คุยกับ Event Pop ผู้พัฒนาแพล็ตฟอร์มช่วยจัดการงานอีเวนท์ | Techsauce

คุยกับ Event Pop ผู้พัฒนาแพล็ตฟอร์มช่วยจัดการงานอีเวนท์

FullSizeRender

เชื่อว่าทุกคนน่าจะมีประสบการณ์การซื้อบัตรเพื่อเข้าไปดูคอนเสิร์ต หรือเพื่อการเข้าสัมมนากันมาบ้างแล้ว ช่องทางที่เราคุ้นเคยก็คงเป็นการที่ต้องเดินทางไปซื้อที่จำหน่ายโดยตรง หรือต้องไปที่หน้างานเพื่อซื้อ แต่ปัจจุบันมีสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกขึ้นไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ซึ่งวันนี้เรามีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับทีมที่พัฒนาระบบการซื้อบัตรในนาม Event Pop

วันนี้ถือโอกาสอันดีที่ได้มาพูดคุยกับ ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ CEO และ เมษวรา นาคสุข CTO แห่ง Event Pop แถมยังได้ไปชมบริษัทที่ตั้งอยู่ในโครงการ CDC ด้วย ซึ่งผมเห็นแล้วก็อึ้งเล็กน้อย เพราะสิ่งที่เขากำลังเร่งพัฒนาเมื่อเทียบกับปริมาณทีมที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้มันแปรผกผันกันมากๆ

ก่อนจะพูดถึงบทสนทนา ขอแนะนำกันก่อนว่า Event Pop คืออะไร

Event Pop คือแพล็ตฟอร์มสำหรับจัดการงานต่างๆ โดยสิ่งที่เราเน้นคือประสบการณ์การใช้งานของคนทีซื้อบัตรตั้งแต่เข้ามาดูรายละเอียด, กดซื้อ, รับบัตร จนกระทั่งไปถึงที่คอนเสิร์ตหรืองานสัมมนา สิ่งที่ทาง Event Pop ไม่ได้มองตัวเองเป็นตัวแทนขายบัตร ไม่ใช่แค่การขายบัตรแล้วรอรับบัตรเพียงแค่นี้ แต่จะดูแลทุกขั้นตอน ทำให้ทั้งคนซื้อบัตรและผู้จัดงาน Happy ทั้งคู่ และอยากให้ผู้จัดงานมีชีวิตที่ดีขึ้น

eventpop-cap

พอพูดมาอย่างนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า มีรายใหญ่ที่เขาครองตลาดอยู่มานานแล้ว แล้วทำไมถึงทำ Event Pop ขึ้นมา

“ถ้าเรามองตลาดในตอนนี้ สิ่งที่เราเห็นอยู่คือเขากำลังขายสิ่งที่มีอยู่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มันก็คือท่ามาตรฐานที่มีเมื่อ 5 ปีที่แล้ว บางเจ้าทำแบบ 10 ปีที่แล้วก็มี ไม่ได้เอามาตอบคนในยุคนี้ พ.ศ. นี้ อย่าลืมว่ายุคนี้มันเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงิน, วิธีการเข้างาน ฯลฯ เราก็เลยอยากจะนิยามใหม่ว่า บริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Event ตั้งแต่ประสบการณ์การขาย Event จนซื้อบัตร, การไปที่งาน และจบงานมันควรจะเป็นอย่างไร จากสิ่งนี้ก็เลยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาว่า Event Pop ที่ควรจะเป็นนั้นน่าจะเป็นอย่างไร เราก็ค่อยๆ ปล่อยคุณสมบัติและบริการออกมาให้มาใช้งาน”

“คนที่เป็นเจ้าของงานสามารถมาเลือกได้เลยว่าจะเป็นบัตรแข็ง บัตร e-ticket ถ้าเป็นบัตรแข็งก็จะมีค่าบริการแยกต่างหากในการพิมพ์และการจัดส่ง (ค่าจัดส่งสามารถเลือกได้ว่าใครเป็นคนออก) การเลือกขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้จัดและกลุ่มตลาด บางทีไม่จำเป็นจะต้องออกบัตรแข็งก็เป็น e-ticket เลย โดยหากเป็นบัตรแข็ง เราก็มีบริการในการจัดส่งถึงแบบถึงมือโดยบริษัทเอกชน โดยจะต้องมีคนรับเท่านั้น ถ้าไม่มีคนรับก็จะตีกลับ ความสะดวกก็คือคนที่จะรับสามารถนัดวันเวลาที่จะรับได้เองเลย ไม่ต้องกังวลว่าบัตรจะหายจากการขนส่งหรือไม่ นี่คือประสบการณ์ใหม่ และรวมถึงการจัดส่งที่รวดเร็วทันใจ”

“ที่ผ่านมาสิ่งที่ไม่ Effective เลยนั่นคือ Event Discovery มันเป็นส่วนที่คนไม่เคยใช้ ไม่ใช่ว่าดึงเอารายการงานทั้งหมดที่มีมาแสดงให้เห็นว่ามี Event อะไรให้ไปบ้าง มันต้องมีการกำหนด การ Target กลุ่มคนที่ต้องการหรือกลุ่มที่มี Potential การดึงข้อมูล การทำ CRM (Customer Relationship Management) ซี่งเรามองว่าสิ่งนี้มันขาดหายไปจากสิ่งที่มีอยู่ในรูปแบบการขายตั๋วแบบเก่าๆ”

ส่วนถ้าใครที่เป็นผู้จัดงานสัมมนาในเมืองไทยหรือคนที่เคยไปร่วมในต่างประเทศน่าจะพอคุ้นเคยกับ Eventbrite บริกาแนวๆ เดียวกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างที่ชัดเจนกับ EventPop

“ข้อดีเมื่อเราเปรียบเทียบกับระบบอื่นของเมืองนอกอย่าง Eventbrite และของเมืองไทยที่มีอยู่ตอนนี้ คือนอกจากประสบการณ์ที่ได้รับแล้ว เรามี Local Support ไม่ว่าจะเป็นเมล, Facebook Page, LINE และเราก็จะมี Call Center ที่คอยตอบคำถามด้วยบริการดุจญาติมิตร ซึ่งจะต่างจากของเมืองนอกอย่างชัดเจน ที่จะออกแนวบุฟเฟ่บริการตัวเอง”

นอกจากนั้นถ้ามาลองคิดค่าใช้จ่ายแล้ว บริการแบบนี้ไม่ใช่บริการฟรีแน่ๆ เพราะต้องมีค่าธรรมเนียมเพื่ออำนวยความสะดวกของทางผู้จัด เมื่อลองดูก็พบว่า Event Pop ต้นทุนจะถูกกว่า Eventbrite ประมาณ 20-30% ซึ่งก็ช่วย cost ทางฝั่งผู้จัดงานได้

“ลองคิดดูว่าถ้าบัตรขายได้หลักแสนหลักล้าน ราคาส่วนที่ต่างนั่นคือรถมอเตอร์ไซค์ 1 คัน หรืออาจเป็นรถยนต์ 1 คันเลยก็ได้ ส่วนนี้เอาไปทำ Media ได้อีกเยอะ”

พอบอกมาขนาดนี้แล้วอาจจะสงสัยว่า รองรับทุก Scale แล้ว แล้วมีงานไหนที่ Event Pop ให้บริการมาแล้วบ้าง

“เราเริ่มต้นกับทาง HUBBA ที่มีการจัดงานหรือมีอบรมทั้งหมด โดยอยู่ใน Scale ที่ไม่ใหญ่มาก ทดลองมาหลายๆ เดือนเราก็เริ่มขยาย Scale ขึ้นมา ใช้ที่งาน Start up เงินร้อย สู่เถ้าแก่น้อยเงินล้าน คนหลักพัน และเราก็กระโดดมาลองงานใหญ่ระดับหมื่นคน อย่าง Waterzonic นี่ประมาณ 20,000 กว่าราวๆ 25,000 ใบ ส่วนงานปีหน้าเราก็จะมีราวๆ 40,000 - 50,000 เป็น Scale ใหญ่เลย”

"Service Level ตอนนี้ EventPop รองรับ Event, คอนเสิร์ต, สัมมนา ได้เกือบทุก Scale จะเหลือส่วนที่เป็นใช้ในการติดต่อกับผู้ใช้ เกี่ยวกับแอปพลิเคชันที่เรากำลังทำอยู่ ซึ่งน่าจะปล่อยให้ได้ใช้งานประมาณต้นเดือนตุลาคม ซึ่งพวกนี้มีรายละเอียดเยอะ เราก็ต้องคิดเยอะ ซึ่งจริงๆ แล้วเราจะไปลอกสิ่งที่เจ้าอื่นๆ อย่าง Eventbrite ทำอยู่ก็ได้ แต่ว่าสุดท้ายถ้าเราไปลอกมามันก็เป็นแค่ระบบขายตั๋ว เราอยากสร้างประสบการณ์การใช้งานใหม่ๆ จริงๆ ครับ”

eventpop-waterz

“ปกติเราซื้อบัตร เราจะไม่ค่อยแชร์ซองใส่บัตร หรือ ตัวแทนขายบัตรกัน แต่ Waterzonic เราเห็นคนแห่กันแชร์ด้วยการรับบัตรที่ส่งอย่างรวดเร็วถึงมือ และเราใส่ใน package ที่เราเอาใจใส่และได้แบรนด์ไปด้วย จนสุดท้ายเราเจอคนที่บอกว่าจะรับบัตรหน้างานอยากขอเปลี่ยนได้บัตรเลย นี่คือประสบการณ์ในการรับบัตรที่ Event Pop มอบให้”

“ส่วนใครที่อยู่เมืองนอกมาซือบัตรของเราก็จะให้มารับที่หน้างาน เพราะเรารู้ว่าจะมีความต้องการนี้ ซึ่งเราก็มีระบบที่ลอคไว้อยู่แล้วว่าหากมีคนต่างชาติมาซื้อ เราก็ปิดตัวเลือกในการส่งถึงมือ”

เมื่อถามถึงคู่แข่งที่หนักใจ ทาง Event Pop กลับให้คำตอบที่น่าสนใจ เพราะไม่ใช่รายใหญ่ทั้งในเมืองไทยและเมืองนอก แต่กลับเป็นสิ่งใกล้ตัวเรา

“ถ้าให้นึกคู่แข่งในใจหลักๆ สำหรับการทำฟอร์มการซื้อขายก็คือ Google Form บน Google Drive ถือเป็นคู่แข่งแบบ Direct Competitor เลย คือความคุ้นเคยในการใช้งาน สำหรับผู้ใช้งาน นี่คือตัวเลือกแรกๆ เลยในการทำแบบฟอร์มโดยเฉพาะงานฟรี เพราะเขาสนใจแค่ใครมาลงทะเบียนในงานบ้าง เขาไม่มองไปไกลกว่านั้น ดังนั้น Google Form ตอบได้หมดแล้ว หากมาดูรายละเอียดแล้วเราจะไม่มีทางรู้ว่าบัตรตอนนี้เหลือกี่ใบแล้ว ประเภทไหนขายไปได้แล้วบ้าง ก็ต้องมานั่งนับเอง แต่ถ้าเราดูหลังจากนั้น หลังจากที่คนเข้ามากรอกแล้ว ข้อมูลมันจะถูกเก็บไว้ การ Follow up แต่ละคนจะเป็นเรื่องยากแล้วเพราะคนต้องมานั่งไล่เชคทีละคน เวลาตอนจัดงานก็ต้องมาพิมพ์แล้วให้เซ็นชื่อทีละคนอีก และถ้างานนั้นมีการซื้อบัตร ช่องทางก็มีแค่การโอนเงิน อาจเจอปัญหายังไม่ได้ confirm บัตรว่าได้ไหมแต่กลับมียอดจ่ายมาแล้ว ฟังแค่นี้ก็ยุ่งยากสุดๆ แล้ว เพราะมันง่ายกับคนใช้ แต่ลำบากคนจัดที่ต้องมาจัดการหลังบ้านเองแทบทั้งหมดจนจบงาน ซึ่งก็เป็น Hidden Cost ที่เราไม่รู้ตัวว่าเสียไป”

กลับมามองเรื่องคู่แข่งจริงๆ มีอะไรบ้างที่เรามองว่า นี่แหละเป็นประโยชน์แน่ๆ กับผู้จัดงาน?

“เรื่องการจัดการเงินครับ เพราะเรารู้มาว่าผู้จัดจะเจอปัญหา Cashflow กันเยอะมาก แต่ด้วยระบบของเรา ผู้จัดงานสามารถเอาเงินออกมาได้ทุกๆ 7 วันหลัง Clearing ซึ่งในแง่ของผู้จัดงานแล้วการมีเงินสดจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับการบริหารงานได้ ส่วนนึงคือเราไม่ใช่ตัวแทนขายบัตรด้วยซึ่งก็ต่างจากรายอื่นที่ต้องรอจนกว่างานจะจบถึงเอาเงินออกได้”

“รวมทั้งมองว่าการเปิดโอกาสนี้เราน่าจะได้เห็นผู้จัดงานหน้าใหม่สามารถเติบโตเป็นผู้จัดงานที่ใหญ่ขึ้นได้ ถึงแหม่เงินทุนจะยังไม่หนามาก แต่แพล็ตฟอร์มของเราเอื้อประโยชน์ให้สามารถจัดการเรื่องการเงินได้ดีขึ้น”

และถ้ามองคู่แข่งที่อยู่ในตลาดด้านนี้ที่มีอยู่ประมาณ 2-3 เจ้าใหญ่ เขาเป็นอย่างไรบ้าง

“คือจริงๆ แล้วการทำ platform มันไม่ได้มีแค่ว่าเทคโนโลยีดีหรือไม่ดี แต่มันเป็นเรื่อง Trust ความเชื่อใจ สมมติว่าจัดงานขายบัตรมูลค่า 100 ล้าน ถ้าเราจะเอาเงินไปฝากคนนี้ เราจะเชื่อใจได้อย่างไรว่าคนนี้ดูแลเงิน 100 ล้านของเราได้ ซึ่งตรงนี้ด้วยหลายๆ ปัจจัยก็ช่วยทำให้ผู้จัดงานมั่นใจที่จะเริ่มเปลี่ยนมาใช้ Event Pop"

ดูระดับงานที่ต้องรองรับขนาดนี้คนในทีมน่าจะเยอะ แต่ไม่เลยครับ มีราวๆ 10 คนเท่านั้น

“ประมาณ 10 คน มีทุกตำแหน่ง coding, marketing, sale แต่เราก็มีแผนที่จะขยายเพื่อการรองรับบริการให้มากขึ้นด้วย น่าจะไปถึง 20 คน แต่ในใจก็ยังอยาก Lean อยู่ครับ ค่อยๆขยาย”

“เรามีทั้ง Part Time, Full Time เพราะบางอย่างเราก็ไม่ได้ต้องการตลอดเวลา ส่วนเรื่องการทำงานเรามองเรื่องความ Flexible เราเข้าใจคนยุคใหม่ที่อยากทำงานที่บ้านหรือ Remote เข้ามาทำนอกเวลา และที่สำคัญ เราเข้าใจทุกคนมีอะไรก็พูดกันตรงๆ เพราะอายุใกล้ๆ กันแทบทั้งทีม”

การขยายตัวที่มองไว้สำหรับ Event Pop จะไปที่ไหนบ้าง

“เรามองว่าเราอยากทำในไทยให้เรียบร้อย Validate แน่นๆ ก่อน เพราะด้วยแพล็ตฟอร์มของเรา มันสามารถ Duplicate ไปต่างประเทศง่าย จะไปอยู่ประเทศไหนก็ได้ หรือปล่อยเป็น Global เลยก็ยังได้ เพราะที่เรารู้มาคือทุกที่เจอปัญหาเดียวกัน แต่ก็จะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละประเทศ เช่น วิธีการโอนเงิน ซึ่งเราอาจจะต้องไปสนับสนุนช่องทางของประเทศนั้นๆ ด้วย”

แล้วมองว่าตอนนี้มีอะไรที่หนักใจบ้าง

“เราโตเร็วครับ เพราะเราไม่คาดคิดว่าสามเดือนเราจะทำได้ขนาดนี้ เราอยากจะจับงานใหญ่ แต่เราก็ไม่นึกว่าจะมีงานใหญ่มากๆ มาให้เราเร็วขนาดนี้ครับ :)”

แล้วเราจะได้ใช้แบบเต็มๆ เมื่อไหร่ครับ

“ช่วงนี้เราก็ยังคงค่อยๆปล่อยออกมาทีละส่วนครับ เราอยากให้มัน Smooth ที่สุดก่อนจะปล่อย ไม่อย่างนั้นถ้าปล่อยออกไปมันก็จะมาหนักกับทาง Support มารอแก้ปัญหาอีก เกือบทุกอย่าง ตุลาน่าจะได้ใช้งานแบบเต็มๆ ครับ”


จากการได้พูดคุยกับทั้งสองคนแล้วผมมีความเชื่อเลยทันทีว่า ปัญหาเรามีอยู่มากมายจริงๆ เราอาจจะยึดติดกับวิธีการเดิมๆ จนกลายเป็นความเคยชิน ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถที่จะคิดใหม่ ทำใหม่ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ เพราะปัญหามันมีอยู่รอบตัวเรา แค่เรามองให้ออกถึงวิธีการในการทำและแนวทางในการทำธุรกิจ ซึ่งผมเชื่อว่า EventPop เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ที่นึงครับ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...