เบื้องหลัง XPENG รถไฟฟ้าฉายาเทสล่าแห่งเมืองจีน ที่กำลังท้าทายโลก EV ด้วยเทคโนโลยี | Techsauce

เบื้องหลัง XPENG รถไฟฟ้าฉายาเทสล่าแห่งเมืองจีน ที่กำลังท้าทายโลก EV ด้วยเทคโนโลยี

XPENG (เอ็กซ์เผิง) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยกับรุ่น XPENG G6 กำลังสร้างชื่อเสียงด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาสั้นๆ 

สิ่งที่ทำให้ XPENG แตกต่างจากคู่แข่งในประเทศจีน คือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการผสมผสานความเชี่ยวชาญจากโลกดิจิทัลเข้ากับอุตสาหกรรมยานยนต์ จนถูกขนานนามว่าเป็น Tesla แห่งเมืองจีน บ้างก็ว่าเป็น Tesla Killer

จุดเริ่มต้นของ ‘Tesla แห่งเมืองจีน’

เบื้องหลังความสำเร็จของ XPENG มาจากชายที่ชื่อ He Xiaopeng (เหอ เสี่ยวเผิง) ผู้พา XPENG เข้ามาเขย่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วยนวัตกรรม

He Xiaopeng สมัยทำงานที่ UCWeb และ Alibaba

He Xiaopeng เติบโตมาจากสายเทคโนโลยี จบคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก South China University of Technology ช่วงที่เริ่มทำงานให้กับบริษัทชั้นนำด้านไอทีของจีนอย่าง AsiaInfo Technologies เขาสวมบทบาทหลากหลายตำแหน่งในสายเทคฯ และสายบริหาร จนนำไปสู่การก่อตั้ง UCWeb เมื่อปี 2004 ก่อนที่จะถูก Alibaba ซื้อกิจการไปในปี 2014 ด้วยมูลค่ากว่า 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้เงินที่ได้จะทำให้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี He Xiaopeng ยังคงทำงานให้กับ Alibaba ต่อไปอีก 4 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งที่มี เพื่อออกไปตามล่าความฝันในเส้นทางใหม่ภายใต้บริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า ‘XPENG’ 

เป้าหมายคือการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจีนระดับพรีเมียมที่ดูดี ล้ำสมัย และเต็มไปด้วยความไฮเทค เพื่อลบภาพจำรถจีนราคาถูกคุณภาพต่ำ

Henry Xia และ He Tao สองผู้ร่วมก่อตั้ง XPENG ที่เปรียบเหมือนมันสมองบริษัทในตอนนั้น

XPENG (ชื่อเดิม Guangzhou Chengxing Zhidong Automobile Technology Co., Ltd.) ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 โดยมี Xia Heng (เซี่ย เหิง) และ He Tao (เหอ เถา) เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ทั้งคู่เปรียบเสมือนมันสมองของบริษัท ด้วยประสบการณ์ทางด้านยานยนต์ที่สั่งสมมาจาก GAC New Energy ซึ่งเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ในวงการรถไฟฟ้าจีน

Xia Heng เป็นถึงอดีตวิศวกรอาวุโส มีบทบาทสำคัญในการสร้างรถยนต์ GAC Trumpchi ส่วน He Tao เป็นวิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านระบบควบคุมรถยนต์ ช่ำชองด้านการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ ขณะที่ He Xiaopeng ที่แม้จะไม่ประสบการณ์ด้านรถยนต์เท่าคนอื่น แต่หน้าที่การจัดหาเงินทุน ไม่มีใครแทนที่เขาได้

He Xiaopeng เปี่ยมไปด้วยความหลงไหลในยานยนต์ยุคใหม่ เขาศึกษา และเฝ้าดู Tesla อย่างใกล้ชิด ครั้งหนึ่งตอนที่เขาได้รถ Tesla Model S เขาได้เสนอให้ Alibaba ลองพัฒนารถอัจฉริยะ แต่กลับถูกปฏิเสธ และเมื่อ Elon Musk ออกมาประกาศเปิดเผยสิทธิบัตรรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ XPENG เร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง

รวมพลคนหัวกะทิ สร้าง ‘Dream Team’

Brian Gu หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ XPENG ดึงตัวมาทำงานด้วย

เพื่อให้ความฝันในการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะเป็นจริง จำเป็นต้องมีทีมงานที่แข็งแกร่ง XPENG ได้ดึงบุคลากรชั้นนำจากบริษัทดังมาร่วมงานมากมาย เช่น

  • Gu Junli อดีตหัวหน้าทีม Machine Learning ของ Tesla ถูกดึงตัวมาเพื่อรับผิดชอบทีมพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ
  • Lv Xueqing อดีต CFO ของ Ford China ถูกดึงมารับตำแหน่งรองประธานฝ่ายการเงิน
  • Joe Tsai รองประธานบริหารของ Alibaba เข้าร่วมเป็นกรรมการบริษัท
  • Brian Gu อดีตผู้บริหารจาก J.P. Morgan Chase ถูกดึงตัวมารับตำแหน่งรองประธาน เขาเป็นคนสำคัญที่ช่วย XPENG ไม่เจออุปสรรคด้านการเงิน
  • Benny Katibian อดีตรองประธานฝ่ายวิศวกรรม และผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยีจาก Qualcomm ถูกดึงมารับตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี และการดำเนินงาน


แม้จะเป็นบริษัทเล็กๆ แต่ XPENG ก็ใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้เล่นระดับโลกมาโดยตลอด - Brian Gu อดีตผู้บริหารจาก J.P. Morgan Chase


รายชื่อบริษัทที่ลงทุน และบุคลากรที่ XPENG ดึงดูดเข้ามา แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และความจริงจัง ในการพัฒนาธุรกิจ XPENG ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่ เช่น Alibaba, Xiaomi และ Foxconn รวมถึงนักลงทุนรายย่อย นำไปสู่การเสนอขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และฮ่องกง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี หลัง XPENG ได้ระดมทุนเป็นเงินได้กว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ความไฮเทคซ่อนข้างใน ความล้ำสมัยโชว์ข้างนอก

XPENG G3 รถยนต์สร้างชื่อรุ่นแรกของค่าย

XPENG G3 คือรถยนต์ Mass-producion รุ่นแรกของค่าย ปรากฏโฉมให้เห็นเมื่อปี 2018 ในลาสเวกัส สหรัฐฯ รถ C-SUV รุ่นนี้มาพร้อมกับกล้อง 360 องศาที่ติดตั้งอยู่บนหลังคา ดีไซน์ที่อาจดูเหมือนได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Tesla Model X พร้อมจุดเด่นอย่างเทคโนโลยี XPilot เวอร์ชันแรก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีช่วยขับขี่อัตโนมัติที่ XPENG พัฒนาขึ้นมาเอง เช่น การจอดรถอัตมัติ และโหมดรับจอดรถ เป็นต้น 

แม้ว่า XPilot เวอร์ชันแรกจะมีโหมดการใช้งานที่จำกัด แต่ XPENG มีฟังก์ชันการอัปเดตซอฟต์แวร์แบบ OTA เต็มรูปแบบ จึงทำให้ฟังก์ชันการขับขี่ของรถจะได้รับการอัปเดตอยู่ตลอดเวลา

XPENG P7

หลังจากนั้น XPENG ก็ตั้งใจพัฒนารถรุ่นใหม่ไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีอยู่เรื่อยๆ ในปี 2019 มีการเปิดตัวรุ่นที่สองในชื่อ 'P7' รถซีดานรุ่นนี้ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงของ Tesla Model 3 มีจุดเด่นในเรื่องของระยะทางที่วิ่งได้ไกล 700 กิโลเมตรตามมาตรฐาน NEDC ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์คู่ พร้อมระบบ XPilot เวอร์ชันใหม่ที่เทียบเท่ากับมาตรฐานรถยนต์ไร้คนขับ Level 3

สำหรับ XPilot เป็นระบบที่ใช้การผสมผสานระหว่างไลดาร์ เรดาร์ และกล้อง เพื่อช่วยเหลือผู้ขับขี่ ระบบไลดาร์ใช้แสงเลเซอร์ในการสร้างพื้นที่ 3 มิติ โดยการวัดระยะห่างระหว่างวัตถุและเวลาที่แสงสะท้อนกลับ ช่วยเมินความลึกตื้นได้อย่างแม่นยำสำหรับสิ่งกีดขวางขนาดเล็กที่เคลื่อนไหว แม้กระทั่งเด็กและสัตว์เลี้ยง ส่วนเรดาร์จะช่วยให้รถยนต์สามารถตรวจจับความเร็วของวัตถุและตำแหน่งได้

XPENG G6

และต่อยอดมาจนถึงรุ่น G6 ที่เพิ่งเข้ามาขายในไทย ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปอีกขั้น กับระบบชาร์จไฟ 800V รองรับกำลังไฟสูงสุด 280 kW ชาร์จแบตเตอรี่จาก 10-80% ในเวลาไม่ถึง 20 นาที, กล้องรอบคัน 12 ตัว, ผู้ช่วยอัจฉริยะรองรับคำสั่งเสียง, ระบบขับขี่อัตโนมัติที่ใช้ AI เซ็นเซอร์ และแผนที่เพื่อช่วยวิเคราะห์, ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ ไปจนถึงการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อสั่งให้รถเดินหน้า หรือถอยหลังได้

XPENG ยังมีการให้บริการชาร์จฟรีตลอดอายุการใช้งาน คล้ายกับที่ Tesla ให้บริการแก่ลูกค้าทั่วโลก เครือข่ายการชาร์จของ XPENG ได้ขยายไปยังสถานีชาร์จมากกว่า 1,000 แห่งภายในประเทศจีน และลูกค้าสามารถเข้าถึงสถานีของบุคคลที่สามอีก 200,000 แห่งที่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ภายในปี 2025 XPENG คาดว่าจะมีสถานีชาร์จเร็วพิเศษ 2,000 แห่ง

ที่ตั้งของ R&D Center ที่กระจายไปทั่วโลก

ส่วนด้านการผลิต XPENG มีโรงงานสองแห่ง แห่งหนึ่งในจ้าวชิง และอีกแห่งในกวางโจว รวมทั้งยังมีแผนตั้งโรงงานในยุโรปเพื่อลดภาษีนำเข้าในกลุ่มประเทศดังกล่าว หลังจากที่ XPENG ได้บุกตลาดยุโรปไปตั้งแต่ปี 2020 เริ่มต้นที่ประเทศนอร์เวย์ ก่อนที่จะขยายไปสวีเดน และเนเธอแลน์ ซึ่งปัจจุบันได้ทำตลาดใน 30 ประเทศ และภูมิภาค ทั้งยุโรป ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา

ส่วนในประเทศไทย ยังไม่มีการประกาศว่าจะตั้งโรงงานหรือไม่ มีเพียงรายงานว่าจะจัดตั้งโรงงานในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่ XPENG ยังคงมองไทยเป็นตลาดสำคัญสำหรับรถยนต์พวงมาลัยขวา

การทำตลาดของ XPENG เน้นการวางรากฐานที่แข็งแกร่ง ค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงสามปีที่ผ่านมา XPENG มียอดขายรถยนต์เพียงไม่กี่พันคันในไม่กี่ประเทศในยุโรป แต่ภายในเดือนมีนาคม 2024 เดือนเดียว สามารถทำยอดขายได้ 1,000 คัน ซึ่งเป็นผลมาจากการวางรากฐานมานานถึง 3 ปี

ปี 2024 ที่ผ่านมา XPENG มียอดส่งมอบรถยนต์ 141,601 คัน เพิ่มขึ้น 17.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลขดังกล่าวยังคงห่างไกลจาก BYD บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งมียอดขายรถยนต์พลังงานใหม่เป็นประวัติการณ์ถึง 3 ล้านคันในปี 2023 

แต่นั่นไม่ได้หยุดยั้ง XPENG ที่ตั้งเป้าหมายขึ้นเป็นแบรนด์ผู้นำในประเทศภายในปี 2030 และต้องการให้บริษัทมีกำไรภายในปี 2025


อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งแข่ง 

"ถ้าคุณดูว่ามีบริษัทกี่แห่งที่ประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก (มี) น้อยมาก แล้วบริษัทจีนกี่แห่งที่ประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก น้อยกว่านั้นอีก จากมุมมองของผม การขยายธุรกิจไปทั่วโลกเป็นแผนอย่างน้อย 10 ปี” 

“ดังนั้น ไม่ว่าเราจะมีเป้าหมายใหญ่แค่ไหนในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะดำเนินการทีละขั้นตอนอย่างมั่นคง” - He Xiaopeng กล่าวในบทสัมภาษณ์กับ CNA

XPENG ในวันนี้กับความฝันทะยานฟ้า

แน่นอนว่า XPENG ไม่หยุดนวัตกรรมใหม่ๆ เพียงเท่านี้ เพราะตอนนี้กำลังพัฒนา eVTOL (Electric Vertical Take-off and Landing vehicle) หรือรถยนต์บินได้ สามารถขึ้นเทคออฟ และลงจอดในแนวดิ่งได้เหมือนกับโดรน สามารถพับเก็บชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อใช้งานบนพื้นถนน ซึ่งจะช่วยให้รถสามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีสภาพการจราจรติดขัด

นอกจากนี้ XPENG ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อใช้ในการควบคุมรถยนต์บินได้เช่นเดียวกับที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า และหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นการวางแผนระยะยาวของ XPENG ที่มองว่ารถยนต์บินได้จะเป็นอนาคตของการเดินทาง โดยคาดว่าทาง XPENG จะเริ่มวางจำหน่ายรถยนต์บินได้ช่วงปลายปี 2024

ความฝันของ He Xiaopeng และ XPENG ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเป้าหมายสูงสุดของพวกเขาคือการเป็นผู้นำโลกในฐานะแบรนด์จีนพรีเมียม และผู้นำด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่

เวลาเท่านั้นที่จะเป็นตัวพิสูจน์เส้นทางสู่ความฝันของ XPENG ทั้งในประเทศไทย และในระดับโลก

อ้างอิง : carnewschina (1) (2), Wikipedia (1) (2), cnaluxury, cleantechnica, Techcrunch, compasslist

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก LLMs’ Explainability การเข้าใจกลไกสมอง AI หนึ่งใน Tech Trends 2025 ที่จะมาเปลี่ยนโลกเอไอ

เจาะลึกเบื้องหลัง Large Language Models (LLMs) และเทคโนโลยี LLMs’ Explainability ที่ช่วยเปิดเผยกระบวนการทำงานของ AI จากกล่องดำสู่ความโปร่งใส ความก้าวหน้าที่เปลี่ยนโลก AI ในอนาคต!...

Responsive image

รู้จัก AI Product Management สายงานที่ Andrew Ng ชี้มาแรง

สำรวจบทบาท AI Product Management และเหตุผลที่ Andrew Ng ยกให้เป็นตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ AI ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดจนถึงการนำไปใช้งานจริง...

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...