ายยาหรือเขียนประวัติลงในระบบกระดาษ ลายมือหมอก็อ่านยากมาก แล้วเวลาจะตรวจสอบอะไร หมอคนใหม่ก็อ่านลายมือหมออีกคนไม่รู้เรื่อง เราจึงทำระบบที่จัดการเวชระเบียน หรือ OPD ใส่ลงไปในคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ทำให้ปัญหาในระบบจัดการโรงพยาบาลหมดไป ทำให้เราสามารถ set up โรงพยาบาลใหม่ๆ ง่ายขึ้น และผู้บริโภคก็จะได้รับการบริการที่ดีขึ้น

Pain point อีกอย่าง ที่เป็นปัญหาหลักของทั้งธุรกิจของผู้จัดจำหน่ายและเจ้าของคลินิกและโรงพยาบาล คือ การที่แต่ละการซื้อขายเฉลี่ยต่อบิล ราคาไม่สูงมาก อาจจะแค่ 2-3 พันบาท แต่ว่าต้องใช้ยาจากหลายๆ เจ้า ทำให้มีต้นทุนเรื่องค่าขนส่งค่อนข้างสูง ส่งผลให้ค่ายาแพงขึ้น ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถทำให้ราคาค่ายาถูกลงได้ เช่น ต่อบิล 2000 บาท มีค่าขนส่ง 100 บาท นั้นเท่ากับ 5% เราเลยเปลี่ยนระบบจากเดิมที่หมอซื้อ license fee ของเรา มาให้ cash back ให้หมอกลับไปซื้อของในระบบ เป็นส่วนลดประมาณ 5% จากที่เราประหยัดจากค่าขนส่ง ยิ่งบิลเล็ก ยิ่งประหยัดไปได้เยอะ

หมายความว่าลูกค้าจะสามารถรักษาสัตว์ในราคาที่ถูกลงด้วยหรือเปล่า?

อันนี้คือ phase ที่สามที่เราพัฒนา เป็นส่วนที่เรียกว่า pet ID คือระบบการลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง จากเดิมที่เราจะเห็นว่าต้องทำเป็นบัตรประชาชน แต่ pet ID ก้าวข้ามระบบของบัตรไปเรียบร้อยแล้ว เป็น application โดยเรามีการพัฒนาสองส่วนที่เป็นหัวใจหลัก คือ

ระบบ Biometric ที่สามารถสแกนอวัยวะส่วนหนึ่งของสัตว์ แล้วบอกได้เลยว่า สัตว์ตัวนี้ชื่ออะไร เจ้าของคือใคร บ้านอยู่ที่ไหน เคยรักษาอะไรมาบ้าง ทำวัคซีนอะไรมาแล้วบ้าง ถือเป็นจุดแข็งของเราที่มีตัวเลขทะเบียนสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว 2-3 ล้านตัว ถ้าคิดง่ายๆ ว่าหากต้องลงทะเบียนตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องใช้เงิน 450 บาท จากสัตว์เลี้ยง 10 ล้านตัว ที่เป็นสุนัขและแมว แสดงว่าต้องใช้เงินถึง 4500 ล้าน ดังนั้น ฐานข้อมูลที่เรามีอยู่ถ้าเทียบเป็นมูลค่าก็ 3000 ล้านแล้ว

หากรัฐบาลมีการส่งเสริมให้ใช้ระบบ DRX ในการลงทะเบียน ก็จะได้ข้อมูลตรงนี้ที่จะช่วยควบคุมอะไรได้ง่ายขึ้น และได้มากกว่าการลงทะเบียนที่เป็นแค่บัตรประชาชน เพราะการฉีดวัคซีน และระบบสุขภาพทั้งหมด ถูกรวมอยู่ใน application ตัวเดียว สามารถตรวจสอบได้เลยว่า สัตว์ตัวไหนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

อีกทั้ง ในอนาคตก็สามารถต่อยอดไปถึงระบบประกันสุขภาพสัตว์ เมื่อเราทราบว่าสัตว์ตัวนี้มีสุขภาพอย่างไร บริษัทประกันก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเค้าควรจะแบกรับภาระ อะไร เท่าไหร่ เช่นเดียวกับคน ทำให้ค่าประกันไม่สูงเกินจริง วันนี้เราเดินเข้าไปคลินิกจ่ายแพงมาก แต่ถ้ามีระบบประกันสุขภาพ อาจจะจ่ายปีละกี่พันก็ว่าไป แต่เข้าไปก็ปลอดภาระ ลดความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่าย และทำให้สัตว์ทุกตัวได้รับการดูแลที่ดีมากขึ้น

ปัญหาของสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันคืออะไร?

ปัจจุบันปัญหาใหญ่ของสัตว์เลี้ยง คือการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ที่ไม่ได้มีผลกับแค่สัตว์ แต่มีผลต่อคนด้วย ในประเทศไทยมีคนจำนวนมากในหนึ่งปีที่ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า มีสุนัขจำนวนมากที่ไปกัดเด็ก กัดคนอื่น เนื่องจากไม่ได้ถูกควบคุม ซึ่งการลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่รัฐบาลตั้งใจจะทำขึ้นมา เป็นนโยบายที่ดีมาก แต่จะต้องทำอย่างไรไม่ให้เป็นการผลักภาระไปที่ประชาชน ด้วยเงิน 450 บาท แล้วประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้อะไร

รัฐบาลต้องการอะไรจากการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง?

อย่างแรกคือ ต้องการรู้แน่ชัดว่า สัตว์มีเจ้าของกี่ตัว ไม่มีเจ้าของกี่ตัว และจะทำอย่างไรเพื่อลดปัญหาสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งเป็นปัญหาด้านสุขอนามัย อย่างที่สองคือ เรื่องจำนวนประชากรสัตว์ที่มีอยู่ในจริงในประเทศไทย ป้องกันปัญหาสัตว์เร่ร่อนเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และอย่างที่สาม คือ ต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสัตว์เร่ร่อนและการเลี้ยงสัตว์อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ปล่อยปะละเลย ไม่ใช่ว่าวันนี้อยากเลี้ยง อีกวันไม่อยาก ก็เอาไปปล่อย หมาบ้านกลายเป็นหมาวัด และตรวจสอบไม่ได้ว่าเป็นของใคร ดังนั้นการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่ต้องทำ

แต่ปัญหาของระบบกระดาษที่จะทำแบบเดิม คือ เราไม่รู้อยู่ดีว่าสุนัขฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ ซึ่งระบบของ DRX ปัจจุบันสามารถเช็คได้เลยว่าสุนัขตัวไหนที่ฉีดแล้วบ้าง จากในฐานข้อมูล 2-3 ล้านตัว ถ้ารัฐบาลส่งเสริม startup อย่างเราให้เข้ามามีส่วนร่วม เราสามารถบอกได้เลยว่ายังมีตัวไหนที่ยังไม่ฉีด และสามารถโทรไปบอกเจ้าของ หรือเตือนผ่าน app ว่าให้พามาฉีด ไม่งั้นคุณจะมีค่าปรับนะ

ปัญหาเรื่องสุนัขจรจัดในต่างประเทศ เขาจัดการกันอย่างไร?

ในหลายประเทศจะมีการใช้นโยบายที่เข้มงวด สัตว์ทุกตัวถูกขึ้นทะเบียนหมด ส่วนใหญ่จัดการด้วยเทคโนโลยีเดิม ก็คือการฝังไมโครชิป ข้อดีคือมีชิปอยู่ในตัว ตามง่าย เช่น ในไต้หวัน รัฐบาลออกค่าใช้จ่าย ประมูลไมโครชิปมา แล้วให้ประชาชนเอาสุนัขมาฝังไมโครชิป โดยให้ deadline ถ้าสุนัขตัวไหนไม่ฝังก็จะถูกนำไปทำลาย ซึ่งทำให้เขาจัดการจบอย่างรวดเร็ว แต่มันก็จะมีเรื่องของสิทธิสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมันก้าวไปกว่านั้นแล้ว คือระบบ Biometric

เทคโนโลยีใหม่จะลดค่าใช้จ่ายด้วยไหม?

ถ้าใช้การแสกนก็จะลดค่าใช้จ่ายลงด้วย ยกตัวอย่างจาก นโยบายที่รัฐบาลออกมา เทคโนโลยี DRX ที่มีปัจจุบันก็สามารถลดค่าลงทะเบียน กับค่าบัตรประจำตัวสัตว์ลงไปได้ 150 บาทแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ทุกคนมี smartphone สามารถถ่ายรูป ลงทะเบียน อัพขึ้นระบบอย่างง่ายดาย อาจจะให้พาสุนัขไปตรวจสอบที่คลินิกที่ได้รับการ registered ใกล้บ้าน และหากระบบ Biometric เสร็จ ก็ประหยัดไปอีก 300 บาท เพราะไม่ต้องซื้อชิป

แสดงว่ามันมีวิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ?

ใช่ ถ้าเราเอาเทคโนโลยีมาใช้ หรือรัฐบาลอยากให้เกิดเร็วขึ้น เราสามารถซื้อเทคโนโลยีแสกน แล้วก็เพิ่มฐานข้อมูลเกี่ยวกับตัวสัตว์เข้าไป ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ภายในปีเดียวก็จบ ซึ่งจะสามารถประหยัดงบ 3 พันล้านทันที

มันหมดยุคของระบบกระดาษแล้ว ทุกอย่างควรขึ้นระบบ cloud ใช้การแสกน ถ่ายรูป ที่ทำให้ประหยัดกว่า

DRX จะมี solution อะไรบ้างไหมที่จะช่วยคนที่อยากช่วยเหลือสัตว์ข้างถนนที่บาดเจ็บ แต่ค่ารักษาแพงมาก?

เราตั้งใจแก้ปัญหาเรื่องนี้เลย และหากรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมมันจะช่วยได้เยอะมาก เช่น เราขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงเสร็จ เรารู้แล้วว่า มีสัตว์ที่ยังไม่มีเจ้าของกี่ตัว ที่จะถูกส่งเข้าไปสถานพักพิงสัตว์ หากใครรับสุนัขและแมวมาช่วยเลี้ยง แล้วรัฐบาลสามารถช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ เช่น เดือนละสองพันบาท เอามาหักลดหย่อนภาษีได้ ก็จะช่วยดึงสุนัขมาอยู่ตามบ้าน และได้รับความรักความอบอุ่นจากเจ้าของ ส่วนเจ้าของก็ได้รับส่วนลด

อะไรคือความท้าทายที่สุดที่เจออยู่ตอนนี้?

ความท้าทายอย่างหนึ่งก็คือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล แล้วก็การนำข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์ในเรื่องของการสร้างระบบสุขภาพสัตว์เลี้ยง ซึ่งเราต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อปกป้องบริษัทและปกป้องข้อมูลของสถานพยาบาลสัตว์ และเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์

ความท้าทาย อีกอย่างที่เราอยากทำคือ การใช้ AI ในระบบสุขภาพสัตว์ จากการใส่ข้อมูลเรื่องยาและการรักษาจำนวนมาก พอใช้ AI ไปจับ จะสามารถบอกได้เลยว่า ยาตัวไหนเกิดการดื้อยาแล้ว เกิดการระบาดโรคที่ไหน หรือการรักษาแบบไหนมีแนวโน้มที่ดี รวมถึงช่วยหมอวิเคราะห์โรคใหม่ได้แม่นยำมากขึ้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...