BYD : เปิดจักรวาลรถ EV ที่จะล้ม Tesla มีดีอะไร ทำไมถึงขายดี ? | Techsauce

BYD : เปิดจักรวาลรถ EV ที่จะล้ม Tesla มีดีอะไร ทำไมถึงขายดี ?

BYD ประกาศยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วน สูงถึง 526,000 คันในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 นับเป็นครั้งแรกที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD แซงหน้าผู้นำจากสหรัฐฯ อย่าง Tesla อย่างไม่น่าเชื่อ ความสำเร็จครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถด้านการแข่งขันของแบรนด์ EV จากจีนได้เป็นอย่างดี 

แต่ BYD มีดีอะไร ทำไมถึงขายดีแซงหน้า EV เจ้าอื่น และกลายเป็นแบรนด์ที่น่าจับตามอง เรื่องราวนี้ต้องคงกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ BYD


จากชาวนา สู่แถวหน้าวงการ EV

ผู้ชายคนนี้ (Wang Chuanfu) เป็นเหมือนการผสมผสานระหว่างโทมัส เอดิสัน กับ แจ็ค เวลช์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการระดับโลก)เขามีความสามารถแบบเอดิสันในการแก้ปัญหาทางเทคนิค และมีความสามารถแบบเวลช์ในการบรรลุเป้าหมาย  ผมไม่เคยเห็นใครแบบนี้มาก่อน - Charlie Munger มือขวาของ Warren Buffet

Wang Chuanfu ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง BYD เกิดที่เมืองวูเว่ย มณฑลอันฮุย ในครอบครัวชาวไร่ชาวนาที่ยากจน เขาต้องถูกพี่น้องเลี้ยงดูหลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตไป ต่อมาเขาได้ศึกษาเคมีที่ Central South University และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจาก Beijing Non-Ferrous Research Institute ซึ่งนำไปสู่การทำงานเป็นนักวิจัยของรัฐบาล

ในปี 1995 ช่วงที่รัฐบาลจีนกำลังเปิดประตูสู่โลกภายนอก Wang Chuanfu เริ่มเบื่อหน่ายกับเงินทุนที่จำกัดของนักวิจัยรัฐบาล และด้วยความหลงไหลในเทคโนโลยีแบตเตอรี่มาตั้งแต่ตอนเรียน จึงตัดสินใจยืมเงินจากญาติราว 2.5 ล้านหยวน และก่อตั้งบริษัทของตัวเองในชื่อ BYD ที่เมืองเซิ่นเจิ้น เพื่อผลิตแบตเตอรี่นิกเกิลสำหรับมือถือ 

ในช่วงเวลานั้น ญี่ปุ่นครองตลาดแบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียม (NiCd) อย่างเบ็ดเสร็จ แทนที่จะแข่งขันโดยตรง BYD หันมาเน้นที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน Wang Chuanfu ใช้เวลาเพียง 2 ปี พัฒนาธุรกิจจากโรงงานเล็ก ๆ กลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่มือถือที่มีรายได้ประจำปีเกิน 100 ล้านหยวน ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลกในเวลาต่อมา

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนดึงดูดความสนใจของ Wang Chuanfu เนื่องจากการวิจัยของเขาระบุว่า แบตเตอรี่ชนิดนี้สามารถนำไปพัฒนาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ ด้วยเหตุนี้ BYD จึงซื้อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ล้มละลายจากรัฐบาลจีน และเริ่มเส้นทางการผลิตรถยนต์ ซึ่งใช้เวลาไม่นานรถรุ่น BYD F3 ก็กลายเป็นรถเก๋งขายดีที่สุดในจีน แซงหน้ารุ่นเด่นแบรนด์ดังอย่าง Volkswagen Jetta และ Toyota Corolla

แต่เป้าหมายที่แท้จริงของ Wang Chunfu คือ การทำให้ BYD กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2025 สิ่งนี้เขาเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2008 ในช่วงเวลานั้น BYD เพิ่งจะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นแรก BYD E6 เวอร์ชันต้นแบบสำเร็จ และเพิ่งจะเริ่มปล่อยรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรก BYD F3DM เข้าแข่งขันบนท้องตลาด

ในปีเดียวกัน Warren Buffett นักลงทุนชื่อดังระดับโลกเข้ามาลงทุนใน BYD ด้วยมูลค่า 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการซื้อหุ้นจำนวน 10% ซึ่งตอนนั้น BYD ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ Buffett เชื่อว่านี่เป็นดีลที่ยิ่งใหญ่ และ BYD มีโอกาสเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการขายรถยนต์ไฟฟ้า การเข้ามาของ Buffet ทำให้หุ้นของ BYD สูงถึง 1,370% ในปีถัดมา จึงทำให้ชื่อ BYD เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก

"สำหรับรถยนต์พลังงานใหม่ เราเชื่อว่าเราจะกลายเป็นผู้นำระดับโลก ในแง่ของเทคโนโลยี 10 ปีน่าจะเพียงพอ" - Wang Chuanfu


โตเร็วใน 10 ปี ต้องมีอะไร ?

จุดแข็งของ BYD คือการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีราคาแพงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่เองช่วยให้ BYD ประหยัดต้นทุนได้อย่างมาก ในขณะที่คู่แข่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยการซื้อแบตเตอรี่ รวมถึงชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์รายอื่น

ชิ้นส่วนส่วนใหญ่ในรถยนต์ BYD จะผลิตโดยบริษัทในเครือ กลุ่มบริษัทเหล่านี้ดำเนินการด้านเหมืองลิเธียม การแปรรูปลีเธียม การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงชิปประมวลผล เพื่อควบคุมต้นทุน และปริมาณการผลิต การควบคุมทุกอย่าง ผลิตเองทุกสิ่งเป็นหนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้ BYD เติบโตอย่างรวดเร็ว

เคยมีการวิเคราะห์เจาะลึก BYD Seal รถไฟฟ้าซีดานรุ่นล่าสุด พบว่า ชิ้นส่วนกว่า 75% ถูกผลิตภายในบริษัทเอง ซึ่งสูงกว่า Tesla 3 ที่ผลิตในจีน ซึ่งมีชิ้นส่วนที่ผลิตเองเพียง 46%  เท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ BYD ได้เปรียบในเรื่องของราคาเป็นอย่างมาก 

ต้นทุนที่ถูกไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงงานราคาถูกหรือ Supply Chain ที่มีราคาต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นจากการพัฒนาขั้นสูงด้านวิศวกรรม และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของ BYD

BYD มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาแบตเตอรี่ LFP แบบ 'Blade Battery' อันเป็นกรรมสิทธิ์ของ BYD ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนแห่งวงการรถยนต์ไฟฟ้าก็ว่าได้ ลักษณะเด่นของ Blade Battery คือ เซลล์แบตเตอรี่ที่มีรูปทรงคล้ายกับใบมีด มีความบาง และยาวกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป  

ข้อดีคือ ช่วยระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี และมีความหนาแน่นของพลังงานที่สูงเนื่องด้วยโครงสร้างแบบ CTP (Cell-to-pack) ซึ่งชุดแบตฯ ไม่ได้ถูกแบ่งเป็นโมดูล แต่ถูกแพ็ครวมกันมาเป็นก้อนเดียวกัน นอกจากจะช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์ในแบตเตอรี่ได้มากขึ้นแล้ว แบตที่ถูกแพ็ครวมกันเป็นก้อนยังมีความแข็งแกร่งสูง ช่วยเสริมความปลอดภัยให้กับตัวรถ 

จากนั้น BYD ก็ได้พัฒนาโครงสร้างมาเป็นแบบ CTB (Cell-to-body) ซึ่งแพ็กแบตเตอรี่รวมกันเป็นส่วนหนึ่งของตัวถังรถยนต์ ทำให้รถมีน้ำหนักที่เบาลงในขณะที่ยังคงความแข็งแกร่ง ซึ่งในตอนนี้มีการนำไปใช้แล้วใน BYD Seal และ Dolphin นับว่าเป็นโครงสร้างการวางแบตเตอรี่แบบใหม่ของรถยนต์ EV ที่กำลังจะออกมาในอนาคตอันใกล้


คนไม่เคยขาด ชาติสนับสนุน

ข้อได้เปรียบอีกหนึ่งอย่างของ BYD คือ ขนาดของตลาด และคุณภาพประชากร Wang Chuanfu เสริมว่า บริษัทจีนมีความฉลาด และทำงานหนักกว่าคู่แข่งชาวตะวันตก ทุกปีมีบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยจีนกว่า 5 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรของบางประเทศในยุโรปเสียอีก และคนเหล่านี้ยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทจีนมากกว่าบริษัทตะวันตก หรือบริษัทญี่ปุ่นแม้จะได้เงินเดือนต่ำกว่าก็ตาม 

BYD มักจะรับสมัครผู้จัดการจบใหม่จากมหาวิทยาลัย  ฝึกอบรมงานภายในบริษัท  และจัดให้พนักงานจบใหม่พักอาศัยในหอพักสไตล์อพาร์ทเมนต์สูงระฟ้าติดกับโรงงาน เมื่อปี 2008 มีวิศวกรด้านรถยนต์ทำงานให้ BYD กว่า 10,000 คน ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน BYD มีวิศวกรทำงานด้าน R&D มากถึง 40,000 คน และมีพนักงานทั่วโลกราว 290,000 ชีวิต นับเป็นการเติบโตด้านบุคคลากรอย่างก้าวกระโดดในเวลาอันสั้น

การสนับสนุนกลยุทธ์รถยนต์ไฟฟ้าของจีน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำ BYD ได้เปรียบ รัฐบาลจีนมองว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าในยานยนต์ เป็นหนึ่งในทางลัดสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ นับตั้งแต่ปี 2009 จีนได้อัดฉีดเงินกว่า 100,000 ล้านหยวนเพื่อสนับสนุนยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด 

ต่อมาในปี 2010 จีนได้ขยายการอุดหนุนเงินไปยังรถยนต์ส่วนบุคคล บางช่วงมีการสนับสนุนเงินสูงถึง 60% ของราคารถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีบริษัทสาร์ทอัพจำนวนมากกระโดดสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จนทำให้ปี 2018 จีนมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 487 ราย แต่แบรนด์เหล่านี้กำลังล้มหายตายจากด้วยสงครามราคา จนทำให้ในท้ายที่สุด EV จีนอาจเหลือแค่เพียงไม่กี่แบรนด์ ซึ่ง BYD ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น

ตารางแสดงปริมาณการผลิต และยอดขาย ที่มา : BYD Global

ตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา BYD สามารถผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ได้มากถึง 3,045,231 คัน แถมยังสามารถขายรถพลังงานใหม่ทั่วทั้งโลกในปีดังกล่าวไปได้ทั้งหมด 3,024,417 คัน 

แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่า Tesla ที่ขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ซึ่งขายรถตลอดทั้งปี 2023 ได้ราว 1.8 ล้านคัน แต่หากดูจากกำลังการผลิตของ BYD ที่หันมาผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) แทนที่รถน้ำมันเต็มตัว และยอดขายที่สูงขึ้นกว่า 62.30% เมื่อเทียบกับปี 2022 ก็เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า BYD ไม่ได้แข็งแกร่งแค่ในประเทศจีน ในตลาดโลกก็ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ ‘ต้อง’ จับตามอง 


ถึงเวลาติดเครื่อง (เรือ) ยนต์

แม้จีนจะมีศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก แต่ทว่าปริมาณการรองรับการขนส่ง ยังไม่สามารถรองรับการขยายตัวของการส่งออกที่รวดเร็วได้ ข้อมูลเมื่อปี 2023 ระบุว่า บริษัทเดินเรือจีนมีเรือขนส่งรถยนต์ของตัวเองเพียง 40 ลำ รองรับการส่งรถยนต์ประมาณ 110,000 คัน ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น (1.6 ล้านคัน) หรือเกาหลีใต้ (490,000 คัน) เป็นอย่างมาก

BYD ที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยการทำทุกอย่างในเครือ ประกอบกับแผนการขยายตลาดไปทั่วโลก จีงมีการจ้างให้ต่อเรือขนส่งรถยนต์เป็นของตัวเองในชื่อ ‘BYD Explorer’ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่ง เนื่องจากค่าเช่าเรือขนส่งรถยนต์มีแนวโน้มแพงขึ้น รวมทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ขนส่งได้เป็นอย่างดี

BYD Explorer No.1 รองรับการบรรทุกรถยนต์ได้มากถึง 7,000 คัน เริ่มออกเดินทางจากเซินเจิ้นมุ่งหน้าพารถยนต์ BYD บุกตลาดยุโรปไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024 โดย BYD วางแผนเพิ่มจำนวนเรือ BYD Explorer อีก 7 ลำ ภายในปี 2026 ซึ่งคาดว่าแต่ละลำจะบรรทุกรถยนต์ได้ 7,000 คันเช่นเดียวกัน 

นอกจากการสร้างเรือแล้ว BYD กำลังเดินหน้าขยายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสู่ตลาดโลก โดยมีโรงงานที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในประเทศไทย และมีการประกาศสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศบราซิล ไปจนถึงฮังการี เพื่อขยายฐานการผลิตนอกประเทศจีน และเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนในสหภาพยุโรป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้าจีนเกิดจากความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน ทั้งการอุดหนุนเม็ดเงิน การยกเว้นภาษีสำหรับผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงการลงทุนสร้างสถานีชาร์จ ซึ่งยังไม่นับรวมการที่จีนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแบตเตอรี่ และขนาดของตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ จึงทำให้แบรนด์ EV จีนกุมความได้เปรียบเหนือแบรนด์ EV จากชาติอื่น ๆ จนมีคำกล่าวจาก Elon Musk ว่า

ผู้ผลิตรถยนต์จีนจะ ‘ทำลายล้าง’ บริษัทผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ของโลก หากไม่มีอุปสรรคทางการค้า


แม้ชื่อของ BYD ในตอนแรกจะไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษ นอกจากเป็นเพียงตัวอักษรย่อที่มาจากชื่อภาษาจีนของบริษัท (Biyadi) แต่สโลแกน ‘Build Your Dream’ (สร้างฝันของคุณ) ที่ Wang Chuanfu นำมาใส่ทีหลัง ก็ดูจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความมุ่งมั่นที่ต้องการให้ BYD ครองความยิ่งใหญ่ในระยะเวลาไม่กี่ปี 

ตอนนี้ BYD อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จตามที่ Wang Chuanfu ทำนายไว้แล้วก็จริง แต่การแข่งขัน และความท้าทายยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ บริษัทยังต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้า และค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถยนต์น้ำมันที่มีชื่อเสียงยาวนาน รวมทั้งยังต้องใช้ ‘เวลา’ พิสูจน์ตัวเองต่อผู้บริโภคในเรื่องสำคัญอย่าง ‘ความปลอดภัย’ และ ‘บริการหลังการขาย’ 

อนาคตของ BYD นั้นน่าติดตามอย่างยิ่ง


อ้างอิง : Nikkei (1), (2), BBC, BYD Global, CNN (1), (2), SCMP, Financial Times, Capital Letter





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รวมมาแล้ว! Key Messages 9 วิทยากร จากงาน The Story Thailand Forum 2024

สรุปสาระสำคัญจาก 9 วิทยากรอุดมความรู้และประสบการณ์ ซึ่งมาบรรยายในแง่การทำธุรกิจ การใช้เทคโนโลยี และการคำนึงถึง ESG ในงานสัมมนา 'The Story Thailand Forum 2024' ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 1...

Responsive image

AGI จะมาเมื่อไหร่ จะเกิดอะไรขึ้นหลัง AI เก่งเกินคน ? ส่องความเห็นล่าสุดจากผู้เชี่ยวชาญ AI ชั้นนำ

AGI ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป ที่หลายคนว่ากันว่าจะเป็น AI ที่เหมือนมนุษย์มากที่สุด และอาจเหนือมนุษย์มากที่สุด เมื่อก่อนอาจเป็นเรื่องที่ดูไกลตัวจนเหมือนหลุดมาจากในหนัง แต่ในตอนนี้เราอาจต้...

Responsive image

สตาร์ทอัพ AI เตรียมลุย iFLYTEX x Techsauce Global Summit 2024 Startup Competition ขยายธุรกิจสู่ APAC Markets

iFLYTEK x Techsauce Global Summit 2024 Startup Competition เปิดรับสมัคร สตาร์ทอัพด้าน AI เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันที่ท้าทายและเปิดโอกาสให้ธุรกิจของคุณได้แสดงศักยภาพ ผลักดั...