The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีในยุคที่ Data Center และ AI เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกันทั่วโลกก็มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการลดการปล่อยคาร์บอน และเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
ซึ่ง Randall Lane, Chief Content Officer ของ Forbes Media และบรรณาธิการ Forbes Magazine ได้นำมาเป็นประเด็นหลักในการเสวนาภายในงาน Forbes Global CEO Conference โดยมีผู้นำธุรกิจพลังงานและเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Kuok Meng Wei (K2 Strategic), Nikhil Sawhney (Triveni Turbines) และ สินนท์ ว่องกุศลกิจ (Banpu) มาร่วมวิเคราะห์ความท้าทายในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในขณะที่เปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด
Session นี้เริ่มด้วยการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างพลังงาน และความเจริญรุ่งเรือง โดยชี้ให้เห็นว่าทั้งสองสิ่งนี้เป็นเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความต้องการพลังงานก็เพิ่มสูงขึ้นตาม แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด
Lane ยกตัวอย่างบริษัทด้านพลังงานในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยี Geothermal ขั้นสูงเพื่อเข้าถึงแกนกลางของหินหลอมเหลว และสกัดพลังงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความน่าสนใจของบริษัทนี้ไม่เพียงแต่เป็นนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่น่าจับตามอง แต่ยังรวมถึงความสำเร็จในการระดมทุนกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากนักลงทุนระดับโลกอย่าง Bill Gates และการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรพลังงาน (Energy Coalition) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตและความน่าเชื่อถือของบริษัท
จากความสำเร็จนี้เป็นไปได้ว่า เทคโนโลยี Geothermal อาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นของ Data Center และ AI ซึ่งกำลังเป็นโจทย์ใหญ่ที่โลกต้องหาทางออกร่วมกัน
Kuok Meng Wei ฉายภาพการเติบโตอย่างรวดเร็วของศูนย์ข้อมูลและผลกระทบต่อความต้องการพลังงาน โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2026 การใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูลจะสูงถึง 1,000 เทราวัตต์-ชั่วโมง เทียบเท่าการใช้พลังงานของประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศ
นอกจากนี้ AI ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนความต้องการพลังงานให้พุ่งสูงขึ้นไปอีก ด้วยการใช้พลังงานมหาศาลในการประมวลผล ดังตัวอย่างที่ Wei ยกขึ้นมาคือการสร้างภาพ AI หนึ่งภาพใช้พลังงานเทียบเท่าการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ถึง 64 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพของเทคโนโลยีเหล่านี้อาจกลายเป็นภาระของโลกได้ในอนาคต
Sawhney เน้นย้ำถึงความสำคัญของพลังงานหมุนเวียนในการแก้ปัญหา โดยยกตัวอย่างประเทศอินเดีย ซึ่งจำเป็นต้องมีทางเลือกเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันกับราคาพลังงานจากฟอสซิลได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากเกินไป เขายกตัวอย่างเทคโนโลยีที่น่าสนใจ 2 อย่างคือ
พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับแบตเตอรี่
Sawhney มองว่าพลังงานแสงอาทิตย์มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับราคาพลังงานฟอสซิลได้ แต่ปัญหาคือความไม่ต่อเนื่องของพลังงาน ดังนั้น การพัฒนาแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกลงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พลังงานแสงอาทิตย์สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
Working Fluid
Sawhney เสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ในฐานะ "Working Fluid" โดยอธิบายว่าคาร์บอนไดออกไซด์สามารถนำมาใช้ในระบบปั๊มความร้อน ระบบกักเก็บพลังงาน และการใช้งานอื่นๆ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ในสถานะวิกฤตยิ่งยวด (supercritical) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ
นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
สินนท์ ว่องกุศลกิจ เล่าถึงเส้นทางการเปลี่ยนผ่านของ Banpu จากบริษัทเหมืองถ่านหินสู่ธุรกิจพลังงานที่หลากหลาย และยั่งยืนมากขึ้น โดยในตอนนี้มีการลงทุนโรงงานไฟฟ้าในประเทศไทย ลาว และจีน โดยยอมรับว่า
แม้ถ่านหินจะเป็นพลังงานที่ทำให้เศรษฐกิจของเอเชียเติบโต แต่บริษัทก็ตระหนักถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยคาร์บอน จึงมุ่งเน้นการลงทุนในก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน
นอกจากพลังงานหมุนเวียน Banpu ยังลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบันเป็นผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ที่สุดในรัฐเท็กซัส
สินนท์ ว่องกุศลกิจ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลระหว่างพลังงานที่สะอาด เชื่อถือได้ และราคาถูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ที่ยังคงพึ่งพาถ่านหินเป็นหลัก
ผู้ร่วมเสวนาทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและสร้างแรงจูงใจในการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เช่นเดียวกับโครงการ IRA ในสหรัฐฯ (กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ) ที่ให้เงินอุดหนุนแก่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด
นอกจากนี้ ผู้บริโภคก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการจากบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และสนับสนุนนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตระหนักถึงการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน เช่น การค้นหาข้อมูลบน Google หรือการสร้างภาพ AI ล้วนส่งผลกระทบต่อความต้องการพลังงานโดยรวม
อ้างอิง : ข้อมูลจากงาน Forbes Global CEO Conference หัวข้อ The Energy/Prosperity Paradox
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด