BYD ประกาศยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วน สูงถึง 526,000 คันในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 นับเป็นครั้งแรกที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD แซงหน้าผู้นำจากสหรัฐฯ อย่าง Tesla อย่างไม่น่าเชื่อ ความสำเร็จครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถด้านการแข่งขันของแบรนด์ EV จากจีนได้เป็นอย่างดี
แต่ BYD มีดีอะไร ทำไมถึงขายดีแซงหน้า EV เจ้าอื่น และกลายเป็นแบรนด์ที่น่าจับตามอง เรื่องราวนี้ต้องคงกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ BYD
ผู้ชายคนนี้ (Wang Chuanfu) เป็นเหมือนการผสมผสานระหว่างโทมัส เอดิสัน กับ แจ็ค เวลช์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการระดับโลก)เขามีความสามารถแบบเอดิสันในการแก้ปัญหาทางเทคนิค และมีความสามารถแบบเวลช์ในการบรรลุเป้าหมาย ผมไม่เคยเห็นใครแบบนี้มาก่อน - Charlie Munger มือขวาของ Warren Buffet
Wang Chuanfu ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง BYD เกิดที่เมืองวูเว่ย มณฑลอันฮุย ในครอบครัวชาวไร่ชาวนาที่ยากจน เขาต้องถูกพี่น้องเลี้ยงดูหลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตไป ต่อมาเขาได้ศึกษาเคมีที่ Central South University และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจาก Beijing Non-Ferrous Research Institute ซึ่งนำไปสู่การทำงานเป็นนักวิจัยของรัฐบาล
ในปี 1995 ช่วงที่รัฐบาลจีนกำลังเปิดประตูสู่โลกภายนอก Wang Chuanfu เริ่มเบื่อหน่ายกับเงินทุนที่จำกัดของนักวิจัยรัฐบาล และด้วยความหลงไหลในเทคโนโลยีแบตเตอรี่มาตั้งแต่ตอนเรียน จึงตัดสินใจยืมเงินจากญาติราว 2.5 ล้านหยวน และก่อตั้งบริษัทของตัวเองในชื่อ BYD ที่เมืองเซิ่นเจิ้น เพื่อผลิตแบตเตอรี่นิกเกิลสำหรับมือถือ
ในช่วงเวลานั้น ญี่ปุ่นครองตลาดแบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียม (NiCd) อย่างเบ็ดเสร็จ แทนที่จะแข่งขันโดยตรง BYD หันมาเน้นที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน Wang Chuanfu ใช้เวลาเพียง 2 ปี พัฒนาธุรกิจจากโรงงานเล็ก ๆ กลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่มือถือที่มีรายได้ประจำปีเกิน 100 ล้านหยวน ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลกในเวลาต่อมา
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนดึงดูดความสนใจของ Wang Chuanfu เนื่องจากการวิจัยของเขาระบุว่า แบตเตอรี่ชนิดนี้สามารถนำไปพัฒนาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ ด้วยเหตุนี้ BYD จึงซื้อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ล้มละลายจากรัฐบาลจีน และเริ่มเส้นทางการผลิตรถยนต์ ซึ่งใช้เวลาไม่นานรถรุ่น BYD F3 ก็กลายเป็นรถเก๋งขายดีที่สุดในจีน แซงหน้ารุ่นเด่นแบรนด์ดังอย่าง Volkswagen Jetta และ Toyota Corolla
แต่เป้าหมายที่แท้จริงของ Wang Chunfu คือ การทำให้ BYD กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2025 สิ่งนี้เขาเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2008 ในช่วงเวลานั้น BYD เพิ่งจะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นแรก BYD E6 เวอร์ชันต้นแบบสำเร็จ และเพิ่งจะเริ่มปล่อยรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรก BYD F3DM เข้าแข่งขันบนท้องตลาด
ในปีเดียวกัน Warren Buffett นักลงทุนชื่อดังระดับโลกเข้ามาลงทุนใน BYD ด้วยมูลค่า 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการซื้อหุ้นจำนวน 10% ซึ่งตอนนั้น BYD ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ Buffett เชื่อว่านี่เป็นดีลที่ยิ่งใหญ่ และ BYD มีโอกาสเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการขายรถยนต์ไฟฟ้า การเข้ามาของ Buffet ทำให้หุ้นของ BYD สูงถึง 1,370% ในปีถัดมา จึงทำให้ชื่อ BYD เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก
จุดแข็งของ BYD คือการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีราคาแพงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่เองช่วยให้ BYD ประหยัดต้นทุนได้อย่างมาก ในขณะที่คู่แข่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยการซื้อแบตเตอรี่ รวมถึงชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์รายอื่น
ชิ้นส่วนส่วนใหญ่ในรถยนต์ BYD จะผลิตโดยบริษัทในเครือ กลุ่มบริษัทเหล่านี้ดำเนินการด้านเหมืองลิเธียม การแปรรูปลีเธียม การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงชิปประมวลผล เพื่อควบคุมต้นทุน และปริมาณการผลิต การควบคุมทุกอย่าง ผลิตเองทุกสิ่งเป็นหนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้ BYD เติบโตอย่างรวดเร็ว
เคยมีการวิเคราะห์เจาะลึก BYD Seal รถไฟฟ้าซีดานรุ่นล่าสุด พบว่า ชิ้นส่วนกว่า 75% ถูกผลิตภายในบริษัทเอง ซึ่งสูงกว่า Tesla 3 ที่ผลิตในจีน ซึ่งมีชิ้นส่วนที่ผลิตเองเพียง 46% เท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ BYD ได้เปรียบในเรื่องของราคาเป็นอย่างมาก
ต้นทุนที่ถูกไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงงานราคาถูกหรือ Supply Chain ที่มีราคาต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นจากการพัฒนาขั้นสูงด้านวิศวกรรม และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของ BYD
BYD มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาแบตเตอรี่ LFP แบบ 'Blade Battery' อันเป็นกรรมสิทธิ์ของ BYD ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนแห่งวงการรถยนต์ไฟฟ้าก็ว่าได้ ลักษณะเด่นของ Blade Battery คือ เซลล์แบตเตอรี่ที่มีรูปทรงคล้ายกับใบมีด มีความบาง และยาวกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป
ข้อดีคือ ช่วยระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี และมีความหนาแน่นของพลังงานที่สูงเนื่องด้วยโครงสร้างแบบ CTP (Cell-to-pack) ซึ่งชุดแบตฯ ไม่ได้ถูกแบ่งเป็นโมดูล แต่ถูกแพ็ครวมกันมาเป็นก้อนเดียวกัน นอกจากจะช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์ในแบตเตอรี่ได้มากขึ้นแล้ว แบตที่ถูกแพ็ครวมกันเป็นก้อนยังมีความแข็งแกร่งสูง ช่วยเสริมความปลอดภัยให้กับตัวรถ
จากนั้น BYD ก็ได้พัฒนาโครงสร้างมาเป็นแบบ CTB (Cell-to-body) ซึ่งแพ็กแบตเตอรี่รวมกันเป็นส่วนหนึ่งของตัวถังรถยนต์ ทำให้รถมีน้ำหนักที่เบาลงในขณะที่ยังคงความแข็งแกร่ง ซึ่งในตอนนี้มีการนำไปใช้แล้วใน BYD Seal และ Dolphin นับว่าเป็นโครงสร้างการวางแบตเตอรี่แบบใหม่ของรถยนต์ EV ที่กำลังจะออกมาในอนาคตอันใกล้
ข้อได้เปรียบอีกหนึ่งอย่างของ BYD คือ ขนาดของตลาด และคุณภาพประชากร Wang Chuanfu เสริมว่า บริษัทจีนมีความฉลาด และทำงานหนักกว่าคู่แข่งชาวตะวันตก ทุกปีมีบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยจีนกว่า 5 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรของบางประเทศในยุโรปเสียอีก และคนเหล่านี้ยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทจีนมากกว่าบริษัทตะวันตก หรือบริษัทญี่ปุ่นแม้จะได้เงินเดือนต่ำกว่าก็ตาม
BYD มักจะรับสมัครผู้จัดการจบใหม่จากมหาวิทยาลัย ฝึกอบรมงานภายในบริษัท และจัดให้พนักงานจบใหม่พักอาศัยในหอพักสไตล์อพาร์ทเมนต์สูงระฟ้าติดกับโรงงาน เมื่อปี 2008 มีวิศวกรด้านรถยนต์ทำงานให้ BYD กว่า 10,000 คน ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน BYD มีวิศวกรทำงานด้าน R&D มากถึง 40,000 คน และมีพนักงานทั่วโลกราว 290,000 ชีวิต นับเป็นการเติบโตด้านบุคคลากรอย่างก้าวกระโดดในเวลาอันสั้น
การสนับสนุนกลยุทธ์รถยนต์ไฟฟ้าของจีน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำ BYD ได้เปรียบ รัฐบาลจีนมองว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าในยานยนต์ เป็นหนึ่งในทางลัดสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ นับตั้งแต่ปี 2009 จีนได้อัดฉีดเงินกว่า 100,000 ล้านหยวนเพื่อสนับสนุนยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด
ต่อมาในปี 2010 จีนได้ขยายการอุดหนุนเงินไปยังรถยนต์ส่วนบุคคล บางช่วงมีการสนับสนุนเงินสูงถึง 60% ของราคารถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีบริษัทสาร์ทอัพจำนวนมากกระโดดสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จนทำให้ปี 2018 จีนมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 487 ราย แต่แบรนด์เหล่านี้กำลังล้มหายตายจากด้วยสงครามราคา จนทำให้ในท้ายที่สุด EV จีนอาจเหลือแค่เพียงไม่กี่แบรนด์ ซึ่ง BYD ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น
ตารางแสดงปริมาณการผลิต และยอดขาย ที่มา : BYD Global
ตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา BYD สามารถผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ได้มากถึง 3,045,231 คัน แถมยังสามารถขายรถพลังงานใหม่ทั่วทั้งโลกในปีดังกล่าวไปได้ทั้งหมด 3,024,417 คัน
แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่า Tesla ที่ขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ซึ่งขายรถตลอดทั้งปี 2023 ได้ราว 1.8 ล้านคัน แต่หากดูจากกำลังการผลิตของ BYD ที่หันมาผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) แทนที่รถน้ำมันเต็มตัว และยอดขายที่สูงขึ้นกว่า 62.30% เมื่อเทียบกับปี 2022 ก็เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า BYD ไม่ได้แข็งแกร่งแค่ในประเทศจีน ในตลาดโลกก็ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ ‘ต้อง’ จับตามอง
แม้จีนจะมีศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก แต่ทว่าปริมาณการรองรับการขนส่ง ยังไม่สามารถรองรับการขยายตัวของการส่งออกที่รวดเร็วได้ ข้อมูลเมื่อปี 2023 ระบุว่า บริษัทเดินเรือจีนมีเรือขนส่งรถยนต์ของตัวเองเพียง 40 ลำ รองรับการส่งรถยนต์ประมาณ 110,000 คัน ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น (1.6 ล้านคัน) หรือเกาหลีใต้ (490,000 คัน) เป็นอย่างมาก
BYD ที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยการทำทุกอย่างในเครือ ประกอบกับแผนการขยายตลาดไปทั่วโลก จีงมีการจ้างให้ต่อเรือขนส่งรถยนต์เป็นของตัวเองในชื่อ ‘BYD Explorer’ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่ง เนื่องจากค่าเช่าเรือขนส่งรถยนต์มีแนวโน้มแพงขึ้น รวมทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ขนส่งได้เป็นอย่างดี
BYD Explorer No.1 รองรับการบรรทุกรถยนต์ได้มากถึง 7,000 คัน เริ่มออกเดินทางจากเซินเจิ้นมุ่งหน้าพารถยนต์ BYD บุกตลาดยุโรปไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024 โดย BYD วางแผนเพิ่มจำนวนเรือ BYD Explorer อีก 7 ลำ ภายในปี 2026 ซึ่งคาดว่าแต่ละลำจะบรรทุกรถยนต์ได้ 7,000 คันเช่นเดียวกัน
นอกจากการสร้างเรือแล้ว BYD กำลังเดินหน้าขยายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสู่ตลาดโลก โดยมีโรงงานที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในประเทศไทย และมีการประกาศสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศบราซิล ไปจนถึงฮังการี เพื่อขยายฐานการผลิตนอกประเทศจีน และเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนในสหภาพยุโรป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้าจีนเกิดจากความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน ทั้งการอุดหนุนเม็ดเงิน การยกเว้นภาษีสำหรับผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงการลงทุนสร้างสถานีชาร์จ ซึ่งยังไม่นับรวมการที่จีนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแบตเตอรี่ และขนาดของตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ จึงทำให้แบรนด์ EV จีนกุมความได้เปรียบเหนือแบรนด์ EV จากชาติอื่น ๆ จนมีคำกล่าวจาก Elon Musk ว่า
แม้ชื่อของ BYD ในตอนแรกจะไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษ นอกจากเป็นเพียงตัวอักษรย่อที่มาจากชื่อภาษาจีนของบริษัท (Biyadi) แต่สโลแกน ‘Build Your Dream’ (สร้างฝันของคุณ) ที่ Wang Chuanfu นำมาใส่ทีหลัง ก็ดูจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความมุ่งมั่นที่ต้องการให้ BYD ครองความยิ่งใหญ่ในระยะเวลาไม่กี่ปี
ตอนนี้ BYD อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จตามที่ Wang Chuanfu ทำนายไว้แล้วก็จริง แต่การแข่งขัน และความท้าทายยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ บริษัทยังต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้า และค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถยนต์น้ำมันที่มีชื่อเสียงยาวนาน รวมทั้งยังต้องใช้ ‘เวลา’ พิสูจน์ตัวเองต่อผู้บริโภคในเรื่องสำคัญอย่าง ‘ความปลอดภัย’ และ ‘บริการหลังการขาย’
อนาคตของ BYD นั้นน่าติดตามอย่างยิ่ง
อ้างอิง : Nikkei (1), (2), BBC, BYD Global, CNN (1), (2), SCMP, Financial Times, Capital Letter
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด