เยือนศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีแพทยศาสตรศึกษาของ มช. นำเชียงใหม่สู่การเป็น Medical Hub แห่งอาเซียน | Techsauce

เยือนศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีแพทยศาสตรศึกษาของ มช. นำเชียงใหม่สู่การเป็น Medical Hub แห่งอาเซียน

สำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์ในยุคดิจิทัล นอกเหนือจากเรื่องของ Smart Hospital ที่เราได้เห็นเคลื่อนไหวจากหลายโรงพยาบาลกันค่อนข้างมากแล้ว ย้อนกลับไปที่พื้นฐานในการผลิตบุคลากรแพทย์อย่างด้านการศึกษาแพทยศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีการปรับตัวให้สอดรับกับ Digital Disruption ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนา “ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีแพทยศาสตร์ศึกษา (Medical Technology Education Center - MTEC)” กลัดกระดุมเม็ดแรกในโลกดิจิทัลสู่การเป็นส่วนผลักดันเชียงใหม่สู่การเป็น Medical Hub แห่งอาเซียน ด้วยโซลูชั่นที่สำคัญต่อการศึกษาแพทยศาสตร์ เช่น การถ่ายทอดสดการผ่าตัดประสิทธิภาพสูง (Live surgery), ระบบแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) ไปจนถึงด้านการวิจัยและพัฒนา (Tele-R&D) โดยความร่วมมือด้านโซลูชันผ่านการทำงานร่วมกับ Cisco ที่รวมเอาเทคโนโลยีการสื่อสาร ข้อมูล เสียง ภาพเคลื่อนไหว และเว็บ (Data, Voice, VDO และ Web) มาเชื่อมโยงให้เป็นระบบเดียวกัน ช่วยให้เกิดการประสานความร่วมมือในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเรียนการสอน การทำงานของแพทย์ ไปจนถึงช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วย

ในโอกาสที่ Techsauce ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในสื่อที่ได้ไปเยือน MTEC จึงขอนำทุกท่านไปชมโซลูชั่นต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่าใช้งานจริงอย่างไร รวมถึงฟังวิธีคิดเบื้องหลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนคณะแพทยศาสตร์ มช. สู่ความเป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลในระดับสากล

MTEC

Live surgery ถ่ายทอดสดจากห้องผ่าตัดแบบ Full HD ยกระดับการเรียนการสอนทางไกล (Tele-education)

สำหรับวงการศึกษาแพทยศาสตร์ ระบบการถ่ายทอดสดการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมายังมีปัญหาที่ติดขัดหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเชิงเทคนิคด้านภาพและเสียง ไปจนถึงขั้นตอนการถ่ายทอดสดที่ยุ่งยากเพิ่มภาระให้กับทั้งผู้เรียนและผู้สอน

Live Surgery

ระบบ Live surgery ที่ทาง MTEC ได้สาธิตให้กับสื่อมวลชนได้เห็นนั้นนับว่าเป็นโซลูชั่นที่มีความ Mature ค่อนข้างมาก มีภาพและเสียงที่สามารถให้รายละเอียดกระบวนการผ่าตัดได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ และยังมีระบบ Two-way communication ให้ผู้ที่ชมการถ่ายทอดสดและแพทย์ในห้องผ่าตัดสามารถสื่อสารกันได้อย่างเรียลไทม์ และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือกระบวนการทั้งหมดมีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบง่าย และมีความสะดวก

โดยโซลูชั่นนี้ได้ขยายขอบเขตการถ่ายทอดการเรียนการสอนไปยังโรงพยาบาลอีก 6 แห่งในภาคเหนือ ได้แก่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลลำพูน โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลแม่สอด ทุกที่สามารถเรียนได้พร้อมกันในระยะไกล โดยใกล้เคียงกับการเรียนการสอนที่ผู้สอนกับผู้เรียนได้พบหน้ากัน (Face- to- Face Learning)

การถ่ายทอดสดการผ่าตัดจะถูกถ่ายทอดไปยังโรงพยาบาล, สถาบันศึกษาร่วมสอนอื่นๆ พร้อมๆ กัน

Tele-medicine: ระบบแพทย์ทางไกล

ระบบพบแพทย์จากระยะไกล และการปรึกษาอาการเจ็บป่วยทางไกลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากโรงพยาบาลศูนย์ ผ่านระบบ Video Call ซึ่งก็เป็นอีกโซลูชั่นที่มีเทคโนโลยีทำงานเบื้องหลังอย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการสื่อสารทั้งในการมองเห็นและการได้ยิน ตัวอย่างในการสาธิตผู้ป่วยปรึกษาเรื่องแผลติดเชื้อซึ่งแพทย์สามารถเห็นรายละเอียดของแผลได้ชัดเจนและเพียงพอต่อการประเมินวินิจฉัยเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาขั้นต่อไป สามารถทดแทนข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ที่ผู้ป่วยจะต้องเข้ามาพบแพทย์โดยตรง สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ของเชียงใหม่เองที่มีในส่วนของพื้นที่สูงซึ่งยากต่อการเดินทาง

Tele-Medicine

Tele-training / Tele- R&D

การวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ก็ใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางไกลเข้ามาช่วยในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ทางการแพทย์ร่วมกับสถาบันการแพทย์ต่างประเทศ รวมถึงโรงเรียนแพทย์และสถาบันการแพทย์ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการแพทย์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

Mindset ของการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปของวิชาแพทยศาสตร์ ในยุค Digital Disruption

นอกเหนือจากด้านเทคโนโลยี ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นต่อการศึกษาแห่งอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับแพทยศาสตร์ ซึ่งก็ค่อนข้างสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในสาขาวิชาอื่นๆ นักศึกษาแพทย์ทุกวันนี้ไวต่อการปรับใช้เทคโนโลยีและการเข้าถึงความรู้ จนบทบาทของอาจารย์ต้องเปลี่ยนไปเป็น Coach มากขึ้น แทนที่จะให้ความรู้อย่างเดียวก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ช่วยให้คำปรึกษา รวมถึงการปลูกฝังในเรื่องของ Lifelong learning

สำหรับวิชาแพทย์ที่มีการเรียนด้าน Hard Side ค่อนข้างเข้มข้น ศ.นพ.บรรณกิจ มองว่าสิ่งที่จำเป็นมากคือการสอนเรื่องที่เป็น Soft Side ให้กับนักศึกษาแพทย์ เพราะคนไข้ที่มาพบแพทย์เองก็มีมิติด้านความเป็นมนุษย์ที่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ทางประสบการณ์ที่ดีในการเข้ารับการรักษา พอปรับกระบวนการทุกอย่างเป็นเทคโนโลยีมากขึ้น แพทย์มักโฟกัสที่หน้าจอประมวลผลจนละเลยการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ เรื่องของ Soft Side เรื่องของคนจึงต้องนำมาปลูกฝังให้กับนักศึกษาแพทย์ในยุคแห่งเทคโนโลยีนี้

สิ่งที่จำเป็นมากคือการสอนเรื่องที่เป็น Soft Side ให้กับนักศึกษาแพทย์ เพราะคนไข้ที่มาพบแพทย์เองก็มีมิติด้านความเป็นมนุษย์ที่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ทางประสบการณ์ที่ดีในการเข้ารับการรักษา

Cisco กับพันธกิจนำเทคโนโลยีส่งเสริม Connected Healthcare


นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Cisco ได้พูดถึงภาพรวมวงการแพทย์ทั่วโลกที่หลายประเทศได้ใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนขับเคลื่อนที่สำคัญ สำหรับประเทศไทยเอง กระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างการร่างแผนยุทธศาสตร์ eHealth ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการผลักดัน Digital Healthcare ให้ก้าวไปสู่การแพทย์ที่เข้าถึงและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในทุกพื้นที่

ความเท่าเทียมสองอย่างสำหรับมนุษย์ : การศึกษาและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

ซึ่งหนึ่งในพันธกิจของ Cisco คือการสนับสนุน Connected Health โดยนำเทคโนโลยีไอทีมาเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลเพื่อให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่เป็นผู้รับบริการปลายทาง ช่วยให้แพทย์สามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือเข้าถึงผู้ป่วยได้ก่อนที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยมีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตนเองมากขึ้น

สำหรับการสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในครั้งนี้ ก็มุ่งช่วยเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน การรักษาที่ทันสมัย โดยไม่มีข้อจำกัด ส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลสำหรับการเรียนรู้ทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 21

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...