ในบรรดาผู้เล่นด้านรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่เข้ามาแข่งขันในไทย มีหนึ่งแบรนด์ที่ชื่อ GAC ที่รุกตลาด EV บ้านเราแบบครบจบทั้งรถแท็กซี่ รถครอบครัว ไปจนถึงรถระดับพรีเมียม
แต่ GAC คือใครมาจากไหนกันแน่ ? Techsauce พาไปหาคำตอบเพื่อให้รู้จัก GAC กันมากขึ้นผ่านบทความนี้
ที่มา : GAC
กวางโจว เมืองที่ใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของจีน แม้จะเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ดูจะได้เปรียบด้วยการเป็นเมืองท่าที่อยู่ใกล้กับฮ่องกง และมีการนำรถยนต์เข้ามาผ่านเมืองนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ช่วงหนึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของเมืองนี้กลับเน้นไปที่ธุรกิจโรงงานซ่อมรถยนต์ และการผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กให้กับแบรนด์อื่นๆ
แต่แล้วความฝันของชาวกวางโจวก็ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง หลังมีการเปิดโรงงานซ่อมรถโดยสารสาธารณะกว่างโจว ได้สร้างรถโดยสารที่ใช้โครงสร้างเหล็ก และไม้คันแรกด้วยมือโดยไม่มีอุปกรณ์ใดๆ สะท้อนให้เห็นถึงความหลงไหลด้านรถยนต์ของชาวกวางโจว
ในตอนนั้นกวางโจวมี 3 กลุ่มบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านรถ แต่ถนัดไปคนละทาง
ด้วยความเชี่ยวชาญของ 3 กลุ่มบริษัทนี้ทำให้สภาเมืองกวางโจวต้องก่อตั้ง Guangzhou Automobile Group (GAG) เพื่อรวมศูนย์ 3 บริษัทรถยนต์เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน
การก่อตั้ง GAG นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์กว่างโจวเลยก็ว่าได้ เพราะหลังจากนั้น มีการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งใหม่ในชื่อ GAIC ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของทั้งหมด
หลังจากนั้นได้รวมธุรกิจรถยนต์ที่ GAG มีอยู่ เข้ากับ Guangzhou Motors Group บริษัทผลิตจักรยาน และจักรยานยนต์ให้อยู่ภายใต้บริษัทแม่เดียวกัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ากว่างโจวพร้อมลุยตลาดรถยนต์ส่วนบุคคลเต็มกำลัง
การจัดตั้ง GAIC แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของสภาเมืองกวางโจว ในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างจริงจัง GAIC ทำหน้าที่เป็นบริษัทแม่ของ GAG และ Guangzhou Motors Group ซึ่งหากจะเปรียบว่า GAIC คือหัวเรือในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในตอนนั้นก็คงไม่ผิดนัก
ต่อมาในปี 2005 GAG ได้ปรับโครงสร้างองค์กรเปลี่ยนชื่อเป็น Guangzhou Automobile Group Co., Ltd. หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ GAC หรือ GAC Group และกลายเป็นบริษัทมหาชนโดยมีสถานะเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจของจีน (State-owned enterprises of China)
ส่วน GAIC ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในฐานะโฮลดิ้ง การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้ GAC มีความคล่องตัวในการระดมทุน และขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง GAC ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองไม่นานในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 5 ในจีนได้สำเร็จ
นับแต่นั้นมา GAC ก็เดินหน้าอย่างเต็มกำลัง สร้างความร่วมมือกับบริษัทรถยนต์ระดับโลกจนถึงขั้นมีบริษัทร่วมทุนอย่าง GAC Toyota, GAC Honda, GAC Fiat ไปจนถึง GAC Mitsubishi พร้อมกับก่อตั้ง GAC Motor เพื่อผลิตรถรยนต์ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง รวมถึงการก่อตั้ง GAC Aion New Energy Automobile (GAC Aion) เพื่อลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยในตอนนี้ GAC Group มีแบรนด์แยกออกไปตามบริษัทในเครือดังนี้
นอกเหนือจากบริษัทในเครือที่ผลิตรถยนต์แบบครอบคลุมแล้ว GAC ยังมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจอย่าง
GAC Group ได้เข้ามาบุกตลาดประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 โดยรุ่นแรกที่นำเข้ามาขายคือ AION Y PLUS ต่อมาในปี 2567 ได้เริ่มสร้างโรงงานผลิตนอกจีนแห่งแรกในไทยที่จังหวัดระยอง เพื่อดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวาทั่วโลก โดยมีการลงทุนในเฟสแรกเป็นมูลค่ากว่า 2,300 ล้านบาท
ช่วงปลายปี 2567 มีการนำเอารถยนต์ EV ซีรีส์พรีเมียมอย่าง Hyptec HT เข้ามาขายในไทยซึ่งชูจุดเด่นในเรื่องของดีไซน์ประตูปีกนก ชุดมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ 4-in-1 และแบตเตอรี่ที่วิ่งได้ไกลถึง 620 กิโลเมตรต่อการชาร์จ
นอกเหนือจากรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแล้ว GAC ยังเจาะตลาดรถแท็กซี่ในประเทศไทยด้วย โดยมีบริษัท โกลด์ อินทริเกรท จำกัด หรือ GI ซึ่งเป็นดีลเลอร์รายใหญ่ของ GAC ได้จับมือกับ EVme เพื่อขายรถรุ่น AION ES ให้กับลูกค้าที่ต้องการนำรถไปทำแท็กซี่ นอกจากนี้ GI ยังร่วมมือกับ GAC Energy ลงทุน 200 ล้านหยวน เพื่อขยายสถานีชาร์จแบบ DC ไปทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเปิด 180 แห่งภายใน 5 ปี
จากการรุกตลาดอย่างหนักหน่วงของ GAC Group ในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะครองส่วนแบ่งตลาด EV ในไทย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคอาเซียน ผ่านการผนึกกำลังกับพันธมิตร และการสร้างระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้าที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นการขยายสถานีชาร์จ การทำราคาที่เข้าถึงง่าย และการนำเสนอรถยนต์หลากหลายรุ่น
อย่างไรก็ตาม GAC Group ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย เช่น การแข่งขันที่รุนแรงจากแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ให้กับผู้บริโภคชาวไทย
อ้างอิง : Carnewschina (1), (2), (3), (4), mb.com, GAC (1), (2), (3)
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด