สงครามไทย VS มาเลเซีย VS เวียดนาม ใครจะเป็นผู้นำในตลาด E-Commerce? | Techsauce

สงครามไทย VS มาเลเซีย VS เวียดนาม ใครจะเป็นผู้นำในตลาด E-Commerce?

ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับเดือนตุลาคม พบว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทยต่ำสุดในอาเซียน ด้วยอัตราการขยายตัวเพียง 3.5% โดยกัมพูชาขยายตัวมากที่สุดมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 6.8% อันดับ 2 คือ สปป.ลาวที่ 6.7% อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ที่ 6.6% อันดับ 4 เมียนมา 6.4% อันดับ 5 เวียดนาม 6.3% อันดับ 6 มาเลเซีย 5.2%  และอันดับ 7 อินโดนีเซีย 5.1%

ประเทศเพื่อนบ้านที่แข่งขันกันอย่างสูสีกับประเทศไทยในอดีตคงจะหนีไม่พ้นเวียดนามและมาเลเซียที่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเทียบเท่าหรือนำหน้าประเทศไทยไปแล้ว โดยบริษัท iPrice ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล็งเห็นถึงการแข่งขันที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดของทั้งสามประเทศในตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ จึงได้จัดทำการศึกษาตลาดอีคอมเมิร์ซและพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนาม และได้พบผลการศึกษาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ความแตกต่างของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนาม

  • ประเทศมาเลเซียมีบริษัทต่างชาติเข้ามาแข่งขันสูงกว่าสองประเทศ

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทต่างชาติได้เข้ามารุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเข้มข้น เริ่มจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ซึ่งทำให้อัตราการเข้ามาของบริษัทจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดบริษัท 11 Street จากเกาหลีก็ได้เข้าทำตลาดในประเทศไทยและอีกหลายๆประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2560 จากผลการศึกษาพบว่าประเทศมาเลเซียมีจำนวนผู้แข่งขันจากต่างประเทศกว่า 24% โดยประเทศไทยมีเพียง 18% และเวียดนาม 14% ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาเลเซียค่อนข้างเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ และมาเลเซียถือเป็นฮับในการทำตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากมาเลเซียมีนโยบาย MSC หรือ Multimedia Super Corridor ที่จะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ

  • เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นร้านค้าประเภททั่วไป

ถ้าหากเจาะลึกถึงรูปแบบสินค้าที่ทางร้านค้าอีคอมเมิร์ซในแต่ละประเทศจำหน่ายนั้น ส่วนใหญ่แล้วร้านค้าในประเทศไทยจะเป็นร้านค้ารูปแบบทั่วไป กล่าวคือมีการจำหน่ายสินค้าที่มีความหลากหลายในเว็บไซต์เดียว เช่น Lazada, Central, Shopee, 11Street ที่มีสินค้าทั้งแฟชั่น เทคโนโลยี เครื่องสำอางและอีกมากมาย จากการสำรวจพบว่าร้านค้าประเภทแฟชั่นในประเทศไทยนั้นนิยมใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับผู้บริโภคมากกว่าการใช้เว็บไซต์ เนื่องจากโซเชียลมีเดียสามารถนำเสนอสินค้าได้อย่างรวดเร็วและสามารถปิดการขายได้ด้วยการติดต่อผ่างทาง Message หรือ LINE ที่ค่อนข้างสะดวกและไม่ซับซ้อนเหมือนการใช้เว็บไซต์ จึงทำให้เว็บไซต์ใหญ่ ๆ ไม่นิยมเข้ามาร่วมแข่งขันกับร้านค้าเล็ก ๆ ในตลาดแฟชั่นสักเท่าไรนัก

ในประเทศมาเลเซียซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ ร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ในมาเลเซียจะเป็นสินค้าประเภทแฟชั่น เนื่องจากว่าคนดังหรือเซเลบดาราในประเทศมาเลเซียนั้นหันมาปั้นแบรนด์แฟชั่นของตัวเองจนประสบความสำเร็จ โดยเน้นไปทางเสื้อผ้าแฟชั่นแบบมุสลิมเป็นหลัก จึงทำให้ร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นเว็บแฟชั่นนั่นเอง โดยตัวอย่างร้านค้าแฟชั่นในประเทศมาเลเซีย ได้แก่ Zalora, Hermo, Fashion Valet เป็นต้น

Lazada ขึ้นเป็นผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซทั้ง 3 ประเทศ

คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Lazada ที่ได้เข้ามาทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 5 ปีแล้ว ด้วยเงินทุนที่หนาและการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาทำให้ Lazada ขึ้นเป็นเจ้าตลาดทั้ง 3 ประเทศในไม่ช้า อย่างไรก็ตามการศึกษาครั้งนี้พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ Lazada จะเป็นเจ้าตลาดในสามประเทศ แต่สำหรับประเทศเวียดนามแล้ว Lazada คงจะต้องแข่งขันอย่างหนัก เนื่องจากประเทศเวียดนามมีคู่แข่งซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเวียดนามที่แข็งแกร่งครองตลาดอยู่เช่นกัน จากตารางข้างต้นจะเห็นว่า Lazada เวียดนามมีส่วนทราฟฟิก 19% และรองอันดับอื่น ๆ เช่น Thếgiới diđộng มีส่วนแบ่งทราฟฟิก 15% และ Sendo 11% เป็นต้น นอกจากนี้การครองตลาดของ Lazada นั้นเป็นเพียง 1 ใน 4 ของตลาดทั้งหมด หมายความว่ายังมีคู่แข่งอีกมากมายที่แชร์ส่วนแบ่งอยู่ในขณะนี้

ซึ่งต่างจากประเทศไทยและมาเลเซียที่ Lazada มีส่วนแบ่งทราฟฟิกกว่า 50% หมายความว่าตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนามมีการกระจายผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งบริษัทที่กำลังตาม Lazada ในประเทศเวียดนามนั้นอาจจะสามารถขึ้นเทียบเท่าหรือแซงหน้า Lazada ได้ในไม่ช้า

โดยประเทศไทยนั้นอันดับสองในตลาดคงหนีไม่พ้น 11 Street ที่พึ่งเข้ามารุกตลาดประเทศไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาผ่านการทำการตลาดอย่างหนักทั้งการใช้ Influencer และ Outdoor Advertising ที่ช่วยสร้างให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนไทยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งทราฟฟิกของ 11 Street อยู่ที่ 11% ซึ่งน้อยกว่า Lazada กว่า 4 เท่า นี่จึงเป็นสัญญาณว่าบริษัทอันดับรอง ๆ เหล่านี้ต้องทำการบ้านหนักขึ้นเพื่อที่จะตามยักษ์ใหญ่ให้ทันเพื่อขึ้นแข่งขันกับเจ้าตลาดอย่าง Lazada นั่นเอง

อนาคตของอีคอมเมิร์ซใน 3 ประเทศจะเป็นไปในทิศทางใด?

บริษัท Google และ Temasek ได้จัดทำการศึกษาตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าในปี พ.ศ. 2558 ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยถือเป็นตลาดที่เล็กที่สุดเมื่อเทียบกับมาเลเซียและเวียดนาม จากการคาดการณ์ในอีก 8 ปีนับจากนี้ (พ.ศ. 2568) ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเติบโต 29% ต่อปี จนมีขนาดใหญ่กว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศมาเลเซียและเวียดนาม โดยจะขึ้นเป็นที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย ซึ่งประเทศไทยจะมีขนาดอยู่ที่ 11.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีย 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนาม 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากการคาดการณ์นี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับนักช้อปออนไลน์ในสามประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ตัวเลขการเติบโตนี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเข้าถึงตัวเลือกที่มีมากขึ้นและคุณภาพของสินค้าและบริการที่ดีขึ้นด้วยนั่นเอง เนื่องจากร้านค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซจะต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อขึ้นเป็นหนึ่งในใจของผู้บริโภค

ที่มาของภาพและเนื้อหา iprice

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...