ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาการลงทุนใน “Thematic Themes” คือหนึ่งในรูปแบบของการเลือกกลุ่มธุรกิจในการลงทุนที่ถูกพูดถึงและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย โดยเฉพาะในช่วงปี 2020 ที่ราคาหุ้นบริษัทในกลุ่ม Thematic ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน จนเป็นที่สนใจของนักลงทุนแทบทุกคน
Thematic Themes คือการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ผ่านปัจจัยที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
Morgan Stanley Capital International หรือที่รู้จักกันในชื่อ MSCI บริษัทชั้นนำของโลกที่จัดทำดัชนีราคาหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ทั่วโลกและยังมีการจัดทำดัชนีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ได้มีการนิยามจุดเด่นของการลงทุนแบบ Thematic Investing ว่ามีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากการลงทุนปกติดังนี้
- A Changing World: การไม่ยึดติดในสิ่งที่มีอยู่ปัจจุบัน ยอมรับและเปิดใจศึกษาการเปลี่ยนแปลงของทิศทางของโลกในปัจจัยที่สามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้
- Mega Trends: การคัดเลือกธุรกิจที่มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม พฤติกรรม ธุรกิจ วัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม
- Sector Independent: การไม่ยึดติดกับการที่ธุรกิจจำเป็นต้องจัดกลุ่มอยู่ในการจัดกลุ่มของอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจแบบเดิม ๆ เช่น ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจเทคโนโลยี ธุรกิจพลังงาน
- Security Selection: การคัดเลือกธุรกิจด้วยความรอบคอบผ่านการวิเคราะห์ ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล ระยะเวลาในการพัฒนา จำนวนผู้ใช้งานหรือหลักฐานการทดสอบที่สามารถพิสูจน์ได้
เป็นเรื่องยากที่จะสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตดังนั้น หนึ่งในขั้นตอนการค้นหาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Thematic Themes คือการต่อยอดจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เช่น
Disruptive Technology เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นและสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือแทนที่การดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมีนัยยะสำคัญ จนสามารถแทนที่สินค้าและบริการเดิม หรือเทคโนโลยีเดิมได้อย่างสมบูรณ์ ตัวอย่างของ Disruptive Technology ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมในปัจจุบัน เช่น
- IoT หรือ Internet of Things ซึ่งเป็นการนำสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวมาพัฒนาให้สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อมต่อผ่าน Sensor ที่อยู่ภายในอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้สามารถสื่อสาร สั่งงาน และเก็บข้อมูลได้ดีขึ้น และต่อยอดสู่สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายอย่างเช่น
- บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) การสั่งงานเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านระบบเสียง รวมถึงตรวจสอบข้อมูลการใช้งานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล
- โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) การเชื่อมต่อสายพานการผลิต ทำให้สามารถเก็บข้อมูล ประมวลผลสั่งการเครื่องจักรจากระยะไกลได้
- เมืองอัจฉริยะ (Smart City) การเชื่อมต่อระบบสาธารณูปโภคภายในเมืองทั้ง ระบบไฟฟ้า ประปา และการจราจรผ่านระบบศูนย์กลางจากระยะไกล
- เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence หรือ Al ซึ่งเป็นการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ข้อมูลจำนวนมากให้มีสติปัญญาคล้ายคลึงกันกับมนุษย์ผ่านการทำ Machine Learning
- คาดการณ์ความต้องการของลูกค้า (Customer Insight) ผ่านการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เพื่อคาดการณ์และนำเสนอสินค้าและบริการ รวมถึงแสดงเนื้อหาที่คาดว่าจะสนใจ อย่างการทำงานของ Facebook, Youtube และ Tiktok
- ผู้ช่วยส่วนบุคคล (Personal Assistant) Chat Bot ที่สามารถให้คำแนะนำ ตอบคำถาม และยังช่วยคนทำงานอย่างการเขียนโปรแกรม บทความ และค้นหาไอเดียอย่าง ChatGPT
- การสร้างภาพด้วย AI (AI Drawing) การใช้ AI ที่มีการเรียนรู้การวาดภาพ การใช้สีจากการศึกษารูปภาพจำนวนมากในฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการวาดภาพจากคำอธิบายที่ต้องการอย่าง Midjourney และ DALL·E 2
- ยานยนต์แห่งอนาคต หรือ Future Mobility การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของมนุษย์
- รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Car) ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้แบบสันดาป โดยใช้พลังงานจากไฟฟ้าแทนการใช้พลังงานจากน้ำมัน
- ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) เทคโนโลยียานยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีคนควบคุม
นอกจากนี้ยังมี Mega Trends ที่น่าสนใจและมีแน้วโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจ การดำเนินชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น E-Commerce, Healthcare, Games & Esports, Cloud Computing, Robotics, Fintech, Travel Tech, Clean Energy, Metaverse และ Cybersecurity
สุดท้ายแล้วแนวคิดการวิเคราะห์การอุตสาหกรรมกลุ่ม Thematic มีความเสี่ยงสูงเพราะเป็นการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตจึงมักนิยมใช้การวิเคราะห์แบบ Top Down ที่แปลว่า วิเคราะห์จากบนลงล่าง มองจากภาพใหญ่ที่สุดลงมา ที่ภาพเล็ก เพื่อมองถึงส่วนประกอบที่ทำให้ Mega Trends สามารถพัฒนาและใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ยานยนต์แห่งอนาคต หรือ Future Mobility ที่ต้องมีการวิเคราะห์แบ่งย่อยไปยังส่วนประกอบของเทคโนโลยีอย่างเช่น
- Batteries เช่น ขนาด ระยะเวลาการชาร์จ จำนวนครั้งที่สามารถใช้งานได้ และต้นทุนการผลิต
- Smart Mobility ยานยนต์ไร้คนขับ ระบบการสั่งการผ่าน Smart Device ระบบการสื่อสารระหว่างยานยนต์ กับ ยานยนต์
- Vehicle Automation ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระบบตรวจจับสิ่งแวดล้อม ระบบคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
อ้างอิง : บิทคับ อินฟินิตี้ Bitkub Infinity