เป้าหมายของ Startup ในฐานะผู้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาสังคม ไม่ว่าผลลัพธ์ของวิธีคิดแก้ปัญหานั้นจะออกมาในรูปแบบของซอร์ฟแวร์หรือฮาร์ตแวร์ จุดประสงค์แท้จริงคงมิใช่เพียงเพื่อการดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนหรือเพียงเพื่อเอาแนวคิดนั้นไปบรรจุลงใน TOR เล่มหนาเท่านั้น
หากแต่ ‘ซอร์ฟแวร์’ หรือ ‘ฮาร์ดแวร์’ นั้นๆ สามารถใช้งานได้และช่วยแก้ปัญหาจริง แบบนั้นต่างหากจึงจะเรียกว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ทีมงาน Techsauce ได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัวโครงการ ‘ปราจีนบุรี เมืองสุขภาพดี’ (PMID Prachinburi Innovation District Opening Day) ที่จัดขึ้น ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
นับเป็นอีกหนึ่งความน่ายินดีสำหรับคนในแวดวง Startups ที่ได้เห็น Startup และหน่วยงานของภาครัฐฯ ร่วมมือกันสร้าง ‘ต้นแบบการพัฒนาการให้บริการด้านสาธารณสุข’ ด้วยการนำนวัตกรรมจาก Startup เข้ามาร่วม
โครงการ “ปราจีนบุรี เมืองสุขภาพดี” เป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาการให้บริการด้านสาธารณสุขด้วยนวัตกรรม โดยนายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอาจารย์แพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นตัวแทนจากโรงพยาบาล มีนายแพทย์โชคชัย สาครพาณิช สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวรายงานความคืบหน้าของโครงการและได้รับเกียรติจากนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานเปิดงาน
งานนี้ เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายด้าน Digital Infrastructure ที่มุ่งส่งเสริมให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก Startup เข้ามาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสร้างโอกาสและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมบริการผ่านระบบดิจิทัลของหน่วยงานและองค์กรทางภาครัฐให้มีคุณภาพกว่าเดิม
การร่วมมือกันในการผลักดันให้จังหวัดปราจีนบุรีเป็น Medical Innovation ครั้งนี้ เกิดจากการร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่ได้จับมือกับ บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด (QueQ) นำระบบคิวมาพัฒนาร่วมกับบริการของโรงพยาบาล ได้เริ่มใช้งานจริงที่แผนกสูติเวชกรรมที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้นำบริการจากบริษัท อรินแคร์ จำกัด (Arincare) ระบบบริหารจัดการร้านขายยาและงานด้านเภสัชกรเข้ามาร่วมพัฒนาบริการ เพื่อยกระดับการให้บริการในโรงพยาบาลให้มีศักยภาพมากขึ้น
การนำ QueQ Hospital Solution ระบบบริหารจัดการคิวมาใช้ร่วมกับระบบให้บริการของทางโรงพยาบาลนั้น สามารถช่วยให้ทางโรงพยาบาลตรวจสอบสถานะการให้บริการตามจุดต่างๆ ให้ได้เห็นปัญหาการบริการแต่ละจุดเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยอำนวยความสะดวกการจองคิวล่วงหน้าให้กับผู้ป่วย
โดยสามารถจองคิวล่วงหน้าจากที่บ้านผ่าน Mobile Application ไม่ต้องเสียเวลารอคิวหน้าห้องตรวจโดยสูญเปล่า ที่สำคัญผู้ป่วยยังสามารถตรวจสอบสถานะคิวตามจุดให้บริการต่างๆ ในโรงพยาบาลได้แบบเรียลไทม์ด้วย
ทันตแพทย์สุพระลักษณ์ รัศมีรัตน์ หัวหน้าแผนกทันตกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ เป็นเงิน 91 ล้านบาท และแผนกทันตกรรมก็ได้มีการจัดซื้อเครื่องมือการแพทย์เพิ่ม
ทำให้สามารถรับจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ปัจจุบันแผนกทันตกรรมมีห้องปฎิบัติการทางการแพทย์จำนวน 10 ห้อง สามารถรองรับคนไข้ใหม่ในช่วงเช้าได้มากที่สุดถึงวันละ 64 คิว
อย่างไรก็ดี ทันตแพทย์หญิงปรางค์กมล ภู่อารีย์ ทันตแพทย์ประจำแผนกทันตกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในแต่ละวันโรงพยาบาลสามารถให้บริการแก่คนไข้ จำนวน 46 - 64 คิว ในบางวันที่คิวเต็ม อาจจะทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้ทำการนัดล่วงหน้าเดินทางมาเสียเที่ยว
การเอาระบบจองคิวของ QueQ มาใช้ร่วมกับบริการของโรงพยาบาล ช่วยให้คนไข้มั่นใจได้ว่าเดินทางมาแล้วจะได้เข้าตรวจอาการแน่นอนและยังสามารถคาดการณ์เวลาในการมาพบแพทย์ได้ ที่สำคัญระบบนี้ยังช่วยให้การส่งต่อผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยผู้ป่วยสามารถเช็คสถานะในแต่ละจุดบริการได้จากแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน
ในระยะนี้ยังถือเป็นระยะเริ่มต้น คาดว่าในอนาคตเมื่อมีจำนวนผู้ป่วยที่ใช้งานระบบจองคิวผ่าน Mobile Application เพิ่มขึ้น จะสามารถช่วยลดความแออัดหน้าห้องตรวจ จุดชำระเงินและจุดรับยาได้
ในส่วนของการเชื่อมโยงบริการในโรงพยาบาลร่วมกับ Arincare ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการเภสัชกรรมครบวงจรภายใต้แนวคิด ‘Digital Pharmacy Solution’ นั้น นอกจากจะช่วยเภสัชกรให้สามารถบริหารคลังจ่ายยาแล้ว ยังช่วยเก็บประวัติคนไข้เพื่อที่จะเชื่อมต่อการส่งตัวคนไข้ไปยังสถานพยาบาลอื่นได้
ในระยะแรกนี้ ทางโรงพยาบาลได้นำระบบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Prescription เข้ามาใช้ร่วมด้วย ซึ่งมีเป้าหมายในการช่วยผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลสามารถหาซื้อยาจากร้านขายยาระยะใกล้บ้านตามที่แพทย์สั่งได้
ขณะนี้ ได้มีโรงพยาบาลในจังหวัดปราจีนบุรีที่นำเอาบริการระบบจองคิวจาก QueQ ไปใช้แล้วถึง 6 แห่ง และบริการจาก Arincare รวม 5 แห่ง ในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งสองบริการจะถูกขยายไปสู่โรงพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงด้วย
แวดล้อม Startup ที่ดี นอกจาก ‘เงินจากนักลงทุน’ แล้ว ยังต้องกระตุ้นให้มี ‘ผู้ใช้งาน’ ด้วย
แอพพลิเคชัน ‘QueQ’ จากระบบคิวร้านอาหารได้พัฒนาสู่ระบบคิวโรงพยาบาล โดยใช้เวลาในการพัฒนาระบบ QueQ Hospital Solution มาแล้วกว่า 2 ปี ด้วยการส่งทีมงานเข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเพื่อหาปัญหาที่แท้จริง รวมถึงแนวทางแก้ไขเพื่อที่จะนำมาพัฒนาการให้บริการผ่าน Moblie Application
ด้วยมาตรฐานการให้บริการที่สามารถใช้งานได้จริง รองรับงาน Operation ที่แตกต่างกันของโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้ ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการครบวงจรด้วยระบบที่เปิดให้ผู้ป่วยจองคิวผ่าน Smartphone ระบบแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงคิวและยังได้เปลี่ยนจาก Paper Ticket มาเป็น Online Ticket แทน
ปัจจุบัน QueQ มียอดดาวโหลดกว่า 1.5 ล้านคน มีผู้ใช้งานต่อเดือนเฉลี่ย 3 แสนคน มีผู้ใช้งาน QueQ Hospital Solution อยู่ที่ 5-10 % ของยอดผู้ใช้งานต่อวันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ขณะนี้ได้มีการติดตั้งระบบของ QueQ ในโรงพยาบาลแล้วถึง 79 แผนก จากโรงพยาบาล 30 แห่งทั่วประเทศ โดยแผนกสูติ-นรีเวชกรรม เป็นแผนกที่มีผู้ป่วยจองคิวตรวจโรคผ่าน Mobile Application สูงสุด มียอดผู้ใช้งานที่จองคิวผ่านระบบตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนกรกฎาคม 2562 รวมเป็นจำนวนกว่า 3,000 ครั้ง
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา QueQ ได้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศแล้วถึง 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, ลาว และฟิลิปปินส์ โดยได้เริ่มจากการขยายไปสู่ตลาดร้านอาหารและวางแผนการต่อยอดบริการ Hospital Solution ตามลำดับ
ส่วนแผนการขยายตลาดภายในปี 2563 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีโรงพยาบาลที่นำระบบให้บริการคิวไปใช้เพิ่มขึ้นอีก 55 โรงพยาบาล รวมได้ประมาณ 275 แผนกหรือหน่วยงาน
ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของ QueQ Hospital Solution นั้น คาดหวังว่าผู้ใช้งานจะสามารถเช็คสิทธิ์ในการรักษาได้ด้วยตัวเองได้ก่อนจองคิว เมื่อจองคิวและรับการรักษาแล้วก็ยังจะสามารถชำระเงินได้ผ่านมือถือได้
แน่นอนว่า QueQ ได้ไม่เดินเกมนี้คนเดียว เกมนี้มี Arincare จับมือไปด้วยกัน โดย Arincare จะเข้ามาให้บริการด้านการบริหารจัดการเภสัชกรรมครบวงจร รวมถึงจะมาร่วมพัฒนาระบบสาธารณสุขร่วมกับโรงพยาบาล โดยการนำระบบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Prescription เข้ามาร่วมด้วย
ซึ่ง Arincare ได้ให้บริการมาแล้วกว่า 4 ปี มีร้านขายยาและเภสัชกรชุมชนเข้ามาใช้งานในแพลตฟอร์มแล้ว รวมกว่า 2,600 ราย และมีโรงพยาบาล 5 แห่งที่ได้นำระบบ E-Prescription ไปใช้ โดยมีโรงพยาบาลในจังหวัดปราจีนบุรีเป็นโรงพยาบาลนำร่อง ภายในสิ้นปีนี้ จะมีร้านขายยาเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มร่วมด้วยเพิ่มเป็น 4,000 ร้านทั่วประเทศ และจะพร้อมเปิดให้บริการใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ E-prescription ด้วย
แวดล้อม Startup ที่แข็งแรง ต้องเกิดจากการขับเคลื่อนของทุกฝ่ายไม่ใข่ การแข่งขัน และ นโยบายรัฐฯ ก็สำคัญ
หลังจากเสร็จสิ้นพิธิเปิดโครงการ ‘ปราจีนบุรี เมืองสุขภาพดี’ (PMID Prachinburi Innovation District Opening Day) และการหารือเพื่อลงนามในความร่วมมือ (MOU) เพื่อผลักดันให้จังหวัดปราจีนบุรี เป็น Medical Innovation ทางผู้จัดงานก็ได้เปิดเวทีเสวนาเพื่อร่วมหาแนวทางในการสนับสนุนธุรกิจ Startup ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลด้วย
โดยได้รับเกียรติจากผู้บริการและตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม (NIA) นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (สวทช.)
ดร. ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA) ขึ้นมาร่วมเสวนาบนเวที
จากการเสวนาเพื่อร่วมหาแนวทางนี้ เห็นได้ว่าทุกภาคส่วนต่างก็มุ่งสนับสนุน Startup ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Government Procurement Transformation (GPT) จาก NIA ที่จะช่วยให้ Startup ทำงานร่วมกับภาครัฐได้ง่ายขึ้น ด้วยการเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐสามารถจัดซื้อ จัดจ้างบริการหรือสินค้าต่างๆ
จากภาคเอกชนได้ง่ายขึ้น นับเป็นการปลดล๊อคข้อจำกัดการพัฒนา Startup สู่ตลาดภาครัฐซึ่งป็นตลาดใหญ่ โดยที่ QueQ และ Arincare ก็ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ ที่เปิดทางให้จนสามารถเข้าถึงตลาดภาครัฐได้จนเกิดความร่วมมือกันในการจัดโครงการ ‘ปราจีนบุรี เมืองสุขภาพดี’ (PMID Prachinburi Innovation District Opening Day) นี้ด้วย
นอกจากนี้ depa เองก็ยังมีโครงการ depa Digital StartUp Fund ซึ่งเป็นเงินทุนสนับสนุนเริ่มต้นของผู้ประกอบการธุรกิจดิจิตอล รวมถึงโครงการอบรมเพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัล (Business Incubator) จาก NSTDA
ในส่วนของ TTSA นั้น มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมเพื่อร่วมสร้างคอมมูนิตี้ของผู้ประกอบการและสร้างแวดล้อมที่ดีให้กับ Startup ไทย ให้มีเครือข่ายที่แข็งแรง ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ในงาน “Startup Thailand 2019” ครั้งที่ผ่านมา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวในโอกาสที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานว่า การส่งเสริม Startup หรือวิสาหกิจเริ่มต้นนั้น เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างประเทศไปสู่การเป็น “ชาติ Startup ” ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต
โดยรัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญกับ Startup ในฐานะ ‘นักรบทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง ภายในปี 2580 ตามวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ
ในการหนุนและส่งสริมธุรกิจ Startup ของภาครัฐเพื่อให้ Startup อัพดำเนินกิจการให้มีประสิทธิภาพในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมสู่แนวคิด Thailand 4.0 นั้น จะมุ่งเน้นการใช้ระบบเทคโนโลยีนวัตกรรม การบริการและความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจไปสู่การสร้าง S-Curve ใหม่ให้กับเศรษฐกิจในประเทศ
ซึ่งมีข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า Startup ด้าน MedTech และ HealthTech มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ในครึ่งปีหลังของปี 2561 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะช่วยให้ Startup เติบโตขึ้นได้ เงินจากนักลงทุนอาจจะไม่เพียงพอ หากแต่เป็นการร่วมมือกับภาครัฐซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ รวมถึงนโยบายที่เอื้อต่อการซื้อหรือจัดจ้างบริการของ Startup ก็นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ARTHITTAYA BOONYARAT
(Full-time community builder, part-time podcast producer)
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด