True Digital Park จัดเสวนา Corporate Club ครั้งที่ 2 หยิบยกประเด็นร้อนแรงที่จะเข้ามาสั่นสะเทือนองค์กรธุรกิจต่างๆ นั่นคือเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่หลายๆ ฝ่ายเริ่มตั้งข้อสงสัยและถกเถียงกันถึงบทบาทของสมองกลอันชาญฉลาดที่กำลังเข้ามามีส่วนสำคัญอย่างมากในหลายธุรกิจเเละอุตสาหกรรม รวมถึงยังเป็นที่จับตามองว่าจะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม
งานเสวนาในครั้งนี้ ได้บุคคลที่อยู่ในแวดวงธุรกิจต่างๆ ทั้งบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ สถาบันการเงิน และ สตาร์ทอัพผู้ให้บริการ Co-Working Space มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการนำ AI ไปใช้ ได้แก่
คุณแอ็กเซล เลอแมร์ Global Head ดูแลแพลตฟอร์ม Terra Numerata บริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ ได้เปิดประเด็นด้วยการตั้งคำถามว่า เราจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ AI ระดับประเทศหรือไม่ เพื่อกระตุ้นให้ตระหนักถึงบทบาทและผลกระทบของ AI ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของผู้คน คำว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ อาจฟังดูซับซ้อน เป็นคำเทคนิค แต่ที่จริงแล้ว AI ไม่ได้อยู่ไกลจากชีวิตเราเลย ยกตัวอย่างเช่น สมาร์ทโฟนที่ทุกคนมี เทคโนโลยีต่างๆ ในมือถือนั้นล้วนเป็นระบบ AI ทั้งสิ้น ดังนั้น AI ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือ AI ที่เกี่ยวข้องกับเราในชีวิตประจำวัน ยิ่งไปกว่านั้นยังมี Deep Learning หรือ Artificial General Intelligence (AGI) ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ คุณแอ็กเซล ยังเล่าถึงประสบการณ์การกำหนดยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติของฝรั่งเศสว่า เป็นลักษณะการกำหนดจุดยืน ทิศทางในการพัฒนา มากกว่าในแง่ของการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี จะเห็นได้ว่ายุคนี้มีการใช้ AI อย่างแพร่หลาย เพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงทำได้ง่ายกว่าในอดีต มีต้นทุนที่ถูกลง มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรม อีกทั้งกิจการมีการขยายตัวมากขึ้น การพัฒนา AI จึงเพิ่มขึ้นมาก การดึงพลังจากการพัฒนาในภาคส่วนต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน จะทำให้เกิดการผสานศักยภาพและทำให้เกิดประโยชน์ในกรอบที่กว้างขึ้นมากกว่าเดิม
คุณแอ็กเซล ได้แบ่งการนำไปใช้ประโยชน์ของ AI เป็น 2 มิติ คือ ภาคเอกชนและภาครัฐบาล ภาคเอกชนอาจใช้ AI ในการให้บริการ เช่น การสื่อสารโต้ตอบกับลูกค้า การใช้ IoT เก็บข้อมูลพยากรณ์ การบำรุงรักษา ส่วนภาครัฐบาลอาจใช้ AI ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เก็บข้อมูลความแปรปรวนของอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพท้องทะเล หรืออาจนำไปใช้เพื่อป้องกันการถูกโจมตี เป็นต้น
“เราปฏิเสธ Smart City, Mobility หรือการพัฒนาอื่นๆ ไม่ได้ ต้องยอมรับว่าข้อมูลจะถูกแชร์ออกไปทั้งกับธุรกิจที่เป็นพันธมิตรและคู่แข่ง ที่ฝรั่งเศสจะมีบทความเกี่ยวกับ AI ทุกวัน สาธารณชนมีความตื่นตัวอย่างมากในเรื่องนี้ ทั้งประเด็นด้านจริยธรรมหรือผลกระทบด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการถกกันเป็นวงกว้างซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ตนเคยได้นำเสนอประเด็นการเปิดเผยข้อมูล (Open data by default) หรืออัลกอริทึมสาธารณะ (Public Algorithm) สำหรับสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้เกิดการถกกันในเรื่องนี้อย่างโปร่งใส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ”
ส่วนคำถามที่ว่า ประเทศไทยควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติเหมือนที่ฝรั่งเศสหรือไม่นั้น
คุณแอ็กเซล ระบุคำตอบให้ไม่ได้ แต่ให้ความเห็นเพิ่มว่าทั้ง 2 ประเทศมีข้อจำกัดที่เหมือนกัน คือ มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนจำกัด ความเข้าใจของสาธารณะยังจำกัด และไม่ค่อยมีการศึกษาวิจัยด้านนี้ ความ ท้าทายของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามการยกประเด็นขึ้นมากล่าวถึงและการตั้งคำถามถกกันเรื่อยๆ นั้น จะทำให้เราได้คำตอบในที่สุด
“การกำกับดูแล (Governance) AI นั้น มีประเด็นสำคัญคือ ใครจะเป็นผู้ออกแบบพารามิเตอร์ในระบบอัลกอริทึม การกำกับการใช้ AI คือ การสร้างความสมดุลในระบบ ประเด็นเรื่องจริยธรรม ความรับผิดชอบต่างๆ อยู่ที่ใคร ต้องมีผู้นำบอกว่า มาช่วยกันทำให้ AI เป็นระบบเปิดและโปร่งใส นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของลูกค้าก็สำคัญ” คุณแอ็กเซล กล่าวทิ้งท้าย
คุณเรย์ แทน ผู้อำนวยการด้านการขายระดับภูมิภาค WeWork Southeast Asia ให้ความเห็นว่า AI มีความสามารถในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การรู้จำเสียง (Voice Recognition), การรู้จำข้อความ (Text Recognition), การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing (NLP) Algorithms, การเรียนรู้ของเครื่องจักร Machine Learning (ML), ความสามารถในการพยากรณ์จากการใช้คลังข้อมูลที่มีอยู่รวมไปถึงการค้นหาและเชื่อมโยงผู้คนหรือชุมชนต่างๆ สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาบริการและเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจได้
“อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ AI จะถูกนำมาใช้แพร่หลายในธุรกิจแต่ AI ก็ยังไม่สามารถทำงานทดแทนในส่วนการสร้างประสบการณ์เลียนแบบมนุษย์ (Re-create human experience) ที่ต้องอาศัยการเชื่อมโยงระหว่าง คน วัฒนธรรม และชุมชน ได้ดังเช่นมนุษย์จริงๆ” คุณเรย์ กล่าว
ส่วน ดร.ศรัณย์ อาฮูยา นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโส บริษัท SCB Abacus เผยว่า “AI เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำโมเดลประเมินสินเชื่อ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน หรือใช้ในการจัดการงานเอกสารต่างๆ ทั้งยังนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาธุรกิจและบริการ ทำให้สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจและการเงินของลูกค้าที่หลากหลายและครอบคลุมอย่างตรงจุด”
“แต่อย่างไรก็ตาม AI ยังมีข้อจำกัดด้านตัวข้อมูล เพราะการเก็บข้อมูลกลุ่มคนที่ต้องการ ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกปัจจัยหนึ่งคือการนำ AI มาใช้ในทางปฏิบัติต้องมีทีมงานจากหลายแขนง ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพียงอย่างเดียว” ดร.ศรัณย์ กล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด