จะดีไหม ถ้าการดำเนินการทางราชการทั้งหมดสามารถทำได้แค่ปลายนิ้ว คุณสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจากที่ไหนบนโลกก็ได้ อีกทั้งการเซ็นเอกสารสามารถทำบนมือถือหรือแท็บเล็ตทั้งหมด จะดีไหม ถ้าประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลของรัฐในทุกกระทรวงได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง อีกทั้งยังสามารถเข้าถึง ตรวจสอบ และควบคุมข้อมูลส่วนตัวของตัวเองทั้งในกระทรวง ในหน่วยงานของรัฐ และในองค์กรเอกชนได้ เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศเอสโตเนีย (Estonia) ดินแดนที่เปิดโอกาสให้ทุกคนบนโลกสามารถเข้ามาเป็นพลเมืองดิจิทัล
ฟังคอนเทนต์ธุรกิจและอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีทั่วโลกแบบนี้ได้ในงาน Techsauce Global Summit 2023 ซื้อบัตรได้ตอนนี้ที่ : https://summit.techsauce.co/
ใน Techsauce Global Summit 2018 ได้รับเกียรติจาก Taavi Rõivas อดีตนายกฯ เอสโตเนีย มาพูดให้หัวข้อ "Estonia: The Emerging Digital Nation" การสร้างชาติละทิ้งความล้าหลังของระบบราชการ เรามาดูกันค่ะว่าประเทศนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้อย่างไร
เอสโตเนียได้นำบริการดิจิทัล ร่วมกับ Blockchain มาบริหารจัดการข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นการบริการภาครัฐ การบริการสาธารณะสุข การทำธุรกรรมธนาคาร รวมไปถึงการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ถูดจัดในระบบดิจิทัลเกือบ 99% โดยที่ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปยังแต่ละหน่วยงานเพื่อดำเนินการด้วยตัวเอง
โครงการที่ว่านี้คือ e-Residency เป็นการให้บริการภาครัฐแบบครบวงจร เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปใช้บริการในเว็บไซต์ e-estonia.com โดยบริการทั้งหมดสามารถเข้าถึงได้โดยการใช้บัตร e-Resident ซึ่งมีลักษณะเป็นเหมือนกับบัตรประชาชนหรือ Smart ID card โดยประชาชนสามารถใช้บัตรนี้ในการรองรับการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) และการรับรองดิจิทัล (Digital Authentification) ถือเป็นยืนยันตัวตนอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งของเอสโตเนียและกฎหมายสหภาพยุโรปทุกประการ ข่าวดีก็คือ ระบบ e-Residency ยังเปิดให้คนที่ไม่ได้เป็นพลเมืองเอสโตเนียสามารถสมัครเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการเป็นพลเมืองดิจิทัลของเอสโตเนียได้ โดยวิธีการสมัครจะต้องมีการติดต่อตัวต่อตัวเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น จะไปที่สถานทูตเอสโตเนียหรือหากเดินทางมายังเอสโตเนียก็จะมีเจ้าหน้าที่ยื่นเอกสารการสมัครให้
สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มอบให้แก่ผู้ที่อยู่ในระบบ e-Resident นอกจากนี้ก็ได้แก่
e-Identity หรือบัตรประชาชนฝังชิพเก็บข้อมูลประจำตัวผู้ถือ ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้ทุกอย่าง นอกจากนี้ sim card ยังมีการฝังชิพข้อมูลประจำตัว ไม่ว่าจะเป็น Digital ID หรือ PIN code ซึ่งประชาชนสามารถนำมันใช้ในการเข้าถึงบริการของรัฐได้ อีกทั้งยังสามารถทำการเซ็นรับรองเอกสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ซึ่งตัว Blockchain ก็จะเข้ามาช่วยเสริมในเรื่องของความปลอดภัย
มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยี KSI Blockchain มาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของระบบข้อมูล ระบบสาธารณะสุขของเอสโตเนียได้ถูกปฏิวัติใหม่โดยใช้นวัตกรรม e-Solutions เพื่อความสะดวกของประชาชน ข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยและข้อมูลแพทย์ทั้งหมดได้ถูกเก็บไว้ในคลังดิจิทัลอย่างปลอดภัย ผู้ที่ลงทะเบียนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้และทำการจองคิวรับบริการได้อย่างสะดวกง่ายดายเหมือนกับการจองโรงแรม โดยผู้ป่วยทีได้ลงทะเบียนแต่ละคนจะมีบันทึกที่เรียกว่า e-Heart สามารถทำการแทร็คในระบบได้ เพียงใช้ ID-card ในการยืนยันตัวตน ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนได้ทันที
สิ่งหนึ่งที่เป็นนวัตกรรมล้ำหน้าของระบบการแพทย์ของเอสโตเนียก็คือ ระบบ e-Prescription ที่ไม่มีการใช้กระดาษในการจ่ายยาให้คนไข้ เมื่อหมอทำการจ่ายยาผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ คนไข้สามารถไปร้านขายยาและยื่น Smart ID จากนั้นหมอจะทำการล็อกอินเพื่อดูข้อมูลในระบบและทำการจ่ายยาตามข้อมูลที่ได้ทันที นอกจากนี้คนไข้สามารถทำการติดต่อแพทผ่านทางอีเมล สไกป์ หรือผ่านทางโทรศัพท์ และหมอก็สามารถทำการสรุปผลการตรวจและจ่ายยาได้ง่ายๆ เพียงแค่ปลายนิ้ว ปัจจุบัน กว่า 99% ของการจ่ายยานั้นดำเนินการออนไลน์ ซึ่งระบบนี้ก็ได้ช่วยทั้งคนไข้และแพทย์ประหยัดในเรื่องของเวลาและช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ได้
ประชาชนสามารถทำการลงคะแนนเสียงจากที่ไหนก็ได้ เพียงแค่ใช้ Smart ID Card, Mobile ID, หรือ PIN code ในการ log-in ในระบบเพียงเท่านี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งมากขึ้น
ไม่ใช่เฉพาะด้านสาธารณะสุขและการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้นที่รัฐได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การทำธุรกรรมทางการเงิน การทำสัญญา หรือเอกสารทางราชการอื่นๆ ก็ได้มีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง ติดตามผลความคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางสิ่งที่รัฐไม่สามารถดำเนินการแบบดิจิทัลได้ เนื่องจากยังจัดว่ายังมีความเสี่ยงสูงอยู่ ได้แก่ การซื้อขายอสังหาริมทรัยพ์และการแต่งงาน
นอกจากนี้ Taavi ยังได้ยกตัวอย่างสตาร์ทอัพที่ได้นำ Big Data มาใช้ประโยชน์ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น Shivom ผู้ให้บริการการเก็บข้อมูลทางพันธุกรรมผ่านระบบ Blockchain หากรัฐสามารถนำข้อมูลของทุกคนมาใช้อย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยแพทย์ทำการรักษาคนไข้ได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ยังมี Lympo ที่ทำการเก็บข้อมูลฟิตเนสของผู้ใช้ สามารถทำการตรวจสอบได้ว่าประชากรอายุแต่ละช่วงปี ได้มีพฤติกรรมการทานอาหาร และดูแลสุขภาพอย่างไร ซึ่งจะช่วยรัฐในการช่วยเหลือประชาชนในด้านสาธารณสุขได้อย่างตรงจุด
เราใช้บัตรเครดิตในการทำธุรกรรมทางการเงินที่สามารถทำที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ ลองคิดดูว่าหากเรานำแนวแบบคิดเดียวกันนี้มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต การติดต่อราชการที่ทุกอย่างสามารถทำได้ผ่านมือถือ จะช่วยประหยัดงบประมาณและเวลาได้อย่างมหาศาลแค่ไหน คำถามก็คือ รัฐบาลได้ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้บริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดแล้วหรือยัง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด