TOMS บริษัทรองเท้าที่โตด้วยการเล่าเรื่อง | Techsauce

TOMS บริษัทรองเท้าที่โตด้วยการเล่าเรื่อง

พยาธิปากขอ (Hookworm) เป็นพยาธิที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงในคนและสัตว์ คุณจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ถ้าคุณเดินเท้าเปล่าไปตามพื้นดินที่มีอุจจาระเรี่ยราดอย่างเช่นในพื้นที่กสิกรรมหรือตามประเทศด้อยพัฒนา 

พวกมันมีขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่มันก็ร้ายพอที่จะไชทะลุผ่านผิวหนังและเข้าสู่ร่างกายได้ถ้าคุณเผลอไปเหยียบมันเข้า และยิ่งถ้าคุณมีนิสัยไม่ชอบล้างมือก่อนกินอาหารด้วยแล้ว ก็แทบจะการันตีเลยว่าคุณเป็นโรคนี้แน่นอน 

คุณสามารถป้องกันโรคนี้ด้วยการดัดนิสัยนิดหน่อย อย่างแรกคือ ล้างมือหลังจากสัมผัสกับสัตว์ ดิน หรืออะไรก็ตามในพื้นที่เสี่ยง 

ส่วนอีกวิธีก็ใส่รองเท้าไงล่ะ

ถ้าคุณใส่รองเท้า คุณก็แทบจะลดความเสี่ยงการเป็นโรคนี้ไปได้เยอะ ข้อนี้ใครๆก็รู้ คนในพื้นที่ก็ทราบดี คำถามคือทำไมพวกเขาถึงไม่ใส่ 

บางคนบอกว่าการถอดรองเท้าเดินมันสะดวกกว่า แต่ก็มีอีกส่วนที่บอกว่า “ไม่มีเงินซื้อรองเท้า” 

ชายคนหนึ่งเดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศอาร์เจนตินา เขาพบว่าเด็กๆที่อาศัยนอกเขตเมืองบางคนไม่มีรองเท้าใส่จนทำให้เป็นโรคพยาธิปากขอ มีคนบางกลุ่มคอยช่วยเหลือเด็กพวกนี้เหมือนกันโดยการตระเวนไปตามกรุงบัวโนสไอเรสเพื่อขอรับบริจาครองเท้า แต่รองเท้าก็ยังไม่พอสำหรับเด็กทุกคนอยู่ดี แถมยังไม่รู้ด้วยว่าถ้าคนที่เคยบริจาคไม่มีรองเท้าจะให้อีกแล้วล่ะ จะทำยังไง 

ชายคนนั้นต้องการให้เด็กมีรองเท้าใส่และแน่ใจว่าต้องมีเด็กที่อื่นอีกมากที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน แต่เขาเพียงคนเดียวไม่สามารถช่วยเด็กทุกคนได้ เขาต้องอาศัยความร่วมมือของมวลชน เขาต้องส่งต่อเรื่องนี้ให้ผู้คนทั่วโลกได้ทราบ 

ชายคนนี้ชื่อ Blake Mycoskie เขาเป็นคนขายรองเท้า 

Blake Mycoskie

===============

Mycoskie เกิดที่ Arlington,Texas มีพ่อเป็นหมอ ส่วนแม่เป็นนักเขียน ครอบครัวนี้ผลักดันให้ลูกๆหาเงินเองตั้งแต่วัยเรียน Mycoskie จึงได้ทำงานหลายอย่างแต่ที่ทำให้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำคือ เทนนิส 

Mycoskie มีฝีมือในการเล่นเทนนิส เทนนิสทำให้เขาได้รับทุนการศึกษาเข้าเรียนที่ Southern Methodist University (SMU) พ่อของเขารู้ดีว่าลูกชายเล่นเทนนิสเก่งแต่ก็ไม่คิดว่าเขาจะกลายเป็น Andre Agassi คนต่อไป จึงแนะนำให้ลองหาอะไรอย่างอื่นทำดีกว่า Mycoskie จึงบอกว่างั้นเป็นโค้ชเทนนิสละกัน 

ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนมีเด็กอยากเรียนเทนนิสกับเขามากมาย เขาทำเงินได้มากเลยทีเดียว แต่อาชีพนี้ต้องจบลงเพราะช่วงเปิดเทอมปีสองเขาได้รับบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวายทำให้ต้องเลิกเล่นเทนนิส เขาต้องใส่เฝือกและใช้ไม้ค้ำ เขาบอกว่าแค่จะยกตะกร้าเสื้อผ้าลงมาซักยังทำไม่ได้

แต่อาการบาดเจ็บก็พาเขาไปสร้างธุรกิจใหม่ ในวันขอบคุณพระเจ้ามีเพื่อนของพ่อมาร่วมวงด้วย เขาเสนอไอเดียว่า “พ่อหนุ่มเธอควรสร้างธุรกิจซักรีดนะ เพราะมีเด็กที่ SMU หลายคนเลยที่ไม่อยากซักเสื้อผ้าตัวเอง”

Mycoskie ในวัย 19 ปีจึงเอาเงินที่ได้จากการสอนเทนนิสไปซื้อรถบรรทุกเก่าๆมาจาก FedEx และตั้งธุรกิจซักรีดชื่อว่า EZ Laundry ทุกคนอาจจะเชื่อใจให้เขาสอนเทนนิสแต่ยังไม่มีใครไว้ใจให้เขาซักผ้าให้ ช่วงแรกเขาจึงต้องสร้างภาพว่ามีลูกค้ามาใช้เยอะแยะโดยการให้รถบรรทุกวิ่งวนหลายๆรอบเพื่อให้คนแถวนั้นคิดว่า “ร้านนี้น่าจะคนเอาเสื้อมาซักเยอะนะ ดูสิวิ่งไปรับเสื้อตั้งหลายรอบแน่ะ” 

จนในที่สุดเขาก็มีคนมาใช้บริการจริงๆ ลูกค้าพอใจกับบริการมาก มันทำให้เขาได้รับบทเรียนว่า ถ้าคุณมีบริการที่ดีเยี่ยม ลูกค้าจะกลายเป็นผู้เผยแพร่เรื่องราวธุรกิจของคุณให้มีการรับรู้อย่างกว้างขวาง เขานำบทเรียนนี้ไปใช้กับธุรกิจในอนาคต

เมื่อไปได้สวยเขาก็ลาออกจาก SMU และหันมาทำ EZ Laundry เต็มตัว แต่หลังจากนั้น 2-3 ปี เขาก็ขายหุ้นให้กับหุ้นส่วนแล้วลองหาธุรกิจอย่างอื่นทำ เขาย้ายมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนียและสร้างธุรกิจหลายอย่าง มีทั้งบริษัทป้ายโฆษณา รายการเรียลลิตี้ สอนขับรถออนไลน์ แทบทุกอย่างที่เขาทำล้วนมีกำไร มีเพียงรายการเรียลลิตี้เท่านั้นที่เจ๊งเพราะโดน Fox ของ Rupert Murdoch ขย้ำ

แต่วันหนึ่ง Mycoskie ในวัย 29 ปีคิดขึ้นมาว่าเขายังไม่เคยสร้างธุรกิจที่คุ้มค่ากับการทุ่มเทชีวิตที่เหลืออยู่จริงๆซักที ที่ผ่านมาเขาสร้างและขายกิจการออกไปในเวลาไม่กี่ปี เขาจึงตัดสินใจท่องโลกเพื่อพักผ่อนเผื่อว่าจะเจออะไรดีๆ 

ครั้งหนึ่งเขาเข้าร่วมรายการ The Amazing Race ซึ่งพาเขาไปที่อาร์เจนตินาและทำให้เขารู้จักกีฬาโปโล เขาเข้า Google หาคำว่า Polo camp, cheap จนเจอแคมป์แถวนอกกรุงบัวโนสไอเรส เขาจึงเดินทางไปที่นั่น

ที่นี่ทำให้เขาพบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงชีวิต 

===============

ปี 2006 Mycoskie มาอยู่ที่อาร์เจนตินาเพื่อพักผ่อน ช่วงที่ใช้ชีวิตที่นี่เขาเห็นเด็กบางคนวิ่งเล่นเท้าเปล่าและเป็นพยาธิปากขอ บังเอิญไปเจอสาวอเมริกันคนหนึ่งซึ่งเป็นอาสาสมัครขององค์กรที่คอยหารองเท้ามาบริจาคให้เด็กๆ ซึ่งเป็นโครงการชื่อว่า Shoe Drive พ่อแม่ของ Mycoskie เป็นคนชอบบริจาคให้กับองค์กรการกุศลใน Arlington ทำให้ Mycoskie ซึมซับนิสัยนี้ด้วย พอทราบเรื่องราว Shoe Drive จึงขอเข้าร่วมด้วย 

Shoe Drive ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เขาอาจจะเคยบริจาคก็จริงแต่ไม่เคยลงมานั่งคุกเข่า สัมผัสมือ และมองตาผู้รับบริจาคที่เดือดร้อนจริงๆซักครั้ง เขาบอกว่าดูเด็กๆจะดีใจมากที่ได้รองเท้า 

แต่อย่างที่บอกตอนแรก ปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นซักวันคือไม่มีคนบริจาครองเท้าให้อีก การตั้ง NGO เพื่อแก้ปัญหาอาจไม่ได้ผลเพราะต้องคอยอาศัยเงินทุนจากภายนอก ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดคือตั้งบริษัทแล้วเอากำไรมาช่วยผู้คน

ที่อาร์เจนตินามีรองเท้าท้องถิ่นที่เรียกว่า Alpargata มันเป็นรองเท้าที่ทำมาจากผ้า ส่วนพื้นทำมาจากเชือกถัก มีความทนทาน แต่คิดว่าคงไม่สบายเท้าเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ใช่รองเท้าที่เราเห็นกันทั่วไป คุณจะเห็นรองเท้าแบบนี้ที่อาร์เจนตินาเท่านั้น Mycoskie จึงจะทำรองเท้า alpargata ขาย 

alpargata

เขาออกแบบและตัดเย็บด้วยตัวเอง เขาเขียนไอเดียลงไปว่า

“จะเป็นยังไงถ้าผมขายรองเท้าเท่ๆพวกนี้ที่พบได้แค่ในอาร์เจนตินาให้กับเพื่อนของผมตอนที่กลับไปแคลิฟอร์เนีย และทุกครั้งที่ผมขายได้หนึ่งคู่ ผมจะทำอีกหนึ่งคู่เพื่อให้กับเด็กๆ” เขาเขียนบันทึกนี้ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2006 

ปี 2006 Mycoskie กลายเป็นคนขายรองเท้าเต็มตัว เขาเรียกรองเท้าของเขาว่า Tomorrow’s shoes หรือที่เรารู้จักในชื่อ TOMS  

Mycoskie ตระเวนขายรองเท้ากับผู้ร่วมก่อตั้งของเขา Alejo Nitti พวกเขาเข้าไปตามร้านต่างๆทั่ว LA บางร้านก็ไล่พวกเขาออกมา จนไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งที่ดูจะสนใจรองเท้าของพวกเขา Mycoskie จึงเล่าเรื่องราวให้ฟัง เธอคนนั้นแบบว่า นี่พวกคุณกำลังจะบอกว่าคุณจะเอารองเท้าไปให้เด็กทุกครั้งที่ขายได้งั้นเหรอ แน่นอนเธอตื่นเต้นและซื้อไป 80 คู่ 

Mycoskie ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินทางเพื่อเล่าเรื่องราวของ TOMS มันเป็นกลยุทธ์ 90% ของบริษัท ยิ่งผู้คนได้ยินเรื่องราว พวกเขาก็ขายรองเท้าได้มากขึ้น เด็กๆก็จะมีรองเท้าใส่มากขึ้น จนในที่สุด TOMS ก็ขายรองเท้าได้ 10,000 คู่และตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องบินไปอาร์เจนตินาเพื่อเอารองเท้าไปให้เด็กๆแล้ว

เมื่อรองเท้าถึงที่หมายเขาถึงกับร้องไห้ตอนที่สวมรองเท้าให้เด็กเหล่านั้น

TOMS กลายเป็นต้นแบบโมเดลธุรกิจ One for One ที่ทำเงินจากลูกค้าที่ชื่นชอบเรื่องราวและร่วมมือกับ NGO เพื่อเป็นช่องทางในการแจกจ่ายรองเท้าให้กับผู้ที่ต้องการ แต่ “การให้” ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของเท่านั้น ปี 2011 เขาเปิดตัวสินค้าใหม่ นั่นคือแว่นตา แต่แทนที่จะเอาแว่นตาไปแจกทุกครั้งที่ขายได้ เขาประยุกต์การให้โดยเป็นการรักษาปัญหาสายตาให้กับผู้คน “ทุกครั้งที่คุณซื้อแว่น คุณกำลังช่วยเหลือผู้มีปัญหาสายตาอยู่” 

อย่างไรก็ตามใช่ว่า TOMS จะไปได้สวยทุกอย่าง กลยุทธ์ One for One ถูกวิจารณ์ว่าไม่สามารถแก้ปัญหายากจนได้ มันเป็นการให้ปลาเฉยๆ ไม่ช่วยให้คนตกปลาเป็น ปี 2012 Mycoskie จ้างคนนอกมาบริหาร แต่เหมือนว่าจะทำให้ TOMS เขวออกจากเส้นทางโดยเน้นแต่เรื่องยอดขาย ต้องการสร้างวิดีโอตลกๆเยอะๆเพื่อขายรองเท้า ไม่สนใจเรื่อง “การให้” แถมตอนนั้น Mycoskie อยู่ในช่วงหมดไฟเขาจึงตัดสินใจหยุดพัก

TOMS ชะงักไปได้ไม่นาน Mycoskie ก็กลับมาในปี 2013 และมาพร้อมวิสัยทัศน์ที่กระตือรืนร้น 

ปี 2013 TOMS เปิดฐานการผลิตรองเท้าตามประเทศที่เอารองเท้าไปให้ โดยเริ่มที่ประเทศเฮติ ซึ่งฐานการผลิต 40% ของ TOMS อยู่ตามประเทศเหล่านี้ เรียกว่ากลบเสียงวิจารณ์ว่าไม่สอนตกปลาได้ชะงัด

ปี 2014 เปิดตัว TOMS Roasting Co. สินค้าคือเมล็ดกาแฟ ส่วนการให้คือการร่วมมือกับองค์กรเพื่อจัดหาน้ำสะอาดให้กับคนที่ขาดแคลน 

ปี 2015 เปิดตัวสินค้ากระเป๋า ที่มีเป้าหมายในการฝึกให้คนทำคลอดเป็นและจัดหาอุปกรณ์ในการคลอด พูดง่ายๆคือ ทุกครั้งที่คุณซื้อกระเป๋า คุณกำลังช่วยให้เด็กเกิดมาได้อย่างปลอดภัย 

ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ปี 2016 TOMS มียอดขายสูงระดับ 400 ล้านดอลล่าร์และตั้งแต่ก่อตั้งมาได้ให้รองเท้าแก่ผู้คนเกิน 80 ล้านคู่ไปแล้ว

===============

ช่วงปี 2014 TOMS มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก TOMS ไม่ใช่สตาร์ทอัพเล็กๆอีกต่อไปแต่เป็นบริษัทครึ่งพันล้านที่ทรงอิทธิพลในการโน้มน้าวผู้คน Mycoskie รู้ดีว่าไม่อาจแบกทุกอย่างไว้คนเดียวแบบช่วงแรกได้และเพื่อป้องกันอาการหมดไฟที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง มันจึงถึงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นบ้าง

Mycoskie ไปพบนักลงทุน 14 ราย ปกติเขาแต่งตัวตามสบายแต่คราวนี้ต้องแต่งสูทไปพบนักลงทุน เขาบอกเหมือนนัดดูตัวยังไงยังงั้น ในที่สุดจึงลงเอยที่ Bain Capital โดย Bain เสนอซื้อหุ้น TOMS ไป 50% ตีเป็นมูลค่า 625 ล้านดอลล่าร์ 

Ryan Cotton ซึ่งเป็น MD ของ Bain เชื่อว่า TOMS สามารถเป็นบริษัทมหาชนที่มีมูลค่าหลายพันล้านได้ เพราะพวกเขาเป็นผู้บุกเบิกการให้แบบใหม่ มีลูกค้าที่กระตือรือร้น และสามารถเปลี่ยนจากการซื้อรองเท้าแบบเดิมๆให้กลายเป็นไลฟ์สไตล์

Bain ได้จ้าง Jim Ailling มาดำรงตำแหน่ง CEO ของ TOMS เขาเคยเป็นผู้บริหารที่ Starbucks ร่วมงานกับ Howard Schultz ถึง 11 ปี เคยผ่านช่วงที่ Starbucks เบี่ยงเบนออกจากเส้นทางที่ประสบความสำเร็จ เขาเข้ามาเพื่อให้แน่ใจว่า TOMS จะไม่กลายเป็นแบบนั้น 

ตอนแรก Ailling ตั้งใจจะเพิ่มสินค้าที่ไม่ใช่รองเท้าให้ได้สัดส่วน 1 ใน 3 ของยอดขาย แต่แล้วเขาเปลี่ยนความคิดใหม่โดยลงทุนสองเท่าในรองเท้า พัฒนาคุณภาพและเพิ่มสไตล์รองเท้าใหม่ๆให้มากขึ้น ผลคืออัตรายอดขายเพิ่มขึ้นมากแบบที่ไม่เคยเห็นมาหลายปี

ภายใต้การบริหารของ Ailling Mycoskie ไม่สามารถบริหารตามอำเภอใจได้เหมือนเดิม แต่ก็ดีแล้วเพราะมันทำให้เขาเจอเส้นทางใหม่ที่ขยายโมเดล One for One ได้กว้างขึ้น

Mycoskie ได้เงินทุนจาก Bain Capital ประมาณ 300 ล้านดอลล่าร์ เขาจึงเอาเงินครึ่งหนึ่งเงินไปลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม “ถ้าเรามีการลงทุนที่ดี กองทุนนี้ก็จะใหญ่ขึ้นๆ และมันจะคงอยู่ต่อไปแม้ว่าเราจะตายไปแล้ว” Mycoskie กล่าว ว่าแล้วเขาก็ตั้ง TOMS Social Entrepreneurship Fund ขึ้นมาในปี 2015 

ธุรกิจที่เขาลงทุนล้วนได้รับอิทธิพลจากแนวคิด One for One ฉะนั้นเมื่อมีแนวคิดเดียวกันเขาก็ไม่จำเป็นต้องไปเซ้าซี้พวกผู้ก่อตั้ง เขาเลือกที่จะเป็นนักลงทุนที่ไม่โวยวายแต่จะทำตัวเหมือนเชียร์ลีดเดอร์แทน

ธุรกิจที่เขาลงทุนก็อย่างเช่น Back to the Roots ที่ขายชุดอุปกรณ์ปลูกผักหรืออาหารเช้าแบบออร์แกนิค ถ้าคุณซื้อสินค้าของพวกเขา บริษัทก็จะบริจาคอุปกรณ์เหล่านั้นให้กับโรงเรียนที่คุณเลือกช่วยเหลือ

Back to the Roots

AVA แอพลิเคชั่นที่พิมพ์ตัวอักษรโดยใช้เสียงที่ช่วยเหลือคนพิการทางหูและคนที่มีปัญหาการได้ยินให้พวกเขาได้จับกลุ่มคุยกัน

AVA

LXMI บริษัทขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ใช้ส่วนประกอบจากพืชพันธุ์หายากในประเทศยูกันดา ช่วยให้ผู้คนที่นั่นได้มีงานทำและแน่นอนว่าทั้งหมดอยู่ภายใต้ระบบการค้าอย่างเป็นธรรม

LXMI และเมื่อไม่นานมานี้ TOMS ได้ขยายผลโมเดล One for One โดยจากเดิมเมื่อคุณซื้อรองเท้า TOMS จะนำรองเท้าไปให้เด็กตามจำนวนที่คุณซื้อ แต่ตอนนี้คุณสามารถเปลี่ยนจากการให้รองเท้าเป็นสนับสนุนแคมเปญที่เกี่ยวกับสังคมแทน

ปี 2018 TOMS ได้ออกแคมเปญแรก “หยุดความรุนแรงจากการใช้ปืน” โดยบริจาค 5 ล้านดอลล่าร์และขอให้ชาวอเมริกันส่งโปสการ์ดไปที่สภาครองเกรส นอกจากนี้ยังมีแคมเปญอื่นๆอีกเช่น “สิทธิสตรี” “น้ำสะอาด” “คนไร้บ้าน” “ความเสมอภาค” TOMS ไม่ได้วางแผนเลิกการให้รองเท้า แต่ต้องการสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมให้กว้างขึ้น

แคมเปญ End Gun Violence Together

===============

โมเดล One for One คงยังไม่หยุดแค่นี้และเรื่องราวของ TOMS ก็ยังคงดำเนินต่อไป 

Mycoskie ก็ยังไม่ได้เกษียณไปไหน เขายังทำงานและยังอยากให้ลูกมารับช่วงต่อ ตำแหน่งของเขาใน TOMS คือ Chief Shoe Giver ชีวิตการทำงานไม่ได้นั่งติดโต๊ะแต่ต้องเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเล่าเรื่องราวของบริษัทให้ทุกคนได้ฟัง ซึ่งก็เป็นงานถนัดเขาล่ะ

และไม่ว่าจะเขียนเรื่องของเขาซักกี่ที ชายคนนี้ก็น่าจะอยู่ระหว่างเดินทางไปที่ไหนซักแห่ง

==============

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.cnbc.com/blake-mycoskie--sole-trader-to-serial-philanthropist/

https://www.inc.com/magazine/201605/leigh-buchanan/toms-founder-blake-mycoskie-social-entrepreneurship.html

https://www.toms.com/about-toms

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ถกยุทธศาสตร์ AI ไทย หนทางดึงไทยกลับเวทีโลก ควรเริ่มอย่างไร ?

ค้นพบโอกาสและความท้าทายของ AI ที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทย พร้อมกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันโลกในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน!...

Responsive image

รัฐบาลเวียดนามขยับ SME ได้เวลาทวงคืนตลาดแฟชั่นจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนอย่าง Shein และ TEMU

รัฐบาลเวียดนามเตรียม "บล็อก" แอปพลิเคชันและโดเมนช้อปปิ้งออนไลน์ของจีนอย่าง Shein และ Temu ถ้าไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้องก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทวงคืน “อุ...

Responsive image

AI ไม่ได้แทนที่คุณ แต่จะช่วยให้คุณ 'ดีกว่าเดิม'

สำรวจแนวคิด "จิตวิทยาไซบอร์ก" ในการออกแบบระบบมนุษย์-AI เพื่อความรุ่งเรืองของมนุษย์ พร้อมบทบาทของ AI ในการพัฒนาไทยให้เป็น “AI Land” จากมุมมอง ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร ในงาน THE STANDARD ...