OOZOU : ไขความลับ UX/UI ที่ดี ต้องเริ่มต้นจากอะไร กับเบื้องหลังการดีไซน์ที่เข้าใจทุกคนของ OOZOU | Techsauce

OOZOU : ไขความลับ UX/UI ที่ดี ต้องเริ่มต้นจากอะไร กับเบื้องหลังการดีไซน์ที่เข้าใจทุกคนของ OOZOU

หากดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ UX/UI ก็คงเปรียบเสมือน ‘ประตู’ ที่เชื่อมต่อ User เข้ากับ Digital Product ได้อย่างลงตัว

ประตูบานนี้มีความสำคัญของทุกธุรกิจเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน เพราะ UX/UI คือสิ่งแรกที่ผู้ใช้จะได้พบเจอ เป็นสิ่งแรกที่จะทำให้ผู้ใช้รับรู้ได้ถึงตัวตนเจ้าของ รวมถึงฟังก์ชันต่างๆ ที่อยู่ภายในตัวบ้าน

การออกแบบ UX/UI จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘หน้าตาสวยงาม’ แต่คือการ ‘ดีไซน์ที่ดี’ ทั้งกระบวนการคิด และประสบการณ์การใช้งานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ แต่คำถามสำคัญคือ ดีไซน์ UX/UI ที่ดีคืออะไร ?

จากซ้ายไปขวา

คุณรวิ จรรยาวิลาส (รวิ), Lead Product Designer

คุณภัทราภรณ์ เหมัน (โตโร่), Lead Product Designer

คุณพรชัย แป้นคุ้มญาติ (หมิง), Product Designer

บทความนี้ Techsauce พาไปพูดคุยกับดีไซน์เนอร์จาก OOZOU ทั้งสามท่าน เพื่อเจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จของ Digital Agency ชั้นนำของไทยที่พิสูจน์ฝีมือด้าน UX/UI ผ่านผลงานจากลูกค้ารายใหญ่มานับไม่ถ้วน เพื่อไขความลับของ ‘ดีไซน์ที่ดี’

ดีไซน์ที่ดี…เริ่มตั้งแต่ผู้คน บริบท และความเข้าใจ

‘Digital Expertise’ 

นี่คือคำนิยามของ OOZOU ตามคำจำกัดความของคุณภัทราภรณ์ เพราะ OOZOU ไม่ได้เป็นแค่ผู้รับจ้างออกแบบ แต่สามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ให้คำแนะนำลูกค้า หา Solution ไปจนถึงสร้าง Product เพื่อตอบโจทย์ทั้งฝั่ง Business และ User 

จุดเด่นของ OOZOU คือ ‘ทีมงาน’ และรูปแบบการทำงานแบบ ‘Cross-functional Teamwork’ ทีมงานของ OOZOU คือการรวบรวม ‘คนเก่ง’ จากหลากหลายสาขา ไม่ใช่แค่ Designer แต่ยังมี Developer, Project Manager, QA และทีมงานเบื้องหลังอีกหลายชีวีต ซึ่งทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจกต์ตั้งแต่ Day 1

ความหลากหลายของทีม เป็นอีกจุดแข็งที่ทำให้ OOZOU มองปัญหาได้รอบด้าน 360 องศา และสามารถออกแบบ Solution ที่ตอบโจทย์ User และ Business ได้อย่างลงตัว

งานดีไซน์ และความคิดสร้างสรรค์ของ OOZOU สะท้อนออกมาได้ตั้งแต่ข้างใน ทีมงานของ Oozou มีความหลากหลายสูง พนักงานมีทั้งชาวไทย และต่างชาติจากหลากหลายอุตสาหกรรม ประกอบกับ Workspace ของ Oozou ที่เปิดกว้างซึ่งส่งผลต่ออิสระทางความคิดของทีมงานโดยตรง

ตัวตนของ OOZOU สะท้อนให้เห็นผ่านผลงานตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่อยู่ในวงการ เคยจับงานด้านดีไซน์มาอย่างหลากหลาย ทั้ง Hospitality, E-commerce, Travel Booking หรือแม้แต่งานยากๆ อย่าง Fintech ก็ทำมาหลายโปรเจ็กต์เช่นเดียวกัน 

เราต้องคิดเสมอว่าเราคือตัวแทนของ User เราต้องทำความเข้าใจพวกเขาอย่างลึกซึ้ง


คุณภัทราภรณ์ เหมัน (โตโร่), Lead Product Designer | คุณรวิ จรรยาวิลาส (รวิ), Lead Product Designer

คุณภัทราภรณ์ อธิบายต่อว่า สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนเริ่มดีไซน์คือ ‘เรียนรู้ธุรกิจ และ 'เป้าหมายของ User’ เพื่อให้เข้าใจว่าธุรกิจกำลังทำอะไรอยู่ มี Paint Point ตรงจุดไหน และ User ต้องการอะไรจากแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์นั้นๆ

ทุกเสียงมีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นเสียงของ User หรือเสียงของ Busines เราให้คุณค่ากับทั้งสองอย่างควบคู่กัน และนำมาประยุกต์ใช้กับการดีไซน์เสมอ

คุณพรชัย เสริมว่า หัวใจสำคัญของการออกแบบ คือการเปิดกว้างรับฟังทั้งเสียงของลูกค้า และเสียงของผู้ใช้ เพราะดีไซน์เนอร์มีหน้าที่เชื่อมโยง 'เป้าหมายทางธุรกิจ เข้ากับ 'ความต้องการของผู้ใช้' ให้เกิดเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุด

การทำความเข้าใจ Business Goal และ User Needs อย่างลึกซึ้ง จะช่วยให้ Design Solution ตอบโจทย์ ทั้งในแง่ของธุรกิจ และประสบการณ์ของผู้ใช้อย่างแท้จริง

UX/UI กับสิ่งที่ใครหลายคนยังเข้าใจผิด

หลายคนมองว่า UX/UI คือการ ‘ออกแบบ Solution ให้ออกมาสวยงาม’ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ผิด แต่ก็อาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด OOZOU อธิบายว่า ดีไซน์ที่ดีไม่ใช่แค่ความสวย แต่ต้องใช้งานได้จริง และตอบโจทย์ทั้ง User Needs และ Business Goals ไปพร้อมๆ กัน

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่พบบ่อย คือ การให้ความสำคัญกับความสำเร็จของธุรกิจ มากกว่าประสบการณ์ของผู้ใช้ จริงอยู่ที่ธุรกิจมุ่งหวังผลลัพธ์เชิงธุรกิจ เช่น ยอดขาย หรือจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น แต่การมุ่งเน้นเป้าหมายเหล่านี้เพียงอย่างเดียว อาจทำให้มองข้ามหัวใจสำคัญ นั่นคือ 'ประสบการณ์ของผู้ใช้’

กุญแจสำคัญคือ การสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายทางธุรกิจและความต้องการของผู้ใช้ Product ที่ดี ต้อง Drive Business Success ไปพร้อมๆ กับการสร้างประสบการณ์ที่ดี ที่ทำให้ผู้ใช้ ‘รัก’ และ ‘อยากกลับมาใช้งานซ้ำ' เพราะในระยะยาว ผู้ใช้ คือ หัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ Product ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น ประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้ (UX) คือ ‘เชื้อเพลิง’ ที่ช่วยขับเคลื่อน Product ไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน หากผู้ใช้รู้สึกว่า Product ใช้งานยาก ไม่ตอบโจทย์ หรือ ไม่ได้รับประสบการณ์ที่ดี พวกเขาก็อาจ ‘เลิกใช้’ และหันไปหาคู่แข่ง แม้ Product นั้นจะ ประสบความสำเร็จในแง่ของตัวชี้วัดทางธุรกิจก็ตาม

การทำ UX/UI อาจดูเป็นเรื่องที่มีดีเทลสูง ลูกค้าบางคนอาจไม่ได้มีความถนัดในด้านดีไซน์ ส่งผลให้ในบางครั้ง Product อาจออกมาไม่ตรงใจ การตีโจทย์ระหว่างดีไซน์เนอร์ และลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง OOZOU ให้คำแนะนำว่า ต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจปัญหาที่ถูกต้อง

'การแก้ปัญหาก่อนความสวยงาม' เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่ดีไซน์เนอร์อยากได้ยินจากลูกค้า ไม่ใช่ปัญหาของลูกค้าแต่คือ ‘ปัญหาของลูกค้าของลูกค้า’ เพราะนั่นคือ Insight ที่จะช่วยให้ดีไซน์เนอร์เข้าใจ User Needs อย่างลึกซึ้ง และช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ได้อย่างตรงจุด

Design System เสาหลักแห่งความสำเร็จของ UX/UI

‘Design System’ เป็นสิ่งที่ OOZOU ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หลายคนอาจจะมองข้ามในเรื่องการออกแบบสิ่งที่เปรียบเสมือน ‘พิมพ์เขียว’ หรือ ‘ไบเบิลแห่งการออกแบบ’

คุณรวิ อธิบายให้ฟังว่า Design System จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับทั้งฝั่งลูกค้า และทีมงาน โดยมี 3 มุมมองที่น่าสนใจคือ

1.เพิ่มประสิทธิภาพของทีมผู้พัฒนา (Team Efficiency)

ในการพัฒนา Digital Product ขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยฟีเจอร์จำนวนมาก และทีมงานจากหลากหลายแผนก การมี Design System เปรียบเสมือน ‘ภาษากลาง’ ที่ช่วยให้ทุกคนสื่อสารและทำงาน ไปในทิศทางเดียวกัน 

ลองนึกภาพแอปฯ E-commerce ที่จำเป็นต้องใช้ทีมงานจำนวนมาก หากปราศจาก Design System ที่เป็นเสมือนพิมพ์เขียว การทำงานจะขาดทิศทางที่ชัดเจน เกิดความซับซ้อน และไม่ต่อเนื่องกัน 

Design System จึงเปรียบเสมือนตัวช่วย ‘จัดระเบียบ’ การทำงาน ให้ทุกคน ‘พูดภาษาเดียวกัน’ โดยกำหนดสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ใน Product นั้นเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดความเข้าใจผิดของแต่ละทีมระหว่างการทำงาน

นอกเหนือจากนั้น Design System ยังช่วยให้การทำงานของทีมรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากดีไซน์เนอร์มี Component ที่สามารถหยิบมาใช้งานได้ในทันที จึงลดงานการออกแบบด้าน UI และสามารถเน้นหนักไปที่ UX Design ได้มากยิ่งขึ้น

2.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน

Design System ไม่ได้มีไว้แค่เพื่อทีมผู้พัฒนา Product เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ ‘ประสบการณ์ของผู้ใช้โดยตรง’ เนื่องจากช่วยสร้างประสบการณ์การใช้งานที่สม่ำเสมอ และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี ฟอนต์ หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ใน UI

ความสอดคล้องนี้ของดีไซน์ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกคุ้นเคยกับ Interface ส่งผลให้ การเรียนรู้ และการใช้งาน เป็นไปอย่างลื่นไหล ซึ่งด้วยประสบการณ์นี้เองจะช่วยลด ‘อุปสรรคในการเข้าถึง (Entry Barrier)’ ทำให้ผู้ใช้ทุกระดับ สามารถใช้งาน Product ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาทำความเข้าใจ UI ใหม่ทุกครั้งที่ใช้งาน

3.การส่งมอบงาน

Design System ยังมีประโยชน์ไปถึงลูกค้า เพราะช่วยให้การส่องมอบงานให้กับลูกค้าเป็นไปอย่างราบรื่น ทีมของลูกค้าสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนา Product ต่อได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น

ดีเทลเล็กๆ คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่

‘Details’ ในงานดีไซน์เป็นอีกสิ่งที่ส่งผลต่อ UX ที่ดีไม่แพ้กัน Icon หรือ Typography อาจสิ่งที่ชินตาจนหลายคนอาจมองข้าม แต่กลับส่งผลต่อประสบการณ์ใช้งานอย่างคาดไม่ถึง 

คุณรวิ อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า Icon คือ ‘ภาษาภาพ’ ที่ทุกคนมองแล้วต้องเข้าใจ มนุษย์คุ้นเคยกับ Icon มาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็น สัญลักษณ์ห้องน้ำ ป้ายบอกทาง หรือ สัญลักษณ์บน ปุ่มกดต่างๆ ซึ่งในโลกดิจิทัล Icon ก็มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ใช้ในการสื่อสาร และนำทาง User ให้ใช้งานแอปฯ หรือเว็บไซต์นั้นได้อย่างสะดวก บางครั้งเพียงกวาดตาดูที่ Icon ก็จะทราบทันทีว่าแอปฯ นั้นคืออะไร มีฟังก์ชันอะไรให้ใช้งานบ้าง 

การใช้งาน Icon ที่สื่อสารและเข้าใจได้ง่าย ไม่เพียงแต่จะช่วยลดการประมวลผลข้อมูลของผู้ใช้ แต่จะทำให้ Product มีความเป็นสากล ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลายทุกเพศทุกวัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งานที่ดี (Inclusivity) 

ส่วน Typography หรือ ‘การเลือกใช้แบบตัวอักษร’ ต้องเลือกให้สอดคล้องกับ Brand Identity และสามารถสร้าง Brand Personality ได้อย่างชัดเจน เพราะต้องไม่ลืมว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่เราเห็น ถูกสื่อสารผ่าน Text แทบจะทั้งหมด อีกทั้งการเลือกฟอนต์ยังต้องคำนึงถึงบริบทที่จะถูกนำมาใช้งาน เช่น ฟอนต์ Body Text ควรจะเป็นฟ้อนต์ที่ทุกกลุ่มผู้ใช้งานกวาดตามองอ่านได้ง่าย

“การเลือกฟอนต์ มันสำคัญมาก ต้องดูว่าจะเอาไปใช้กับอะไร เป็น Body Text, Heading, หรือ ปุ่ม ความสำคัญมันต่างกัน และต้องคำนึงถึง User ด้วยว่าฟอนต์เหมาะแก่การอ่านหรือไม่” คุณรวิ กล่าวเสริม

Icon และ Typography ทำหน้าที่เป็น ‘ตัวแทน’ ของแบรนด์ ที่ช่วยสื่อสารเอกลักษณ์และบุคลิกของแบรนด์ การเลือกใช้ไอคอนและฟอนต์ จึงต้องเหมาะสมกับตัวสินค้าและแบรนด์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่สอดคล้อง และน่าจดจำ ซึ่ง OOZOU ไม่พลาดเก็บดีเทลสำคัญเหล่านี้ให้อยู่หมัด

UX/UI ที่ดีต้องปรับตัวเข้ากับทุกเทรนด์ ดีไซน์เนอร์ที่ดีต้องมี 5 อย่าง

ในอนาคต Data Privacy และ Security จะเป็น Challenge สำคัญของ UX/UI เราต้องดีไซน์ให้ผู้ใช้รู้สึกปลอดภัย ไปพร้อมๆ กับการใช้งานที่ Seamless

แม้เทรนด์ AI จะได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน แต่ OOZOU มองว่า ‘Data Privacy และ Security’ จะเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่งกว่า

ย้อนกลับไปในสมัยก่อน ผู้ใช้อาจไม่ตระหนักถึงความสำคัญของ Data Privacy มากนัก แต่ด้วยภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และการใช้งาน Digital Product ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล เช่น แอปฯ ทางการเงิน รวมถึงการเข้ามาของเทรนด์ AI ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้เริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวมากยิ่งขึ้น

ความท้าทายของ UX/UI Designer และทีมผู้พัฒนา คือการสร้างสมดุลระหว่าง ‘ความปลอดภัย’ และ ‘ความสะดวกในการใช้งาน’ เช่น การออกแบบการยืนยันตัวตน (2FA/MFA) ที่มีความปลอดภัย แต่ยังให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดี หรือแม้กระทั่งการเลือกใช้ UX Writing และ UI ที่สื่อสารให้ผู้ใช้รู้สึกไว้วางใจในระหว่างการใช้งาน เป็นต้น 

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและประเภทของแอปฯ เช่น แอปฯ ด้านการเงิน อาจต้องให้น้ำหนักไปที่ความปลอดภัย มากกว่าความสะดวกสบาย ในขณะที่แอปฯ Social Media อาจเน้นไปที่ความสะดวกมากกว่า

ซึ่งหมายความว่า UX/UI ที่ดี ต้องปรับตัวไปตามเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้ใช้เพื่อสร้าง User Experience ที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ

คุณพรชัย แป้นคุ้มญาติ (หมิง), Product Designer

หากถามว่า ‘ดีไซน์เนอร์ที่ดี’ ต้องมีอะไรบ้าง ? เพื่อส่งต่อประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับ User ได้ คุณพรชัย สรุปเอาไว้ 5 ข้อซึ่งเป็นคุณสมบัติของชาว OOZOU เลยก็ว่าได้

1.ความอยากรู้อยากเห็น และการตั้งคำถามที่ดี (Curiosity / Asking the Right Questions)

UX/UI Designer ที่ดีต้องต้องเป็น ‘นักสังเกต’ และ ‘นักตั้งคำถาม’ มองเห็น Pain points ที่คนอื่นมองข้าม และกล้าที่จะตั้งคำถาม เพื่อค้นหา Solution ที่ดีกว่า

ความช่างสงสัยผ่านการสังเกต และการมองให้ลึกโดยไม่ละเลยรายละเอียด จะช่วยให้ดีไซน์เนอร์มองเห็น Pain Points ที่คนอื่นมองข้าม หรือความต้องการที่ User อาจไม่ได้สื่อสารออกมา และกล้าที่จะ 'ตั้งคำถาม' เพื่อทำความเข้าใจ และนำไปสู่การค้นหา Solutions ที่ดีกว่า

นอกจากนี้ การสังเกตและการตั้งคำถามยังเป็นสกิลสำคัญที่ช่วยให้ UX/UI Designer เข้าใจ User Needs อย่างลึกซึ้ง การสังเกต User ระหว่างใช้งาน Product ช่วยให้ดีไซน์เนอร์เข้าใจพฤติกรรม และ Pain Points ที่ User อาจไม่ได้สื่อสารออกมาในขณะที่การตั้งคำถาม ช่วยให้ ดีไซน์เนอร์ท้าทาย Assumption เดิมๆ และมองหา Solution ที่ Innovative มากขึ้น นอกจากนี้ การตั้งคำถาม ยังช่วยให้ดีไซน์เนอร์สื่อสาร และทำงานร่วมกับทีมและลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy)

ดีไซน์เนอร์ที่ดีต้องเข้าใจ User อย่างลึกซึ้ง เราต้องสวมหมวกเป็นผู้ใช้ ก้าวเข้าไปในโลกของพวกเขา ทำความเข้าใจความคิด คำพูด การกระทำ และความรู้สึก ราวกับเป็นผู้ใช้งานจริง

การเข้าถึง ‘มุมมอง’ ของผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง จะทำให้ดีไซน์เนอร์สามารถมองเห็น Insight และโอกาสใหม่ๆ ที่ซ่อนอยู่ นำไปสู่การสร้าง Solution ที่ ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์แต่ ‘ตรงใจ’ ผู้ใช้ และสร้าง Impact ให้กับธุรกิจได้อย่างแท้จริง

3.ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving)

การออกแบบ คือ การแก้ปัญหา UX/UI Designer อาจเรียกได้ว่าเป็นนักแก้ปัญหาโดยธรรมชาติ พวกเขาต้องพร้อมเผชิญกับความท้าทายและโจทย์ใหม่ๆ อยู่เสมอ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่รวดเร็ว และเตรียมพร้อมสำหรับเผชิญหน้าปัญหาใหม่ๆ จึงเป็นทักษะที่สำคัญ 

นอกจากนี้ UX/UI Design ไม่ใช่กระบวนการที่ทำจบในครั้งเดียว แต่เป็น Journey แห่งการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอด Design Process ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ดีไซน์เนอร์จึงจำเป็นต้องปรับตัว และหา Solution ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อต่อยอดไอเดียใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นจริงได้ตลอดเวลา

4.การคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic thinking)

Digital Product ไม่ใช่แค่สิ่งที่โชว์อยู่บนหน้าจอ แต่คือ ‘ระบบ’ ที่ผู้ใช้กำลังรับประสบกาณณ์ ผ่านการ Interact กับหน้าจอที่เปลี่ยนแปลงไปตามการใช้งาน ดังนั้น UX/UI Designer จึงต้อง ‘คิดแบบองค์รวม’ มองเห็น User Flow และ Journey ทั้งหมดของการใช้งาน เพื่อให้งานที่ออกแบบสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดี ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการใช้งานของ User

5.ใส่ใจในรายละเอียด (Details Oriented)

แม้จะมองภาพใหญ่ แต่ต้องไม่ละเลยในสิ่งเล็กๆ ต้อง ‘มองให้ลึกกว่า User และ Business’ ต้องมองเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหา และตอบโจทย์ความต้องการของ User ที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป ซึ่งจะช่วยให้งานออกแบบเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้ใช้งาน

Craft ประสบการณ์ที่ ‘แตกต่าง’ และ ‘ยั่งยืน’

OOZOU ในวันนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงผู้รับจ้างในการทำ Digital Product แต่พวกเขาคือ ‘Partner’ ที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จผ่านงานออกแบบที่ดี เหมือนเพื่อนสนิทที่คอยคอยติดตาม และให้คำแนะนำกับแบรนด์ไปตลอด Journey แม้งานชิ้นนั้นจะจบลงแล้ว หากเปรียบเป็นบ้านพวกเขาไม่ใช่แค่ผู้รับเหมา แต่คือเพื่อนบ้านที่จะคอยดูแลเจ้าบ้านอยู่เสมอ

เพราะสุดท้ายพวกเขาก็คือ User ของแอปฯ เป็น User ของ Business ที่ต้องการออกแบบสิ่งที่ดีให้ตอบโจทย์ทุกคน

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ หรือปรึกษาด้าน UX/UI กับ OOZOU ได้ที่ : https://oozou.com/

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไม AI ถึงสำคัญ กับ Data Analytics เคล็ดลับการใช้ Data ให้ง่ายขึ้นจาก Wisesight

ชวนมาฟัง คุณวรัทธน์ วงมณีกิจ Chief Product Officer จาก Wisesight ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียชั้นนำในประเทศไทย ใน Session How to Combine AI and Data Analytics fo...

Responsive image

WFH ตกยุค? Amazon vs Google กับอนาคตการทำงาน เมื่อยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีเลือกเส้นทางสู่ความสำเร็จต่างกัน

การระบาดของ COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง หลายบริษัทหันมาใช้นโยบาย Work From Home (WFH) เพื่อความปลอดภัยของพนักงาน แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย บริษัทเทคโนโลยียัก...

Responsive image

แจก 4 ฟีเจอร์ AI ออกแบบใน Microsoft Designer แอปคล้าย Canva ผสม Midjourney

บทความนี้ Techsauce จึงอยากพามาทำความรู้จักกับ Microsoft Designer กันอีกสักครั้ง ว่าผ่านไป 2 ปี แพลตฟอร์มนี้มีอะไรเพิ่มมาใหม่บ้าง...