Gartner เผย! 10 เทรนด์เทคโนโลยี 2025 ที่ผู้นำต้องปรับตัวรับตามให้ทัน | Techsauce

Gartner เผย! 10 เทรนด์เทคโนโลยี 2025 ที่ผู้นำต้องปรับตัวรับตามให้ทัน

โลกเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว องค์กรธุรกิจและผู้นำด้านไอทีจึงต้องปรับตัวให้ทัน Gartner บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ได้เผย 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ (Strategic Technology Trends) สำคัญที่จะพลิกโฉมธุรกิจในปี 2025 ซึ่งจะเป็นเหมือนแผนที่นำทางให้องค์กรต่าง ๆ เตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและคว้าโอกาสจากนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเทรนด์เหล่านี้ครอบคลุม 3 แกนหลัก ได้แก่ ความจำเป็นและความเสี่ยงของ AI, การประมวลผล และการผสานการทำงานระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร

Gartner

ทำไมต้องรู้จักเทรนด์เหล่านี้?

การทำความเข้าใจเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้ CIO หรือผู้นำด้านไอทีสามารถวางแผนอนาคตขององค์กรได้อย่างชาญฉลาด ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม และยังเป็นโอกาสในการ:

  • พัฒนาธุรกิจ: นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ
  • ลดความเสี่ยง: เตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบใหม่ และผลกระทบจากเทคโนโลยี
  • ตัดสินใจเชิงกลยุทธ์: วางแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด

AI กับความจำเป็นและความเสี่ยง องค์กรต้องเตรียมพร้อมรับมือ

1. Agentic AI

AI อัจฉริยะที่สามารถวางแผนและดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ผู้ใช้กำหนดได้เอง เปรียบเหมือนมีผู้ช่วยเสมือนที่คอยช่วยเหลือ แบ่งเบา และเสริมศักยภาพการทำงานของมนุษย์ Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2028 AI จะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเรื่องงานประจำวันถึง 15% อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องมีระบบควบคุมที่รัดกุมเพื่อป้องกันไม่ให้ AI ทำงานนอกเหนือจากเจตนาของผู้สร้างและผู้ใช้งาน

2. AI Governance Platforms

แพลตฟอร์มกำกับดูแล AI ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถจัดการ AI ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีจริยธรรม และมีประสิทธิภาพ ด้าน Gartner มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2028 องค์กรที่ใช้แพลตฟอร์มนี้จะมีปัญหาจริยธรรมด้าน AI น้อยลง 40% แต่ความท้าทายคือ แนวทางการใช้ AI ที่อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและอุตสาหกรรม ทำให้การกำหนดแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกันเป็นเรื่องยาก

3. Disinformation Security

ระบบรักษาความปลอดภัยจากข้อมูลบิดเบือน เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการแยกแยะความน่าเชื่อถือ ลดการปลอมแปลงข้อมูล โดย Gartner เผยว่าภายในปี 2028 องค์กรกว่า 50% จะเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ เพื่อลดการฉ้อโกง ป้องกันการขโมยบัญชี และปกป้องชื่อเสียงแบรนด์ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ต้องอาศัยการอัปเดตระบบป้องกันอย่างต่อเนื่อง

องค์กรต้องทบทวนวิธีการประมวลผล

4. Post-Quantum Cryptography (PQC)

เทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลที่ป้องกันการโจมตีจากคอมพิวเตอร์ควอนตัม ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2029 การเข้ารหัสแบบเดิมส่วนใหญ่จะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป แต่ PQC ไม่สามารถนำมาใช้แทนที่อัลกอริทึมแบบเดิมได้ทั้งหมด แอปพลิเคชันปัจจุบันอาจมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบ และอาจต้องเขียนโค้ดใหม่

5. Ambient Invisible Intelligence

ปัญญาประดิษฐ์แบบแฝงตัว เทคโนโลยีที่ผสานเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน ช่วยให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่เป็นธรรมชาติและใช้งานง่าย คาดว่าจะมีการใช้งานอย่างแพร่หลายผ่านเซ็นเซอร์และแท็กอัจฉริยะจนถึงปี 2027 เช่น การติดตามและตรวจจับสิ่งของแบบเรียลไทม์ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ทั้งนี้ผู้ให้บริการต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและขอความยินยอมจากผู้ใช้ในการใช้ข้อมูลบางประเภท 

6. Energy-Efficient Computing

การประมวลผลแบบประหยัดพลังงาน มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้สถาปัตยกรรม โค้ด และอัลกอริทึมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฮาร์ดแวร์ที่ออกแบบมาเพื่อประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยทาง Gartner คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีการประมวลผลแบบใหม่ เช่น optical, neuromorphic และ novel accelerators จะช่วยลดการใช้พลังงานได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มการประมวลผลแบบใหม่ยังมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในการลงทุนสูงด้านฮาร์ดแวร์และการพัฒนาทักษะใหม่

7. Hybrid Computing

ผสมผสานกลไกการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล และเครือข่ายที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูง และทำงานได้ดีกว่าระบบเดิม เช่น การพัฒนา AI ที่ก้าวข้ามขีดจำกัดทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ระบบธุรกิจอัตโนมัติ และการเสริมสร้างศักยภาพของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น มีความซับซ้อนในระดับสูง และจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการพัฒนาและใช้งาน

การผสานการทำงานระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร เชื่อมโลกจริงและโลกดิจิทัล

8. Spatial Computing 

ยกระดับโลกทางกายภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AR และ VR เพื่อมอบประสบการณ์ที่สมจริง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านเกม การศึกษา และอีคอมเมิร์ซ รวมถึงเครื่องมือสร้างภาพขั้นสูงสำหรับการตัดสินใจและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพ ค้าปลีก และการผลิต ทาง Gartner คาดการณ์ว่าตลาด spatial computing จะเติบโตจาก 1.1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2023 เป็น 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องราคา ขนาด และความซับซ้อนของอุปกรณ์ รวมถึงความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว

9. Polyfunctional robots 

หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง และสลับไปมาระหว่างงานต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ คืนทุนเร็ว ติดตั้งง่าย ปรับขนาดได้ และสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 80% ของมนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์อัจฉริยะทุกวัน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานราคาหรือฟังก์ชันการทำงานขั้นต่ำที่จำเป็น

10. Neurological enhancement

การพัฒนาความสามารถทางปัญญาด้วยเทคโนโลยีที่อ่านและถอดรหัสกิจกรรมของสมอง เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ปรับปรุงความปลอดภัย การศึกษาแบบเฉพาะบุคคลและการทำการตลาดยุคใหม่ โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 30% ของพนักงานที่ใช้ความรู้จะพึ่งพาเทคโนโลยีนี้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังมีราคาแพง มีข้อจำกัดด้านแบตเตอรี่ และมีความเสี่ยง รวมถึงมีข้อกังวลด้านจริยธรรม

สรุป

10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ของ Gartner ประจำปี 2025 ชี้ให้เห็นถึงอนาคตที่น่าตื่นเต้นของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในด้าน AI, การประมวลผล และการผสานเทคโนโลยีกับมนุษย์ องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาบุคลากร และการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม บางเทคโนโลยี เช่น Neurological enhancement อาจยังเป็นที่ถกเถียงและต้องการการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนนำมาใช้จริง

อ้างอิง : Gartner

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...

Responsive image

เจาะลึกเทรนด์ Spatial Computing จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่

Spatial Computing คือเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนจริงและโลกจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการฝึกอบรมและ...

Responsive image

ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เห็น Pain Point ว่าประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) และธนาคารก็ต้องการคนเก่ง Tech & Data จึงจัดตั้ง ‘ttb spark academy’ เพื่อปั้น ...