สรุปแนวคิดที่ได้เรียนรู้จากทริป Silicon Valley และ Singularity University Global Summit ประจำปี 2017 | Techsauce

สรุปแนวคิดที่ได้เรียนรู้จากทริป Silicon Valley และ Singularity University Global Summit ประจำปี 2017

แม้ทีมงานจะมีโอกาสได้ไป Silicon Valley และซานฟรานฯ อยู่หลายครั้ง แต่ครั้งนี้ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกตัวว่าหยุดนิ่งไม่ได้ และต้องตื่นตัวตลอดเวลาจริงๆ โลกเราแต่ละเดือนแต่ละปีในสายเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยเฉพาะซีกโลกตะวันตก ยิ่งทำให้ฉุกคิดและมองย้อนกลับมาที่บ้านเราว่าจะทำอย่างไรให้คนในบ้านเราตื่นตัว, ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังถาโถมและเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจหลักของพวกเขาในระยะอันใกล้นี้...

โดยครั้งนี้ทีมงาน techsauce มีโอกาสได้ร่วมทริปไปกับ Thai corporate delegation หลายบริษัท ซึ่งจัดงานและนำทีมโดยบริษัทอนันดา และมีบริษัท Digital Ventures, ปตท, ธนาคารออมสิน, บริษัทวีนัสเทคโนโลยี, Loxbit, MoneyTable เป็นต้น เข้าร่วมกลุ่ม

Design Thinking เรื่องใหม่ (สำหรับหลายองค์กรบ้านเรา) แต่ที่นั่นกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่แทรกซึมทุกอณู

การเดินทางในครั้งนี้เรามีโอกาสได้เยี่ยมชมบริษัทยักษ์ใหญ่จากเยอรมันที่มีออฟฟิสที่ Silicon Valley อย่าง SAP ใช่แล้ว SAP เดียวกับที่เรารู้จักว่าเป็น ERP ชื่อดัง หลายคนที่ทำงานในวงการไอทีมาเกิน 10 ปี รู้จักผู้เล่นรายนี้เป็นอย่างดี ภาพลักษณ์ของ SAP ในแถบเอเชียกับที่สหรัฐฯ ต้องยอมรับว่าแตกต่างกันมาก เมื่อได้มาฟังจากคำบอกเล่าของพนักงานที่นี่ว่า ทุกครั้งที่ออกแบบโซลูชั่นต่างๆ ในองค์กรจะพูดคุยกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดและนำแนวคิดของ Design Thinking มาใช้ชนิดที่มีป้ายเป็นคำขวัญว่า "Design Thinking was always a the heart of SAP's success"

มีการหยิบยกแแอปฯ และหลายๆ บริการที่ SAP อยู่เบื้องหลังทั้งวงการแฟชั่น และกีฬา แถมยังได้รับรางวัลด้านการออกแบบมาแล้วจากสถาบันโลกอย่าง reddot ในหมวด User Experience Design ในใจแอบคิดเล็กๆ ว่ามันเจ๋งมาก แต่ทำไมน่าเสียดายที่ไม่ได้ถูกถ่ายทอดภาพลักษณ์เหล่านี้มาที่แถบบ้านเรานะ จะทำให้ SAP แบรนด์ไอทีแห่งนี้จะดูเซ็กซี่ขึ้นอีกมากเลยทีเดียว

   

ในฟากของอีกองค์กรที่เด่นด้าน Customer Relationship Management (CRM) อย่าง Salesforce ที่กำลังขยายอาณาจักรใหญ่ถึง 3 ตึกกลางกรุงซานฟรานฯ ก็ให้ความสำคัญกับการออกแบบเป็นอย่างมาก และลงไปถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมของการทำงาน เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

มีการพูดถึงองค์กรต่างๆ ยักษ์ใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง design อย่างจริงจังและเห็นเป็นเทรนด์อย่างชัดเจนที่มีการเข้าซื้อกิจการบริษัทที่เก่งด้านออกแบบโดยตรง

Google กับการสร้างนวัตกรรม

(ผู้บรรยายคือ Brice Challamel Innovation Management Expert, Program Manager แห่ง Google)

สำหรับ Google แล้วแม้จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่แต่ยังคงขับเคลื่อนบริษัทให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เฉกเช่นเดียวกับ Startup เขาทำได้อย่างไร   สิ่งที่ Google ถ่ายทอดให้กับพนักงานในองค์กรคือ

  1. Stakes: เน้นโฟกัสที่ตัวผู้ใช้ และให้มีความเป็น ownership ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า และคิดว่าทำอย่างไรให้ Google กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้คนใช้เป็นประจำ 2 ครั้งต่อวัน ที่ฝรั่งเค้าใช้คำว่า "Toothbursh test"
  2. Ideas: คิดทีให้คิดใหญ่ถึง 10x ไม่ใช่เพียงแค่ดีขึ้น 10%
  3. Action: ให้อิสระต่อการสร้างนวัตกรรม ซึ่งเราอาจเคยได้ยินมาแล้วว่าเปิดให้พนักงานมีเวลาอีก 20% ของการทำงานเพื่อทำโปรเจคที่ชอบ

และเปรียบเทียบว่าการ Fail Fast นั้น และเรียนรู้ลูปนี้ให้ไวนำมาแก้ไขย่อมสำเร็จกว่า การค่อยๆ ทำ

SU Global Summit กับ Be Exponential เทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบอย่างก้าวกระโดด

Singularity University เป็นสถาบันที่ให้ความรู้และ business incubator ในตัวที่ Silicon Valley โดยโฟกัสที่เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ Exponential สถาบันแห่งนี้ก่อตั้งโดย Peter Diamandisand และ Ray Kurzweil แห่ง NASA Research Park โดยทุกปีจะมีการจัด SU Global Summit ถ่ายทอดเรื่องราวเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกภาคอุตสหกรรมในอีก 10 ปีข้างหน้าและส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมวลมนุษย์ และองค์กรต่างๆ ควรรับมืออย่างไร

หนึ่งในช่วงที่หลายคนให้ความสนใจคือ Organizations and the next economy ซึ่งเป็นการสนทนาร่วมกันของ Clayton Christensen ซึ่งเป็นศาสตราจารย์แห่ง Harvard University และแต่งหนังสือชื่อดังและเป็นแม่แบบให้กับหลายองค์กรทั่วโลกมากมายอย่าง The innovator's dilemma และ The innovator's DNA เป็นต้น ในการสนทนาครั้งนี้มี John Hagel ประธานบริหารร่วมของ Center for the Edge of Deloitte & Touche แและ Carin Watson SVP, Learning and Innovation of Singularity University เป็นผู้ดำเนินการเสวนาด้วย

Carin เริ่มเปิดประเด็นด้วยคำถามที่ว่าองค์กรขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งขึ้นมานานแล้วนั้นจะสามารถเอาตัวรอดและหาหนทางใหม่ในการเติบโตในยุคของการถูก disrupt โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างไร? เมื่อสภาพแวดล้อมในปัจจุบันนั้นเอื้อให้กับปัจเจคบุคคล startups และผู้ประกอบการต่าง ๆ มากกว่า ศาสตราจารย์ Christensen ให้ความเห็นว่า องค์กรต้องค้นหาให้แน่ใจว่าตลาดเฉพาะกลุ่มมีอยู่ที่ใดบ้าง  พวกเขาต้องมองหาสิ่งที่ผู้คนกำลังทำอยู่และสร้าง solution ไม่ว่าจะซับซ้อนหรือมีราคาสูงก็ตาม เพราะ solution เหล่านี้มีเพียงผู้ที่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงและมีเงินทุนเท่านั้นที่จะทำได้

แต่น่าเสียดายที่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่ลูกค้านัก ดังนั้นองค์กรจึงต้องแสวงหาวิธีเพื่อให้ได้ตลาดที่ยังไม่มีใครเข้าถึง นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่าองค์กรในคำจำกัดความของพวกเขานั้นต้องมีนวัตกรรมและต้องปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ เขาเรียกแนวคิดนี้ว่านวัตกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมที่ยั่งยืนนั้นกล่าวได้ว่าเป็นฟันเฟืองในการแทนที่หรืออัพเกรดเทคโนโลยีต่าง ๆ ของบริษัท รวมไปถึงผลกำไรที่จะบอกได้ว่าบริษัทกำลังมาถูกทางหรือไม่ 

จากนั้น Carin ได้ถามและให้ John อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดของการยกระดับการเติบโต  เขาอธิบายว่าบริษัทต่างก็ถูกกดดันให้ต้องเติบโตเพราะเหล่านักลงทุนไม่พอใจกับเพียงแค่ผลกำไรอีกต่อไปแต่มุ่งเน้นไปที่การเติบโตมากกว่า จุดอ่อนสำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ก็คือพวกเขามองหาเพียงสองวิถีทางในการเติบโตว่า จะสร้างมันขึ้นมาเองหรือซื้อเข้ามา และจุดที่น่าสนใจนั้นอยู่ที่ประเด็นเรื่องความสมดุล ว่าพวกเขาจ่ายไปเท่าไรกับการเติบโตแบบออร์แกนิคกับสิ่งที่พวกเขาซื้อเข้ามาเพื่อสร้างความเติบโต ซึ่งคำถามสองข้อนี้ทำให้หนทางที่สามในการเติบโตได้ถูกมองข้ามไป

นั่นคือการยกระดับการเติบโตไปอีกขั้น (Leveraged Growth) เป็นการตั้งคำถามว่าบริษัทจะสร้างมูลค่าและส่งมอบมูลค่านั้นให้กับตลาดโดยผ่านความสามารถของบุคคลที่สามเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าและบริษัทได้อย่างไร วิธีการเติบโตเช่นนี้จะช่วยลดขนาดของการลงทุนสำหรับองค์กร และการเร่งระยะเวลาในการสร้างรายได้ให้เร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีมีความท้าทายต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องยอมรับเมื่อใช้วิธีนี้ เช่น บริษัทต้องการขยายขอบเขตของตนเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าที่ไม่ได้รับการตอบสนองและบริษัทควรคิดให้กว้างว่าสามารถใช้ความสามารถของบริษัทอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้อย่างไร  ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทต้องขจัดรูปแบบการควบคุมและการสั่งการทรัพยากรต่างๆ ออกไป เพราะเมื่อใช้บริษัทภายนอกแล้ว บริษัทจะสามารถเพียงกำหนดและมีอิทธิพลแต่ไม่สามารถควบคุมบริษัทเหล่านั้นได้

นอกจากนี้ John ยังได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดในการ Scaling  Edges (ขยายขีดจำกัดการเติบโต) และสำหรับองค์กรขนาดใหญ่แล้วสิ่งนี้มีความหมายอย่างไร  องค์กรขนาดใหญ่มักจะถามเสมอว่าจะอยู่และก้าวไปข้างหน้าในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นนี้ได้อย่างไร จากประสบการณ์นั้น การเปลี่ยนแปลงในองค์กรขนาดใหญ่มักจะล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมาย เนื่องจาก Scaling Edges หมายถึงองค์กรจะต้องแสวงหากรอบของธุรกิจที่มีอยู่และขยายขีดจำกัดนั้นให้กว้างขึ้น ก่อนปรับให้กลายมาเป็นธุรกิจหลักในช่วงเวลาที่เหมาะสม  Scaling Edges ต้องใช้เงินลงทุนเพียงเล็กน้อย ซึ่งในช่วงแรกจะให้ผลกำไรไม่มากนักและจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Exponential Forces (แรงผลักดันอย่างก้าวกระโดด) ที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของคุณ

อนาคตขององค์กรจะเป็นเช่นไร?

ศาสตราจารย์ Christensen มองว่า การปรับตัวให้เป็นดิจิทัลจะเป็นส่วนที่สำคัญขององค์กร  ซึ่งส่วนนี้จะทำให้บริษัทสามารถสร้างนวัตกรรมได้รวดเร็วกว่าระบบแบบเก่า ๆ ส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กรคือ Digitalization และบางตลาดเองก็สามารถปรับตัวรับนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว ฝั่งของ John เชื่อว่าดิจิทัลและ Exponential Forces กำลังจะเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ ธุรกิจขนาดเล็กจะสร้างผลกำไรได้ และอีกส่วนจะมีการรวมกิจการกันมากขึ้น แนวโน้มทั้งสองนี้จะส่งเสริมกันและกัน บริษัทขนาดใหญ่จึงต้องชัดเจนว่าต้องการอยู่ในภาคส่วนใดของเศรษฐกิจ

Carin ได้สรุปการเสวนาครั้งนี้ด้วยการถามคำถามในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับองค์กรในอนาคต John แสดงทัศนะว่า

คุณธรรมและจริยธรรมจะเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จทางธุรกิจ ผู้คนจะต้องนึกถึงโอกาสทางธุรกิจที่ดำเนินตามจริยธรรม อาทิ ความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม หรือเพศนอกจากจะมีความสำคัญทางจริยธรรมแล้ว ยังสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจอีกด้วย เราจะสร้างคุณค่าให้มากขึ้นด้วยการมีความหลากหลายที่มากขึ้น ความไว้วางใจจะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญสำหรับความสำเร็จของธุรกิจในอนาคต

ภายในงานนอกจากมี session ต่างๆ ที่น่าสนใจนำเสนอเทรนด์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ เรื่องเช่น

  • Future of Food ที่พูดถึงเรื่องการปลูก cell ขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องฆ่าสัตว์อีกต่อไปโดยบริษัท Memphis , การนำ Blockchain มาใช้ติดตามความโปร่งใสตั้งแต่ฟาร์มถึงจานอาหาร

  • Future of Finance มีการพูดถึงการระดมทุนในรูปแบบของ ICO และ Token ต่างๆ อย่าง BAT,Golem  และอีกหลายๆ ตัว แต่น่าเสียดายเนื้อหาไม่ได้เจาะลึกมากนัก
  • AI ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในหลายๆ session ว่า AI จะมาพร้อมกับการ Tradeoff  ว่าแน่นอนต้องมีงานบางอย่างที่ลดหายไป แต่มาพร้อมกับการแก้ปัญหาหลายๆ อย่างที่ดีขึ้น ตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการปฎิวัติ AI ประกอบด้วย เงินทุน, Algorithm, Hardware, Data, Talent (Crowd source data scientists), Application และดูตัวสุดท้ายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Responsibility ที่ว่าด้วยเรื่อง Security, Empathy, Ethics, Policy และ Liability
  • หรือใกล้ตัวหน่อยก็อย่าง ผู้พัฒนา Chatbot ที่ชื่อ Reply.ai เข้ามาแชร์ Best Practices ว่า Chatbot ที่ดีก็ต้องเริ่มต้นจากปัญหาของผู้ใช้ก่อนว่าจริงๆ พวกเขาต้องการอะไรกันแน่ อะไรคือประโยชน์ที่มอบให้กับผู้ใช้จริงๆ

  • ที่น่าตื่นเต้นคือ เราอ่านข่าวเรื่อง Hyperloop One แต่งานนี้ Rob Lloyd CEO มาเองกับตัว ถ้าใครได้อ่านข่าวก็คือ Hyperloop เป็นโครงการขนส่งผ่านท่อ มีรัฐให้การสนับสนุน (จำได้ว่ามีการพูดคุยดูความเป็นไปได้ที่ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดไว้แล้วด้วย)
  • ส่วนเรื่อง Autonomous everything and the impact on cities ซึ่งเป็น session ที่ตอนแรกไม่ทันสังเกตชื่อ Speaker แต่มาดูอีกทีไม่ใช่ใครอื่น เธอคือ Karen Tay Singapore Smart Nation Director แห่งประเทศสิงคโปร์มาเล่าเรื่องแผนในอนาคตของประเทศ เรื่อง Self Driving และระบบ IoT sensors บนท้องถนน เพื่อนบ้านเราไปไกลแล้วจริงๆ...
  • พวกบูธต่างๆ ที่มาออกที่นี่เราจะไม่ค่อยเห็นที่งานอีเว้นท์อื่นๆ ส่วนใหญ่เน้นแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ที่ถ้าแก้ได้นี่เรียกว่าสร้าง impact ขนาดใหญ่และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนจำนวนมาก เช่น เรื่องน้ำ พลังงาน อาหาร อย่างโครงการหนึ่งของ World Food Programme's innovation accelerator ช่วยเหลือคนยากไร้ในปากีสถานและผู้อพยพจากซีเรียในจอร์แดนแทนที่เป็นการรับบริจาคและให้อาหารโดยตรง ซึ่งไม่รู้ว่าถึงมือผู้รับแค่ไหน ได้พัฒนาโปรแกรมเสมือนให้ food voucher กับผู้ยากไร้เหล่านี้ โดยเก็บข้อมูลอยู่บน blockchain เพื่อความโปร่งใสและลดปัญหาการโกงที่จะเกิดขึ้น

นอกจากการไปร่วมงานหลักอย่าง SU Global Summit และเข้าเยี่ยมชมบริษัทยักษ์ใหญ่ข้างต้นแล้ว ยังมีโอกาสได้พบกับ Speaker อีกหลายคนที่มาแชร์ความรู้ให้ต่างหากกับกลุ่มที่ไปอาทิเช่น

  • Vitaly Golomb ที่เคยมาร่วมเป็น Guest Speaker พิเศษงาน techsauce global summit ที่ผ่านมา กับการเปิดให้ถามตอบอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเรื่อง Corporate Venture Capital
  • Miriam Rivera และ Clint Korver จาก ULU Ventures, Pete Bonee จาก Innosight Ventures, Marvin Liao จาก 500 Startups
  • พบกับคนไทยที่มาแชร์ความรู้อีกหลายท่านอย่างคุณ Tipata (Tim) Chennavasin, General Partner, The Venture Reality Fund, Pruthipong Leelaluckanakul Software Engineer ที่บริษัท VISA, คุณ Sirikhwan Lertvilai Software Engineer แห่ง Salesforce และ Haris Ikram Director of Product Management Salesforce เป็นต้น กับการแชร์มุมมองระหว่างการทำงานในสภาพแวดล้อมระหว่างคนเอเชียและที่สหรัฐฯ แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน จุดหนึ่งที่ Speaker ต่างเห็นตรงกันก็คือ เรื่อง Communication การสื่อสารที่คนที่นั่นจะเปิดใจ, รับฟังแลกเปลี่ยน หรือถ้าแสดงความคิดเห็นต่างกัน ก็เพื่อให้งานนั้นดีขึ้น ไม่ว่าจะกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าก็ตาม นอกจากนี้คำแนะนำสำหรับ startup ไม่ว่าจะแถบเอเชียหรือที่สหรัฐฯ เอง ความท้าทายเรื่องการว่าจ้างและจัดการคนก็ต้องเจอคล้ายๆ กัน นั่นคืออยากให้ใช้เวลาในการเลือกดูคนที่จะรับเข้ามาทำงานให้มากๆ เพราะถ้าเลือกคนผิดแล้วมันเสียเวลาทั้ง 2 ฝ่าย และกว่าจะหาคนใหม่ที่ใช่อีกก็ต้องมาเสียเวลาอีกรอบ

นับเป็นทริปที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาและได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะสิ่งที่กำลังพูดถึงกันมากคือการปรับตัวขององค์กรขนาดใหญ่ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนเป็นสำคัญ ทำอย่างไรให้อยู่รอด เรียกว่าเก็บมาเขียนได้ไม่หมดจริงๆ แล้วพบกับเนื้อหาแนว Key Takeaways สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกในบทความถัดๆ ไปจากทีมงานเช่นเคย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...