บทสัมภาษณ์ เมื่อ ปตท. เริ่มแผนการสนับสนุนและเตรียมลงทุนใน Startup | Techsauce

บทสัมภาษณ์ เมื่อ ปตท. เริ่มแผนการสนับสนุนและเตรียมลงทุนใน Startup

ปีนี้ Techsauce ได้รายงานสถานการณ์การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของบริษัทใหญ่ เช่น ธนาคาร และ Telco ในการหาความร่วมมือกับ Startup

น่าสนใจว่าล่าสุดกับงาน Startup Battle ที่กำลังจะมาถึง เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของบริษัทใหญ่ในกลุ่มพลังงาน อย่าง ปตท. เริ่มเข้ามาคลุกวงในกับ Startup เหมือนกัน

logo-ptt-group

Techsauce ได้เข้ามาพบกับคุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าทีม Express Solutions ซึ่งเป็นทีมจัดตั้งใหม่ในกลุ่มปตท. เข้ามาดูเรื่องการสร้าง Innovation ที่เกี่ยวข้องกับธูรกิจใหม่ๆสำหรับปตท. โดยเฉพาะ

เรามาคุยกับเขาเพิ่มเติมกันดีกว่า

ช่วยแนะนำเกี่ยวกับทีม Express Solutions (ExpresSo)

คุณต้อง: Express Solutions หรือ ExpresSo เป็นทีมที่แยกออกมาต่างหากจากโครงสร้างเดิมของปตท. จุดประสงค์คือหาธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาเป็น Innovation หรือที่เรียกว่า S-Curve ให้กับกลุ่มปตท. หน่วยงานเพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนก.ค. ปีนี้ เป็นกลุ่มคนพนักงานรุ่นใหม่ของปตท.

ทีม Express Solutions ตอนแรกที่เราตั้งขึ้นมาเป็นการทำ Innovation ใหม่ๆ ภายในบริษัท ซึ่งหลักการที่เราอยากจะนำมาใช้ก็คือ คล้ายๆ การทำ Startup คือเน้นให้ Process มันสั้นลง และลงมือทำให้มันเร็วขึ้นโดยนำหลักการพวก Lean Approach, Design Thinking หรือ Sprint ที่ทาง Google Ventures ใช้ มาลองใช้กับบริษัทเราดู

แต่เราทำกันเองมันก็ได้เท่านึง เราคิดว่าคนข้างนอกที่มีประสบการณ์ และมีไอเดียใหม่ๆ ยังมีอีกเยอะ เราก็อยากจะเริ่มเปิดช่องทางให้พวกเขาได้มีโอกาสนำเสนอไอเดียให้กับองค์กรด้วยซึ่ง Express Solutions ก็อยากจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถนำไอเดียใหม่ๆ เข้ามาสู่องค์กรได้ อีกทางหนึ่ง

Innovation ที่ทีมต้องมองหานี้ สำหรับทุกๆ ผลิตภัณฑ์และบริการที่กลุ่มปตท. มีเลยหรือเปล่า

เรื่องของ Innovation นั้นเกิดได้ทุกที่ ทุกแห่ง อยู่แล้ว ไม่จำกัด หน่วยธุรกิจของปตท. เราเองก็พยายามจะสร้างสิ่งใหม่ๆ บริการใหม่ๆ กันอยู่ตลอด หน้าที่หลักของทีม Express Solutions เราจะดูในสิ่งที่แต่ละหน่วยธูรกิจยังไม่ได้ดู เราจะดูในส่วนใหม่ๆ เป็นภาพกว้างที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แผนการที่อยากทำมีอะไรบ้าง

ปัจจุบันเราแบ่งทีมกันและทำโปรเจกต์ธุรกิจใหม่กันอยู่ สิ่งหนึ่งที่เราวางแผนกันคือการตั้ง Venture Capital ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่องค์กรใหญ่ๆ เริ่มจะตื่นตัวขึ้นมา ดังที่จะเห็นว่าช่วงปีที่ผ่านมามีทั้งธนาคาร และ Telco เริ่มตั้ง VC เป็นของตัวเอง บริษัทพลังงานแห่งชาติ ปตท.ก็เริ่มมีไอเดียนี้มาสักพักนึงแล้ว เรากำลังศึกษาว่าสำหรับธุรกิจพลังงาน การทำ Venture Capital รูปแบบใดจะก่อประโยชน์ให้กับองค์กรและ Startup Ecosystem ได้มากที่สุด

อีกโปรเจกต์หนึ่งก็คือ Hackathon หรือ Startup Battle เป็นโปรเจกต์ที่เราอยากจะทดลองหาไอเดียใหม่ๆ จากบุคคลภายนอก อย่างที่เราคุยกันว่า ปตท. เรามี R&D Center เรามี Innovation team ทำจากกันเองภายใน แต่เราคิดว่าคอนเซปต์ของ Open innovation กับ Partnership และการ Crowdsourcing idea มันก็เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งองค์กรเราอยากจะทดลองดู  เราก็เลยอยากจะทำตัว Startup Battle ดูในปลายปีนี้ แล้วจะดูว่ามันจะเป็นยังไงภายใต้ธีมที่คนน่าจะ เข้าถึงง่าย คือในเรื่องของ Re-Design Gas Station/Café Amazon Experience

hubba-stadium-redesign-gas-station-cafe-amazon

ทำไมถึงเลือกธีมปั๊มน้ำมันและร้านกาแฟก่อนธีมด้านพลังงาน

ธุรกิจปตท.เรามีความหลากหลายมาก เรามีตั้งแต่ต้นน้ำคือ Exploration&Production ซึ่งถ้าพูดถึงแท่นน้ำมันคนก็อาจจะไม่เข้าใจว่าจะเริ่มยังไง ถึงปลายน้ำอย่างปั๊มน้ำมัน สำหรับ Retail อย่างปั๊มน้ำมันและร้านกาแฟ อย่างแรกคือมันเข้าใจง่ายถึงตัวรูปแบบธุรกิจ และอย่างที่สองคือ  ผู้เข้าร่วมก็คงจะเคยใช้บริการกันอยู่บ้าง ทำให้น่าจะได้ Insight จากมุมมองของผู้บริโภคจริงๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น  ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำความรู้จักกันระหว่าง ปตท. กับวงการ start-up ในเมืองไทย

ตัวโครงการนี้มีแผนการร่วมมือกับ Startup อย่างไรบ้าง

ปตท.เป็นองค์กรค่อนข้างใหญ่ หลายๆ ท่านอาจจะไม่รู้ว่าเข้ามาร่วมงานปตท.จะเข้ามาได้อย่างไร

ทีม Express Solutions ก็เลยอยากจะเป็นช่องทางที่พาคนตัวเล็กๆที่มีไอเดียดีๆสามารถเข้ามา Pitch กับทีมของเรา หากมีความเป็นไปได้จะทำงานร่วมกัน เราก็จะสามารถพาคนกลุ่มนั้นๆเข้าไปในหน่วยธูรกิจที่รับผิดชอบอยู่ได้อย่างถูกต้อง โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่เรียกว่า Partnership ในขณะเดียวกันปตท.เองก็กำลังจะจัดตั้ง Venture Capital ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอน Set up อยู่ หลังจากที่เข้ามารู้จักกันผ่าน Startup Battle ในอนาคตเราอาจจะไปเริ่มดูในเรื่องการลงทุน ว่าเราจะช่วยกันต่อยอดไอเดียไปได้อย่างไร

“ทีมของเราไม่ได้อยู่ใต้หน่วยธุรกิจหน่วยใดหน่วยหนึ่งเพราะฉะนั้น จะค่อนข้างคล่องตัวมากกว่า หน่วยธุรกิจอื่นๆ ในการนำเสนอไอเดียต่างๆที่จะมีการอนุมัติหลายขั้นตอน”

tong-kaweewut-ptt-expresso

คุณต้อง กวีวุฒิ ผู้ให้สัมภาษณ์

อยากให้เล่าเกี่ยวกับทีมนิดนึงค่ะ ส่วนตัวคุณต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับสาย Innovation มาก่อนหรือเปล่าคะ

ตัวผมเองทำสายแผนกลยุทธ์มาเกือบ 10 ปีแล้วครับ แล้วก็เป็นหนึ่งในพนักงานทุนของบริษัทในกลุ่มปตท.ได้มีโอกาสไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Stanford แล้วก็เรียนรู้วิธีคิด การทำงาน ใน Silicon Valley มา ระหว่างเรียน MBA ก็ได้ไปเรียนเรื่องของ Design Thinking ที่ Stanford d.School ด้วย เคยมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยสอนผู้บริหารระดับสูงในหลายๆโครงการซึ่งบริษัทใหญ่ๆระดับโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น GE, P&G, Disney, Google, Facebook, NBC, etc ส่งคนเข้าไปเพื่อจะนำวิธีนี้เข้าไปเปลี่ยนแปลงองค์กรตัวเองให้เคลื่อนที่ได้รวดเร็วมากขึ้น ผมก็กำลังพยายามนำสิ่งเหล่านี้กลับมาใช้ที่บริษัทเช่นกัน ถ้ามีเวลาว่างผมก็จะไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่คณะวิศวะ จุฬาฯ ด้วย

ตอนที่เริ่มตั้งทีมนี้ เรามีกลุ่มคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ของปตท.ที่เป็นพนักงานทุนของปตท. ปัจจุบันมีอยู่ 12 คน ทุกคนก็จะมีประสบการณ์ทั้งด้าน Technical และ Business มารวมตัวกันและพยายามใช้ Process นี้ในการขับเคลื่อนตัวงานจะไม่พยายามใช้วิธีการแบบเดิม ที่คิดเยอะ ประชุมเยอะ แต่จะเป็นการทดลอง ลงมือทำ Fail ให้เร็ว Fail ให้ไม่แพง เพื่อที่จะเรียนรู้ให้ไว นำเรื่องของ Design เข้ามาจับ

บริษัทพลังงานมีความท้าทายอะไรที่กำลังให้ความสนใจบ้าง?

เมื่อสองสามปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกตกลงมาค่อนข้างมาก รวมๆกับกระแสของ Global Warming ที่มีสูงขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะการใช้พลังงานของผู้คนในอนาคตก็อาจจะเปลี่ยนไป ผมคิดว่า เรากำลังต่อสู้กับอะไรที่ยังไม่แน่นอน ต้องคอยจับตาดู และ เปิดหูเปิดตาให้กว้างไว้

กลุ่มปตท. มีวิสัยทัศน์อย่างไรบ้างในเรื่องของการทำ Innovation

ผมคิดว่าคอนเซ็ปต์นึงที่อาจจะไม่ใช่แค่ปตท. แต่องค์กรใหญ่เริ่มตื่นตัวแล้วว่า “ทำเอง จะช้า” ไอเดียข้างนอกยังมีอยู่เยอะ เรื่องของ Crowdsourcing  เรื่องของการทำ Open Innovation เราจะเห็นบริษัท Telco ต่างๆ เขาก้าวนำไปแล้ว ตามมาด้วย Banking ตอนนี้ถามว่าบริษัทพลังงานอยู่ในจุดที่ต้องรีบขนาดนั้นหรือเปล่า อาจจะไม่ต้องรีบขนาดนั้น เพราะพลังงานไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนปุบปับ

แต่ถามว่าเรามองและศึกษาอยู่ไหม เราศึกษา และเราก็ยังดูอยู่ว่าโมเดลไหนที่จะเหมาะกับธุรกิจพลังงาน เพราะธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่ใช้การลงทุนสูง เป็นธุรกิจที่มีความซับซ้อนค่อนข้างมากในเชิงของการสนับสนุน Startup Ecosystem เมืองไทย เราเชื่อว่ามันต้องมีวิธีการให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเพราะในองค์กรปตท.มีทรัพยากรที่สามารถสนับสนุนได้ ขณะเดียวกันเราก็เชื่อว่า Startup ก็มีไอเดีย มีความไวที่เราไม่มี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราก็ต้องมาหาวิธีการที่เหมาะสมร่วมกัน

ปตท.เป็นองค์กรของคนไทย ทำเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย เป็นพันธกิจที่พวกเราภูมิใจมาโดยตลอด เราก็อยากจะขอเชิญชวนทุกท่าน ที่มีไอเดียดีๆที่คิดว่า ปตท. สามารถช่วยให้มันมี Impact มากขึ้นได้ ไปสร้างทั้งคุณค่าและมุูลค่าให้กับสังคม อยากให้ Hackathon ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำความรู้จักกันเพื่อต่อยอดไอเดียต่างๆให้เกิดผลเป็นรูปธรรมร่วมกันในอนาคต

 


ptt-startup-battle-pre-event

สำหรับผู้ที่สนใจ วันเสาร์ที่ 19 พ.ย. นี้ จะมีงาน Pre-Event ของงาน Startup Battle ที่จะได้พบกับคุณต้อง กวีวุฒิ ร่วมด้วยคุณแซม CEO จาก STYLHUNT และคุณเอม CEO จาก HUBBA พร้อมร่วมกันทำ Workshop เตรียมพร้อมก่อนงานจริง สามารถร่วมเข้าฟังได้ฟรี ลงทะเบียนที่นี่

และสำหรับอีเวนต์จริงของ HUBBA Stadium : Startup Battle ‘Redesign Gas Station /Café Amazon Experience จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25-27 พ.ย. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

แล้วเรามารอดูกันว่าไอเดียสำหรับร้านกาแฟ และสถานีปั๊มน้ำมันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรกันบ้าง

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...