Gogolook ตั้งไทยเป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 พร้อมจับมือ ScamAdviser เปิดตัวโซลูชันธุรกิจ เสริมแกร่ง SME- องค์กรใหญ่ สู้ภัยฉ้อโกงยุคดิจิทัล | Techsauce

Gogolook ตั้งไทยเป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 พร้อมจับมือ ScamAdviser เปิดตัวโซลูชันธุรกิจ เสริมแกร่ง SME- องค์กรใหญ่ สู้ภัยฉ้อโกงยุคดิจิทัล

บริษัท โกโกลุก (Gogolook) บริษัทชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ประกาศตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่สองในประเทศไทยเดินหน้าขยายธุรกิจทั่วภูมิภาค มุ่งสู่การเป็นผู้นำในการให้บริหารโซลูชันป้องกันการฉ้อโกงครอบคลุมธุรกิจ  เอสเอ็มอีและองค์กรขนาดใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม

การตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่สองในประเทศไทยในครั้งนี้ นายเจฟฟ์ กัว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโกโกลุก กล่าวถึงสี่เหตุผลหลักที่เลือกเปิดสำนักงานใหญ่แห่งที่สองในประเทศไทยดังต่อไปนี้

  1. Scammer ที่ยังแพร่หลายมากในประเทศไทย: ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาการหลอกลวงอยู่มากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับ Gogolook ในการแก้ไขปัญหานี้และการมีสำนักงานใหญ่ในไทยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยต่อสู้กับปัญหานี้
  2. ความร่วมมือจากรัฐบาลและภาคธุรกิจ: รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจมีความเต็มใจที่จะร่วมมือและเปิดกว้างในการทำงานกับ Gogolook เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการหลอกลวง 
  3. ทำเลที่ตั้งได้เปรียบเชิงกลยุทธ์: กรุงเทพฯ มีทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เป็นสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบสำหรับ Gogolook ในการขยายอิทธิพลไปทั่วภูมิภาค
  4. การเติบโตของผู้ใช้งาน: ฐานผู้ใช้งาน Whoscall ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดกว่า 25 ล้านครั้งในประเทศไทย ซึ่งมากกว่าปี 2022 ถึง 2-3 เท่า ซึ่งบ่งชี้ถึงตลาดที่แข็งแกร่งและยังมีความต้องการในบริการของบริษัทเป็นอย่างมาก

สำหรับแนวทางในการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โกโกลุกพร้อมจับมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคยกระดับการป้องกันการฉ้อโกง และได้ผนึกความร่วมมือกับ ScamAdviser ให้บริการโซลูชันสำหรับธุรกิจเพื่อปกป้องชื่อเสียงและลดความสูญเสียทางการเงินจากมิจฉาชีพ 

นายเจฟฟ์ กัว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโกโกลุก กล่าวว่า “ภารกิจหลักของโกโกลุก คือการให้บริการเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) ผ่านโซลูชันที่ใช้นวัตกรรม AI เพื่อป้องกันการหลอกลวงและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้งาน รวมไปถึงสร้างความไว้วางใจระหว่างองค์กรและผู้บริโภคในทุกๆช่องทางการติดต่อ ตั้งแต่การโทรศัพท์ ส่งข้อความ หรือการทำธุรกรรมทางดิจิทัล โซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI ของเราไม่เพียงตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล แต่ยังช่วยบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากภัยดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเลือกประเทศไทยเป็นทั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่สองและศูนย์กลางการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการต่อสู้กับการฉ้อโกง ผ่านการรังสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยความไว้วางใจ และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”

ธุรกิจเผชิญความท้าทายจากมิจฉาชีพมากขึ้น

ผลการศึกษาวิจัยเรื่องต้นทุนที่แท้จริงของการฉ้อโกงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2566 (2023 True Cost of Fraud Study Asia Pacific), พบว่า 58% ของบริษัทในภูมิภาคนี้ต้องรับมือกับการฉ้อโกงจากมิจฉาชีพเพิ่มขึ้น บริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจากการหลอกลวง เช่น การดำเนินคดีความกับผู้กระทำความผิด และค่าชดเชย เฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาท (4 ดอลลาร์สิงคโปร์)  ต่อทุกๆ 25 บาท (1 ดอลลาร์สิงคโปร์) ที่สูญเสียไป โดยบริษัทค้าปลีกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 80 บาท ต่อทุกๆ 25 บาท หรือ  (3.07 ดอลลาร์สิงคโปร์) ในขณะที่สถาบันการเงินจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 128 บาท ต่อทุกๆ 25 บาท หรือ (4.59 ดอลลาร์สิงคโปร์)

นอกจากนี้รายงานสถานการณ์การหลอกลวงจากมิจฉาชีพในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2567 (Anti-Scam Asia Report 2024) ที่จัดทำโดย องค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) ร่วมกับ ScamAdviser ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายที่ประชากรและธุรกิจได้รับจากการหลอกลวงทางไซเบอร์ใน 13 ประเทศทั่วภูมิภาคสูงถึง 688.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 โดยการปรากฎตัวและการแพร่กระจายของเทคโนโลยี AI เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์การหลอกลวงในภาคธุรกิจมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะมิจฉาชีพได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI เพื่อก่ออาชญากรรมอย่างแพร่หลาย อาทิเช่น การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (identity thef) การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นในรูปแบบต่างๆ (impersonation scams)  รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการยืนยันตัวตนลูกค้า (Know Your Customer or KYC)  ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมต่อต้านการหลอกลวงทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 129.2 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2572 จากความต้องการของรัฐบาลและธุรกิจทั่วโลกในการแสวงหาเครื่องมือเพื่อปกป้องภัยจากมิจฉาชีพ

จับมือ ScamAdviser ต่อยอดโซลูชันป้องกันการหลอกหลวงองค์กร 

โกโกลุกได้ผนึกการให้บริการโซลูชันสำหรับธุรกิจร่วมกับ ScamAdviser เพื่อต่อยอดโซลูชันที่ออกแบบมาสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์นี้ทำให้บริษัทมีข้อมูลต่อต้านการหลอกลวงคุณภาพสูงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยหมายเลขโทรศัพท์กว่า 2,600 ล้านเลขหมาย รวมถึง โดเมน  (domain) ที่อันตราย รายชื่อ URL ลิงก์ที่มีความเสี่ยง ลิสต์สกุลเงินดิจิทัล และกระเป๋าเงินดิจิทัล 

กว่า 60 ล้านรายการ ที่นอกจากช่วยให้บริษัทสร้างฐานข้อมูลในการต่อต้านการหลอกลวงทางดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังช่วยให้บริษัทสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาผสานเข้ากับความเชี่ยวชาญด้าน AI มาวิเคราะห์ และจำลองรูปแบบการหลอกลวง เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะช่วยป้องกันการหลอกลวงองค์กรที่เหนือระดับ และขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลก 

ปัจจุบันโซลูชันสำหรับธุรกิจประกอบด้วย Anti-Scam Intelligence (ASI Solutions), บริการ Watchmen Reputation Protection Service และบริการ Identity Suite ที่ช่วยปกป้องชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม 

โซลูชันสำหรับธุรกิจในประเทศไทย

Watchmen Reputation Protection Service 

  1. Whoscall Verified Business Number หรือ VBN ช่วยยืนยันเบอร์โทรศัพท์ของธุรกิจ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความถูกต้องของสายเรียกเข้า ธุรกิจสามารถใช้โซลูชันนี้เพื่อเสริมสร้างการสื่อสารกับลูกค้า ปกป้องภาพลักษณ์ของแบรนด์ และป้องกันความเสียหายต่อชื่อเสียงจากการถูกแอบอ้าง โดยเบอร์โทรศัพท์ที่ได้รับการยืนยันแล้วจะแสดงชื่อ โลโก้ จุดประสงค์ของการติดต่อ และเครื่องหมายการยืนยัน
  2. ระบบเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับการฉ้อโกง (Fraud Early Warning System) เป็นระบบอัจฉริยะที่ให้บริการครบวงจร ทั้งการตรวจสอบ การแจ้งเตือนล่วงหน้า และการป้องกันจากการโทร ข้อความ โดเมน URL หรือโซเชียลที่อาจเป็นภัยต่อองค์กร

นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นในการส่งมอบโซลูชันสำหรับองค์กรที่ล้ำสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลสากล ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนธุรกิจในการป้องกันภัยให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากภัยมิจฉาชีพให้แก่ธุรกิจด้วย ตัวอย่างเช่น บริการ Whoscall Verified Business Number และ Fraud Early Warning System ที่เมื่อใช้ร่วมกันจะช่วยให้ธุรกิจสร้างความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบ และปกป้องชื่อเสียงผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและธุรกิจได้รับการปกป้องในทุกช่องทาง” 

ปัจจุบันมีลูกค้าองค์กรและเอสเอ็มอีในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่โลจิสติกส์ สถาบันการเงิน ประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์ กว่า 100 บริษัทลงทะเบียนเพื่อยืนยันหมายเลขธุรกิจบน บริการ Whoscall Verified Business Number

สำหรับแผนงานในอนาคตของบริษัท โกโกลุกมีแผนที่จะขยายบริการไปยังภาคเทคโนโลยีทางการเงิน และนำเสนอโซลูชันเพื่อป้องกันภัยจากอาชญกรรมไซเบอร์ให้เข้ากับความต้องการของภาคธุรกิจต่างๆ ทั้ง สถาบันการเงิน โทรคมนาคม และผู้ให้บริการทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...