บรรดาธุรกิจ Startup ทั่วโลก มีเพียง 5% เท่านั้นที่รอด ส่วนที่เหลืออีก 95% คือล้มเหลว ดังนั้นความท้าทายที่เหล่าผู้ประกอบการต้องเผชิญเมื่อทำธุรกิจ Startup มีอะไรบ้าง และจะก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นได้อย่างไร
หากเราจะเริ่มทำธุรกิจ Startup เราจำเป็นที่จะต้องมีเงินลงทุนจำนวนมากก่อน นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนยังไม่สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้ ก็เพราะว่าแหล่งเงินทุนมีจำกัดนั่นเอง
จากข้อมูลของ Startup ที่ประสบความสำเร็จทั้งของไทยและต่างประเทศ พบว่า ในช่วง 4-5 ปีแรกของการทำธุรกิจ Startup อาจไม่มีรายได้เลย ดังนั้น การหาแหล่งเงินทุนแบบปกติทั่วไปอย่างการกู้เงินจากธนาคารจึงไม่มีทางเป็นไปได้
ปัจจุบันจึงมีวิธีการระดมทุนสำหรับธุรกิจ Startup เช่น การ Bootstrap คือการใช้เงินทุนของตนเองหรือครอบครัว หรือรวมทุนกับผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท (Co-Founder) เพื่อเริ่มธุรกิจ, Angel Investor คือการได้เงินทุนจากกลุ่มนักลงทุนอิสระที่มาร่วมลงทุน เพื่อให้ Startup เริ่มต้นธุรกิจได้, Incubator หรือ Accelerator คือการได้เงินทุนหรือทรัพยากรที่จำเป็นจากผู้ให้การสนับสนุนที่เป็นที่ปรึกษาธุรกิจในด้านต่าง ๆ , Crowdfunding คือการได้เงินทุนผ่านการระดมทุนจากสาธารณะภายใต้การบริจาค และ Venture Capital (VC) คือการได้เงินทุนจากกลุ่มนักลงทุนในรูปแบบองค์กร
ทั้งนี้ การระดมทุนของธุรกิจ Startup จะแตกต่างกันไปตามระยะการเติบโตของธุรกิจ หากธุรกิจเติบโตจนเข้าสู่จุดที่มีรูปแบบธุรกิจชัดเจน สามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง ก็อาจเข้าสู่การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้
อย่างไรก็ตาม การได้รับเงินลงทุนสูง ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจนั้นจะประสบความสำเร็จเสมอไป สิ่งสำคัญคือเราต้องจัดการกับเงินทุนที่ได้รับมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถต่อยอดธุรกิจของตนเองได้ในระยะยาว
แม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะมีคำตอบสำหรับทุกอย่าง ข้อมูลจำนวนมากที่มีอยู่ในนั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ แต่ก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน กล่าวคือ เราจะเลือกเชื่อถือและปฏิบัติตามข้อมูลไหน อันไหนที่สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจของเราได้ ความต้องการและเป้าหมายของเราคืออะไร ปัญหาเหล่านี้อินเทอร์เน็ตอาจช่วยเราไม่ได้โดยตรง แต่ที่ปรึกษาด้านธุรกิจช่วยเราได้
จากงานวิจัยพบว่าธุรกิจที่มีที่ปรึกษานั้นมีอัตราการประสบความสำเร็จสูงมาก เนื่องจากเมื่อมีที่ปรึกษา ผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้วิธีการดำเนินธุรกิจตามแบบแนวคิดของตนเอง และสามารถทำกำไรได้มากขึ้น โดยมีที่ปรึกษาด้านธุรกิจคอยนำทางเราไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ และให้การสนับสนุนตลอดการดำเนินงาน
ถึงแม้ว่าเราจะสามารถหาคำตอบของคำถามที่สงสัยหลาย ๆ อย่างได้ทางอินเทอร์เน็ต แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าวิธีการในอินเทอร์เน็ตนั้นอาจไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับรูปแบบธุรกิจของเราเสมอไป ดังนั้น หากจะเริ่มทำธุรกิจ สิ่งที่เราควรต้องมีคือที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เพื่อให้ที่ปรึกษาเหล่านั้นคอยชี้แนวทางธุรกิจของเราให้ประสบความสำเร็จได้
อาจฟังดูเป็นเรื่องง่ายที่เราจะเกิดไอเดียอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมา เพราะคนเราก็มักจะมีไอเดียบางอย่างอยู่ในหัวอยู่แล้ว แต่บางทีไอเดียเหล่านั้นก็อาจไม่ใช่ไอเดียที่ถูกต้องและเหมาะสมเสมอไป เพราะไอเดียการทำธุรกิจจำเป็นที่จะต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องตระหนักถึง
เมื่อเราเริ่มทำธุรกิจ Startup ให้เรายึดไอเดียของตนเองไว้เป็นจุดเริ่มต้น แม้สุดท้ายแล้วมันอาจจะจบด้วยการเป็นจุดหมายปลายทางก็ตาม กระบวนการระหว่างทางมักเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพราะเราต้องรู้จักปรับธุรกิจของเราให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด นั่นจึงจะเรียกว่าเป็นไอเดียการทำธุรกิจที่ถูกต้องและเหมาะสม
จากการศึกษาพบว่า การทำธุรกิจแบบเป็นทีมมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าทำคนเดียว เราจำเป็นต้องหาทีมหรือใครสักคนที่มีทักษะด้านการทำธุรกิจมาทำร่วมกัน โดยเฉพาะหากเราอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ แต่คำถามคือ เราควรจะจ้างใคร ควรจ้างเมื่อไร และจะจัดการทีมและประเมินความก้าวหน้าได้อย่างไร นี่คือสามสิ่งสำคัญที่เราควรตั้งคำถามในขั้นแรกของการทำธุรกิจ Startup
การทำงานเป็นทีม มีควรคำนึกถึง 2 ข้อดังนี้
ข้อแรก คือ การลงไปทำงานจริงในหลาย ๆ ด้านด้วยตัวเองแม้จะเป็นด้านที่เราไม่ถนัดก็ตาม การทำเช่นนี้นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถประเมินความคืบหน้าของงานได้แล้ว ยังช่วยให้เราสามารถจ้างคนที่เหมาะสมสำหรับงานแต่ละด้านได้ด้วย
ข้อสอง คือ ลดรอบการประเมิน กำหนดเป้าหมายระยะสั้น และจัดเป้าหมายเหล่านั้นให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของธุรกิจของตนเอง โดยการลดรอบการประเมินจะเป็นการบังคับให้ทีมอัปเดตความคืบหน้าได้รวดเร็วกว่าเดิมทางอ้อม เพื่อให้เราสามารถมั่นใจได้ว่าการลงทุนของเราจะทำให้ได้ผลกำไรหรือเติบโตมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากเราทำธุรกิจโดยมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นคนที่เราไม่ได้สนิทกันมาตั้งแต่แรก ก็อาจเริ่มต้นด้วยการเป็นหุ้นส่วนกันก่อน โดยความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนสามารถแปรเปลี่ยนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งได้ในภายหลัง อีกทั้งการเริ่มจากการเป็นหุ้นส่วนกันจะทำให้เราได้มองเห็นความเป็นมืออาชีพของเพื่อนร่วมงานในระดับหนึ่งด้วย
ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะเผยแพร่ไอเดียธุรกิจของเราออกสู่ตลาด แม้เราจะยังไม่มั่นใจนักว่ามันคือไอเดียที่เหมาะสมก็ตาม เพราะอย่างน้อยการเผยแพร่ไอเดียวของเราก็ทำให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้า และได้รับ feedback กลับมาก่อนที่เราจะวางขายสินค้าจริง แต่คำถามคือ เราจะเผยแพร่ไอเดียของเราอย่างไร
ช่องทางการตลาดสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ช่องทางแบบ Active และแบบ Passive หรือที่เรียกว่าช่องทางขาเข้าและขาออก โดยช่องทางแบบ Passive นั้นจะเป็นการให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจของเราแก่ลูกค้าที่สนใจผลิตภัณฑ์ของเรา ส่วนช่องทางแบบ Active ตัวอย่างเช่น การโพสต์เนื้อหาเพื่อโปรโมตธุรกิจของเราลงในบล็อกต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งงานวิจัยของ Price Intelligently พบว่า บริษัทที่ใช้บล็อกในการโปรโมตธุรกิจของตนเองนั้นสามารถดึงดูดลูกค้าได้ถึง 67% และเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้ 10 เท่า
ตัวอย่างช่องทาง Active ในการโปรโมตธุรกิจ ได้แก่ Facebook โดยมีข้อดีคือ หากเรารู้ถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้า เราก็จะสามารถเข้าถึงลูกค้าเหล่านั้นได้ไวยิ่งขึ้นและเพิ่มอัตราการเติบโตของธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากโดยปกติแล้วช่องทาง Active นั้นมักจะต้องใช้เวลาในการรอให้ลูกค้ามาเข้าชมบล็อก
ธุรกิจ Startup ใหญ่ ๆ หลายบริษัทมักจะใช้ทั้งช่องทาง Active และ Passive ควบคู่กันไป วิธีที่ดีที่สุดคือเราต้องศึกษาบริษัทคู่แข่งในวงธุรกิจของเราก่อนว่าบริษัทเหล่านั้นใช้วิธีดึงดูดลูกค้าได้อย่างไร อาจด้วยการไปพูดคุยกับลูกค้าของบริษัทเหล่านั้นว่ามีเหตุจูงใจอะไรให้ลูกค้าเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทนั้น ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่เริ่มทำธุรกิจ Startup เป็นครั้งแรก มักจะต้องเผชิญกับความท้าทายข้างต้นนี้อยู่เสมอ ทว่าเราก็สามารถที่จะเอาชนะและก้าวข้ามผ่านมันไปได้ในที่สุด เพียงแค่ดำเนินการไปทีละขั้นตอนอย่างใจเย็น เพราะความสำเร็จของ Startup เกิดจากผลรวมของชัยชนะเล็ก ๆ ที่เราสามารถเอาชนะความท้าทายในแต่ละขั้นได้ หากเราก้าวข้ามผ่านความท้าทายเหล่านี้ได้แล้ว การประสบความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล
สำหรับใครที่ต้องการศึกษาการทำธุรกิจ Startup เพิ่มเติม Techsauce มีแหล่งความรู้ดีๆ อย่างคอมลัมน์ Startup Guide สำหรับการเรียนรู้ในระยะเริ่มต้น
นอกจากนี้เรายังมี Techsauce Startup Directory แพลตฟอร์มการลงทุนรวบรวมข้อมูลและสถิติการระดมทุน เพื่อ Startup Ecosystem ที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่ง เปิดให้ทดลองใช้ได้แล้ว
อ้างอิง Forbes
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด