แชร์ประสบการณ์การทำ Startup ใน Silicon Valley จากคนไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจ Startup อยู่ที่นี่ | Techsauce

แชร์ประสบการณ์การทำ Startup ใน Silicon Valley จากคนไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจ Startup อยู่ที่นี่

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ Startup เป็นคำที่ถูกใช้อย่างน่าตื่นเต้นในประเทศไทย เราได้เห็นวงการ Startup ไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง มีบริษัท Startup หลายร้อยบริษัท เงินลงทุนจำนวนมากจากกลุ่มนักลงทุน มี Accelerate ที่ช่วยบ่มเพาะ Startup แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องราวเหล่านี้สำหรับในสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เรื่องใหม่ บทความนี้เป็นบทความพิเศษเรียกว่า Guest Post โดยคนไทยผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการ Startup ในสหรัฐอเมริกา มาบอกเล่าประสบการณ์การเป็น Startup ใน Sillicon Valley รวมทั้งเรื่องราวเชิงลึกว่า Ecosystem ที่นั่นเป็นอย่างไร น่าตื่นเต้นที่ไหน ลองอ่านกันดูค่ะ

ในฐานะที่เป็นคนไทยเกิดและโตในประเทศไทย และฝักใฝ่อยากทำธุรกิจ Startup มาตั้งแต่เด็ก (คศ. 2004 — สมัยนั้นคำว่า Tech Startup ยังไม่ดังในไทย) ผู้เขียนได้เริ่มทดลองทำธุรกิจขณะที่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และออกมาทำธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังเก็บประสบการณ์ทำงานจาก Microsoft Corporation และ Google Inc. มาได้ 4 ปี สุดท้ายผู้เขียนก็ตัดสินใจลาออกจากงานที่ Google และทำ Startup ของตัวเองมาได้ 4 ปีกว่าแล้วจนถึงตอนนี้

ทุกวันนี้เราอาจเป็น Startup ไทยเพียงไม่กี่ที่ที่ทำธุรกิจอยู่ใน Silicon Valley (ก่อนหน้านี้มีอยู่หลายบริษัทแต่ก็ทยอยกลับไทยกันไปหมดแล้ว) ปัจจุบันเรามีทีมงานทั้งหมด 9 คน และมีลูกค้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ในอเมริกาอย่าง The New York Times, AOL, Forbes, Time Inc. ฯลฯ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เห็นความแตกต่างทางด้านบุคลากร ตลาด รวมถึงสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากไทยพอสมควร เลยรู้สึกว่าอยากจะนำมาแชร์ เพราะไหน ๆ ก็มีโอกาสมาสัมผัสชีวิตที่นี่และได้เจออะไรที่น่าสนใจมาเยอะพอสมควร ก็หวังว่าจะเป็นแนวทางให้กับคนที่มีความสนใจใน Tech Startup และเรื่องนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ได้ศึกษาหรือเดินทางตาม หากมีความสนใจครับ

ทำธุรกิจที่นี่ ได้อยู่แถวหน้าของวงการนวัตกรรม

ระหว่างการขับรถไปทำงาน เจอ Self-Driving Car ของ Google วิ่งมาตัดหน้า

โลกเทคโนโลยีถือว่าหมุนเร็วมาก เราคงได้ยินเรื่องราวใหม่ ๆ ในวงการนี้ออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น VR, AR, AI, Robotics และอื่น ๆ อีกมากมายมหาศาล

เชื่อว่าคนในวงการเทคโนโลยีในไทยทุกคนรู้จักกันหมดแหละของใหม่ ๆ พวกนี้ แต่ถามว่าในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่ของพวกนี้จะเกิดขึ้นและถูกใช้งานจริงมันจะเกิดที่ไหนเป็นที่แรก ๆ ? อันนี้ก็ต้องยอมรับครับว่ามันมักจะเกิดที่อเมริกาก่อน ส่วนที่ไทยนี่กว่าจะตามทันก็อีกนานพอสมควรเลย

สาเหตุก็ไม่ใช่อะไร เพราะที่นี่ตลาดมีความพร้อมและตอบรับนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วมาก อีกทั้งที่นี่ยังเป็นที่รวมของผู้ผลิตนวัตกรรม อะไรใหม่ ๆ ออกมาก็จะออกจากที่นี่และได้ใช้แถวนี้เป็นที่แรก ๆ เสมอ

ถ้าเราลองมองย้อนดู คลื่นของ Technology Trend ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Wave ของ PC ในยุคของคอมพิวเตอร์รุ่นบุกเบิก Wave ของ Internet ในยุคของคอมพิวเตอร์เริ่มผูกกับการใช้ชีวิตประจำวัน และ Wave ของ Mobile ในยุคคอมพิวเตอร์เข้าไปอยู่บนมือของทุกคนได้อย่างแท้จริง ทุกสิ่งเหล่านี้จะเกิดที่นี่ก่อน ส่วนตลาดประเทศไทยจะต่างไปนิดนึงคือต้องรอให้ตลาดต่างประเทศชัดเจนเสียก่อน ประเทศไทยจึงนำเข้ามาใช้ตาม ไม่ว่าจะเป็น Software, Web App หรือ Social Network ซึ่งกว่าประเทศไทยจะตื่นตัว ผู้ให้บริการที่เป็นตัวหลักที่คนไทยใช้งานก็ตกเป็นของบริษัทระดับโลกอย่าง Microsoft, Google, Facebook, Line ไปหมดแล้ว

Photo Credit: @ndebock’s Twitter

ผมอยู่ที่นี่ การนำไอเดียทางธุรกิจในลักษณะของนวัตกรรมใหม่ๆอย่าง VR/AR, AI, Robotics ที่สายตานักลงทุนในไทยอาจคิดว่าตลาดไทยยังใหม่เกินไปและไม่คุ้มค่าในการลงทุน (หรือต้องการรอดูตลาดต่างประเทศก่อน) ก็เลยค่อนข้างยากที่จะได้เม็ดเงินลงทุนหรือการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนไทย (แต่ก็ไม่เสมอไป อย่างบริษัทของเราสุดท้ายก็ได้ Invent จากทางไทยเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ต้องขอบคุณมา ณ​ ที่นี้ด้วยครับ :) )

ในทางกลับกัน การนำเสนอไอเดียลักษณะนี้ใน Silicon Valley นั้นกลับเป็นเรื่องปกติมาก

ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรง เมื่อสองปีที่แล้วสมัยที่ Virtual Reality ยังเป็นของใหม่มากในโลก ตอนนั้นผลิตภัณฑ์ OmniVirt ของเรายังเพิ่งเริ่มตั้งไข่ แต่พอผมยกเอาเดโมการเปลี่ยนพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงวีดีโอแบบ Virtual Reality ให้กับนักลงทุนที่นี่ดูปุ๊บ เค้าตื่นเต้นกับงานที่ผมแสดงให้ดูและพร้อมลงเงินลงทุนทันที โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องรอให้ตลาด Virtual Reality มันชัดเจนก่อน

ถามว่าทำไม ? ก็เพราะ Silicon Valley ถือว่าเป็นผู้นำของวงการเทคโนโลยีแล้ว เค้าจึงไม่คิดว่ามันมีความจำเป็นต้องไปรอดูงานจากประเทศไหน หากมีใครทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และมีศักยภาพออกมา แล้วเค้าพิจารณาแล้วว่ามีโอกาสสำเร็จได้เป็นคนแรก ๆ เค้าก็พร้อมจะลงทุนด้วยทันที

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุน พันธมิตร ลูกค้าที่นี่กล้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ สาเหตุเพราะว่าพวกเขาเคยผ่านการเป็นแนวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา มีกรณีศึกษาของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีที่นี่อยู่มากมาย ซึ่งคนเหล่านี้เองที่กลับมาเป็นนักลงทุนในภายหลัง พวกเขาจึงกล้าที่จะเล่นกับอะไรใหม่ ๆ เพราะพวกเขาก็เคยผ่านอะไรแบบนี้มาแล้วนั่นเอง

มันเป็นเรื่องของการสร้าง Ecosystem ที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปีครับ

ได้อยู่ใกล้ชิดลูกค้าที่มี Potential มีโอกาสเจาะตลาดใหญ่

มันเป็นเรื่องที่ยากทีเดียว ถ้าเราต้องทำธุรกิจแบบไม่ได้อยู่ใกล้ชิดลูกค้า ถ้าเราตื่นมาแล้วลูกค้าหลับอยู่ เราคงทำธุรกิจนี้ไม่ได้ดีที่สุด จริงไหมครับ?

(จริงครับ ตอบให้เลย)

ในสมัยก่อนผมเคยมีความคิดว่า ถึงแม้ตัวเราจะอยู่ในประเทศไทย แต่ด้วยอินเทอร์เน็ตที่ทำให้โลกเล็กลงแล้ว เราก็ต้องสามารถขายงานให้กับที่ไหนในโลกก็ได้สิ

ความคิดนี้ก็ถูกอยู่ครับ แต่มันจะเกิดขึ้นตอนที่ธุรกิจเราดังมีชื่อเสียงแล้ว แต่ถ้าธุรกิจของเรายังใหม่ การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อนำเอาข้อมูลมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เพราะตอนที่ธุรกิจเรายังใหม่อยู่นั้น มันมักจะมีรายละเอียดของการพัฒนาเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เต็มไปหมด อย่างเมื่อสมัยตอนที่ บิล เกตต์ ออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด บิล เกตต์ ก็ตัดสินใจบินไปยังเมือง Albuquerque เพื่อให้อยู่ใกล้กับลูกค้าและสามารถเข้าไปแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว นั่งเขียนโปรแกรมภาษา BASIC ทั้งวันทั้งคืนจนมันสามารถทำงานกับเครื่อง Altair ได้สำเร็จ

ซึ่ง ณ เวลานั้น บิล เกตต์ ไม่ใช่คนเดียวที่เขียนโปรแกรมได้ ยังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ หรือ วิศวกรเก่ง ๆ จากบริษัทใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่เขียนโปรแกรมเป็น แต่เพราะการเข้าถึงลูกค้าเพื่อเรียนรู้ปัญหาและอยู่กับลูกค้าจนกว่าปัญหานั้นจะแก้สำเร็จที่เป็นโอกาสให้ ความรู้ ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์และธุรกิจถูกพัฒนาขึ้นเร็วกว่าคนอื่น จนเกิดเป็นธุรกิจซอฟท์แวร์และพัฒนามาจนเป็นบริษัทไมโครซอฟท์อย่างในทุกวันนี้

สำหรับบริษัทของผู้เขียนนั้น The New York Times เป็นลูกค้าในสหรัฐอเมริการายแรกของบริษัทที่ติดต่อเราเข้ามา ถ้าตอนนั้นบริษัทพวกเราไม่ได้ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่า The New York Times อาจจะไม่เลือกเรา เพราะด้วยความซับซ้อนทางกฎหมาย ความลำบากในการทำงานร่วมกัน และการรับฟังและแก้ปัญหาให้ลูกค้าจำเป็นต้องใช้ความรวดเร็ว ดังนั้นถ้าตลาดที่เราต้องการ(และต้องการเรา)นั้นอยู่ที่ไหน เราต้องตามเข้าไปให้ใกล้ชิดลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของเราทำงานได้โดยไม่มีปัญหา และหากเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถลงมือจัดการกับปัญหาได้อย่างรวดเร็วครับ

เทคโนโลยีของ OmniVirt ได้เปิดตัวบนเว็บไซท์ The New York Times ครั้งแรกเมื่อ August, 2016.

ทำธุรกิจที่นี่ อยู่ห่างไกลจากสิ่งลบและเรื่องที่ไม่จำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรม

ทุกเช้าที่ผมอยู่ที่นี่ ผมจะตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่า มีความตื่นเต้นกำลังรอเราอยู่ รู้สึก Thankful ที่เราได้มีเพื่อนร่วมงานที่ดี ผมเริ่มทุกเช้าด้วยการไปออกกำลังกายที่ยิมและเริ่มคิดวางแผนว่าวันนี้อยากจะทำอะไรให้สำเร็จบ้าง และขับรถไปบริษัทสบาย ๆ ก่อนที่เริ่ม Stand Up Meeting กับเพื่อนร่วมงานที่โฟกัสกับการทำงานให้สำเร็จด้วยกัน

สภาวะที่ให้ความปลอดโปล่งทางความคิดแบบนี้ ผมรู้สึกได้ตั้งแต่ทำงานที่กูเกิ้ลแล้วว่าบทสนทนาของเราจะเป็นไปในทางว่า วันนี้เราจะแก้ปัญหาอะไรยังไง ในโลกเทคโนโลยีมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง โลกภายนอกใครพัฒนาอะไรไปถึงไหนแล้ว หรือแม้แต่ตอนกินข้าวที่โรงอาหารหรือร้านกาแฟ เราก็ยังได้ยินโต๊ะข้าง ๆ คุยเกี่ยวกับเรื่อง Startup หรือพอเวลาไปข้างนอก การรับฟังข่าวสารทางวิทยุ โทรศัพท์ ป้ายโฆษณา บัตรเชิญไปงานพบปะสรรสรรค์ต่าง ๆ ก็มีแต่เรื่องที่น่าสนใจและไปในทางบวก (Positive) มากกว่าด้านลบ

บรรยากาศงานสัมมนานักลงทุนในเทคโนโลยี Virtual Reality (Virtual Reality Accelerated)ใน San Francisco

ในทางกลับกัน ทุกครั้งที่ผมเดินทางกลับประเทศไทย จะสังเกตว่าตื่นเช้ามาก็ต้องมารับฟังข่าวลากคนไปกราบรถ ดาราตบแย่งผู้ชาย หมอดูมาคอยฟังธงชีวิตคนอื่นที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวเอง เวลามีเรื่องอะไรในสังคมให้พูด เราก็ได้ยินเรื่องเดียวกันไปกันทั้งเมือง ตั้งแต่ที่ทำงานไปจนถึงภายในบ้าน ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรรับรู้สังคมรอบตัวนะ แต่การนำเสนอเรื่องเหล่านี้จนเป็นเรื่องปกติแบบที่ไทยเป็นอยู่ตอนนี้มันก็เยอะไปนิดนึง (เห็นด้วยมะ)

ชีวิตนี้มันสั้นนะ ผมคิดว่าเราไม่ควรเสียเวลากับเรื่องที่ไม่จำเป็น หรือเรื่องที่ทำให้จิตใจเราบั่นทอนอ่านะครับ ถ้าตัดเรื่องพวกนั้นออกไปได้ ชีวิตแต่ละวันเราจะมีค่าขึ้นมามหาศาลเลยหละ เอาจริง ๆ นะ

การทำ Tech Startup ให้ออกมาดีนั้น มีความจำเป็นต้องใช้พลังบวกเป็นอย่างมาก เพราะมีความจำเป็นต้องพัฒนาทั้งตัวเอง ทีมงาน และภาพรวมธุรกิจอยู่สม่ำเสมอเพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่งทั่วโลกได้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ผู้ที่ทำงานด้านนี้จึงควรต้องปรับตัวทั้งทางกายและทางใจเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวถ่วงในการพัฒนาธุรกิจออกไปให้หมด เพื่อลด Overhead และเปิดพื้นที่ให้มีเวลาและพลังงานไปพัฒนางานมากขึ้น

ทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่นี่เป็นศูนย์รวมของบริษัทชั้นนำทางด้านนวัตกรรม ไม่ต้องแปลกใจว่าที่นี่จะเต็มไปด้วยคนเก่ง และผลที่ตามมาคือ ความเครียดและความกดดันที่นี่เลยมีสูงพอสมควร แต่ก็ไม่ได้สูงขนาดลำบากน้ำตานองนะ แค่ต้องรู้จักปรับตัวให้ทันโลกและพัฒนาตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าผ่านบททดสอบตรงนี้ไปได้ Career Path ของท่านที่นี่ก็จะไปได้ไกลแบบหยุดไม่อยู่เลยครับ

และเนื่องจากว่าทางเราโชคดีที่เป็นบริษัทไทยหนึ่งในไม่กี่รายที่ตั้งอยู่ใน Silicon Valley และเรารู้สึกอยากสนับสนุนนักพัฒนาไทยให้มีโอกาสมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่นี่ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ดังนั้นถ้าหากมีใครสนใจอยากจะมาทำงานที่นี่ทางเราก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งนะครับ ทาง OmniVirt ก็ยังต้องการนักพัฒนาฝีมือระดับเทพมาร่วมกันผลักดันผลงานของคนไทยสู่สายตาชาวโลกอยู่นะครับ (ส่งข้อความเข้ามาได้ทาง Facebook)

ความหวังสูงสุดของพวกเราคือ ถ้ามีนักพัฒนาเก่ง ๆ ได้มาสัมผัสชีวิตที่นี่เยอะ ๆ ถึงวันนึงตอนที่ทุกคนกลับไทยไป จะได้ไปร่วมพัฒนาสังคมและคุณภาพตลาดด้านเทคโนโลยีในเมืองไทยร่วมกันได้ครับ =)

เกี่ยวกับผู้เขียน

Brad Phaisan CEO of OmniVirt — Leading Virtual Reality Advertising Platform. www.omnivirt.com.

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

จาง อีหมิง เจ้าของ TikTok ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งในจีน!

ปี 2024 ดูเหมือนเศรษฐกิจจีนจะไม่สู้ดีนัก ส่งผลให้จำนวนมหาเศรษฐีจีนเติบโตช้าที่สุดในรอบ 20 ปี รายงานจากสถาบันวิจัย Hurun เผยว่าในปีนี้มีเศรษฐีหน้าใหม่เพียง 54 คนที่ได้เข้าสู่รายชื่อ...

Responsive image

PwC นำประสบการณ์ผสานเทคโนโลยี SAP สร้างเครื่องมือ ‘ESG Solution’ ช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน

PwC ร่วมมือกับ SAP สร้างโซลูชันด้าน ESG เพื่อช่วยลูกค้าองค์กรเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ชื่อว่า ‘SAP Sustainability Control Tower’...

Responsive image

Gogolook ตั้งไทยเป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 พร้อมจับมือ ScamAdviser เปิดตัวโซลูชันธุรกิจ เสริมแกร่ง SME- องค์กรใหญ่ สู้ภัยฉ้อโกงยุคดิจิทัล

Gogolook บริษัทชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ประกาศตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่สองในประเทศไทยเดินหน้าขยายธุรกิจทั่วภูมิภ...